ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen Data Sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
อาจารย์ศาสตรา โตอ่อน
นักวิชาการอิสระ
Lèse-majesté law หากศึกษาในแง่ของ นิรุกติศาสตร์ (Etymology) หรือความหมายตามรากศัพท์ นั้นมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ
1. เป็นอาชญากรรมที่ถูกกระทำลง เพื่อต่อต้านอำนาจสูงสุดของรัฐ ซึ่งมีผู้ปกครอง (Ruler) เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐ
2. ลักษณะการกระทำ เป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการด้อยค่า หรือดูหมิ่นศักดิ์ศรีหรือลดทอนความสำคัญของผู้ปกครอง
จุดกำเนิดของความผิดหรืออาชญากรรมที่เรียกว่า Lèse-majesté มาจากภาษาฝรั่งเศส การทำผิดต่อพระมหากษัตริย์ (To do wrong to the King) แต่มีรากศัพท์ มาจากภาษาลาตินว่า leasa majestas ซึ่งกับภาษาอังกฤษว่า injured majesty
โดยความผิดดังกล่าว มีความหมายมุ่งเน้นไปที่การกระทำต่อตัวผู้ปกครอง ให้ความสำคัญกับการปกป้องตัวผู้ปกครองเป็นหลัก จากการถูกดูหมิ่น ด้อยค่า ลดทอน
โดยหากสืบย้อนไปถึงรากฐานของอาชญากรรมดังกล่าว มีรากฐานมาตั้งแต่สมัยโรมัน ซึ่งในอาณาจักรโรมันโบราณนั้นมีทั้งช่วงที่เป็นสาธารณรัฐ และช่วงที่มีการปกครองโดยจักรพรรดิ
ในยุคที่มีการปกครองโดยจักรพรรดิจักรพรรดิจะมีอำนาจปกครองที่เด็ดขาด และต้องการกระชับอำนาจของตนให้มีการรวมศูนย์มากยิ่งขึ้น จึงต้องมี กฎหมายเข้ามาคุ้มครององค์จักรพรรดิ ไม่ให้ถูก ดูหมิ่น ด้อยค่า ลดทอนศักดิ์ศรี
ต่อมา ในยุคศตวรรษที่ 15 ยุโรปกลับมาปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ผนวกกับความคิดที่ยังยึดโยงกับคริสตจักร (ในฐานะเครื่องมือทางการปกครอง) ที่เชื่อในเรื่องความจริงสูงสุดคือพระเจ้า
เมื่อถูกนำมาผนวกกับแนวคิดรัฐราชาธิปไตย ก็ทำให้องค์พระมหากษัตริย์ majesty เป็นสิ่งสูงสุด ต้องได้รับการปกป้องอย่างยิ่งยวด จนกลายเป็นขนบธรรมเนียมที่เป็นเอกลักษณ์สําคัญของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรป (Monarchy Tradition)
แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่าในศตวรรษที่ 15 นั้น สังคมยุโรปเพิ่งผลักตัวเองออกจากรัฐศาสนาในยุคกลาง โดยการแย่งชิงอำนาจนำ มาไว้ที่องค์พระมหากษัตริย์
ดังนั้นสภาพการรวมศูนย์ที่ตัวบุคคล คือองค์พระมหากษัตริย์ ยังมีความเหนียวแน่น เกินกว่าที่จะแยกตัวออกจากตำแหน่งซึ่งหมายความว่าในยุคนั้น ยังมีแนวคิดที่ตัวบุคคล (King)และตำแหน่ง (Crown) ยังผนึกแนบแน่นในคนเดียว ยกตัวอย่างคำกล่าวที่ว่า L'État, c'est moi. ที่แปลว่า รัฐคือตัวข้า
ดังนั้น ความผิดที่เรียกว่า Lèse-majesté จึงต้องคุ้มครองทุกอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์ ห้ามมิให้มีการดูหมิ่น หมิ่นประมาทเหยียดหยาม หรือกระทำการใดๆอันเป็นการจาบจ้วงล่วงล่วงละเมิด หรือกระทบต่อพระบรมเดชานุภาพ
แม้แต่ ความผิดเล็กๆน้อยๆ เช่นการปลอมแปลงเหรียญกษาปณ์ ก็ยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Lèse-majesté เพราะเหรียญกษาปณ์นั้น มีพระบรมฉายาลักษณ์ ของพระมหากษัตริย์ปรากฏอยู่นั่นเอง
ดังนั้นในยุคศตวรรษที่ 15 จะเห็นได้ว่าความผิดที่เรียกว่า Lèse-majesté นั้นมีความกว้างขวางอย่างยิ่ง ในการปกป้ององค์พระมหากษัตริย์
สำหรับในส่วนความหนักเบานั้น ในแต่ละประเทศก็จะมีการกำหนด โทษานุโทษต่างๆ ไปตามขนบธรรมเนียมของแต่ละประเทศ
ความผิดที่เรียกว่า Lèse-majesté ในบางประเทศก็มีโทษสถานเบา เช่นในประมวลกฎหมายอาญา ของประเทศนอร์เวย์ 1902 มาตรา101 กำหนดโทษสำหรับผู้ที่กระทำการดูหมิ่นหมิ่นประมาท องค์พระมหากษัตริย์ ไว้ที่จำคุก 5 ปี และในมาตรา 103 ยังกำหนดเงื่อนไขว่า หากจะมีการลงโทษจะต้องผ่านความเห็นชอบของพระมหากษัตริย์อีกชั้นหนึ่ง
ในขณะที่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเทศฝรั่งเศส ในการคุ้มครอง องค์พระมหากษัตริย์ ตามกฎหมาย The Treason Felony Act 1840 กำหนดว่า หากมีการกระทำผิดใดๆต่อองค์พระมหากษัตริย์ ถึงกับมีโทษจำคุกตลอดชีวิต
