ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ค้านกระแสสังคมหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก “ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก” ตร.คฝ. เพียง 1 ปี 15 วัน และปรับ 4,000 บาท โทษฐานควบบิ๊กไบค์ชน “หมอกระต่าย” หรือ “พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล” ขณะเดินข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต เมื่อช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หนาหู เพราะโทษบางเบาเสียเหลือเกิน มิหนำซ้ำยังได้รับการประกันตัวในวงเงิน 2 แสนบาท
กรณีดังกล่าวนับเป็นประเด็นร้อนที่ยังอยู่ในความสนใจของสังคม เพราะนอกจากผู้กระทำผิดซึ่งเป็นตำรวจได้รับโทษสถานเบาแล้ว เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนโดยเฉพาะบริเวณทางม้าลาย ตลอดจนเรื่องวินัยจราจร ยังเป็นประเด็นที่สังคมไทยต้องถกเถียงกันดังๆ โดยเฉพาะในหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างไร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2565 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ. 399/2565 ที่ พนักอัยการคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ฟ้อง ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก อายุ 21 ปี ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) เป็นจำเลยในความผิด ฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน และกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหาอื่นๆ รวม 9 ข้อหา
กรณีอุบัติเหตุดังกล่าวได้รับความสนใจในสังคมอย่างมาก ย้อนกลับไปที่เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 เวลากลางวัน ส.ต.ต.นรวิชญ์ จำเลย ขี่ จยย.บิ๊กไบค์ ยี่ห้อดูคาติ รุ่นมอนสเตอร์ ทะเบียน 1 กผ 9942 เชียงราย ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี ขณะเดินข้ามทางม้าลาย บริเวณหน้า รพ.สถาบันไตภูมิราชนครินทร์ กรุงเทพฯ ทั้งที่เป็นเขตชุมชนแต่ขับด้วยความเร็วสูง 108 - 128 กม. เกินกว่ากฎหมายกำหนดที่ 80 กม. ต่อชั่วโมง เป็นเหตุสูญเสียแพทย์หญิงอนาคตไกล
ขณะที่พนักงานอัยการ โจทก์ได้นำตัว ส.ต.ต.นรวิชญ์ ยื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา รวม 9 ข้อหา ได้แก่ 1. นำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถ, 2. ฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี, 3. ใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย, 4. นำรถไม่สมบูรณ์มาขับและไม่ติดกระจกมองข้าง, 5. ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย, 6. ขับรถจักรยานยนต์เร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด, 7. ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น, 8. ขับรถโดยไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง และ 9. ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน และกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ไล่หลัง 3 เดือน ศาลพิพากษา การกระทำของ ส.ต.ต.นรวิชญ์ ในความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ลงโทษจำคุก 2 ปี 30 วัน ปรับ 8,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ความผิดฐานนำรถที่มิได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถ ปรับ 1,000 บาท ฐานใช้รถที่มิได้เสียภาษีประจำปี ปรับ 1,000 บาท ฐานใช้รถที่ไม่ได้จัดให้ มีการประกันความเสียหาย ปรับ 1,000 บาท ฐานใช้รถโดยมีส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์ สำหรับรถไม่ครบถ้วน ปรับ 1,000 บาท ฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น จำคุก 15 วัน ฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือ ทรัพย์สินโดยไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทางเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 1 ปี “รวมโทษแล้วจำคุก 1 ปี 15 วัน และปรับ 4,000 บาท เท่านั้น”
