"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
มีการเชื่อกันอย่างยาวนานว่า สถานการณ์การเมืองระดับชาติส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร แต่ยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มายืนยันความเชื่อนี้ จนนิด้าโพลได้ทำการสำรวจประเด็นนี้ระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน 2565 ผลการสำรวจในภาพรวมพบว่า สถานการณ์การเมืองระดับชาติส่งผลต่อการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯอย่างชัดเจน ส่วนปัจจัยหลักที่คนกรุงเทพคิดว่ามีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งคือ นโยบายของผู้สมัครในการหาเสียง และคุณสมบัติและชื่อเสียงของผู้สมัคร
ผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่หรือร้อยละ55.63 ระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองระดับชาติมีผลต่อการตัดสินใจของตนเองในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ ส่วนน้อยหรือร้อยละ 44.73 ระบุว่าไม่มีผล ตัวเลขนี้เราสามารถสรุปได้ว่า สถานการณ์การเมืองระดับชาติมีผลต่อการตัดสินใจของชาวกรุงเทพส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ระบุว่ามีผลต่อการตัดสินใจ กับกลุ่มที่ระบุว่าไม่มีผลต่อการตัดสินแตกต่างกันไม่มากนัก
เมื่อดูรายละเอียดโดยจำแนกตามระดับอายุ การศึกษา และอาชีพ พบว่ามีแบบแผนที่น่าสนใจหลายประการ ในกรณีอายุ พบว่าอายุแตกต่างกันทำให้ความคิดเห็นต่ออิทธิพลของสถานการณ์การเมืองระดับชาติที่มีต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน สถานการณ์การเมืองระดับชาติส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่ากรุงเทพของกลุ่มที่มีอายุน้อย มากกว่ากลุ่มที่อายุมาก กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ กลุ่มวัยหนุ่มสาวนำสถานการณ์การเมืองระดับชาติมาใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกผู้ว่ากรุงเทพมากกว่าคนวัยกลางคนและวัยสูงอายุ นั่นอาจเป็นเพราะคนวัยหนุ่มสาวมองการเมืองในองค์รวมที่มีการเชื่อมโยงระหว่างการเมืองระดับชาติกับการเมืองท้องถิ่นมากกว่ากลุ่มวัยอื่น ๆ ก็เป็นได้
ประเด็นการศึกษา ก็มีแบบแผนน่าสนใจไม่แพ้กัน พบว่ากลุ่มที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มเชื่อมโยงสถานการณ์การเมืองระดับชาติกับการเมืองท้องถิ่นเข้าด้วยกันมากกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาต่ำ ดังเห็นได้จากร้อยละ 58.42 ของผู้มีการศึกษาระดับปริญาตรี และร้อยละ 63.89 ของผู้มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีระบุว่า สถานการณ์การเมืองระดับชาติส่งผลต่อการตัดสินของตนเองในเลือกผู้ว่ากรุงเทพ ขณะที่ประมาณร้อยละ 49-52 ของผู้ที่มีการต่ำกว่าระดับปริญญาตรีเท่านั้นที่ระบุว่า สถานการณ์การเมืองระดับชาติมีผลต่อการตัดสินใจของตนเอง
สำหรับ อาชีพ ปรากฎว่า สถานการณ์การเมืองระดับชาติมีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่ากรุงเทพในกลุ่มอาชีพพนักงานเอกชน นักศึกษา และเจ้าของธุรกิจและอาชีพอิสระมากกว่ากลุ่มอาชีพรับจ้าง/ผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน ที่น่าสนใจคือ กลุ่มอาชีพรับจ้างและผู้ใช้แรงงาน กลับมีแบบแผนการตัดสินใจแตกต่างจากกลุ่มอาชีพอื่น ๆ กล่าวคือ ขณะที่คนส่วนใหญ่ของกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ระบุว่าสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลต่อการตัดสินใจ แต่คนส่วนใหญ่ของกลุ่มอาชีพรับจ้างและใช้แรงงานกลับระบุในทิศทางกลับกัน นั่นคือส่วนใหญ่ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองระดับชาติไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครของตนเอง
มาดูประเด็นเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อชัยชนะการเลือกตั้ง ในภาพรวมพบว่า ปัจจัยหลักที่ผู้เลือกตั้งกรุงเทพมหานครคิดว่ามีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งคือนโยบายผู้สมัคร และปัจจัยรองคือคุณสมบัติและชื่อเสียงของผู้สมัคร ส่วนปัจจัยเสริมคือ กลยุทธ์ในการหาเสียง และการมีฐานเสียง