เราจะเห็นได้ว่า ความผิดในฐานที่เรียกว่า Lèse-majesté นั้น ในยุคศตวรรษที่ 15 มีความกว้างขวาง เป็นอย่างยิ่ง และโทษสำหรับบางประเทศ ก็มีอัตราที่สูงยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ในวงวิชาการยุโรป ในศตวรรษที่ 15 ได้มีแนวคิดที่จะจำกัดความผิดให้แคบลง โดยหมายเฉพาะความผิดที่กระทบกระเทือนต่อราชบัลลังก์ ในฐานะที่เป็นตำแหน่งมากกว่าตัวบุคคล
และเมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปหายไป ความผิดฐาน Lèse-majesté ก็ต้องถูกยกเลิก หรือแปลงรูปแปลงร่างลดความสำคัญลงไปตามบริบทสังคมและประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ
และได้กลายเป็นการเกิด Concept ใหม่ ที่เรียกว่า The Crime against the highest representative of the state หรือการคุ้มครองประมุขของรัฐขึ้นมาแทนที่ นั่นเอง
โดยตาม Concept ใหม่ ที่มุ่งเน้นการคุ้มครองประมุขของรัฐนั้น จะมุ่งลงโทษการกระทำความผิดเฉพาะในเรื่องของการ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท เท่านั้น
โดยในประเทศเดนมาร์ก ตามประมวลกฎหมายอาญาเดนมาร์ก มาตรา 267 กำหนดโทษจำคุกสำหรับผู้ที่ทำการดูหมิ่นประมาทประมุขของรัฐ ไว้ที่จำคุก 4 เดือน
ในประเทศเอสโตเนีย ตามประมวลกฎหมายอาญาเอสโตเนีย มาตรา 247 การดูหมิ่นหมิ่นประมาท ประมุขของรัฐ มีการกำหนดโทษจำคุก 2 ปี
ประเทศไอซ์แลนด์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 การดูหมิ่นหมิ่นประมาทประมุขของรัฐ มีโทษจำคุก 2 ปีถึง 5 ปี
ประเทศอิตาลี การละเมิดประธานาธิบดีอิตาลี มีโทษจำคุก 1 ถึง 5 ปี
ประเทศสเปน การดูหมิ่นหมิ่นประมาท ราชวงศ์สเปน มีโทษจำคุก 2 ปีขึ้นไป
เราจะเห็นได้ว่า โทษ ในความผิดที่เรียกว่า The crime against the highest representative of the state นั้น เบากว่า ความผิด ที่เรียกว่า Lèse-majesté ในศตวรรษที่ 15 เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อลองพิมพ์ค้นใน google ด้วยคำว่า Lèse-majesté จะมีแต่บทความเกี่ยวกับประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 90 ซึ่งก็น่าชวนให้คิดว่าทำไมถึงจ้องวิจารณ์ประมวลกฎหมายมาตรา 112 ของประเทศไทยอย่างมากมายเช่นนั้น
เมื่อพิจารณาชื่อผู้เขียนบทความวิชาการก็จะเป็นเจ้าเก่าเจ้าประจำเช่น David Strekfuss จากอีสานเรค คอร์ด ลูกศิษย์ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกภายใต้การควบคุมดูแลของธงชัย วินิจกุล ที่ University of Wisconsin, Madison หรือ Eugénie Mérieau ภรรยาของนายปิยบุตร แสงกนกกุล นอกจากนั้นก็จะเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนต่างชาติของชาติตะวันตกและพันธมิตรของชาติตะวันตกเป็นหลัก
ขอบข่ายหรือมูลฐานการกระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์ของ Lèse-majesté ในประวัติศาสตร์นั้นกว้างขวางมาก ดังที่ชาติตะวันตกได้เคยบังคับใช้กฎหมาย Lèse-majesté มาก่อน และมีบทลงโทษที่กว้างขวางรุนแรงมาก
สำหรับประเทศไทยเราเคยมีกฎหมายในลักษณะของ Lèse-majesté law มาแต่โบราณกาล น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
หลักฐาน Lèse-majesté law ที่ประจักษ์ชัดเจนของไทยเริ่มต้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ชำระกฎหมายและรวบรวมไว้โดยตีตราสามดวงคือ ตรามหาดไทย (รูปราชสีห์) ตรากลาโหม (รูปคชสิงห์) และตราพระคลัง (รูปบัวแก้ว) บันทีกไว้ในสมุดไทย
กฎหมายตราสามดวงได้บัญญัติ หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้บัญญัติให้ความผิดฐานเจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัว มีโทษ 8 สถาน คือ