และภายหลังศาลอาญา มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกและปรับจำเลย ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก บิดาและผู้บังคับบัญชาของจำเลย ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้ตำแหน่งราชการเป็นหลักทรัพย์ โดยศาลอาญาพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ตีราคาประกัน 200,000 บาท
เบื้อต้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้มีคำสั่งให้ ส.ต.ต.นรวิชญ์ ออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว ก่อนศาลได้มีคำพิพากษาชั้นต้นตัดสินโทษจำคุก 1 ปี 15 วัน และปรับ 4,000 บาท ซึ่งสำนักงานตำรวจฯ ยังคงปฏิบัติคำสั่งเดิม
พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า ส.ต.ต.นรวิชญ์ มีการยื่นอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ดังนั้น ถ้าหากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้อง ทาง ส.ต.ต.นรวิชญ์มีสิทธิที่จะยื่นเรื่องขอเข้ารับราชการได้ ตามระเบียบของตำรวจ ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด ว่า มีคำสั่งจำคุกหรือไม่ ถ้าหากมีคำสั่งจำคุก ทาง ตร. ถึงจะมีคำสั่งไล่ออกจากราชการต่อไป
ตามมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะกรณีที่เกิดเกิดขึ้นผู้กระทำผิดเป็น “เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ” พฤติกรรมประมาทก่อให้เกิดคดีร้ายแรง ควรได้รับบทลงโทษที่หนักกว่าประชาชนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นายณัฐพล ชิณะวงศ์ ทนายความของฝ่ายผู้เสียหายครอบครัวหมอกระต่าย เปิดเผยว่าบทลงโทษที่ศาลตัดสินอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นไปได้ เพราะศาลได้มีการพิจารณาเทียบเคียงกับคดีอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเพื่อไม่ให้บทลงโทษเหลื่อมล้ำกันมากเกินไป โดยหลักเกณฑ์ในภาษาศาล เรียกว่า “ยี่ต๊อก” หรือ การเทียบบัญญัติไตรยางค์ในการลงโทษในแต่ละคดีซึ่งต้องไม่ลักลั่นเกินไป
ข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊กห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ ระบุว่า คําว่า “ยี่ต๊อก” ที่ใช้กันในวงการตุลาการ หมายถึง บัญชีกํากับการใช้ดุลพินิจของศาลในเรื่องต่าง ๆ เช่น บัญชีมาตรฐานกําหนดโทษผู้กระทําผิดในทางอาญา บัญชีกําหนดจํานวน ทุนทรัพย์ที่จะใช้เป็นหลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา บัญชีกําหนดอัตราค่าทนายความที่ฝ่ายแพ้คดีจะต้องใช้ให้แก่ฝ่ายชนะคดีแพ่ง เป็นต้น
โดยเหตุที่ต้องมี “ยี่ต๊อก” เป็นแนวทางในการลงโทษ ด้วยจํานวนประชากรของประเทศไทยที่เพิ่มจํานวนขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทําให้สถิติอาชญากรรมเพิ่มขึ้นทุกปี อาชญากรรมประเภทเดียวกัน เช่น ความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน ปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน เป็นต้น ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประกอบกับผู้พิพากษาในปัจจุบันมีจํานวนเพิ่มขึ้น ศาลบางแห่งมีผู้พิพากษาประจําอยู่จํานวนมาก ดังนั้น หากไม่มี "ยี่ต๊อก" เป็นแนวทางในการกําหนดโทษผู้กระทําผิดแล้ว ด้วยความคิดเห็นที่เป็นอิสระของผู้พิพากษาแต่ละคน ย่อมทําให้การกําหนดโทษในคดีประเภทเดียวกัน แต่ละคดีนั้น แตกต่างกันไปได้
ความผิดบางประเภทกฎหมายกําหนดช่องว่างให้ศาลใช้ดุลพินิจไว้กว้างมาก หากผู้พิพากษาแต่ละคนใช้ดุลพินิจกันอย่างอิสระ ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นได้ ดังนั้น การมี “ยี่ต๊อก” จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้แก่ผู้พิพากษาในศาลเดียวกันให้อยู่ในกรอบของความเป็นเอกภาพ และไม่เป็นการใช้ดุลพินิจกันตามอําเภอใจ
อย่างไรก็ตาม ทางครอบครัวของหมอกระต่าย โดย พ่อ นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล และแม่ นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล และทนาย ได้ยื่นฟ้องร้องต่อศาลแพ่งด้วย โดยเรียกเงินค่าเสียหายจาก ส.ต.ต.นรวิชญ์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 72 ล้านบาทโดยศาลเเพ่งนัดพร้อมคดีในวันที่ 8 ส.ค. 2565
