xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (68): Enlightened Monarch: ราชาหรือราชินีผู้ทรงภูมิปัญญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ในยุโรปในศตวรรษที่สิบแปด มีปรากฏการ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย เช่น การขึ้นถึงจุดสูงสุดของกระแสภูมิปัญญา (the Enlightenment) ที่เผยแพร่ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ยังมีการปฏิวัติฝรั่งเศสที่จริงๆแล้ว นักคิดในกระแสภูมิปัญญาโดยส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ แต่ยังสนับสนุนระบอบราชาธิปไตยอยู่ แต่ต้องการให้พระมหากษัตริย์ทรงปฏิรูปเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ “สว่าง” ตามกระแสภูมิปัญญา ดังนั้น ปรากฎการณ์สำคัญอีกปรากฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงเวลานั้นคือ การเกิด “กษัตริย์ผู้เผด็จอำนาจและทรงใช้ภูมิปัญญา (the Enlightenment) ในการปฏิรูปบ้านเมือง” หรือที่เรียกว่า “Enlightened king/despot”
 
มีพระมหากษัตริย์หลายประเทศได้รับการขนานนามว่าเป็น ““Enlightened king/despot” และหนึ่งในนั้นก็คือพระเจ้ากุสตาฟที่สามแห่งสวีเดน พระองค์ทรงยึดอำนาจจากพวกอภิชนที่ทรงอำนาจในสภา และทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1772 ที่พระองค์ทรงร่างเอง นอกจากพระองค์จะทรงปฏิรูปบ้านเมืองให้อารยะตามกระแสภูมิปัญญาของพระเจ้ากุสตาฟที่สามโดยการยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว พระองค์ยังได้ทรงออกนโยบายการค้าเสรีและยกเลิกภาษีส่งออก อีกทั้งมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับคนจน (the poor law) เพื่อทุเลาความเดือดร้อนทุกข์ยากของคนยากคนจน นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นผู้นำในการออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติสวีเดน และทำให้เครื่องแต่งกายดังกล่าวเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไป ส่งผลให้ชนชั้นสูงนิยมแต่งชุดดังกล่าวกันโดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1778 จนสิ้นรัชสมัยของพระองค์ ในขณะที่ชุดแต่งกายประจำชาติดังกล่าวของสตรียังเป็นที่นิยมใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในงานพิธีการสำคัญๆของประเทศ

วอลแตร์
จริงๆแล้ว พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยออกแบบเครื่องแต่งกายดังกล่าวสำหรับชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ด้วยทรงมีเป้าประสงค์จะลดทอนการจับจ่ายสั่งซื้อชุดเสื้อผ้าตามแฟชั่นเริ่ดหรูจากต่างประเทศ เพราะก่อนหน้าที่จะมีเครื่องแต่งกายประจำชาติ ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางสวีเดนมักจะนิยมซื้อเสื้อผ้าจากต่างประเทศ ซึ่งพระองค์เห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองและเสียงบดุลทางการค้า อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่สังคมเพราะมันจะส่งผลให้ประเทศยากจนตามมา แม้ว่าจะพระองค์จะออกแบบเครื่องแต่งกายดังกล่าวนี้ขึ้นมา แต่ก็มิได้ทรงออกเป็นกฎหมายบังคับแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นพระราชดำริเท่านั้นว่าให้เป็นเครื่องแต่งกายที่เป็นทางการของทั้งชนชั้นสูงและชนชั้นกลางของสวีเดน

พระองค์ทรงสร้างแรงจูงใจแก่ประชาชนสองชนชั้นดังกล่าว โดยการเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการทำให้ราษฎรสวีเดนหยุดเดินตามแฟชั่นราคาแพงจากต่างประเทศ การออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติและพระราชดำริดังกล่าวนี้ของพระเจ้ากุสตาฟที่สามแห่งสวีเดนได้ส่งผลให้เกิดกระแสความสนใจในประเทศต่างๆในยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ซึ่งมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวนี้แตกต่างกันไป