“ผู้ใดทะนงองอาจบ่ยำบ่กลัว เจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัว ประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติ แลพระบันทูลพระโองการ ท่านว่าผู้นั้นเลมิดพระราชอาญาพระเจ้าอยู่หัว ท่านให้ลงโทษ 8 สถาน ๆ หนึ่ง ให้ฟันฅอริบเรือน ให้ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย ให้ทวนด้วยลวดหนัง 25 ที 50 ที ให้จำไว้เดือนหนึ่ง แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ไหมจัตุระคูน แล้วเอาตัวลงเปนไพร่ ให้ไหมทวีคูน ให้ไหมลาหนึ่ง ให้ภาคทัณท์ไว้”
ส่วนความผิดฐานติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัว มีโทษ 3 สถาน คือ
“ถ้าผู้ใดติเตียนนินทาว่ากล่าวพระเจ้าอยู่หัวต่างต่าง พิจารณาเปนสัจ ให้ลงโทษ 3 สถานๆ หนึ่งคือ ให้ฟันฅอริบเรือน ให้ริบเอาสิ่งสีนแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง ให้ทวนด้วยลวดหนังโดยสกัน 50 ที หมิสกัน 25 ที”
เราจะพิจารณาเห็นได้ว่าบทลงโทษนั้นมีความรุนแรงและกว้างขวางมาก ตั้งแต่ ฟันคอ คือประหารชีวิต ยึดทรัพย์สินทั้งหมดคือการริบเรือน ตัดปาก ตัดหู ตัดมือ ตัดเท้า เฆี่ยนตีด้วยลวดหนังอย่างหนัก 50 ครั้ง อย่างเบา 25 ครั้ง ให้ขังคุก ให้ริบทรัพย์สินบางส่วน ให้เอาตัวลงไปไปเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง ให้เลี้ยงช้าง ให้ไหมคือการปรับเงิน (ไหม คำโบราณแปลว่าปรับเอา) เป็นสี่เท่า หรือสองเท่า หรืออย่างน้อยหนึ่งกระทง ให้ปลดลงไปเป็นไพร่ จนไปถึงการภาคทัณฑ์ไว้ (โปรดอ่านได้จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. (2529). ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง เล่ม 1-3. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. และขอขอบพระคุณ ดร. สายป่าน ปุริวรรณชนะ สำหรับคำอธิบายศัพท์โบราณในกฎหมายตราสามดวงได้อย่างละเอียดลออ)
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการเขียนและการพิมพ์อย่างแพร่หลายตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช นับแต่มีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ตัวอักษรไทยโดยหมอบรัดเลย์ และมีการตั้งโรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวังและมีการออกหนังสือพิมพ์แพร่หลายมากมายหลายฉบับทำให้จำเป็นต้องมีการออกพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 ซึ่งระบุความผิดการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไว้ในมาตรา 4 ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (โปรดอ่านได้จาก ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 16. หน้า 25 ร.ศ. 118 เดือนเมษายน)
เมื่อพิจารณาตัวบทของมาตรา 4 ของพระราชกำหนดฉบับนี้จะเห็นว่าเป็นความผิดอาญามีโทษจำคุกไม่เกิดสามปีและปรับไม่เกิน 1,500 บาท (ซึ่งถือว่าสูงมากในสมัยนั้น) เราก็พอจะพิจารณาได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงมีพระราชประสงค์จะให้กฎหมายฉบับนี้เป็น Lèse-majesté law ดังเช่นกฎหมายตราสามดวง แต่มีความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายฉบับนี้เนื่องจากมีการพิมพ์แพร่หลายกว้างขวาง การกำหนดให้มีบทลงโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปีนั้น ถือได้ว่าเป็นลหุโทษ มิใช่อาญาร้ายแรงแต่ประการใด อย่างไรก็ตามกฎหมายตราสามดวงยังมีผลบังคับใช้อยู่ ทำให้ไม่อาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยไม่มี Lèse-majesté law ได้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าการปฏิรูปกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบ้านเมือง โปรดให้ตั้ง Council of state ซึ่งเป็นที่มาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จ้างที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติมาหลายท่านเช่น นายโรแลง ยัคแมงค์ (Rolin Jacquemyns) ชาวเบลเยี่ยม นายริชาร์ด เกิกแปตริก (Richard Kirkpatrik) ชาวเบลเยี่ยม และนายโตกิจิ มาเซา (Tokichi Masao) ชาวญี่ปุ่น (โปรดอ่านได้จาก ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลาง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (ม.ป.พ). ๒๐๐ ปี กฎหมายตราสามดวง. กรุงเทพ: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. สืบค้นทางออนไลน์ได้จาก http://www.thailaws.com/download/thaidownload/200year_3duanglaw.pdf)
