ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ก่อนอื่นคงต้อง “ลบอคติ” และ “เปิดใจกว้างๆ” เสียก่อน สำหรับ “แอปฯ หาคู่ (Dating Apps)” หรือแพลตฟอร์มยอดฮิตอย่าง “ทินเดอร์ (Tinder)” ก็เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ได้มีเพียงเพื่อสานสันพันธ์แบบ “คู่รัก” หรือความสัมพันธ์ชั่วคราว “นัดยิ้มชั่วคืน” ในอีกมิติหนึ่ง “แอปฯ หาคู่” เป็นช่องทางสำหรับคนเหงา (จำนวนมาก) ที่แค่ต้องการหา “เพื่อนคุย” แค่ใครสักคนพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
และยิ่งในช่วงเวลา “เหงาๆ” นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ราวๆ ปี 2563 จำนวนผู้ใช้งานแอปฯ หาคู่พุ่งสูงทุบสถิติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน “ทินเดอร์” ถูกดาวน์โหลดทั่วโลกมากกว่า 430 ล้านครั้งเลยทีเดียว
ข้อมูลจาก GlobalWebIndex ระหว่างปี 2562 และ ปี 2563 ความนิยมในการใช้งาน Dating Apps เพิ่มขึ้นโดยกลุ่มผู้ใช้งานหลักๆ คือคนรุ่นใหม่ และการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานระหว่างไตรมาสที่ 4 ปี 2562 และปี 2563 เติบโตเพิ่มขึ้น 19% และ 66% ของผู้ใช้งาน Dating App กลุ่มคนอายุ 16-34 ปี
นอกจากนี้ ปี 2564 ไตรมาสแรกของ Match Group เจ้าของแพลตฟอร์ม Tinder มียอดรายได้เพิ่มขึ้น 23% เป็น 668 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าที่นักวิเคระห์คาดการณ์ ซึ่ง Tinder กลายมาเป็นโอกาสธุรกิจครั้งใหญ่เพราะบรรดาผู้ใช้งานยอมจ่ายเงินเพื่อได้รับฟีเจอร์พิเศษต่างๆ เช่น Gold Member ที่ทำให้ผู้ใช้เห็นคนที่มา Liked เพื่อสแกนว่าอยากแมทช์สานความสัมพันธ์ต่อ เป็นต้น
สำหรับ Tinder แอปฯ หาคู่ หรือ Dating Apps เปิดตัวในปี 2555 มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันให้บริการกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ยอดดาวน์โหลดมากกว่า 450 ล้านครั้ง รองรับการใช้งานกว่า 40 ภาษา และมีมากกว่า 65,000 ล้านคู่ทั่วโลกที่แมทช์กันผ่านแอปฯ นี้
และต้องยอมรับว่า ทินเดอร์ไม่ใช่แพลตฟอร์มเฉพาะเจาะจงสำหรับการหาคู่เดทเพียงอย่างเดียว ผู้ใช้งานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ใช้ทินเดอร์เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองพบเจอผู้คนใหม่ๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่าง เปิดโลกใบใหม่ที่แตกต่างออกไป
ทุกคนสามารถปัดขวาหาคนที่ถูกใจไม่ว่าเพศไหนจะชาย-หญิง หรือ LGBTQ หากจังหวะดีๆ เกิดใจตรงกันแมทช์ (Match) กันขึ้นมา และหากพูดคุยกันถูกคอ จากคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ อาจขยับสถานะมาเป็นเพื่อน พี่น้อง หรือคนรัก ในชีวิตจริงก็มีให้เห็นไม่น้อย แต่จำนวนหนึ่งก็ตกอยู่ในสภาวะแมทช์แล้วเมิน ไม่ได้พูดคุยสานสัมพันธ์ใดๆ ก็คงต้องอยู่แบบเหงาๆ ต่อไป
พิจารณาข้อมูลจาก Statista 2020 เปิดเผยว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่มอง Dating Apps ไม่ใช่เพื่อการหาคู่เดท หรือความสัมพันธ์แบบ One Night Stand กล่าวคือ Dating Apps เป็นช่องทางใหม่ในการพบเจอผู้คนเพื่อโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ในระยะยาว
ผลสำรวจระบุว่า 38% ของผู้ใช้งาน Dating App ในไทย ใช้งานก็เพื่อพบปะผู้คนใหม่ๆ และ 27% ของผู้ใชงาน Dating App ในไทย ใช้งานก็เพื่อมองหาโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบคนรัก หรือรูปแบบอื่นๆ เป็นต้น