 หนึ่งในปราชญ์แห่งกระแส “enlightenment” ของฝรั่งเศสอย่างวอลแตร์ได้กล่าวถึงปรากฎการณ์นี้ว่า “ชาติต่างๆ ควรจะมีความเป็นตัวของตัวเอง และหากจะลอกเลียนแบบกัน ก็ควรที่จะลอกเลียนแต่ในสิ่งที่ดีๆเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปตามอารมณ์อำเภอใจ พระมหากษัตริย์แห่งสวีเดน—ผู้ซึ่งไม่เคยมองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญ---ทรงตระหนักถึงเรื่องนี้อย่างเต็มที่ พระองค์ทรงกำลังจะมอบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศชาติจะมีได้ นั่นคือ ขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งบ้านเมือง ข้าพเจ้าขอน้อมเกล้าฯกราบบังคมทูลพระองค์ว่า ข้าพเจ้าขอยกย่องให้เกียรติพระองค์ในฐานะผู้ทรงสร้างสรรค์สิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อผู้คน (benefactor of humanity) อันทรงเป็นแบบอย่างสำหรับเหล่ากษัตริย์ทั้งหลาย ข้าพเจ้ากำลังจะตาย แต่ข้าพเจ้าจะนำเอาความรู้สึกดังกล่าวนี้ติดตัวข้าพเจ้าไปจนถึงหลุมฝังศพของข้าพเจ้า ซึ่งจะทำให้ข้าพเจ้าตายอย่างมีความสุขสงบ...”  

เครื่องแต่งกายประจำชาติที่ออกแบบโดยพระเจ้ากุสตาฟที่สามนี้มีรูปแบบและทรงเหมือนกันหมด นั่นคือ จะมีสีดำตัดกับสีแดง และมีสีฟ้าตัดกับสีขาวสำหรับงานพิธีที่เป็นทางการ นอกจากนั้น ก็จะมีสีที่ต่างกันสำหรับ ข้าราชสำนักในแต่ละกองงานต่างๆ ส่วนคนทั่วไปสามารถเลือกสีได้ตามใจชอบ หรือจะผสมกันอย่างไรก็ได้ แต่ต้องมีสองสีหลักตามที่ออกแบบไว้

 พูดถึงเครื่องแต่งกายประจำชาติสวีเดนที่ถือกำเนิดขึ้นในสมัยพระเจ้ากุสตาฟที่สาม ก็อดนึกถึงเครื่องแต่งกายประจำชาติของไทยขึ้นมาไม่ได้ แม้ว่า จะไม่ได้มีการกำหนดขึ้นชัดเจนว่าอะไรคือเครื่องแต่งกายประจำชาติของไทยเรา แต่ผู้คนจำนวนมาก็อดนึกถึง “เสื้อราชปะแตน” ไม่ได้ โดยเสื้อราชปะแตนนี้ถือกำเนิดขึ้น “เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสอินเดีย ผู้ตามเสด็จแต่งเครื่องแบบเสื้อฝรั่ง เวลาปกติก็เปิดอกผูกเน็คไท แต่นุ่งโจงกระเบนไม่นุ่งกางเกงแบบฝรั่ง ที่เมืองกัลกัตตา มีช่างฝีมือดี โปรดให้ตัดเสื้อใส่เล่นแบบปิดตั้งแต่คอมีดุมกลัดตลอด เพื่อไม่ต้องผูกเน็คไท เมื่อเสร็จแล้วก็พอพระราชหฤทัย เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ขณะนั้นเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ ราชเลขานุการ ก็ทูลถวายชื่อ โดยเอาคำมคธว่า ‘ราช’ ผสมกับคำอังกฤษ ‘Pattern’ หมายความว่าแบบหลวง” ( http://www.lib.ru.ac.th/miscell/rajapattern.html) และก็นึกถึง “ชุดพระราชทาน” ด้วย  

เครื่องแต่งกายประจำชาติที่ออกแบบโดยพระเจ้ากุสตาฟที่สาม


ซึ่งชุดพระราชทานมีประวัติความเป็นมาดังนี้คือ “ สตรีไทยมี ชุดไทยพระราชนิยม กันมาตั้งแต่ต้นสมัย และนิยมสวมใส่ในพิธีการต่างๆกัน จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป นิยมใช้กันในโอกาสต่างๆ ตามความเหมาะสมกับโอกาสสถานที่ ส่วนชุดของผุ้ชายนั้น ก็ยังคงแต่งชุดสากล อย่างฝรั่ง เรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมประชาชนตามชนบท ทรงเห็นฝีมืการทอผ้าของชาวพื้นเมือง ตามหมู่บ้านที่ได้นำขึ้นถวาย แต่ละแห่งนั้น งดงามมาก จึงได้ทรงคิดที่จะสนับสนุนงานฝีมือเหล่านี้ไว้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พระองค์ถึงกับพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดหาวัสดุให้แก่ชาวบ้านเหล่านั้น และได้ผลิตออกจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักกันในหมู่ข้าราชบริพารในระยะเวลา ๒-๓ ปีต่อมาก็ได้นำสินค้าเหล่านั้น ออกสู่สายตา ประชาชน โดยการจัดงาน แสดงสินค้า พื้นเมืองขึ้นที่สวนอัมพรเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ และทรง ให้ชื่อว่า ‘ การแสดงศิลปาชีพ’ ทำให้สินค้าพื้นเมือง ของแต่ละภาคเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น แต่ก็มักจะนิยมให้กันเฉพาะในสังคมชั้นสูง เช่น บรรดาเจ้านาย ในราชสำนัก ข้าราชบริพาร ข้าราชการชั้นผู้นำ เท่านั้นส่วนประชาชนทั่วไป ยังไม่นิยมกันเท่าที่ควร สินค้าที่ผลิตออกมา จึงจำหน่ายได้น้อยไม่เพียงพอกับทุนทรัพย์ที่ลงไป สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงคิดหาทาง ให้ช่างผู้ชำนาญของกรมศิลปากรออกแบบเครื่องแต่งกายชาวไทยขึ้น โดยนำแบบตามประวัติศาสตร์ มาประยุกต์ให้ทันสมัย เหมาะกับสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ความสะดวก สบายตามเทศะ โอกาสและสภานที่ แบบที่ออกมานี้จึงมีลักษณะคล้าย เสื้อราชปะแตนในรัชกาลที่ ๖ ผิดกันตรงที่ การใช้วัสดุ และส่วนปลีกย่อย คือ แทนที่จะใช้ผ้าเนื้อหนา สีขาว แบบฝรั่ง ก็หันมาให้ผ้าทอพื้นเมืองแทน จึงมีสีสัน งดงาม คอเสื้อตั้ง แขนสั้นหรือยาว มีกระเป๋าล่าง ๒ ใบเจาะ หรือ กุ๊น ปากกระเป๋า ตามแบบเสื้อชาย กระดุม ๕ เม็ด อาจจะใช้ผ้าตกแต่งให้ดูเด่นขึ้นก็ได้ สวมแล้วเคียนเอวด้วยผ้าคะม้า ใช้ในงานลำลองก็คงเป็นฝ้ายและแขนสั้น ส่วนโอกาสพิเศษใช้แขนยาว วัสดุที่ใช้ก็คงจะต้องเป็นผ้าไหม ที่ทำให้ดูว่ามิใช่ลำลองหรือปกติ สำหรับกางเกง ก็ยังคงสวมแบบสากลกันต่อไป เสื้อดังกล่าวนี้เป็นที่นิยม ใช้กันในสังคมบ้าง แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก ก็นับว่าเป็นการชี้ชวนให้ชายไทย หันมานิยมผ้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าเดิมนั่นเอง นับว่านอกจากจะทำให้ เศรษกิจในประเทศดีแล้ว ยังทำให้ชายไทยได้มมีประวัติการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของตน ไม่ซ้ำแบบ ใคร ในปลายปีพ.ศ. ๒๕๒๒ นี้เอง ชุดที่กำเนิดขึ้นนี้ ชาวไทยจึง เรียกกันติดปากว่า ชุดพระราชทาน” (http://www.thaitopwedding.com/Misc/Man-Thai-dress.html)

เมื่อเปรียบเทียบกับจุดมุ่งหมายของการออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติของไทยเรากับของสวีเดน แม้ว่ามีระยะห่างกันถึงเกือบสองร้อยปี นั่นคือ สวีเดนเริ่มเมื่อปี ค.ศ. ๑๗๘๕ ส่วนของไทยเราเริ่มกันจริงจังเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ (ค.ศ. ๑๙๗๗) แต่จะเห็นได้ว่ามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ มุ่งให้เกิดความประหยัดในการแต่งกาย และแถมยังมีเอกลักษณ์ของความเป็นชาติของตนด้วย

 แต่สำหรับตัวผู้เขียนมีชุดราชปะแตนครั้งแรกตอนรับพระราชทานปริญญาบัตร หลังจากนั้นเมื่อไปเรียนต่อเมืองนอก ด้วยความเสียดายจึงนำชุดราชปะแตนรับปริญญานั้นไปด้วย และใส่ต่างเสื้อนอก (สูท) เดินไปไหนมาไหนในลอนดอนก็มีแต่คนหันมามองตามกัน และหากผู้เขียนไม่คิดเข้าข้างตัวเองหรือหลอกตัวเองจนเกินไป ผู้เขียนรู้สึกว่า ชาวอังกฤษไม่ได้มองด้วยสายตาในแง่ลบหรือขบขัน ! ถ้าจะว่าเหมือนชุดของจีนก็ไม่ใช่ จะเหมือนของแขกก็ไม่เชิง เพราะราชปะแตนที่ผู้เขียนใส่นั้นสีขาว...แต่ผู้เขียนไม่เคยมี “ชุดพระราชทาน” ไม่เคยใส่ และไม่คิดจะใส่ด้วย ??!! ไว้จะเขียนต่อถึงเรื่องนี้ต่อไปคราวหน้า  



กำลังโหลดความคิดเห็น