เหตุการณ์สำคัญอันเป็นวิกฤติที่ทำให้เกิดการยกเลิก Lèse-majesté law หรือกฎหมายตราสามดวงในประเทศไทยอย่างเด็ดขาด ทั้งๆ ที่ไทยยังปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ วิกฤติรัตนโกสินทร์ศก 112 ที่ฝรั่งเศสนำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย และไทยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต โดยที่ชาวต่างชาติ ไม่ขึ้นศาลไทย เพราะไม่ยอมรับกฎหมายไทย นอกจากนี้ยังต้องการรวบรวมกฎหมายหลากหลายฉบับที่บัญญัติแยกจากกัน ให้รวมเป็นประมวลกฎหมาย (Code law) เพื่อให้ง่ายต่อการบังคับใช้และการตัดสินอรรถคดี (โปรดอ่านได้จาก พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์. (2500). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. และ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 25 ฉบับพิเศษ รัตนโกสินทร์ศก 127 หน้า 206 เป็นต้นไป ซึ่งได้ตีพิมพ์เผยแพร่ กฎหมายลักษณะอาญา ที่อธิบายเหตุผลและเจตนารมณ์ของการตรากฎหมายไว้อย่างชัดเจนว่าต้องการทรงแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในกระบวนการยุติธรรมไทย)
ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินที่มีบทบาทสำคัญมากในการร่างกฎหมายลักษณะอาญาอันเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทยคือ เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ สกลนิติธรรมศาสตราจารย์ มหิบาลมหาสวาภักดิ์ ปรมัคราชมนตรี อภัยพิริยปรากรมพาหุ หรือชื่อจริงว่า Gustave Henri Ange Hippolyte Rolin-Jacquemyns หรือนิยมเรียกว่า โรลังยัคมิน ซึ่งนับได้ว่าเป็นชาวต่างชาติคนแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าพระยาเทียบชั้นเสนาบดี ที่มีอิทธิพลต่อระบบกฎหมายไทยเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งทุกวันนี้ยังมีรูปหล่อรำลึกถึงคุณูปการที่มีต่อกฎหมายไทยที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การร่างกฎหมายลักษณะอาญาในครั้งนั้น เพื่อให้เป็นสากลทัดเทียมอารยะประเทศและเป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต การร่างกฎหมายฉบับนี้ยกร่างเป็นภาษาอังกฤษเสียก่อนแล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย โดยได้มีการกำหนดโทษฐานหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายเอาไว้ในมาตรา 98 “ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาท. ต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินเจ็ดปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง”
และมาตรา 100 ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง
ทั้งนี้การประกาศใช้ประมวลกฎหมายลักษณะอาญานี้ทำให้พระไอยการอาชญาหลวงในกฎหมายตราสามดวง และพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทฯ ถูกยกเลิก และนับว่าประเทศไทยไม่มี Lèse-majesté law นับตั้งแต่บัดนั้น โดยจำกัดการใช้ดุลพินิจของตุลาการในการพิจารณามูลฐานความผิดและบทลงโทษที่กว้างขวางมากให้ลดลงเพื่อให้เกิดการยอมรับโดยชาวต่างประเทศ โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก Lèse-majesté law มาเป็น The Crime against the highest representative of the state หรือการคุ้มครองประมุขของรัฐขึ้นมาแทนเช่นเดียวกับชาติตะวันตก
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) ก็ยังคงมีการคุ้มครององค์ประมุขของรัฐหรือคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ยกเว้นเพียงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 แล้ว รัฐธรรมนูญทุกฉบับของราชอาณาจักรไทยจะมีบัญญัติมาตราหนึ่งเอาไว้เสมอว่า
“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้.
ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”
ซึ่งเป็นข้อความเดียวกันกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และถือว่าเป็นต้นธารของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามในปี 2478 คณะราษฎรได้มีการแก้ไขให้ลดการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ลงไปอีก โดยยกเลิกความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรสพระราชธิดาให้พ้นไปเสีย โดยมีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะกฎหมายอาญา พุทธศักราช 2478 (ฉบับที่ 7) มาตรา 3 ให้ยกเลิกมาตรา 99, 100 และ 335 (20) ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 นั้นเสีย (โปรดอ่านต้นฉบับได้จาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/14825)
และต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ขึ้นมาใช้แทนกฎหมายลักษณะอาญาฯ ร.ศ. 127 โดยย้ายบทบัญญัติมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญาฯ ไปอยู่ในมาตรา 112 และแก้ไขเนื้อความดังนี้ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี” (โปรดอ่านต้นฉบับได้จาก http://www.hydro.navy.mi.th/download/Criminal_Code.pdf)
หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 เพิ่มบทลงโทษของการกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เป็นดังเช่นที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 (โปรดอ่านต้นฉบับได้จาก http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2519/A/134/46.PDF) ดังนี้
มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มโทษในมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องเช่น มาตรา 133 มาตรา 134 มาตรา 135 มาตรา 136 และมาตรา 118 เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่า อัตราโทษที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์และประมุขแห่งรัฐต่างประเทศไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรแก้ไขอัตราโทษเหล่านั้นให้สูงขึ้น
ถึงแม้การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สูงขึ้นก็ตามแต่มูลฐานความผิดยังคงมีแค่สามมูลฐานคือ หนึ่ง หมิ่นประมาทองค์ประมุขแห่งรัฐ (To defame head of state) สอง ดูหมิ่นองค์ประมุขแห่งรัฐ (To insult head of state) และสาม ขู่อาฆาตมาดร้ายองค์ประมุขแห่งรัฐ (To threaten to head of state’s life) และฐานมีแนวทางในการกำหนดโทษจำคุกหรือยี่ต๊อกไว้ 3 ปี 5ปี และ 7 ปี ตามมูลฐานความผิดทั้งสามดังกล่าว จึงไม่อาจจะนับได้ว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็น Lèse-majesté law แต่ประการใด
ศาสตราจารย์ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณได้เขียนบทความ “วัฒนธรรมไทยกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เอกลักษณ์ของประชาธิปไตยไทยในกระแสโลก” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 7 เมษายน 2552 โดยได้อภิปรายว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นสอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ หลักรัฐธรรมนูญอารยะประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข สอดคล้องกับหลักอาชญวิทยาว่าด้วยการกำหนดความผิดไม่ขัดหลักประชาธิปไตย และเป็นข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกที่มีเอกลักษณ์ของตนเองตามหลักจริยธรรมและวัฒนธรรมที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือ ไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติแต่อย่างใด
ความเป็นจริงคือ Lèse-majesté law ของไทยได้รับการยกเลิกบังคับใช้นับแต่ไทยมีประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกในรัตนโกสินทร์ศก 127 เพื่อจะแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของไทย นับได้ว่าเป็นการยกเลิกกฎหมายตราสามดวงอันมีลักษณะเป็น Lèse-majesté law ไปตั้งแต่ประเทศสยามยังปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียด้วยซ้ำไป