xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสและความเสี่ยงของพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 แพทองธาร ชินวัตร
"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"


ช่วงนี้พรรคการเมืองเคลื่อนไหวกันคึกคัก มีการจัดประชุมใหญ่ประจำปี ประกาศนโยบาย เปิดตัวบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่เข้าร่วมพรรคอย่างมากมาย หลายพรรคเปี่ยมด้วยความคาดหวังอันสดใสในอนาคต เตรียมการสู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่กำลังดิ้นรนอย่างสุดกำลัง เพื่อแสวงหาโอกาสของการอยู่รอดท่ามกลางความท้าทายที่คืบคลานเข้ามา

พรรคที่ดูเหมือนทุ่มเทและมุ่งหวังชัยชนะอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งหน้าเห็นจะได้แก่พรรคเพื่อไทย ประกาศว่าต้องชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ได้จำนวน ส.ส.เกินกว่า 250 เสียงขึ้นไป เพื่อเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งต่อไป ในการบรรลุเป้าหมายนี้ พรรคได้ผลิตยุทธศาสตร์ขึ้นมาอย่างหลากหลาย อาทิ การเปิดตัวบุคคลยุทธศาสตร์อย่างน.ส.แพทองธาร ชินวัตร การประกาศนโยบายเชิงยุทธศาสตร์อย่างครอบครัวเพื่อไทย เพื่อระดมและขยายการมีส่วนร่วม และล่าสุด ก็ได้ประกาศนโยบายเชิงยุทธศาสตร์อีก 5 นโยบาย ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนผสานกับการเน้นพัฒนาเทคโนโลยียุคใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 1).ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการกระจายอำนาจสู่ระดับประชาชน 2). ดึงศักยภาพคนไทยด้วยการใช้ soft power 1 คน ต่อ 1 ครอบครัว 3).ใช้เทคโนโลยี AI ในการทำเกษตร 4).สร้างรัฐบาลดิจิทัลที่ใช้ได้จริง และ 5.เตรียมคนไทยเข้าสู่ยุค metaverse

หากพิจารณาบริบทของการเมืองไทยในปีนี้และปีหน้า มีปัจจัยจำนวนมากที่ส่งผลเชิงบวกและเป็นโอกาสแก่พรรคเพื่อไทย

อย่างแรก คือ ระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ โดยไม่มีการกำหนดจำนวน ส.ส.พึงมีตามคะแนนเสียงทั้งหมดที่พรรคได้รับ ซึ่งทำให้พรรคมีโอกาสได้ทั้ง ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไปพร้อมกัน

อย่างที่สอง ความคงเส้นคงวาของคะแนนนิยมที่เป็นฐานเสียง ซึ่งในภาพรวมทั่วประเทศ พรรคมีอยู่ประมาณร้อยละ 22-24 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และหนาแน่นมากเป็นพิเศษในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างที่สาม คู่แข่งหลักอย่างพรรคพลังประชารัฐมีความแตกแยกภายในและคะแนนนิยมถดถอยลงไปมาก ทำให้ผู้เลือกตั้งจำนวนหนึ่งอาจหันกลับไปเลือกพรรคเพื่อไทย และส.ส.จำนวนหนึ่งที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐก็อาจย้ายกลับมาอยู่พรรคเพื่อไทย

อย่างที่สี่ ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายและไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อความนิยมของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนที่เคยเลือกพรรคการเมืองเหล่านั้นจะหันมาเลือกพรรคเพื่อไทยแทน นัยของสิ่งนี้คือทำให้ประชาชนที่เคยเลือกพรรคเหล่านั้นเคลื่อนตัวไปสู่ภาวะของการยังไม่ตัดสินใจ และอยู่ระหว่างการประเมินว่า ควรเลือกพรรคการเมืองใดดีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป สภาวะที่ประชาชนยังไม่ตัดสินใจจึงเป็นสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้แก่พรรคการเมืองทุกพรรคในสนามการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางโอกาส สิ่งที่ท้าทายก็ดำรงอยู่ คู่แข่งสำคัญของพรรคเพื่อไทยในการช่วงชิงคะแนนนิยมระดับพรรคคือ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมมากเป็นลำดับสองรองจากพรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมหลักของพรรคก้าวไกลมาจากชนชั้นกลางที่มีอุดมการณ์เสรีนิยม ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทเอกชน นักศึกษา ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และข้าราชการรุ่นใหม่ ความนิยมของคนกลุ่มนี้ต่อพรรคก้าวไกลมีความคงเส้นคงวาตลอดช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และยากที่พรรคเพื่อไทยจะช่วงชิงได้ ส่วนคู่แข่งในระดับพื้นที่เขตเลือกตั้งคือ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย แม้ว่าทั้งสองพรรคมีคะแนนนิยมต่ำในภาพรวม แต่มี ส.ส. จำนวนมากที่มีฐานเสียงแน่นหนาในพื้นที่เขตเลือกตั้ง มีการจัดตั้งเครือข่ายหัวคะแนนที่เข้มแข็ง และอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรที่สามารถเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงได้ ซึ่งทำให้การต่อสู้ในระดับเขตเลือกตั้งจะมีความเข้มข้นสูงดังทะเลเดือด
พรรคเพื่อไทยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ 2 ประการ อย่างแรกคือ การเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรค เพราะพรรคนี้มีปรปักษ์ถาวรทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจับจ้องการเคลื่อนไหวของพรรคอย่างใกล้ชิด ดังนั้นหากผู้บริหารพรรคกระทำการใดที่ขาดความระมัดระวัง และอาจเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายการเลือกตั้ง ก็อาจนำไปสู่จุดจบของพรรคได้

อย่างที่สอง ซึ่งมีบางส่วนเชื่อมโยงกับอย่างแรก นั่นคือการแสดงบทบาทของบุคคลยุทธศาสตร์ที่อยู่นอกพรรค แต่มีอิทธิพลต่อผู้บริหารและสมาชิกพรรคสูง สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องตระหนักและคำนึงให้ดีคือ การแสดงบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร ด้านหนึ่งเป็นปัจจัยในการเอื้อต่อชัยชนะของพรรค เพราะประชาชนจำนวนไม่น้อยยังมีความนิยมในตัวนายทักษิณ ดังนั้นหากมวลชนมั่นใจว่า นายทักษิณ ยังให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย คนเหล่านั้นก็มีแนวโน้มจะเลือกพรรคเพื่อไทยแต่อีกด้านหนึ่ง บทบาทของนายทักษิณกลับเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่อาจนำความพ่ายแพ้มาสู่พรรคได้อย่างไม่คาดฝันได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562 จุดอ่อนสำคัญของนายทักษิณคือ มีความมั่นใจในตนเองมากเกินไป มักประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงสำคัญไม่สอดคล้องกับความจริง โดยเฉพาะการประเมินพลังของกลุ่มผู้ต่อต้านต่ำกว่าความจริง และทำให้การตัดสินใจผิดพลาด

กล่าวถึงพรรคเพื่อไทยอย่างยาวยืด หันมาดูพรรคพลังประชารัฐบ้าง ระบบเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบและไม่กำหนด ส.ส.พึงมี สร้างโอกาสแก่พรรคพลังประชารัฐหรือไม่ คำตอบคือทั้งไม่สร้างโอกาส และไม่สร้างความเสี่ยง หรือมีผลน้อยมากต่อพรรคพลังประชารัฐ ส.ส.พรรคนี้เกือบทั้งหมดเป็น ส.ส.ที่มาจากเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีฐานเสียงเดิมอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีฐานเสียงน้อยแต่ชนะการเลือกตั้งครั้งที่แล้วได้ ทั้งนี้เป็นเพราะกระแสความนิยมในตัวพลเอกประยุทธ์ จันท์โอชา ในปี2562 ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก ผู้ที่นิยมพลเอกประยุทธ์จะเลือกผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ แต่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป สถานการณ์แตกต่างจากเดิม คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ตกต่ำลงมาก และไม่อาจเป็นปัจจัยหนุนที่ทรงพลังดังเดิมได้อีกแล้ว ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐจำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่มุ่งไปยังการช่วงชิงคะแนนในเขตเลือกตั้งเป็นหลัก อันได้แก่ การเลือกบุคคลที่มีชื่อเสียงและฐานเสียงแน่นหนาในพื้นที่เป็นผู้สมัคร การกระชับและขยายเครือข่ายหัวคะแนน และการจัดเตรียมทรัพยากรให้มากพอในการจัดหาคะแนนเสียง

คู่แข่งสำคัญของพรรคพลังประชารัฐในพื้นที่อีสาน เหนือ และกลางคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ส่วนในภาคใต้คือเป็นพรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ส่วนในกรุงเทพมหานครนั้นพรรคพลังประชารัฐไม่มีศักยภาพในการแข่งขันอีกต่อไป

ความเสี่ยงของพรรคพลังประชารัฐคือ ประชาชนจำนวนมากไม่พึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งทำให้คะแนนนิยมทั้งในระดับพรรค และบุคคลที่พรรคเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีตกต่ำลงอย่างมาก อีกทั้งยังมีจุดอ่อนที่สำคัญสองประการ อย่างแรกคือ ภาพลักษณ์ของหัวหน้าพรรคไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ และอย่างที่สอง มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฝักฝ่ายภายในพรรค จนทำให้ ส.ส.จำนวนหนึ่งออกจากพรรค และในอนาคตอาจมี ส.ส. อีกไม่น้อยที่ย้ายออกจากพรรคในช่วงก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม พรรคมีจุดแข็งที่สำคัญคือ การมีทรัพยากรสนับสนุนการเลือกตั้งค่อนข้างมาก อันเป็นผลมาจากการครองอำนาจรัฐติดต่อกันอย่างยาวนานของแกนนำพรรค ซึ่งทำให้พรรคสามารถระดมเงินบริจาคจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้โดยง่าย และมีโอกาสจะได้รับการสนับสนุนเป็นจำนวนมาก

อีกพรรคหนึ่งที่จะขอหยิบยกมากล่าวในที่นี้ คือพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบมีผลเชิงบวกต่อพรรคประชาธิปัตย์อยู่บ้าง เพราะมีโอกาสได้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.จากบัญชีรายชื่อ เรียกว่าได้สองต่อ โดยทั่วไปหากพรรคใดมีฐานเสียงของส.ส.พื้นที่หนาแน่น และพรรคได้รับความนิยมสูงก็ยิ่งได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งแบบนี้มาก ในอดีตพรรคประชาธิปัตย์ได้รับประโยชน์จากระบบเลือกตั้งแบบสองใบค่อนข้างมาก เพราะมีทั้งฐานเสียงของ ส.ส.ในพื้นที่ และมีคะแนนนิยมพรรคในระดับค่อนข้างสูง แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ในยุคนี้และในอนาคตอันใกล้ ไม่เหมือนกับอดีตอีกต่อไป เพราะคะแนนนิยมของพรรคตกต่ำลงอย่างมาก ที่เหลืออยู่มากหน่อยก็มีเพียงเฉพาะในภาคใต้ พรรคจึงได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งแบบนี้ไม่มากนัก

 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ความเสี่ยงของพรรคมาจากศักยภาพของคู่แข่ง ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วคู่แข่งที่ทำให้คะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์หายเป็นจำนวนมากคือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคภูมิใจไทย สำหรับในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ในภาคใต้คู่แข่งหลักก็ยังคงเป็นพรรคเดิม และศักยภาพของคู่แข่งทั้งสามก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

ส่วนในกรุงเทพมหานคร คู่แข่งหลักของพรรคประชาธิปัตย์คือ พรรคกล้า ซึ่งมีแนวโน้มสามารถช่วงชิงคะแนนจากอดีตผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นจำนวนมากทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมสายกลาง ส่วนผู้ที่มีจุดยืนอนุรักษ์นิยมแบบจารีต ซึ่งเคยหนุนประชาธิปัตย์ในอดีต แต่เปลี่ยนไปหนุนพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ในครั้งต่อไป ผู้เลือกตั้งเหล่านี้มีแนวโน้มกระจายการสนับสนุนไปยังพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่หลากหลาย มากกว่าที่จะหวนคืนมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียว ส่วนผู้เลือกตั้งกรุงเทพฯที่มีอุดมการณ์ค่อนไปทางเสรีนิยม ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเลือกพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มนี้มีแนวโน้มละทิ้งพรรคประชาธิปัตย์เกือบทั้งหมด และอาจหันไปสนับสนุนพรรคก้าวไกลแทน

เมื่อดูแนวโน้มบริบทการเมือง ผนวกกับความเสี่ยงใหม่ที่เกิดจากปมปัญหาจริยธรรมของรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งที่มีผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของพรรคอย่างรุนแรง ก็ยิ่งทำให้สมรรถนะการแข่งขันของพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพมหานครอ่อนแอลงไปมาก จนแทบไม่มีคุณสมบัติของการเป็นพรรคแนวหน้าในสนามการแข่งขันนี้อีกต่อไป

จุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ที่หลงเหลืออยู่คือ การเป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบันสูงเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ในสังคมไทย และความนิยมต่อตัวแกนนำบางคนในภาคใต้ก็ยังมีค่อนข้างสูง แม้ว่าอาจไม่สูงเท่าในอดีตแล้วก็ตาม รวมทั้งการมีฐานเสียงและเครือข่ายการจัดตั้งหัวคะแนนที่แน่นหนาในบางจังหวัดของภาคกลางตอนล่าง ส่วนจุดอ่อนที่สำคัญคือ ความสับสนและความเข้าใจในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ผ่านมาอดีตแกนนำพรรคที่มีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเชิงจารีต และแกนนำที่มีอุดมการณ์เสรีนิยม ต่างก็ลาออกจากพรรคเป็นจำนวนมาก ที่เหลืออยู่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ตนเองมีอุดมการณ์แบบไหน แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นแนวอนุรักษ์นิยมเชิงปฏิบัตินิยมป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากแกนนำหลักของพรรคมีอุดมการณ์แบบนี้ ก็จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์เหมือน ๆ กับพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคอื่น ๆ อีกมากมายในสังคมไทย การนำอุดมการณ์มาเป็นจุดขายจึงไม่เป็นข้อได้เปรียบอีกต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น