xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดเหตุ “จุรินทร์” เกาะเก้าอี้แน่น สุขกันเถอะเรา - กู้ศรัทธาช่างมัน??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - พิสูจน์แล้วว่า เรื่องคาวฉาวโฉ่ของ “ปริญญ์ พาณิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้าพรรค ถูกแจ้งข้อหาฐานกระทำอนาจารและข่มขืน จนต้องลาออกจากทุกตำแหน่งภายในพรรค ไม่ใช่ “เรื่องส่วนตัว” อย่างที่พยายามตัดจบกันในช่วงแรก

เพราะได้สร้าง “อาฟเตอร์ช็อก” รุนแรง จนอาจกลายเป็น “สึนามิ” ที่กลืนกิน “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่ากันว่าเป็น “พรรคแมลงสาบ” ฆ่าไม่ตาย มาถึง 76 ปี ก็อาจสิ้นชื่อได้
หลังจากที่การแสดงความรับผิดชอบโดย “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในระดับที่ “ไม่เพียงพอ”

ทั้งในสายตาของสังคมภายนอก และคนกันเองในพรรค ที่มองว่าสำนึกความรับผิดชอบต้องมากกว่านี้

หาใช่ “หน่อมแน้ม” อย่างการที่ “จุรินทร์” เลือกลาออกจากการเป็นประธาน 2 บอร์ดของรัฐบาล ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายสตรีแห่งชาติ เท่านั้น

พร้อม “แก้เกี้ยว” ด้วยการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบภายใน และ “ล้อมคอก” กำหนดหลักเกณฑ์ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค

ส่วนตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น “จุรินทร์” ยืนยันว่า ไม่ลาออกแน่นอน เพราะจะเท่ากับหนีความผิด ทั้งที่สารภาพเต็มปากว่า เป็นคนชักนำ “ปริญญ์” เข้าพรรค และยังมีคนออกมาแฉว่า เว้นกติกา-ล็อกสเปกให้ขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคด้วย

และมีกระแสกดดันยิงตรงไปที่ “หัวหน้าอู๊ด” อย่างหนักก็ตาม
ตามคิวที่ วิทยา แก้วภราดัย อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย ยื่นลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ทิ้งบอมบ์ไว้หลายลูก และยกกรณี “ปริญญ์” เป็นฟางเส้นสุดท้าย

“มาตรฐานจริยธรรมต้องสูงกว่ากฎหมาย พรรคไม่ผิด แต่มีคนผิด ดังนั้นต้องมีคนรับผิดชอบ เนื่องจากกรรมการบริหารชุดนี้เป็นคนชักจูงนายปริญญ์เข้ามาอยู่ในพรรค ถือเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองต่อประชาชน จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ … อย่าให้พรรคช้ำจนไม่เหลือชื่อประชาธิปัตย์ ถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่เหลือพรรค” วิทยาว่าไว้ในวันที่ลาออก

ตามมาด้วย กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า “ในขณะนี้เป็นที่ปรากฏชัดว่า ประชาชนผิดหวังอย่างมากต่อการตัดสินใจของพรรค ที่นำโดยหัวหน้าพรรค ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ด้วยสำนึกต่อศีลธรรมที่สำคัญยิ่งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมือง จึงขอลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค”

ส่วนรายของ “ที่ปรึกษาติ่ง” มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ลาออกจากกรรมการบริหารพรรคนั้นเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ในฐานะที่เป็นคนใกล้ชิด และมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา "จุรินทร์" แต่ดันไปส่งข้อความตอบโต้กรณี “ปริญญ์” ในห้องแชตไลน์ของพรรค ลามไปถึง “เรื่องชู้สาว” ภายในพรรคอีกอย่างน้อย 2 กรณีโดยเป็น 2 กรณีที่กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตัดจบแต่ต้น อ้างว่าไม่มีผู้เสียหาย แล้วไล่เบี้ยหามือแล่อยแชทไลน์

ทั้งที่ 2 กรณีที่ “มาดามติ่ง” พาดพิงไปนั้น เป็นหัวเม้ามอยกระหึ่มกาแฟที่สภาฯ

นอกจากนั้น ยังมีความเคลื่อนไหวของ “7 กรรมการบริหารพรรคหญิง” ที่ได้นัดแถลงข่าวด่วนเมื่อวันที่ 25 เม.ย. วสันเดียวกับที่ “กนก-มัลลิกา” ลาออกจากกรรมการบริหารพรรค

โดยมีรายงานข่าวยืนยันว่า 7 กรรมการบริหารพรรคหญิง อันประกอบด้วย รัชดา ธนาดิเรก - เจิมมาศ จึงเลิศศิริ - ผ่องศรี ธาราภูมิ - ศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ - สุพัชรี ธรรมเพชร - พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล - อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ จะลาออกจากตำแหน่งจากกรณีฉาวโฉ่ของ “ปริญญ์” เช่นกัน

 ชวน หลีกภัย

 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ผิดไปจากที่คาด เมื่อ “รัชดา” ยืนยันว่า ไม่ได้ลาออก ระบุเพียงว่า จะรับผิดชอบในส่วนที่ทำได้ หากมีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง จะแจ้งให้ทราบอีกครั้งในเวลาเหมาะสม วันนี้ไม่อยากให้สังคมเข้าใจว่าใครๆ ก็เดินออกจากประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ดี “อรอนงค์” 1 ใน 7 กรรมการบริหารพรรค ยืนยันว่า ได้เขียนใบลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรค โดยมอบไว้ให้กับเพื่อนกลุ่มผู้หญิงที่มาแถลงข่าว แต่ที่ยังไม่ยื่นลาออก เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และเพื่อนๆ ผู้สมัคร ส.ก. จึงคิดว่าจะยื่นใบลาออก หลังวันที่ 22 พ.ค. 65 ให้การเลือกตั้งผ่านไปก่อน

ท่ามกลางกระแสข่าวหนาหูว่า 7 กรรมการบริหารพรรค บางรายถูก “ผู้ใหญ่ในพรรค” เกลี้ยกล่อมจนเปลี่ยนใจ

เหตุเพราะหากมีกรรมการบริหารลาออกเพิ่มเติมอีก ก็อาจจะทำให้เข้าข้อบังคับพรรค ที่ระบุว่า หากมีกรรมการบริหารลาออกเกินกึ่งหนึ่ง จะส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ รวมไปถึง “หัวหน้าพรรค” ที่จะต้องหลุดไปด้วย

โดยกรรมการบริหารบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบันมีทั้งหมด 37 คน ก่อนที่ “ปริญญ์-กนก-มัลลิกา” จะลาออก จนเหลือ 34 ราย หากมีกรรมการบริหารพรรคลาออกอีกอย่างน้อย 15 ราย ก็จะเข้าข้อบังคับพรรคทันที ซึ่งทั้งตัว “จุรินทร์” และ “ผู้ใหญ่ในพรรค” คงยังไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะจะยิ่งสร้างความระส่ำระสายให้แก่พรรค

ด้วยนาทีนี้ต้องยอมรับว่าบุคคลากรใน “ค่ายสะตอ” ระดับที่พอผลักดันให้ไปถือธงนำพรรคแทบไม่เหลือ หลังเกิดภาวะ “เลือดไหลออก” มาตลอด 3 ปีเศษหลังเลือกตั้ง 2562 โดยเฉพาะเหล่าอคนดิเดตที่เคยลงชิงหัวหน้าพรรค

ตั้งแต่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ที่ไปสร้างดาวดวงใหม่พรรคไทยภักดี, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต ส.ส.กทม. และอดีต รมว.ยุติธรรม ที่ไปกินตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และกลายเป็นขุนพลการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตอนนี้, กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ที่ควงคู่ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. ไปร่วมก่อตั้งพรรคกล้า อาจรวมไปถึง ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา หลายสมัย และอดีต รมช.คมนาคม ที่ต้องคดี กปปส.จนหลุดตำแหน่ง ก็รู้กันว่าปันใจไปให้กับพรรคไทยภักดีของ “หมอวรงค์” นานแล้ว

และยังสูญเสียแกนนำระดับ “คนเก่าแก่-บิ๊กเนม” ไปอีกหลายราย อาทิ กษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์, กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์, วิฑูรย์ นามบุตร อดีต ส.ส.อุบลราชธานี อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติที่ไปเปิดตัวกับพรรคสร้างอนาคตไทย เป็นต้น

ขุมข่ายที่มีอยู่ต้องนี้ยังเบอร์ไม่ถึงจะเป็นหัวหน้าพรรค อาจจะมีก็แต่ “พี่มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกฯ ที่แม้ลาออกจาก ส.ส.แต่ก็ยังเป็นสมาชิกพรรคอยู่ และมี “ก๊วนไอติม” อยากจะใช้จังหวะที่ “จุรินทร์” พลาดพลั้ง พลิกขั้วอำนาจในพรรค

แต่ด้วยสถานะพรรคร่วมรัฐบาล การเอา “อภิสิทธิ์” ที่แสดงจุดยืนไม่เอา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

เพราะย่อมต้องถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อยืนยันในหลักการของ “อดีตนายกฯ มาร์ค” ซึ่งเชื่อแน่ว่า “คนส่วนใหญ่” ในพรรคที่กำลังแฮปปี้กับการเป็นพรรครัฐบาลไม่เอาด้วยแน่

พอไปวัดไปวาได้หน่อยอาจจะเป็นรายของ “เสี่ยไก่” จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมฯ ก็กลายเป็น “คนนอก” ในสายตาของคนประชาธิปัตย์ไปแล้ว จนเคยมีปฏิบัติการกะสอยให้ร่วงจากเก้าอี้รัฐมนตรีมาแล้ว ส่วน “เสี่ยต้อม” อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม. ก็ไม่น่าจะมีเสียงสนับสนุนเพียงพอ

ครั้นจะไปขุดเอา “ผู้อาวุโส” อย่าง “น้าหยัด” บัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค กลับมา ก็ดูจะตกยุค อีกทั้งตัว “นายหัวหยัด” เองก็พอใจแล้วกับการได้เป็นแค่ผู้แทนฯ

หรือรายของ “นายหัว” ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผู้นำจิตวิญญาณของ “ค่ายสีฟ้า” ที่ดูจะมีเสียงเชียร์เยอะ ทั้ง เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมรสช หรือ “กำนันเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ที่ส่งเสียงเชียร์ให้ “น้าชวน” ลงมากู้วิกฤต

โอกาสเป็นไปยาก “นายหัวชวน” เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า “ในระหว่างการดำรงตำแหน่ง ประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นกรรมการบริหารหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองขณะเดียวกันมิได้”

หาก “ชวน” มาเป็นหัวหน้าพรรค ก็ต้องยอมทิ้งตำแหน่งประธานรัฐสภา และประธานสภาฯ ที่เกือบ 3 ปีมานี้ “นายชวน” ดูจะมีความสุขกับการได้ “โชว์หล่อ” อยู่บนบัลลังก์ เป็นเกียรติประวัติให้กับตัวเอง คงไม่เสี่ยงเอาชื่อไปทิ้งกับภารกิจ “งานหยาบ” กู้ซากปรักหักพัง “ค่ายสะตอ” ที่ดูแล้วกู่กลับยาก

และเอาเข้าจริงก่อนเกิดเรื่อง “ปริญญ์” สภาพภายในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังไม่ดีขึ้นจากเมื่อครั้งพังพาบในการเลือกตั้งต้นปี 2562 การยอมรับในตัว “จุรินทร์” ในฐานะผู้นำพรรค อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

มีกระแสจะเขี่ย “จุรินทร์” ให้หลุดจากตำแหน่งหัวหน้าอยู่เนืองๆ ย้อนไปเมื่อก่อนการประชุมใหญ่สามัญปีก่อนๆ ก็มีรายการ “ก่อหวอด” ให้กรรมการบนิหารพรรคลาออกแรงกว่าตอนนี้ด้วยซ้ำ

กรรมการบริหารพรคหญิงที่ทำท่าว่าจะออกแต่ก็มีอันต้องเปลี่ยนใจในตอนท้าย
แต่ก็ได้บารมีของ “นายหัว” ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และการบริหารจัดการของ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ที่ค้ำยันเก้าอี้ให้อยู่ในตำแหน่งผู้นำพรรคต่อไป

โดยเฉพาะ “สายเสี่ยต่อ” ที่วันนี้ขนาบด้วย “ขาใหญ่” ทั้ง “เฮียต๋ง” มนตรี ปาน้อยนนท์-“นายกฯชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง - “เสี่ยแทน” ชัยชนะ เดชเดโช ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสไตล์ “สายเปย์” คุมพรรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ จัดแถวกรรมการบริหารจนแทบไม่หลงเหลือ “สายอื่น” ที่ควบคุมไม่ได้แล้ว

เพราะหาก “ทีมเสี่ยต่อ” ร่วมแซะด้วย ป่านนี้คงได้เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคไปนานแล้ว

สำคัญที่ “ทีมงานเสี่ยต่อ” ดูจะชอบทำงานกับ “หัวหน้าอู๊ด” ที่ดูพูดคุยง่ายกว่า “เบอร์ใหญ่” คนอื่นๆ ของพรรคอยู่เป็นทุน จะไปหาเรื่องสร้างความลำบากให้ตัวเองทำไม

โดยเฉพาะหลายคนร่วมหัวจมท้ายกับพรรคมานาน เป็นฝ่ายค้านมืออาชีพจน “ปากแห้ง-ปากแตก” นานๆ จะได้เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล “ลืมตาอ่าปาก” ซักที ยิ่งเทอมรัฐบาลอยู่เหลืออีกไม่ถึงปี เป็นช่วงโค้งสุดท้ายแห่งอำนาจที่เต็มไปด้วย “ความสุข สดชื่นและสมหวัง”

แล้วจะไปขยับเปลี่ยนแปลงให้สุ่มเสี่ยงหลุดจากพรรคร่วมรัฐบาล ตัดโอกาสตัวเองไปทำไม

ส่วนเรื่องกู้วิกฤตศรัทธา “สถาบันการเมือง-พรรคเก่าแก่” อะไรน่ะ เอาไว้ก่อน แม้จะรู้ทั้งรู้อยู่เต็มอกว่า แนวโน้มบริบทการเมืองของพรรค ณ ปัจจุบัน ไม่ดีมากถึงมากที่สุด ผนวกกับวิกฤตใหม่ นเกิดจากปมปัญหาจริยธรรมของรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของพรรคอย่างรุนแรง ก็ยิ่งทำให้สมรรถนะการแข่งขันของพรรคประชาธิปัตย์ในทุกพื้นที่ แม้แต่ “ภาคใต้” ที่เป็นฐานเสียงสำคัญอ่อนแอลงไปมาก จนแทบไม่มีคุณสมบัติของการเป็นพรรคแนวหน้าในการช่วงชิงอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น