xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เครดิตบูโร” ผ่าหนี้เน่ารายย่อยทะลัก 5 แบงก์รัฐหนี้เสียท่วม ออมสิน-ธ.ก.ส.อ่วม สะท้อน“คนฐานราก”ยากจนลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  กว่าสองปีที่โรคโควิด-19 ยืดเยื้อ ส่งผลคนไทยยากจนถ้วนหน้า หนี้เสียท่วมระบบ “เครดิตบูโร” ประเมินหลังหมดโปรแช่แข็งหนี้ของแบงก์และนอนแบงก์กลางปีนี้ คาด “หนี้เน่า” อาจพุ่งแตะ 10% “ขุนคลัง” ห่วง 5 แบงก์รัฐ โฟกัส ออมสิน - ธ.ก.ส.หนักสุด สะท้อนสภาพความเป็นอยู่ในประชาชนคนฐานรากลำบากสาหัส 

มาตรการอุ้มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ภาครัฐร่วมมือกับแบงก์ต่างๆ กำลังทยอยหมดลง นั่นทำให้บรรดาลูกหนี้ต่างกำลังมองหาช่องทางแก้ปัญหา แม้ว่าปีนี้ “รัฐบาลลุง” จะประกาศให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ แต่ดูทรงแล้วความสำเร็จในการแก้ไขปัญหากับเป้าหมายยังห่างไกลลิบลับ

บรรดาผู้ประกอบการที่รับซื้อหนี้เสีย เช่น บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT, บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ต่างคาดการณ์ว่า ช่วงครึ่งปีหลัง 2565 แบงก์อาจปล่อยหนี้เสียออกมาจำนวนมาก เฉพาะแค่หนี้ภาคครัวเรือนอาจจะได้เห็นตัวเลขหนี้ที่ระดับ 3 แสนล้านบาท กันเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน นายสุรพล โอภาสเสถียร  ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ให้สัมภาษณ์สื่อว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ภาพรวมหนี้เสีย หรือ NPL ในระบบธนาคารและนอนแบงก์ไทยจะปรับเพิ่มขึ้นหลังจากเดือนมิ.ย.นี้ เป็นต้นไป เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของสถาบันการเงินจะทยอยหมดลง เหลือเพียงแค่มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่านั้น

 ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร สะท้อนว่า ที่ผ่านมาแบงก์ช่วยแช่แข็งหนี้ ทำให้ดูเหมือนว่าหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่เมื่อมาตรการช่วยเหลือหมดลงกลับสู่โหมดปกติ เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นแน่ๆ หากนำผลกระทบเรื่องราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นมาคำนวณด้วย ปีนี้อาจได้เห็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 10% จากเวลานี้อยู่ที่ 7% 

ฐานข้อมูลลูกหนี้ของเครดิตบูโร ณ สิ้นปี 2564 มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียสะสมทั้งหมด 4.3 ล้านบัญชี เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน และหากเจาะดูหนี้เสียโดยรวมของรายย่อย จะพบว่า มียอดหนี้สะสมอยู่ที่ 9.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสีย 7.5% เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2563 ที่มียอดสะสม 8.8 แสนล้านบาท

สำหรับรายย่อยที่มียอดสินเชื่อสะสม ณ สิ้นปี 2564 แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรก Gen Z คือ คนที่มีอายุ 8-20 ปี มียอดหนี้สะสม 9.7 หมื่นล้านบาท กลุ่มที่สอง Gen Y มีอายุ 21-37 ปี มียอดหนี้ 4.5 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีหนี้สะสมสูงที่สุด กลุ่มที่สาม Gen X มีอายุ 38-53 ปี มียอดหนี้ 3.8 ล้านล้านบาท กลุ่มที่สี่ Baby Boomer มีอายุ 54-72 ปี มียอดหนี้ 1.1 ล้านล้านบาท และกลุ่มที่ห้า กลุ่ม Silent มียอดหนี้ 2.6 หมื่นล้านบาท