กลุ่มที่มีอายุน้อยคิดว่า นโยบายมีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มผู้มีอายุมาก ในทางกลับกันกลุ่มผู้มีอายุมากเห็นว่า คุณสมบัติและชื่อเสียงผู้สมัครมีผลต่อชัยชนะการเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มคนที่มีอายุน้อย และหากพิจารณาประเด็นกลยุทธ์การหาเสียงกับการมีฐานเสียง ก็จะเห็นได้ว่า กลุ่มที่มีอายุน้อย โดยเฉพาะที่อายุช่วง 18-25 ปี เห็นว่า กลยุทธ์การหาเสียงมีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ ในทางกลับกัน ประเด็นการมีฐานเสียง ปรากฎว่ากลุ่มที่มีอายุมากเห็นว่า มีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มที่มีอายุน้อย โดยเฉพาะกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีสัดส่วนของการเห็นว่าปัจจัยการมีฐานเสียงส่งผลต่อชัยชนะเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ อย่างชัดเจน
ด้านการศึกษา ในภาพรวม กลุ่มที่มีการศึกษาสูงเห็นว่า นโยบายมีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาต่ำ และสัดส่วนของกลุ่มประถมศึกษาที่เห็นว่านโยบายมีผลต่อชัยชนะเลือกตั้งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับสัดส่วนของกลุ่มที่มีการศึกษาระดับอื่น ๆ แต่ที่น่าประหลาดใจพอสมควรคือ สัดส่วนของกลุ่มที่มีการศึกษาระดับมัธยมเห็นว่า ปัจจัยด้านนโยบายมีผลต่อชัยชนะเลือกมากที่สุด มากกว่ากลุ่มที่มีระดับการศึกษาในระดับปริญตรีและสูงกว่าเสียอีก
สำหรับปัจจัยคุณสมบัติและชื่อเสียงของผู้สมัครมีความแปรผัน นั่นคือ สัดส่วนของกลุ่มที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี เห็นว่าปัจจัยนี้มีผลต่อชัยชนะเลือกตั้ง ต่ำกว่าสัดส่วนของกลุ่มที่มีการศึกษาในระดับอื่น ๆ ส่วนในปัจจัยกลยุทธ์การหาเสียง พบว่าสัดส่วนของผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปเห็นว่ากลยุทธ์การหาเสียงส่งผลต่อชัยชนะน้อยกว่าสัดส่วนของกลุ่มที่จบประถมศึกษา แต่ในประเด็นฐานเสียงกลับมีทิศทางต่างกัน นั่นคือ สัดส่วนของกลุ่มที่มีการศึกษาสูงเห็นว่า ฐานเสียงมีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่าสัดส่วนของกลุ่มที่มีการศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี
ด้านอาชีพ สัดส่วนของกลุ่มนักศึกษาและพนักงานเอกชนเห็นว่า นโยบายมีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่าอาชีพอื่น ๆ ส่วนในประเด็นคุณสมบัติและชื่อเสียงผู้สมัคร ปรากฎว่า สัดส่วนของกลุ่มพ่อบ้าน แม่บ้าน และกลุ่มผู้รับจ้างใช้แรงงานเห็นว่า ปัจจัยนี้มีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ๆ ส่วนประเด็นกลยุทธ์การหาเสียง ปรากฎว่าสัดส่วนของกลุ่มนักศึกษาที่เห็นว่าปัจจัยนี้มีผลต่อชัยชนะเลือกตั้ง มีมากกว่าสัดส่วนของกลุ่มอาชีพอื่น ๆ อย่างชัดเจน ส่วนในประเด็นการมีฐานเสียง ปรากฎว่า สัดส่วนของกลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่เห็นว่าการมีฐานเสียงมีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้ง มีมากกว่าสัดส่วนของกลุ่มอาชีพอื่น ๆ
กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ทางการเมืองระดับชาติส่งผลการตัดสินใจของผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และส่งผลต่อกลุ่มที่มีอายุน้อย มีการศึกษาสูง กลุ่มนักศึกษา และอาชีพนักงานเอกชนมากเป็นพิเศษ สำหรับความคิดเห็นต่อปัจจัยที่มีผลต่อชัยชนะเลือกตั้ง ในภาพรวมผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่คิดว่า นโยบายของผู้สมัครมีผลต่อชัยชนะเลือกตั้งมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอายุน้อย ผู้มีการศึกษาสูง อาชีพนักศึกษา และพนักงานเอกชน รองลงมาคือปัจจัยคุณสมบัติส่วนตัวและชื่อเสียงของผู้สมัคร สัดส่วนของกลุ่มที่มีความคิดว่าปัจจัยนี้ส่งผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมากเป็นพิเศษคือ กลุ่มที่มีอายุมาก มีการศึกษาต่ำ มีอาชีพเป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ และรับจ้างทั่วไปรวมถึงผู้ใช้แรงงานด้วย