ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ชายขอบภาคใต้ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้หมายถึง จังหวัดที่มีชายแดนติดหรือใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย หากว่าตามความหมายนี้ พื้นที่ที่ว่าจะหมายถึงจังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส งานศึกษาก่อนหน้านี้ทำให้รู้ว่า พื้นที่เหล่านี้มีผู้คนอาศัยอยู่หลายชาติพันธุ์ และมีความเจริญเติบโตเรื่อยมาตามลำดับเป็นเวลานับพันปีแล้ว
วันเวลาที่ยาวนานดังกล่าว ทำให้ผู้คนในพื้นที่เหล่านี้มีวัฒนธรรมเฉพาะเป็นของตนเองอย่างที่แตกต่างไปจากผู้คนในพื้นที่อื่นของไทย ในขณะเดียวกันก็มีวัฒนธรรมที่มาจากต่างถิ่นต่างแดนปรากฏอยู่ด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมนำพาให้เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเดิมของท้องถิ่นกับวัฒนธรรมต่างถิ่นต่างแดน จนเกิดการผสมกลมกลืนกันไป และทำให้กลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมาอย่างที่แตกต่างไปจากพื้นที่อื่นของไทย
วัฒนธรรมจีนถือเป็นวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ชายขอบนี้เช่นกัน เนื่องเพราะพื้นที่นี้ได้มีชาวจีนเข้ามาค้าขายหรือสัมพันธ์ด้วยเป็นเวลานับพันปี ตราบจนยุคสมัยที่ไทยมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐ เราก็ยังคงพบว่าวัฒนธรรมจีนที่ชาวจีนนำติดตัวมาด้วยก็ยังมีปรากฏให้เห็น
ที่สำคัญ วัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่นี้ดำรงอยู่เป็นเวลานาน และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา วัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่นี้ย่อมมิอาจนำมาเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมจีนที่มีมาก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน เพราะวัฒนธรรมจีนที่จีนแผ่นดินใหญ่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและยุคสมัยด้วยเช่นกัน
การศึกษาเกี่ยวกับความเป็นจีนในพื้นที่ชายขอบเหล่านี้จึงสามารถแยกได้หลายประเด็นหลายด้านด้วยกัน เช่น ด้านประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ เป็นต้น
แต่กระนั้น หากจะศึกษาจริงแล้วก็นับว่าทำได้ยาก เพราะพ้นไปจากยุคที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐแล้ว เรามีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับบทบาทของชาวจีนที่เข้ามาในพื้นที่ที่ว่าก่อนหน้ายุคกรุงเทพฯ แต่นั่นก็มิใช่เรื่องที่จะทำไม่ได้เสียเลยทีเดียว เพียงแต่ว่าอาจใช้เวลาและทรัพยากรมากกว่าในระดับปกติเท่านั้น เหล่านี้เป็นประเด็นที่จะกล่าวถึงในบทความขนาดสั้นชิ้นนี้
ข้อสังเกตบางประการจากอดีต
จากงานศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ของไทยก่อนหน้านี้ทำให้รู้ว่า เอกสารฝ่ายจีนได้กล่าวถึงดินแดนทางภาคใต้ของไทยมาเป็นเวลานับพันปีแล้ว โดยพื้นที่ที่ถูกกล่าวถึงนี้จะครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่แถบทะเลอ่าวไทยลงมาจนถึงบริเวณชายขอบ อันเป็นเส้นทางทางทะเลที่จีนใช้อยู่อย่างค่อนข้างจะชำนาญและคุ้นเคย
โดยจีนเรียกอาณาบริเวณที่ว่านี้ว่า จินหลิน แปลว่า ดงทอง ความหมายนี้สันนิษฐานว่าน่าจะแปลมาจากคำว่า “สุวรรณภูมิ” อีกชั้นหนึ่ง และยังกล่าวด้วยว่าดินแดนนี้ตั้งอยู่แถบ “หนานไห่” ซึ่งแปลว่า ทะเลใต้ อีกด้วย
เอกสารโบราณดังกล่าวมีอายุอยู่ในราว 2 พันปีโดยประมาณ ช่วงเวลาที่ว่านี้จีนอยู่ในยุคราชวงศ์ฮั่น (ก.ค.ศ.206 ปี-ค.ศ.220) ข้อมูลนี้ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จีนอาจรู้จักดินแดนภาคใต้ (หรือที่อยู่เหนือขึ้นไป) มาก่อนหน้าเวลาที่ว่าก็ได้ และที่รู้จักนั้นก็เป็นไปโดยการค้าและใช้เส้นทางทางเรือเป็นหลัก
สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า หากคำว่า จินหลิน มาจากคำว่า สุวรรณภูมิ จริงแล้ว ก็เป็นไปได้ที่จีนอาจเรียกขานคำนี้ต่อจากชาวชมพูทวีป (อินเดีย) ที่เรียกดินแดนแถบนี้ว่าสุวรรณภูมิมาอย่างน้อยก็ในสมัยพุทธกาล และถ้าเป็นเช่นนี้จริงก็แสดงว่า ชาวชมพูทวีปอาจเป็นผู้เข้าถึงดินแดนในแถบนี้ก่อนชาวจีน
จากนั้นต่อมา ก็มีเอกสารฝ่ายจีนที่กล่าวถึงความสัมพันธ์กับดินแดนชายขอบของไทยและที่อยู่เหนือขึ้นไปในราว 1,700-1,800 ปีก่อน หากว่าตามเวลานี้ก็จะตรงกับสมัยราชวงศ์จิ้น (ค.ศ.265-420) ของจีน
ต่อมาก็ปรากฏอีกว่า จีนมีความสัมพันธ์กับดินแดนแถบนี้อีก คือเมื่อราว 1,400-1,600 ปีก่อน ช่วงนี้จะตรงกับสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) กับราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) เนื่องจากถังเป็นราชวงศ์ที่มีความรุ่งเรืองและอายุยาวนานเกือบสามร้อยปี ความสัมพันธ์ในช่วงนี้ของชายขอบภาคใต้กับจีนจึงยาวนานไปด้วย
จากนั้นก็ปรากฏหลักฐานจากเอกสารกล่าวถึงความสัมพันธ์เมื่อราว 1,000 ปีก่อน ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) ยุคนี้จัดเป็นยุคที่จีนมีความรุ่งเรืองมากยุคหนึ่ง และพอพ้นไปจากยุคนี้แล้ว ก็เป็นความสัมพันธ์กับราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1279-1368) ที่มีชนชาติมองโกลเป็นผู้ปกครอง ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) และราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ที่เป็นราชวงศ์สุดท้ายซึ่งมีชนชาติแมนจูเป็นผู้ปกครอง ก่อนที่จีนจะเกิดการปฏิวัติสาธารณรัฐใน ค.ศ.1911
กล่าวเฉพาะสามราชวงศ์หลังนี้ถือเป็นช่วงที่รัฐไทยมีศูนย์กลางอำนาจรัฐอยู่ที่สุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ โดยลำดับ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของรัฐชายขอบภาคใต้ของไทยที่มีต่อจีนจึงมีฐานะที่อาจจะต่างไปจากอดีตก่อนหน้านี้ เพราะช่วงเวลาส่วนใหญ่ของรัฐเหล่านี้เป็นช่วงที่ตกเป็นประเทศราชของศูนย์กลางอำนาจรัฐดังกล่าว
จากที่กล่าวมาโดยสังเขปนี้ มีข้อสังเกตบางประการที่พึงกล่าวในที่นี้คือ ประการแรก ถ้าพิจารณาจากแต่ละช่วงเวลาที่จีนสัมพันธ์กับดินแดนชายขอบภาคใต้แล้ว จะพบว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวโดยมากจะเกิดขึ้นในช่วงที่จีนมีความเป็นเอกภาพและความเป็นปึกแผ่น คือมีราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่งปกครองด้วยอำนาจที่แน่นอน
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หากเราศึกษากาลานุกรม (chronology) ในประวัติศาสตร์จีนก็จะเห็นได้ว่า แต่ละราชวงศ์ดังกล่าวมิได้มีความต่อเนื่องกันเป็นลำดับ หมายความว่า บางสมัยพอสิ้นราชวงศ์หนึ่งแล้ว ก็อาจไม่มีราชวงศ์ใดขึ้นมาปกครองด้วยอำนาจที่เด็ดขาดแน่นอน แต่จะถูกคั่นด้วยยุคสมัยที่จีนแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ
กล่าวอีกอย่างคือ จีนแตกแยกออกเป็นรัฐต่างๆ หลายรัฐ ยุคสมัยนี้จะถูกเรียกขานด้วยชื่อเฉพาะเพื่อชี้ให้เห็นนัยของความแตกแยกดังกล่าว
ที่สำคัญ ความแตกแยกนี้มิได้ดำรงอยู่เพียงชั่วคราวไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปี หากดำรงอยู่หลายสิบปีจนถึงนับร้อยปี เช่นพอสิ้นราชวงศ์ฮั่น จีนก็ถูกคั่นด้วยสมัยไตรรัฐ (ค.ศ.220-280) หรือที่ไทยเรารู้จักกันดีในคำว่า ยุคสามก๊ก ซึ่งจะกินเวลายาวนานถึง 60 ปี เป็นต้น
ประเด็นก็คือว่า ในระหว่างนี้รัฐเล็กรัฐน้อยที่แตกแยกต่างก็ทำสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ เพื่อที่จะสถาปนาตนเองขึ้นมาตั้งราชวงศ์ใหม่ให้ได้ รัฐเหล่านี้จึงย่อมแข่งขันกันสร้างความเข้มแข็งและความเจริญให้แก่ตนให้มากที่สุด
ในแง่นี้นักประวัติศาสตร์จีนพบว่า หลายรัฐเหล่านี้ได้มีการบันทึกเรื่องราวภายในของตนขึ้นมาด้วย และบันทึกของบางรัฐระบุว่า ตนเคยมีความสัมพันธ์กับรัฐใดที่อยู่นอกจีนแผ่นดินใหญ่ออกไปบ้าง ตรงนี้เองที่ทำให้เรารู้ว่า บางสมัยจีนมีความสัมพันธ์กับไทยหรือรัฐชายขอบของไทยอยู่ด้วย