รวมทั้ง ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร หน่วยงานในสังกัด 2 หน่วยงาน คือ สำนักการจราจรและขนส่ง และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เรื่องการปล่อยปละละเลย การจัดให้มีความปลอดภัยในการใช้ทางม้าลายคนข้าม เรียกค่าเสียหาย 72 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 144 ล้านบาท
ประการสำคัญ นอกจากเรียกค่าเสียหายแล้ว ทางครอบครัวหมอกระต่ายต้องการให้ภาครัฐสร้างกลไกให้การข้ามทางม้าลายมีความปลอดภัยมากขึ้น เป็นต้นว่า ให้มีการจำกัดความเร็วที่เหมาะสม มีการบังคับใช้กฎหมาย และกวดขันวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด มีการจัดทำสัญญาณไฟปุ่มกดให้คนข้าม จัดทำเครื่องหมาย ป้าย และมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันเหตุในลักษณะนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะตามทางม้าลายจุดเสี่ยงต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ
นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยภายหลังศาลอาญา มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 15 วัน โดยไม่รอลงอาญา ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ตร.คฝ. ความว่าหลังจากนี้ พนักงานอัยการเจ้าของสำนวน จะไปขอคัดคำพิพากษา เพื่อมาพิจารณาอีกครั้งว่าเห็นด้วยกับคำพิพากษาหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็มีความเห็นไม่อุทธรณ์ ถ้าไม่เห็นด้วยก็เสนอเห็นควรยื่นอุทธรณ์ผ่านอัยการพิเศษฝ่าย ส่งให้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูง พิจารณาอีกครั้ง เพราะเป็นคดีสำคัญ
แน่นอนว่า สำหรับอุบัติเหตุบนท้องบิ๊กไบค์พุ่งชนคนขณะข้ามทางม้าลาย ตอกย้ำภาพจำอุบัติเหตุบนท้องถนนไทยรุนแรงรั้งอันดับโลก ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2559 - 2564 มีประชาชนคนเดินถนนต้องประสบเหตุจากการเดินข้ามถนนสูงมากถึง 224,068 คน เฉลี่ยต่อปี กว่า 41,000 ราย โดยเกือบครึ่งหนึ่งที่เกิดอุบัติเหตุ เกิดจากรถจักรยานยนต์ ชนคนข้ามถนน หรือคนเดินเท้าจนได้รับบาดเจ็บที่ทั้งเล็กน้อยไปถึงสาหัส และเสียชีวิต
นอกจากนี้ รายงานพิเศษโครงการส่งเสริมการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย (LIMIT 4 LIFE) สะท้อนความจริงของผู้เปราะบางบนถนน (VRUs) ปี 2562 ระบุว่า จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนของกรมทางหลวงในช่วงปี 2556 - 2560 พบว่า ลักษณะของการชนที่ทำให้เกิดความรุนแรงสูง ได้แก่ อุบัติเหตุรถชนคนเดินเท้า ที่จัดเป็นอุบัติเหตุที่มีดัชนีความรุนแรงสูงสุด โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 55 รายต่ออุบัติเหตุ 100 ครั้ง
ตลอดจนรายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY ปี 2561 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในเอเชีย โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน รองลงมาคือเวียดนาม 26.4 คน, มาเลเซีย 23.6 คน, เมียนมา 19.9 คน, กัมพูชา 17.8 คน, ลาว 16.6 คน, ปาปัวนิวกินี 14.2 คน, ติมอร์เลสเต 12.7 คน, ฟิลิปปินส์ 12.3 คน, อินโดนีเซีย 12.2 คน, สิงคโปร์ 2.8 คน ต่อประชากร 1 แสนคน
สำหรับความเคลื่อนของภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีข้อค้นพบว่าการบังคับใช้กฎหมายจราจรยังไม่เข้มงวด และการควบคุมมาตรฐานด้านความปลอดภัยของยานพาหนะประเภทต่างๆ ยังไม่เพียงพอ พร้อมมีข้อเสนอแนะ เช่น รัฐควรให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับนโยบายอย่างจริงจังเทียบเท่านโยบายด้านการเสียชีวิตจากอาชญากรรมและยาเสพติด ดูแลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเคารพกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการจำกัดความเร็ว และควรมีมาตรการที่ประกันว่า ถนนที่มีอยู่แล้ว และถนนที่จะสร้างขึ้นใหม่จะเป็นถนนที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ควรออกมาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการอื่นๆ ที่เข้มงวด