xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบื้องลึก “อาคารService Hall” ดอนเมืองถล่ม แค่พังเพราะ “ฝน” หรือเจือปน.................?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เหตุการณ์อาคารเช็กอินกรุ๊ปของสนามบินดอนเมืองถล่มในวันพายุฝนตกหนักเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งที่เพิ่งสร้างเสร็จและยังไม่เปิดใช้บริการ เป็นที่โจษจันกันถึงเบื้องลึกเบื้องหลังความไม่ได้มาตรฐานของการก่อสร้างถึงขนาดตั้งคำถามกันว่า “อาคารอเนก-ประสงค์” นี้ไม่ได้พังเพราะ “ฝนถล่ม” หากแต่เป็น “การปั้นโครงการ” ที่พัวพันระดับ “บิ๊กๆ” หรือไม่ อย่างไร 

ผลงานงามใส้ หวิดกลายเป็นโศกนาฎกรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  จะเทกแอ็กชันตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบทันที งานนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ!

นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยผ่านไปได้ง่ายๆ ลองคิดดูว่า ถ้าหากไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การท่องเที่ยวบูมต่อเนื่อง กรุ๊ปทัวร์หลั่งไหลเข้าไทย อาคารดังกล่าวเปิดให้เข้าเช็กอินแล้วเกิดพังถล่มลงมาย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการบาดเจ็บล้มตายไม่มากก็น้อย

เดชะบุญ หลังสร้างเสร็จเกิดโรคโควิดระบาด อาคารดังกล่าวยังไม่ได้เปิดใช้จึงไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือต้องสังเวยชีวิตให้กับผลงานของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 

อาคาร Service Hall ที่มีบางส่วนพังถล่มจากพายุฝน เพิ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับผู้โดยสารกลุ่มกรุ๊ปทัวร์เพื่อช่วยลดความแออัดภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ปัจจุบันยังไม่เปิดให้บริการเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมือง มีปริมาณน้อยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19





สำหรับคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกำแพงอาคาร Service Hall ท่าอากาศยานดอนเมืองพังถล่ม เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของนายศักดิ์สยาม เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2565 มี  นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน  รองปลัดกระทรวงคมนาคมหัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธาน

ส่วนกรรมการจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ, ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ได้แก่ รองศาสตราจารย์ เอนก ศิริพานิชกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิศิษฐ์ แสง-ชูโต กรรมการสภาวิศวกร, ผู้แทนสภาสถาปนิก, ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยมีนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. เป็นเลขานุการ

คณะกรรมการชุดดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่ 1.ตรวจสอบสัญญาจ้างที่เกี่ยวข้องและแบบรายละเอียด มาตรฐานการก่อสร้างอาคาร Service Hall ท่าอากาศยานดอนเมือง และวิเคราะห์ข้อเท็จจริง/สาเหตุของการถล่มของกำแพงอาคารดังกล่าวตามหลักวิศวกรรมและความรับผิดชอบตามมาตรฐานการบริหารงานก่อสร้าง

2.ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น และกำหนดแนวทาง แผนงาน และให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้ ทอท.นำไปกำกับดูแลให้ผู้รับจ้างแก้ไขอาคาร Service Hall ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และปลอดภัยตามมาตรฐานด้านวิศวกรรม โดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาประกันผลงานของผู้รับจ้าง หรือในกรณีที่การแก้ไขมีความจำเป็นต้องแล้วเสร็จภายหลังจากระยะเวลาประกันผลงาน ทอท.ต้องมีกระบวนการผูกผันที่เป็นนิติกรรมสัญญาให้ผู้รับจ้างเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแก้ไขจนแล้วเสร็จ

3.นำผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง และผลการวิเคราะห์ มาถอดบทเรียนและจัดทำคู่มือการก่อสร้าง การบำรุงรักษา การตรวจสอบ และการประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างกำแพงอาคารในลักษณะเดียวกันกับกำแพงของอาคาร Service Hall เพื่อให้ท่าอากาศยานทุกแห่งนำไปประยุกต์ใช้ สำหรับการป้องกันอุบัติเหตุในอนาคต ให้รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายใน 30 วัน

4.ให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งให้มีอำนาจเชิญบุคคลมาให้ข้อมูลและเรียกเอกสารหลักฐานต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ โดยให้รายงานผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทราบและพิจารณาสั่งการ โดยในส่วนของการดำเนินการตามข้อ 1-2 ให้รายงานผลภายใน 14 วัน นับจากวันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง

นับถอยหลังอีกไม่นาน การสืบสาวหาต้นสายปลายเหตุความพังพินาศของอาคารดังกล่าว คงกระจ่างชัด แต่เบื้องต้นคณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายแล้ว และตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 คณะ เพื่อตรวจสอบด้านวิศวกรรมและตรวจสอบด้านสัญญา

สำหรับคณะทำงานตรวจสอบด้านวิศวกรรม มี  รศ.เอนก ศิริพานิชกร  จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ส่วนคณะทำงานตรวจสอบด้านสัญญาว่าดำเนินการครบถ้วนหรือไม่ มี  นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. เป็นประธาน โดยประชุมอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย. นี้

นายกีรติ ให้สัมภาษณ์สื่อว่า จากการวิเคราะห์สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากรางระบายน้ำรับน้ำหนักจากน้ำฝนและลมที่พัดเข้ามาอย่างแรง จนทำให้รางระบายน้ำเกิดการบิดตัวสองช่วงเสา และกดทับผนังจนทำให้กำแพงพังลงมา ขณะนี้ได้ปิดกั้นพื้นที่เพื่อให้วิศวกรรมสถานฯ ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจความเสียหายกำแพง คานรับน้ำฝน และตรวจโครงสร้างหลักว่ามีความกระทบหรือไม่ เบื้องต้นประเมินความเสียหาย 20 ล้านบาท จากมูลค่าอาคารทั้งหลังประมาณ 200 ล้านบาท

ขณะที่ นาวาโท รณกร เฉลิมแสนยากร รักษาการแทน ผอ.สนามบินดอนเมือง ชี้แจงว่า เหตุที่ผนังอาคารบางส่วนพังลงมาเนื่องจากฝนตกหนัก ส่งผลให้รางระบายน้ำอาคารรับน้ำหนักไม่ไหว ยืนยันว่าไม่กระทบต่อโครงสร้างหลักของอาคาร

 ทอท.เปิดประมูลโครงการจ้างก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอด ATTA ท่าอากาศยานดอนเมือง งบประมาณ 207.1 ล้านบาท เมื่อเดือน ส.ค. 2561 โดยใช้วิธีคัดเลือกแทนการประกาศเชิญชวนทั่วไป อ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องรีบก่อสร้าง โดยเชิญบริษัทที่ขึ้นทะเบียนผู้ค้ากลุ่มก่อสร้างไว้กับทอท.ให้เสนอราคา กำหนดราคากลาง 191.356 ล้านบาท มีผู้เสนอราคา 2 ราย โดยบริษัท ที เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอราคา 190.192 ล้านบาท และบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE เสนอราคา 228.575 ล้านบาท 

วันที่ 11 มี.ค. 2562 ทอท.ประกาศยกเลิกการจัดจ้าง บริษัท ที เอ็นจิเนียร์ริ่ง คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า บริษัทอันดันที่ 1 ไม่เข้ามาลงนามสัญญาตามกำหนด รวมทั้งจะทำการขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) เป็นผู้ทิ้งงาน และเชิญบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้ยื่นราคาลำดับที่ 2 มาเจรจา โดยมีการปรับลดราคาลงมาเหลือ 199.9 ล้านบาท แม้ยังสูงกว่าราคากลาง แต่ก็มีการทำสัญญาจ้างเลขที่ 7C/11-631002 ลงวันที่ 18 พ.ย. 2562-15 เม.ย. 2563 ระยะเวลา 150 วัน

ประเด็นนี้ ทำให้ นายทรรศิน จงอัศญากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที เอ็นจิเนียร์ริ่งฯ ยื่นหนังสือถึงกองตรวจราชการสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม และศูนย์ประสานงานเรื่องราวร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 ร้องเรียนพฤติการณ์ของผู้บริหาร ทอท. กรณีใช้อำนาจโดยไม่ชอบเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย กรณี ทอท.มีหนังสือถึงกระทรวงการคลัง แจ้งเวียนให้บริษัทเป็นผู้ทิ้งงาน โดยไม่ได้เข้าทำสัญญาก่อสร้างอาคารเช็กอินกรุ๊ป (ATTA)

บริษัทยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ทิ้งงาน ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้เข้าทำสัญญาเพราะเมื่อตรวจสอบร่างสัญญาพบว่าเนื้อหาไม่ตรงกับทีโออาร์จึงต้องมีการแก้ไขสัญญาบางส่วน และติดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างจึงไม่สามารถเข้าทำสัญญาได้จนกว่าจะแก้ปัญหาแล้วเสร็จ

จากนั้น วันที่ 9 ก.พ. 2564 กระทรวงคมนาคม ได้ส่งเรื่องถึงนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบแต่จนถึงวันนี้ยังเงียบกริบ

 สำหรับ บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จดทะเบียนจัดตั้ง 29 ส.ค. 2545 ทุนล่าสุด 1,361,817,957 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 2 ซอยสุขุมวิท 81 (ศิริพจน์) ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจรับเหมาติดตั้งงานระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบปรับอากาศ ระบบสุขาภิบาลและระบบป้องกันอัคคีภัยและรับเหมาก่อสร้างโยธา มี นายเสวก ศรีสุชาต เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และถือหุ้นใหญ่ 

นอกจากรับงานก่อสร้างอาคารกรุ๊ปทัวร์ดอนเมืองแล้ว บริษัท เพาเวอร์ไลน์ฯ ยังปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญาผู้รับเหมาหน่วยงานรัฐ รวมถึง ทอท. หลายโครงการด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นข้อสงสัยกรณีสัญญาที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการประมูลและเซ็นสัญญากับผู้เสนอราคาอันดับที่ 2 อาจมีความผิดปกตินั้น นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท. ยืนยันว่าโครงการดำเนินการคัดเลือกตั้งแต่ปี 2561 ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560 โดย ทอท.แจ้งให้ผู้ที่เสนอคราคาต่ำที่สุดมาลงนามสัญญา แต่ผู้ที่ชนะการประมูลรายแรกไม่มาลงนาม ให้เวลา 4-5 เดือนแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้อยู่ดีๆ ก็เรียกรายที่ 2 มาเซ็นสัญญา แต่มีการดำเนินการตามกระบวนการ อย่างไรก็ตามกรณีนี้มีการตั้งคณะกรรมการอีกชุดเพื่อตรวจสอบให้สิ้นข้อสงสัย

ส่วนกรณีตรวจสอบแล้วพบว่าเกิดจากความบกพร่องของการก่อสร้าง บริษัทผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบตามระเบียบ กฎหมาย ซึ่งบริษัทนี้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความน่าเชื่อถือและไม่ได้รับสัญญางานกับ ทอท. เท่านั้นแต่ยังมีการทำงานในโครงการอื่นๆ อีก


แต่หากฟังความจากกระแสเสียงของพนักงาน ทอท.พบว่า จำนวนไม่น้อยไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารลานจอดรถ ATTA สนามบินดอนเมือง แต่ผู้บริหาร ทอท. ขณะนั้นต่างดันสุดฤทธิ์โดยอ้างต้องการเพิ่มพื้นที่บริการเพราะอาคาร 1 แออัดคับคั่งมาก ซึ่งบอร์ด ทอท.ชุดที่อนุมัติโครงการ มีนายประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และนายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย ในฐานะรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง เป็นผู้เสนอโครงการ

 พนักงาน ทอท.จึงมักเรียกอาคารบริการผู้โดยสารลานจอดรถ ATTA หลังนี้ว่า “อาคารเอนก-ประสงค์” ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าหมายถึงอาคารที่นายเอนก เป็นผู้เสนอ มีนายประสงค์ เป็นคนอนุมัติ 

จุดที่ก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสาร หรือขณะนี้ผู้บริหาร ทอท.เรียกว่า อาคาร Service Hall นั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่ดังกล่าวพื้นเป็นลานปูนใช้สำหรับจอดรถบัส รถทัวร์ ส่วนด้านล่างเป็นที่จอดรถใต้ดินลึกลงไป 1 ชั้น แต่ด้วยว่ามีการก่อสร้างมานานกว่า 30 ปี โดยเปิดใช้พร้อมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ทำให้ไม่มีการยืนยันว่าโครงสร้างของลานจอดรถ ATTA นี้สามารถรับน้ำหนักได้แค่ไหน อย่างไร รวมทั้งในการก่อสร้างใช้วิธีตั้งเสาเหล็กบนพื้นคอนกรีตและขันนอตยึดเสาเหล็กให้ติดกับพื้นคอนกรีตแล้วเทปูนปิดทับอีกทีเท่านั้น

นอกจากนี้ ผนังอาคารซึ่งสูงประมาณ 4 เมตร จากสภาพที่พังถล่มลงมา ดูแล้วอาจจะไม่มีคานทับหลังและเสาเอ็นที่ช่วยทำให้เพิ่มความมั่นคงแข็งแรงของผนัง แม้ผนังอาคารจะใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา แต่ยังมีความเสี่ยงที่ผนังอาคารจะพังได้ตลอดเวลา โดยขณะเกิดเหตุมีฝนตกหนัก มีกระแสลม อาจทำให้เกิดแรงดันภายนอกและภายในอาคารไม่เท่ากัน ผนังรับแรงดันไม่ไหวจึงพังลง และแรงลมภายในอาคารอาจจะดึงเพดานถล่มตามลงมาด้วยก็ได้

 สรุปประเด็นข้อสงสัยก็คือ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ จะต้องเร่งตรวจสอบแบบก่อสร้างอย่างละเอียดว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ รวมถึงสภาพโครงสร้างที่จอดรถใต้ดิน การวางตำแหน่งเสาของอาคารเช็กอินกรุ๊ป ที่ต่อเติมอยู่ด้านบนนั้น ตรงกับตำแหน่งเสาเข็มกับฐานรากของโครงสร้างของลานจอดรถใต้ดินเดิม และมีการยึดโยงกันถูกต้องตามหลักวิศวกรรมความปลอดภัยแค่ไหน อย่างไร 

ที่น่าปริวิตกไม่แพ้กันคือกรณีที่มีคำสั่งให้เร่งซ่อมแซม เพราะยังอยู่ในระยะเวลารับประกันของผู้รับเหมา เท่ากับว่ายังไงจะใช้อาคารนี้ต่อไป ดังนั้นหากไม่พิสูจน์ข้อกังขาให้เกิดความกระจ่างจะกลายเป็นการเอาชีวิตประชาชน ชีวิตของผู้โดยสารมาเสี่ยงอันตรายหรือไม่ ? เรื่องนี้ควรตรวจสอบและพิสูจน์ให้ชัดเจนก่อน

 รศ.เอนก ศิริพานิชกร  จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) กล่าวว่า วสท.เป็นหน่วยงานกลางที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะจะดำเนินการตรวจสอบอย่างเต็มที่ ในส่วนของผลกระทบโครงสร้างหลัก จะตรวจสอบด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย 3D Scanner ดูค่ามาตรฐานความแข็งแรงว่ามีผลกระทบหรือเสียหายไปถึงเสาหรือไม่ ส่วนเรื่องแรงลมสามารถตรวจวัดค่าได้เช่นกัน รวมถึงจุดที่พังถล่มลงมารับแรงปะทะอย่างไร

คำยืนยันหนักแน่นจาก วสท. ที่จะตรวจสอบโครงสร้างอาคารอย่างเต็มที่ พอทำให้สาธารณชนเบาใจได้ว่า การเปิดใช้อาคารดังกล่าวในอนาคตหลังซ่อมแซมเสร็จแล้วคงไม่มีปัญหาพังถล่มซ้ำสอง

 ที่น่าห่วงกังวลก็อยู่ตรงที่ว่า ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะการตรวจสอบด้านสัญญา จะมีรายการหมกเม็ดปกปิดข้อมูลหรือไม่ และจะให้สังคมเชื่อถือได้อย่างไรว่างานนี้จะไม่มีรายการลูบหน้าปะจมูก? 



กำลังโหลดความคิดเห็น