พาพริ เดพ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารประจำเอเชีย แปซิฟิก ของ Tinder กล่าวถึงภาพรวมในปี 2564 โดยระบุว่า Gen Z ชาวไทยมีปฏิกิริยาเชิงบวกกับ Dating Apps ค้นหาจุดกึ่งกลางระหว่างการเดทออนไลน์ และการเดทในชีวิตจริง โดยเทรนด์การเดทในปีที่ผ่านมายังเป็นแนวทางในการหาคู่เดท หาเพื่อนใหม่ หรือหาคอนเน็คชันใหม่ๆ
ทั้งนี้ Tinder เผยผลสำรวจการใช้งานของ Gen Z ชาวไทยปี 2021 ผ่าน Year in Swipe™ เป็นการสำรวจจากการระบุบนหน้าประวัติส่วนตัวบน Tinder ในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2564 – 30 พฤศจิกายน 2564 และการใช้ฟีเจอร์ VIBE ของ Tinder ที่สะท้อนพฤติกรรมของผู้ใช้งาน Gen Z ชาวไทย ดังนี้
หัวข้อ การคอนเน็กกันในแบบ URL (โลกออนไลน์) และ IRL (ชีวิตจริง) ปี 2564 ชาว Gen Z รู้สึกได้รับประสบการณ์ในการพบปะผู้คนผ่านโลกออนไลน์แบบเสมือนจริง และการออกเดทในชีวิตจริงหลังจากฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ใช้งานทั่วโลกมีการใช้วิธีเดทผ่าน วิดีโอคอล ซึ่งกลายเป็นส่วนที่สำคัญของเดทแรก
ทั้งนี้ มีระบุถึง วิดีโอคอล (video call) ในหน้าประวัติส่วนตัวบน Tinder เพิ่มมากขึ้นถึง 52% เนื่องจากในปีนี้ต้องอยู่กับสถานการณ์การล็อกดาวน์ที่มากขึ้นกว่าปีก่อน ทำให้ Gen Z ชาวไทยใช้วิธีออกเดทผ่านการวิดีโอคอลบน Tinder เพิ่มมากขึ้น โดยสมาชิกในจังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น เป็น 2 จังหวัดที่มีการพูดคุยกันผ่านวิดีโอคอลมากที่สุดในประเทศไทย
และแม้ก่อนหน้ามีการล็อกดาวน์ทำให้การมาเจอกันยากขึ้น แต่ไม่เป็นอุปสรรคของ Gen Z ชาวไทยซึ่งมีการใช้ฟีเจอร์ Passport ปักหมุดไปที่กรุงโซล ลอนดอน โตเกียว ลอสแอนเจลิส ฯลฯ เพื่อตามหาคู่เดทในฝัน ส่วนจังหวัดยอดนิยมในประเทศไทยที่คนนิยมปักหมุดคือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี และหาดใหญ่
โดยสรุปก็คือ Gen Z ชาวไทย ยังมองหาการสร้างคอนเนกชันกับผู้คนใหม่ๆ ที่อยู่ใกล้กันเพื่อได้นัดเจอกันได้ในชีวิตจริง และเพื่อที่จะหาเพื่อนไปเที่ยวด้วยกันได้ ทั้งสองคำนี้จึงถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นโดยคำว่า นัดเจอ เพิ่มขึ้นถึง 77% และคำว่า หาเพื่อนเที่ยว เพิ่มขึ้นกว่า 85%
และจากผลสำรวจของ Tinder ทำให้เห็นว่าในปี 2564 เดทแรกกลายเป็นเรื่องของการทำกิจกรรมมากกว่าการหาทางทลายกำแพงความเขินอายระหว่างกัน คนที่กำลังหาคู่จะเลือกเดทแรกด้วยการทำกิจกรรมแปลกใหม่ที่น่าสนใจมากกว่า เพราะช่วยให้ทำความรู้จักตัวตนของกันและกันได้อย่างแท้จริง
Tinder พบว่ามีการระบุถึงคำว่ากางเต็นท์ เพิ่มมากขึ้น 3.2 เท่าในหน้าประวัติส่วนตัวบน Tinder ของคนไทย ภูเขาและทะเลก็เป็นสถานที่เดทที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รวมถึง กิจกรรมอื่นๆอย่าง เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง ก็เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมและพูดถึงบนหน้าประวัติส่วนตัวบน Tinder ของชาวไทย
นอกจากนี้ การระบุเรื่องราวเล็กๆ ที่สามารถสร้างความประทับใจให้คู่แมทช์ เช่น สิ่งเล็กๆ สามารถทำให้เดทนั้นกลายเป็นเดทสุดประทับใจ สมาชิกของ Tinder มีการพูดถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ บนหน้าประวัติส่วนตัวบน Tinder เพิ่มขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่น มีการพูดถึงคำว่าหมูกระทะ เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และคำว่าบุฟเฟต์ เพิ่มขึ้นถึง 25% บนประวัติส่วนตัวของสมาชิก Tinder ชาวไทย เป็นต้น
และเมืองที่มีคนปักหมุดเพื่อหาคู่แมทช์มากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ, ขอนแก่น-กรุงเทพฯ, ปทุมธานี-กรุงเทพฯ, หาดใหญ่-กรุงเทพฯ, นครราชสีมา-กรุงเทพฯ, นครปฐม-กรุงเทพฯ, พัทยา-กรุงเทพฯ, อุดรธานี-กรุงเทพฯ, ชลบุรี-กรุงเทพฯ และอุบลราชธานี-กรุงเทพฯ
ส่วนในต่างประเทศเมืองคนไทยปักหมุดหาคู่แมทช์มากที่สุดได้แก่ โซล เกาหลีใต้, ลอนดอน สหราชอาณาจักร, นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, โตเกียว ญี่ปุ่น, ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา, ซิดนีย์ ออสเตรเลีย, ไทเป ไต้หวัน, สิงคโปร์, ปารีส ฝรั่งเศส และเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน
นอกจากนี้ ผลสำรวจของ App Annie เรื่อง Mobile Minute พบว่า 2563 พบว่า ผู้บริโภคทั่วโลกโดยเฉลี่ยแล้วมีการใช้จ่ายมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 90,000 ล้านบาท) ไปกับแอปฯ หาคู่ เพิ่มขึ้น 15% เทียบปีต่อปี (YOY) และยังมียอดดาวน์โหลดแอพฯ หาคู่กว่า 560 ล้านครั้งด้วย และแอปฯ หาคู่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2563 คือ Tinder
และเมื่อก้าวเข้าสู่กระแส Metaverse ทาง Tinder ได้ต่อยอดจากการพูดคุยกันแบบตัวจริงเสียงจริงผ่าน Explore ไปสู่ Immersive Dating Ecosystem หรือ ระบบนิเวศการเดตที่สร้างประสบการณ์และความประทับใจในรูปแบบใหม่ๆ เช่น Virtual Avatar ผู้ใช้งานสามารถสร้างคาแรกเตอร์อวตารที่มีรูปร่างหน้าตาหรือเชื้อชาติใดก็ได้ พูดคุยกับใครก็ได้, Virtual Event ผู้ใช้งานพบกันในแอปก็จริง แต่เมื่อคิดจะแต่งงานกลับเลือกจัดงานแต่งใน Metaverse, Tinder Coins เงินดิจิทัลที่ Tinder เตรียมออกผู้ใช้งานใช้จ่ายภายในแอปฯ เป็นต้น
โดยเบื้องหลังความสำเร็จของ Dating Apps อย่าง Tinder มีนักสังคมวิทยาร่วมพัฒนาแอปฯ โดย Jessica Carbino นักสังคมวิทยาที่ปัจจุบันทำงานให้กับ Tinder เปิดเผยผ่าน Fast Company ถึงบทบาทของนักสังคมวิทยากับการทำงานร่วมกับบริษัทไอที ให้คำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการใช้งาน Tinder โดยนำเอาระเบียบและวิธีการทางด้านสังคมวิทยาและการวิจัยทางสังคมเข้ามาปรับใช้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคต ยกตัวอย่างการวิจัยเรื่องการใช้รูปจากโปรไฟล์ผู้ใช้ของ Tinder ในสหรัฐฯ กว่า 12,000 รูป นำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวโน้มและประวัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าใจว่าผู้คนพยายามจะนำเสนอตัวเองอย่างไร
พบว่าแนวทางการใช้ Tinder แตกต่างออกไปตามแต่ละสังคมอย่างชัดเจน ในกรณีของประเทศกลุ่มเอเชีย การใช้ Tinder โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการหาเพื่อนมากกว่าการใช้หาคู่เดทอย่างในยุโรป ละตินอเมริกา หรือในสหรัฐฯ ดังนั้นต้องออกแบบแพลตฟอร์มให้ปรับใช้ได้ในทุกสภาพสังคม
โดยในปัจจุบันบริษัทสายเทคโนโลยีรายใหญ่จำนวนไม่น้อย มีการจ้างนักสังคมวิทยาเข้าทำงานในแผนกวิจัยของบริษัท เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวเองและรับฟังความเห็นจากผู้ใช้งาน
แน่นอนว่าเทคโนโลยีตอบโจทย์ชีวิตให้ง่ายขึ้น แม้กระทั่งเรื่องความสัมพันธ์ซึ่งการเข้ามาของโรคระบาดยิ่งทำให้แนวโน้มการใช้งานแพลตฟอร์ม Dating Apps เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย