คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในยุโรปในศตวรรษที่สิบแปด มีปรากฏการ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย เช่น การขึ้นถึงจุดสูงสุดของกระแสภูมิปัญญา (the Enlightenment) ที่เผยแพร่ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นวิทยาศาสตร์
ขณะเดียวกันก็ยังมีการปฏิวัติฝรั่งเศสที่จริงๆ แล้ว นักคิดในกระแสภูมิปัญญาโดยส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ แต่ยังสนับสนุนระบอบราชาธิปไตยอยู่ แต่ต้องการให้พระมหากษัตริย์ทรงปฏิรูปเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ “สว่าง” ตามกระแสภูมิปัญญา ดังนั้น ปรากฎการณ์สำคัญอีกปรากฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงเวลานั้นคือ การเกิด “กษัตริย์ผู้เผด็จอำนาจและทรงใช้ภูมิปัญญา (the Enlightenment) ในการปฏิรูปบ้านเมือง” หรือที่เรียกว่า “Enlightened king/despot”
มีพระมหากษัตริย์หลายประเทศได้รับการขนานนามว่าเป็น “Enlightened king/despot” และหนึ่งในนั้นก็คือ พระเจ้ากุสตาฟที่สามแห่งสวีเดน พระองค์ทรงยึดอำนาจจากพวกอภิชนที่ทรงอำนาจในสภา และทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1772 ที่พระองค์ทรงร่างเอง
หนึ่งในการปฏิรูปบ้านเมืองให้อารยะตามกระแสภูมิปัญญาของพระเจ้ากุสตาฟที่สามคือ การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยพระองค์ได้รับอิทธิพลจากการอ่านงานของเบคกาเรีย นักคิดกระแสภูมิปัญญาชาวอิตาเลียนที่อยู่ร่วมสมัยกับพระองค์ (Cesare, Marquis of Beccaria-Bonesana: ค.ศ. 1738-1794)
เบคกาเรีย ได้เขียนหนังสือ “ว่าด้วยอาชญากรรมและการลงโทษ” (On Crimes and Punishments) ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1764 หนังสือเล่มนี้จัดได้ว่าเป็นหมุดหมายของความเฟื่องฟูของกระแสภูมิธรรมแห่งเมืองมิลาน ในอิตาลีเลยทีเดียว ประเด็นสำคัญในหนังสือเล่มนี้คือ การเปิดมุมมองสมัยใหม่ต่อโทษประหารชีวิตเพื่อหวังให้นำไปสู่การปฏิรูประบบกฎหมายอาญาและกระบวน การยุติธรรมในทางอาญา มุมมองสมัยใหม่ที่ว่านี้คือ การเน้นไปที่การใช้เหตุผลของปรัชญาสมัยใหม่ ภายใต้อิทธิพลของ “ทฤษฎีสัญญาประชาคม” ที่รัฐและอำนาจรัฐเกิดจากการมอบฉันทานุมัติที่จะสละสิทธิอำนาจตามธรรมชาติของมนุษย์ เบคกาเรียได้อธิบายถึงเหตุผลที่สมควรยกเลิกโทษประหารชีวิตว่า
ประการแรก รัฐไม่มีสิทธิ์ที่จะพร่าชีวิตของประชาชน เพราะอำนาจรัฐมาจากอำนาจของประชาชน
ประการที่สอง โทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรต่อสังคมโดยรวม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเบคกาเรียจะตีความ “ทฤษฎีสัญญาประชาคม” ในแง่นี้ แต่กระนั้น ก็มีนักทฤษฎีสัญญาประชาคมอย่าง ล็อค (John Locke) กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น แม้ว่าหลายคนมักจะเข้าใจหรือตีความไปเองว่าล็อคไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต โดยให้เหตผลว่า ล็อคเชื่อในกฎธรรมชาติและสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์มีอยู่ในธรรมชาติ แต่จริงๆแล้ว ล็อคเห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต โดยเขาให้เหตุผลว่า หากเมื่อใดก็ตามที่มีใครละเมิดสิทธิของอื่นจนทำให้เขาผู้นั้นถึงแก่ความตาย ผู้ละเมิดก็สมควรที่จะจะต้องรับโทษประหารชีวิตตกต้องตายตามไปด้วยเช่นกัน
แม้ว่า จะมีการตีความ “ทฤษฎีสัญญาประชาคม” ในประเด็นโทษประหารชีวิตที่แตกต่างกัน แต่เหตุผลอื่นๆ ที่เบคกาเรียให้ไว้ในการคัดค้านโทษประหารชีวิตก็ถือว่าเป็นนวตกรรมทางความคิดเลยทีเดียว และเหตุผลดังกล่าวของเขาก็ยังได้รับอ้างอิงและใช้โต้แย้งผู้ที่สนับสนุนโทษประหารชีวิตจนถึงปัจจุบัน เหตุผลที่ว่านี้คือ
ประการแรก การลงโทษควรจะอยู่ภายใต้หลักการของการป้องปรามมากกว่าแก้แค้น
สอง ระดับความรุนแรงของโทษควรจะเหมาะสมกับความผิดที่กระทำ
สาม การลงโทษที่รุนแรงและเกินเลยไปอาจจะนำมาซึ่งการตัดสินใจกระทำผิดอย่างร้ายแรงไปเลยในที่สุด
สี่ กระบวนการตัดสินลงโทษในความผิดทางอาญาควรจะกระทำอย่างเปิดเผยและสาธารณะ
ห้า เพื่อให้การลงโทษมีประสิทธิภาพ การลงโทษควรจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากความเชื่อในหลักการการลงโทษเพื่อป้องปรามการกระทำผิดของผู้คนในสังคม รวมทั้งตัวผู้ที่เคยกระทำผิดมาแล้ว เบคกาเรียถือเป็นนักคิดคนแรกๆที่สนับสนุนการให้ความรู้และการศึกษาแก่ผู้คนในสังคมเพื่อลดจำนวนอาชญากรรม นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือ เขายังคัดค้านกฎหมายควบคุมอาวุธปืนอีกด้วย จากการออกวารสารและตีพิมพ์หนังสือดังกล่าวนี้ ทำให้เบคกาเรียและสหายของเขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไปในยุโรป และหลังจากนั้น เบคกาเรียและพี่น้องตระกูลแวร์ริเดินทางไปยังดินแดนแห่งนักคิดกระแสภูมิธรรม นั่นคือ กรุงปารีส พวกเขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากกลุ่มนักคิด philosophes หลังจากนั้น เบคกาเรียกลับถอนตัวออกจากวงการ และกลับไปใช้ชีวิตกับเทเรซา ภริยาสาวของเขา และไม่เคยเดินทางไปต่างแดนอีกเลย อันนำมาซึ่งการแตกกันกับพี่น้องตระกูลแวร์ริที่ยังคงแข็งขันเดินหน้าเผยแพร่แนวคิดความเชื่อของพวกเขาต่อไป โดยที่พี่น้องตระกูลแวร์ริไม่เข้าใจว่า ด้วยสาเหตุอันใดที่เบคกาเรียถอนตัวไปเฉยๆ ในขณะที่เขากำลังอยู่ในช่วงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด และจากการที่ปิแอโตร แวร์ริผู้พี่ยังคงเดินหน้าต่อสู้ทางความคิดต่อไป ส่งผลให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของเขาขึ้นไว้ที่เมืองมิลานอันเป็นบ้านเกิดของเขา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในสมัยของเบคกาเรีย จะมีคนร่วมสมัยไม่กี่คนที่เห็นด้วยกับหลักการและเหตุผลของเขา แต่ในเวลาต่อมา ผลพวงที่เกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลทางความคิดของวารสาร Il Caffe และหนังสือ On Crimes and Punishments ก็คือ เกิดการปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญาครั้งใหญ่ในประเทศสำคัญๆในยุโรป อย่างเช่น พระเจ้าลีโอโปล์ดที่สอง เจ้าผู้ปกครองของอิตาลี (the Grand Duchy of Tuscany) ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นชาติแรกในโลก โดยพระองค์ได้ทรงขัดขวางโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1769 ห้าปีหลังจากที่เบคกาเรียเผยแพร่ Il Caffe และ On Crimes and Punishments และพระเจ้าลีโอโปล์ดทรงยกเลิกโทษประหารชีวิตและการลงโทษด้วยการทรมานอย่างเป็นทางการโดยการออกกฎหมายในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1786 โดยพระเจ้าลีโอโปล์ดทรงยกเลิกตามเหตุผลที่เบคกาเรียได้ให้ไว้ นั่นคือ โทษประหารชีวิตไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อสังคม แต่ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่เบคกาเรียให้ไว้ในเบื้องต้นที่ว่า รัฐไม่มีสิทธิ์ตัดสินปลิดชีวิตประชาชนของตน
และต่อมาภายหลัง ทุกวันที่ 30 พฤศจิกายนของทุกปี ได้ถือเป็นวันหยุดแห่งแคว้นทัสคานีในอิตาลี เพื่อรำลึกถึงการยกเลิกโทษประหารชีวิตและการทรมานต่างๆ และด้วยอิทธิพลของเบคกาเรียและพี่น้องตระกูลปิแอโตร และการตัดสินพระทัยของพระเจ้าลีโอโปล์ด ก็ส่งผลให้พระเจ้ากุสตาฟที่สามแห่งสวีเดนทรงเจริญรอยไปตามทางแห่งกระแสภูมิธรรมด้วย
พระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงออกนโยบายต่างๆที่สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนเต็มปากเต็มคำว่าเป็นนโยบายที่ “enlightened” (ทรงภูมิธรรม) นั่นคือภายใต้หลักมนุษยธรรมและเน้นที่เสรีภาพของปัจเจกบุคคล ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึงนโยบายต่างๆเหล่านี้ไปบ้างแล้ว และจะขอกล่าวถึงนโยบายที่เหลือ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว
ในปี ค.ศ. 1775 สามปีหลังที่พระองค์ทรงยึดอำนาจและสถาปนารัฐธรรมนูญที่ให้พระราชอำนาจในทางการบริหารอย่างมากมายและจำกัดอำนาจรัฐสภา พระองค์ได้ทรงออกนโยบายการค้าเสรีและยกเลิกภาษีส่งออก อีกทั้งมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับคนจน (the poor law) เพื่อทุเลาความเดือดร้อนทุกข์ยากของคนยากคนจน นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นผู้นำในการออกแบบเครื่องแต่งกายประจำชาติสวีเดน และทำให้เครื่องแต่งกายดังกล่าวเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วไป ส่งผลให้ชนชั้นสูงนิยมแต่งชุดดังกล่าวกันโดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1778 จนสิ้นรัชสมัยของพระองค์ ในขณะที่ชุดแต่งกายประจำชาติดังกล่าวของสตรียังเป็นที่นิยมใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในงานพิธีการสำคัญๆของประเทศ
ผู้เขียนจะได้กล่าวถึง “ชุดพระราชทาน” ของสวีเดนที่ริเริ่มโดยพระเจ้ากุสตาฟที่สามในรายละเอียดในตอนต่อไป