"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ความหวังเชิงอุดมคติอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยคือ การมีพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนหรือตัวแทนสามารถอภิปรายถกเถียงกันโดยใช้เหตุผล และสามารถรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้ รวมทั้งสามารถหาข้อยุติที่ได้รับการยอมรับร่วมกันว่าดีที่สุดภายใต้ความสมเหตุสมผล และมีความชอบธรรมโดยอาศัยเสียงข้างมาก หรือฉันทามติ มิใช่ถูกกำหนดโดยฐานอำนาจ ความต้องการ และผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
พื้นที่สาธารณะอาจเป็นได้ทั้งพื้นที่สาธารณะที่เป็นทางการ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการอภิปรายและการตัดสินใจทางการเมืองเป็นการเฉพาะ เช่น รัฐสภา รัฐบาล และที่ประชุมของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะ เป็นต้น และพื้นที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นพื้นที่การสนทนาของพลเมือง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจโดยตรง แต่มีอิทธิพลต่อผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองได้ เช่น รายการสนทนาทางการเมืองในสื่อสาธารณะ เวทีการสัมนาทางวิชาการ เวทีการพูดคุยของประชาชนตามสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น และในปัจจุบันก็มีพื้นที่สาธารณะอีกรูปแบบที่เกิดขึ้นและถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย นั่นคือ สื่อสังคมออนไลน์
นักวิชาการชาวเยอรมัน เจอร์เก็น ฮาเบอร์มาส อธิบายพัฒนาการของพื้นที่สาธารณะในสังคมตะวันตกยุคศตวรรษที่ 17-20 ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว ในยุคศตวรรษที่ 17-18 สังคมตะวันมีการสร้างพื้นที่สาธารณะแบบใหม่ขึ้นมา มีเป้าหมายเพื่อสร้างเวทีให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอภิปรายและตัดสินใจร่วมกันในประเด็นสาธารณะที่มีผลต่อส่วนรวม กลุ่มคนที่เข้าถึงส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง กลุ่มพ่อค้าและปัญญาชนที่สถาปนาตนเองเป็นพลเมือง สถานที่เสวนาประเด็นสาธารณะที่ใช้มากคือ ร้านกาแฟ และห้องรับแขกของพวกผู้ดี มีการจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอพบปะกันเป็นประจำ พูดคุยถกเถียงอย่างอิสระ บนพื้นฐานที่เท่าเทียม และใช้เหตุผล ประเด็นที่ได้รับการหยิบยกมาเสวนาคือประเด็นการเมือง การปกครอง และกฎหมาย และชนชั้นกลางยุคนั้นสามารถใช้พื้นที่สาธารณะเป็นกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้สำเร็จ
แต่ในศควรรษที่ 19-20 ฮาเบอร์มาส กลับพบว่า เมื่อชนชั้นกลางครองอำนาจรัฐได้แล้ว พื้นที่สาธารณะแบบเดิมหมดหน้าที่ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นกลาง แต่ครั้นจะยุบเลิกก็เป็นเรื่องยาก ชนชั้นกลางจึงมีปรับรูปแปลงโฉมพื้นที่สาธารณะเสียใหม่ โดยการทำให้พื้นที่สาธารณะเป็นเขตปลอดการเมือง มีหน้าที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ประกอบกิจกรรมวัฒนธรรม สังคม และนันทนาการ มีการแปรสภาพ “ความเป็นพลเมือง” ซึ่งมีนัยของสัมพันธ์กับส่วนรวมเชิงการเมือง ให้กลายเป็น “ผู้บริโภค” ที่มีนัยส่วนตัวทางเศรษฐกิจแทน ประชาชนในฐานะพลเมืองที่เคยมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกระตือรือร้นแข็งขัน กลายเป็นมวลชนที่เฉื่อยชา ซึ่งถูกครอบงำด้วยจิตสำนึกที่ว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของเรา และถอยห่างจากการเมือง ส่วนการตัดสินใจก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจหน้าที่ หรือบรรดามืออาชีพทางการเมือง และมีการสร้าง “พื้นที่สาธารณะเทียม” ขึ้นมา
รัฐสภาเป็นตัวอย่างของพื้นที่สาธารณะเทียมที่เป็นทางการ รัฐสภากลายเป็นเวทีการแสดงละคร ซึ่งมีการเขียนบทไว้ล่วงหน้า การตัดสินใจถูกกำหนดเอาไว้ก่อนด้วยการตกลงกันของคนกลุ่มน้อยที่ครองอำนาจและผูกขาดการตัดสินใจ นักการเมืองแต่ละฝ่ายแสดงบทบาทตามตำแหน่งหรือฝ่ายที่ตนเองสังกัด นำเสนอในสิ่งที่เตรียมมาตามหน้าที่ และมุ่งสร้างภาพลักษณ์เพื่อเรียกความนิยม ส่วนผู้ที่อยู่ร่วมเวทีก็หาได้เปิดความคิดรับฟังและนำมาไตร่ตรองเพื่อใช้ในการตัดสินใจแต่อย่างใด เพราะมีข้อสรุปของการตัดสินใจไว้ล่วงหน้าแล้ว พื้นที่สาธารณะเทียมจึงเป็นเสมือนการประกอบพิธีการอย่างหนึ่ง หรือเป็นเปลือกที่ปราศจากสารัตถะของประชาธิปไตย ปรากฏการณ์แบบนี้ ฮาเบอร์มามองว่า ไม่แตกต่างจากพื้นที่สาธารณะในยุคศักดินาแต่อย่างใด ที่การอภิปรายและการตัดสินใจถูกผูกขาดและควบคุมโดยผู้มีอำนาจเพียงส่วนน้อย
ในสังคมไทย พื้นที่สาธารณะที่เป็นทางการมีลักษณะเป็นพื้นที่สาธารณะเทียมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าในรัฐสภา ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายต่าง ๆ หรือในเวทีประชุมที่หน่วยงานราชการเป็นผู้จัดขึ้นภายใต้ชื่อที่เรียกว่าประชาคม ขณะที่พื้นที่สาธารณะที่ไม่เป็นทางการมีความพัฒนาการที่น่าสนใจกว่า กล่าวได้ว่า หลังเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ของประชาชนเพื่อยุติการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารใน พ.ศ. 2535 ได้สำเร็จ ชนชั้นกลางไทยได้สร้างและขยายพื้นที่สาธารณะออกไปอย่างกว้างขวาง การพูดคุยเสวนาเกี่ยวกับการปฏิรูปทางการเมืองเกิดขึ้นในหลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองของจังหวัดต่าง ๆ ชนชั้นกลางไทยใช้พื้นที่สาธารณะเป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองได้สำเร็จทั้งสองระดับคือ การเมืองท้องถิ่น ซึ่งสามารถลดอำนาจรัฐราชการ และกระจายอำนาจสู่ประชาชนมากขึ้น มีการจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และการเมืองระดับชาติ ก็มีการสร้างรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางขึ้นมาเป็นฉบับแรกในปี 2540
ทว่าหลัง พ.ศ. 2548 พื้นที่สาธารณะที่ไม่เป็นทางการค่อย ๆ กลายสภาพเป็น “พื้นที่สาธารณะเทียม” เช่นเดียวกันกับพื้นที่สาธารณะที่เป็นทางการ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ “ปรากฏการณ์ของความเป็นขั้วทางการเมือง” ผู้สนับสนุนการเมืองต่างขั้วต่างสร้างพื้นที่สาธารณะของตนเอง และใช้พื้นที่สาธารณะเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์ โจมตี และโค่นล้มปรปักษ์ทางการเมือง เวทีอภิปราย สัมนา เสวนา ไม่ว่าถูกจัดในห้องประชุมมหาวิทยาลัย โรงแรม ห้องส่งในสถานีวิทยุและโทรทัศน์ สวนสาธารณะ ท้องถนน และร้านกาแฟก็ตาม ต่างถูกครอบงำด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล และการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นมักเป็นการนำเสนอเพียงด้านเดียว กลุ่มคนที่เข้าร่วมในแต่ละเวทีก็เป็นกลุ่มคนที่มีความคิดและความเชื่อเป็นไปในทิศทางทางเดียวกัน พื้นที่สำหรับผู้ที่มีความคิดแตกต่างและพูดคุยกันด้วยเหตุผลเหลือไม่มากนัก
ยิ่งกว่านั้น เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2557 สังคมตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการทหาร พื้นที่สาธารณะที่ไม่เป็นทางการที่พูดคุยเรื่องการเมืองและการปกครองเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะผู้ครองอำนาจรัฐเชื่อว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของพวกเขา ประชาชนจำนวนมากที่เคยเป็น “พลเมือง” ก็เปลี่ยนตัวเองเป็น “มวลชน” ที่เงียบงันและเชื่อฟัง ส่วนจำนวนน้อยที่ยังยืนหยัดความเป็นพลเมืองและต่อต้านอำนาจเผด็จการก็ถูกจับกุมและลี้ภัยไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มต่อต้านอำนาจรัฐเผด็จการบางกลุ่มได้สร้างพื้นที่สาธารณะในรูปแบบใหม่ขึ้นมาในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อคุยประเด็นการเมืองและการเปลี่ยนแปลงสังคม
หลังการเลือกตั้งปี 2560 พื้นที่สาธารณะที่ไม่เป็นทางการได้รับการรื้อฟื้น แต่ไม่อาจคืนสู่สภาพการเป็นพื้นที่สาธารณะที่แท้จริงดังช่วงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ได้ เป็นได้เพียง “พื้นที่สาธารณะเทียม” เพราะอิทธิพลของการเมืองแบบขั้วยังคงดำรงอยู่ และมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ชนชั้นกลางที่เคยเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อนพื้นที่สาธารณะช่วงหลังพฤษคม 2535 แต่มีการแตกแยกทางความคิดและแบ่งเป็นขั้วการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ยังไม่อาจสลายความเป็นขั้วการเมืองให้หมดไปได้ แม้ว่าอาจไม่เข้มข้นดังช่วง 2550-60 แล้วก็ตาม ความหวาดระแวงซึ่งกันและกันยังคงดำรงอยู่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพูดคุยด้วยเหตุผล ยิ่งกว่านั้นหลังปี 2562 สังคมไทยเกิดปรากฎการณ์ของความเป็นขั้วการเมืองประเภทใหม่ขึ้นมาสองลักษณะ
ลักษณะแรกเป็นขั้วระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ ซึ่งเกิดจากรากฐานความจริงทางการเมืองระหว่าง “กลุ่มที่ยอมรับ” กับ “กลุ่มที่ปฏิเสธ” การรัฐประหารและการปกครองด้วยเผด็จการทหาร และลักษณะที่สองเป็นขั้วระหว่าง “กลุ่มอนุรักษ์นิยมจารีต” กับ “กลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตย” กลุ่มอนุรักษ์นิยมจารีตที่ต้องการปกป้องสถาบันดั้งเดิม รวมทั้งสนับสนุนบทบาทและการใช้อำนาจของสถาบันดั้งเดิมในปริมณฑลสาธารณะ ขณะที่กลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยต้องการให้สถาบันดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เป็นสากล อย่างไรก็ตาม ปีกที่สุดขั้วของกลุ่มอนุรักษ์นิยมจารีตเชื่อว่ากลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยต้องการล้มล้างสถาบันดั้งเดิม ขณะเดียวกันปีกที่สุดขั้วของเสรีนิยมประชาธิปไตยก็เชื่อว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมต้องการให้ทำให้การปกครองหวนคืนไปสู่ระบอบราชาธิปไตย ต่างฝ่ายต่างก็ยึดมั่นในความเชื่อที่ดูเหมือนว่า ไม่อาจทำให้การพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างมีเหตุผลเป็นไปได้
พื้นที่สาธารณะในความหมายที่แท้จริงจึงหดหายไปในสังคมไทย เหลือเพียงแต่พื้นที่สาธารณะเทียม ที่เป็นการรวมกลุ่มพูดคุยของคนที่มีความคิดและความเชื่อเหมือนกัน ใช้ข้อมูลข่าวสารและเหตุผลที่สนับสนุนความเชื่อของตนเอง มุ่งเน้นการวิพากษ์และหาทางบั่นทอนทำลายพลังทางการเมืองของกลุ่มที่ตนมองว่าเป็นปรปักษ์ และมีการสร้างวาทกรรมออกมาด้อยค่าและเหยียดหยามซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ครองอำนาจรัฐก็จำกัดเสรีภาพในการพูดและการกระทำ ด้วยการจับกุมและใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดและเข้มข้นกับผู้ที่ถูกมองว่าละเมิดสิ่งต้องห้ามที่รัฐกำหนดขึ้นมา
บรรยากาศของสังคมที่มีเพียง “พื้นที่สาธารณะเทียม” หรือ “จำกัดพื้นที่สาธารณะ” รังแต่บั่นทอนและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาศักยภาพของประชาชน ทำให้การใช้เหตุผลและข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและรอบด้านลดลง นำไปการลดลงของภูมิปัญญาของสังคมโดยรวม ผู้คนถูกครอบงำด้วยความเชื่อที่ผิดพลาดและใช้อารมณ์ความรู้สึกเชิงลบในการกระทำ สุดท้ายก็นำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม บรรยากาศแบบนี้ย่อมไม่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพประชาชนให้มีความเป็นพลเมือง และมีส่วนร่วมในการบริหารปกครองประเทศอย่างมีคุณภาพ