และบังคับใช้ได้จริง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้บุคคลสามารถดำรงชีวิตและสัญจรได้อย่างปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะที่สังคมโดยประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนจะต้องเคารพกฎจราจร เพื่อเคารพสิทธิของผู้อื่นอย่างเคร่งครัดด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย Kick off รณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้ามทั่วประเทศ สร้างความตื่นตัวของคนที่ใช้รถใช้ถนนได้ดี และได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดรณรงค์อย่างต่อเนื่องในทุกโอกาส เพื่อมิให้เกิดเหตุซ้ำรอยความสูญเสียที่ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดการเสียชีวิต พิการ หรือทุพล
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เน้นย้ำถึงเรื่องจิตสำนึกต่อส่วนรวม เมื่อถึงทางแยกหรือทางข้ามทางม้าลาย ต้องชะลอรถและหยุดรถให้คนข้าม รวมถึงกำชับเจ้าหน้าที่ใช้ยาแรงในการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายจราจรให้ได้รับโทษสูงสุด
แต่อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและชัดเจนกว่ารัฐ คือสังคมไทยได้เห็นพลังการขับเคลื่อนของ กลุ่ม “Rabbit Crossing” ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนๆ ของหมอกระต่าย โดยตลอด 3 เดือนหลังการสูญเสีย ซึ่งได้ยื่นขอแก้กฎหมายเกี่ยวกับทางข้าม ให้คุ้มครองคนเดินเท้ามากขึ้น มีการออกสื่อให้ความรู้ รณรงค์ กระตุ้นเรื่องจิตสำนึกเกี่ยวกับทางม้าลาย เป็นสื่อกลางรับแจ้งปัญหาเกี่ยวกับทางม้าลายใน กทม. เพื่อไปแก้ไขร่วมกับ สจส. รวมถึง ออกแนวคิดตั้งเป้าหมายการทำงานโดยยึดการแก้ไขหลักๆ 3 ด้านคือ กฎหมาย กายภาพทางม้าลาย และการรณรงค์ ซึ่งได้นำเสนอและรวบรวมรายชื่อ Change.org
โดยยื่นข้อเรียกร้องแก่รัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ทางม้าลายต้องปลอดภัย: รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกแบบทุกทางม้าลายเป็นทางข้ามที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน เช่น ทางข้ามมีความชัดเจนเห็นได้ในระยะไกล มีป้ายเตือนล่วงหน้าที่ชัดเจนให้ผู้ขับขี่รับรู้ว่าเป็นทางข้าม หากเป็นทางที่มีคนข้ามเป็นประจำหรือเป็นสถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน ต้องมีสัญญาณไฟจราจรรวมถึงมีปุ่มกดเพื่อขอข้าม มีกล้องวงจรปิดในบริเวณทางข้ามที่มักมีการกระทำผิดบ่อยเพื่อบันทึกผู้กระทำความผิดและลงโทษอย่างจริงจัง เป็นต้น
2. หยุดรถให้คนข้าม: รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนเข้าใจความสำคัญของการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และให้ประชาชนทุกคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติตามเป็นประจำ และทำการรณรงค์ต่อเนื่องเป็นประจำและสม่ำเสมอ
3. บังคับใช้กฎหมาย รัฐและตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมและลงโทษอย่างจริงจัง กรณีผู้ขับขี่ไม่ลดความเร็วขณะขับรถเข้าใกล้ทางม้าลาย และกรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย
4. ออกกฎหมายใหม่ แยกเป็นมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดให้ชัดเจนว่ากรณีผู้ขับขี่ไม่ลดความเร็วรถขณะขับรถเข้าใกล้ทางม้าลาย และกรณีไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายมีความผิด และมีโทษอื่นนอกเหนือจากการปรับ เช่น ตัดคะแนน หรือบังคับให้เข้ารับการอบรม หรือ ยึดพาหนะ
5. ปรับบทลงโทษ ออกกฎหมายเป็นมาตราใหม่ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก ที่กำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงกับผู้ขับขี่ที่ขับชนคนข้ามทางม้าลาย ในลักษณะคล้ายกรณีผู้ขับขี่เมาแล้วขับชนคนอื่นตามมาตรา 160 ตรี ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
แม้การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่างน้อยๆ ขอให้กรณีการสูญเสียหมอกระต่าย จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลงความปลอดภัยบนท้องถนน