xs
xsm
sm
md
lg

เดือนพฤษภาคมกับระบอบเผด็จการทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่มีนัยต่อสังคมการเมืองไทยในหลายมิติ ในปี 2535 เดือนพฤษภาคมเป็นทั้งเดือนแห่งความรุนแรงทางการเมืองและเดือนแห่งความหวังในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ทว่าเดือนพฤษภาคม 2557 มีความแตกต่างออกไปในบางแง่มุม สิ่งที่เหมือนกันคือเป็นเดือนที่มีความรุนแรงทางการเมือง แต่สิ่งที่ต่างคือ เป็นเดือนแห่งการทำลายความหวังของการพัฒนาประชาธิปไตย


เดือนพฤษภาคม 2535 ประชาชนลุกฮือต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ตามมาด้วยการใช้กองกำลังติดอาวุธปราบปรามสังหารประชาชนเป็นจำนวนมาก แต่จบลงด้วยชัยชนะของประชาชน คณะรัฐประหารไม่อาจสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ และเกียรติภูมิของกองทัพที่คณะรัฐประหารใช้เป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชนก็ตกต่ำลงอย่างรุนแรง จนมีการคาดหวังกันว่าการรัฐประหารอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปในอนาคต หลังจากนั้นกระแสของความคิดประชาธิปไตยก็ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง มีการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการร่างรัฐธรรมนูญโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมา การพัฒนาประชาธิปไตยไทยดูเหมือนจะเดินไปสู่เส้นทางที่สดใส

แต่ความจริงคือ การพัฒนาประชาธิปไตยเต็มไปด้วยอุปสรรค ถูกบิดเบือน และบั่นทอนโดยกลุ่มบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองผู้ครองอำนาจในยุคนั้นหาได้ใช้โอกาสสร้างความเข้มแข็งแก่ระบอบประชาธิปไตยให้มากขึ้น ตรงกันข้ามกลับฉวยโอกาสและใช้อำนาจในทางที่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยหลายประการ เพื่อแสวงหาประโยชน์และขยายอำนาจของกลุ่มพวกพ้องตนเอง จนนำไปสู่การต่อต้านจากประชาชนจำนวนมาก และกลายเป็นเงื่อนไขที่นายพลบางคนจากกองทัพบกใช้ในการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 แต่เนื่องจากพลวัตของกระแสประชาธิปไตยยังมีพลังอยู่ไม่น้อย คณะรัฐประหารปี 2549 จึงครองอำนาจเพียงระยะสั้น ๆ

ผลพวงสำคัญของการรัฐประหารในครั้งนั้น ได้ทำให้บรรดานายพลรุ่นหลังตระหนักว่าพวกเขามีพลังอำนาจในการทำรัฐประหารได้ และสามารถยึดอำนาจไว้เป็นเวลานาน

ความขัดแย้งทางการเมืองหลังปี 2550 ดำเนินไปในทุกระดับทั้งในรัฐสภาและท้องถนน สังคมแตกเป็นขั้วการเมือง แต่เป็นขั้วที่เชื่อมโยงกับการสนับสนุนและการต่อต้านผู้นำทางการเมืองมากกว่าขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ ความขัดแย้งพัฒนาไปจนถึงระดับที่ดูเหมือนว่า ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อีกต่อไป คู่ขัดแย้งซึ่งเป็นนักการเมืองในระบอบสภาด้วยกันเอง ต่างยืนกรานในจุดยืนทางการเมืองของฝ่ายตนเอง ไม่ยอมประนีประนอม และร่วมแสวงหาทางออกที่สามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ได้ จึงเป็นเงื่อนไขให้นายพลในกองทัพบางกลุ่มฉวยโอกาสเข้ายึดอำนาจในปี 2557 หลังจากนั้นระบอบประชาธิปไตยก็ถูกบั่นทอนและทำลายอย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแนวความคิดและค่านิยมประชาธิปไตย โครงสร้างรัฐธรรมนูญ มาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย และธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ

การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของระบอบเผด็จการทหารมีนัยว่า ระบอบประชาธิปไตยไทยยังมีความเปราะบาง แม้ว่าถูกสถาปนาขึ้นมาร่วม 90 ปีแล้วก็ตาม อันเป็นผลมาจากวัฒนธรรมประชาธิปไตยยังไม่สามารถแพร่กระจายและผนึกอยู่ในจิตสำนึกของคนไทยอย่างแพร่หลายและมั่นคงนั่นเอง นั่นเป็นเพราะพลังขับเคลื่อนของกลุ่มสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งและคงเส้นคงวา ขณะที่พลังการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยก็ทำงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อบั่นทอนความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย

กลุ่มผู้สร้างหลักระบอบเผด็จการทหารคือ กองทัพและระบบราชการ ส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นชนชั้นสูง กลุ่มทุนผูกขาด และบางโอกาสก็มีชนชั้นกลางบางส่วนผสมโรงการสนับสนุนด้วย เหตุผลที่มักถูกหยิบมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่เผด็จการทหารคือ การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม การปกป้องสถาบันกษัตริย์ และการขจัดการทุจริตคอรัปชั่น แต่เมื่อยึดอำนาจรัฐได้แล้ว กลุ่มผู้กระทำรัฐประหารและสร้างระบอบเผด็จการทหารก็มิได้จริงจังกับเหตุผลเหล่านั้นเท่าไรนัก อาจแสดงท่วงทำนองและกระทำที่ดูเหมือนสอดคล้องกับเหตุผลที่ใช้อ้างในช่วงแรกของการยึดอำนาจระยะสั้น ๆ ครั้นเมื่อกระชับอำนาจได้อย่างมั่นคงแล้ว ก็มักละเลย เพิกเลย และที่ร้ายกว่านั้นคือการกระทำตรงข้ามกับเหตุผลที่ประกาศต่อสาธารณะ

ผลลัพธ์ที่เกิดจากการปกครองระบอบเผด็จการทหารร่วมห้าปีระหว่างปี 2557- 62 และสามปีของการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารระหว่าง 2562-65 คือ สังคมมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น กระจายเป็นวงกว้างและลงลึกไปสู่รากฐานของสังคม นั่นเป็นเพราะธรรมชาติการปกครองของระบอบเผด็จการทหารเป็นแหล่งการผลิตความขัดแย้งในตัวของมันเอง ด้วยบรรทัดฐานที่ใช้ในการปกครองของระบอบนี้คือการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ต่อต้าน เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยแก่สถานะและอำนาจของกลุ่มผู้ปกครองนั่นเอง รวมทั้งการบังคับให้ผู้คนปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนเองต้องการ อันเป็นการฝืนธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่ที่ต้องการกำหนดทางเลือกและควบคุมชะตากรรมด้วยตนเองในการดำรงชีวิต คนธรรมดาทั่วไปที่มีเหตุผลย่อมไม่ต้องการให้ใครหรือผู้บริหารปกครองประเทศกลุ่มใดกำหนด กำกับ บังคับชีวิตของตนเองอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่พวกเขาจะต่อต้านหากเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นขึ้นมา

ระบอบเผด็จการทหารที่ใช้อำนาจบังคับและความรุนแรงเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงสามารถทำได้อย่างตื้นเขิน และสิ่งที่ดูเหมือนสงบเรียบร้อยก็เป็นเพียงผิวหน้า ในทางกลับกันได้ขยายเมล็ดพันธุ์ของความเกลียดชัง และสะสมเชื้อเพลิงของความขัดแย้งที่รุนแรงให้แก่สังคมในระยะกลางและระยะยาว การรัฐประหารและระบอบเผด็จการทหารจึงเป็นเสมือนการดื่มยาพิษดับกระหาย ที่สร้างความตายตามมาในภายหลัง ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในการเมืองไทย และความจริงอีกอย่างที่อาจนำมาเป็นบทเรียนแก่ผู้ที่คิดทำและสนับสนุนการปกครองระบอบเผด็จการคือ การปกครองระบอบเผด็จการทหารนอกจากจะสร้างความเสียหายแก่สังคมอย่างเหลือคณานับแล้ว ก็ยังทำให้กลุ่มบุคคลที่ใช้ระบอบนี้ประสบกับชะตากรรมที่เลวร้ายตามมาอีกด้วย

สำหรับข้ออ้างเพื่อการปกป้องและสร้างความมั่นคงสถาบันกษัตริย์นั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากระบอบเผด็จการทหารไม่ได้เป็นไปตามที่คณะรัฐประหารอ้างแต่อย่างใด แต่กลับสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ยิ่งขึ้น ด้านหนึ่ง เมื่อคณะรัฐประหารมีอำนาจมาก ก็มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ครองอำนาจจะลุ่มหลงในอำนาจ เกิดอหังการสิ้นความยำเกรง และอาจนำไปสู่การกระทำที่เหมาะสมที่สร้างผลกระทบต่อสถาบัน ปรากฎการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศแล้ว อีกด้านหนึ่ง เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบัน คือประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีความคิดเชิงเชื่อมโยงระหว่างการกระทำอย่างรุนแรงด้วยคำสั่งหรือกฎหมายของคณะรัฐประหารและรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจกับสถาบัน ดังนั้น การกระทำที่รุนแรงของรัฐโดยอาศัยกฎหมายหรือกลวิธีอื่น ๆ ต่อผู้ที่แสดงออกทางความคิดหรือการกระทำที่รัฐตีความว่าเป็นการละเมิดสถาบัน กลับยิ่งสร้างผลกระทบต่อสถาบันมากขึ้น

สำหรับเรื่องการปราบปรามการคอรับชั่น เรื่องนี้เป็นตลกร้าย ทั้งในเชิงหลักคิดและการปฏิบัติจริง ในเชิงหลักคิดคือ การคอรัปชั่นมีมากขึ้น หากผู้ปกครองประเทศมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในแง่นี้เราก็สามารถอนุมานได้ว่า ระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งมีการรวมศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จและปราศจากการตรวจสอบ ก็มีแนวโน้มการทุจริตมากกว่าระบอบประชาธิปไตย ที่มีแหล่งอำนาจหลายแหล่งและอุดมไปด้วยกลไกการตรวจสอบที่หลากหลาย ในทางปฏิบัติ มีข้อมูลเชิงประจักษ์ในการเมืองเป็นอย่างดีว่า เผด็จการทหารในอดีตหลายคนมีการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมโหฬาร และเมื่อสิ้นอำนาจก็ถูกยึดทรัพย์มูลค่ามหาศาล

อย่างไรก็ตาม เผด็จการทหารมีกลยุทธ์การอำพลางการคอรัปชั่นอย่างแนบเนียน โดยการชูผู้นำที่มีภาพลักษณ์ของความซื่อสัตย์ขึ้นมาเป็นฉากหน้าเพื่อสร้างการยอมรับจากสังคม คนจำนวนมากก็หลงเชื่อ ทว่าภายใต้ฉากหน้าที่ดูดีนั้น เนื้อในกลับตรงกันข้าม ด้วยมีบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายของเผด็จการทหารจำนวนมากทั้งเพื่อนพ้อง เครือญาติ และลูกน้องใช้อำนาจเพื่อแสวงหาประโยชน์อย่างมิชอบอย่างไม่หวั่นเกรงสิ่งใด ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือ ดัชนีความโปร่งใสของประเทศไทยตกต่ำดังดิ่งลงเหว การที่คณะรัฐประหารสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ความล้มเหลวของโครงการพัฒนาจำนวนมหาศาลที่กลายเป็นโครงการถูกทิ้งร้างว่างเปล่า และเสียงบ่นของบรรดานักธุรกิจที่รับงานจากหน่วยงานราชการเกี่ยวกับ “เงินทอน” ที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นแก่ผู้มีอำนาจรัฐทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติ

ระบอบเผด็จการทหารและการสืบทอดอำนาจจึงสร้างความเสียหายทั้งทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ส่วนระบอบประชาธิปไตย แม้ว่ามีข้อด้อยบางอย่าง และถูกบิดเบือนด้วยนักการเมืองบางคน แต่ก็เป็นระบอบที่ทำให้ประชาชนมีพื้นที่ในการคิดและการกระทำทางการเมืองและสังคมตามเจตจำนงของตนเอง และสามารถกำหนดทางเลือกการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินชีวิตของตนเองมากกว่าระบอบเผด็จการ ดังนั้น เดือนพฤษภาคม 2565 จึงน่าจะเป็นเดือนของการสร้างความหวังใหม่อีกครั้งในการพัฒนาประชาธิปไตยของสังคมไทย



กำลังโหลดความคิดเห็น