ใน 5 กลุ่มลูกหนี้ดังกล่าว กลุ่ม Gen Z มีอัตราการเป็นหนี้เสียสะสม 5.2 พันล้านบาท, Gen Y 3 แสนล้านบาท, Gen X 2.6 แสนล้านบาท, Baby boomer 7.1 หมื่นล้านบาท และ Silent 1.2 พันล้านบาท

 แน่นอน คน Gen Y คือกลุ่มที่มีหนี้สะสมสูงสุด และเป็น “หนี้เสีย” สะสมสูงสุดเช่นกัน 

 ประเด็นที่น่ากังวลอยู่ตรงที่หนี้เสียหรือเอ็นพีแอล เกิดขึ้นมากในกลุ่มคนอายุน้อยและกระจุกอยู่ในสินเชื่อส่วนบุคคล ในกลุ่มคนอายุ 22 ปี มีถึง 24% เป็นเอ็นพีแอล ใกล้เคียงกับคนอายุ 31 ปี ที่ 1 ใน 4 เป็น เอ็นพีแอล แม้กระทั่งคนอายุ 60 ปีก็มีถึง 15% ที่เป็นเอ็นพีแอล โดยเฉลี่ยทั้งประเทศใน 100 คน จะมี 16 คน ที่เป็นเอ็นพีแอล 

สำหรับต้นตอปัญหาหนี้ของไทย ผู้จัดการใหญ่ของเครดิตบูโร อธิบายว่า เกิดจากภาคครัวเรือนถูกกระตุ้นให้ก่อหนี้มาอย่างยาวนาน เนื่องจากสินเชื่อรายย่อยเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้ามาทำตลาด แข่งกันออกโปรโมชันดอกเบี้ย 0% กันมาก จนก่อให้เกิดภาวะกู้ก่อน กินก่อน เที่ยวก่อน ผ่อนทีหลัง ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนของหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่สูงถึง 27.7% ของหนี้ภาคครัวเรือนทั้งหมด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานออกมาล่าสุด ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.58 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 3.9% ใกล้เคียงกับการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ในปี 2563 ที่ 4.0% อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังคงเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 ยังคงขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1% จากระดับ 89.7% ในปี 2563

สำหรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนภาพรวม ณ สิ้นปี 2564 หนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรกยังคงเป็น เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วน 34.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วน 18.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม และเงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วน 12.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม

เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนพึ่งพาบริการสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ยืม เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยับขึ้นมาที่ 8.0% ของหนี้ครัวเรือนรวมในปี 2564 จากที่มีสัดส่วนประมาณ 7.0% ของหนี้ครัวเรือนรวมในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 เป็นการกู้ยืมเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและแก้ไขปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจและรายได้ของภาคครัวเรือนในหลายส่วน ยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวยืดเยื้อ

ฐานะทางการเงินในระดับครัวเรือนมีสัญญาณอ่อนแอและมีหนี้สูงขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ระบาดยืดเยื้อ แม้ในภาพรวมทั้งประเทศ เงินออมของภาคครัวเรือนซึ่งอยู่ในรูปเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะขยับขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 12.28 ล้านล้านบาทในปี 2563 มาอยู่ที่ประมาณ 12.87 ล้านล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79.5% เมื่อเทียบกับจีดีพี และ 88.2% เมื่อเทียบกับยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน แต่คงต้องยอมรับว่า หากมองภาพในระดับครัวเรือน สถานะทางการเงินและระดับเงินออมของแต่ละครัวเรือนย่อมมีความแตกต่างกัน

จากข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ฐานะทางการเงินในระดับครัวเรือนมีสัญญาณอ่อนแอและมีหนี้สูงขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ระบาดยืดเยื้อ แม้ครัวเรือนไทยในปี 2564 จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 27,352 บาทต่อเดือน ขยับขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยที่ 26,018 บาทต่อเดือนในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด แต่ภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนก็ขยับสูงขึ้นตามมาอยู่ที่ 21,616 บาทต่อเดือนด้วยเช่นกัน จาก 20,742 บาทต่อเดือนในปี 2562

สำหรับค่าใช้จ่ายของครัวเรือนดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79% ต่อรายได้ต่อเดือน ซึ่งสะท้อนว่า หากครัวเรือนมีภาระอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาระผ่อนหนี้ จะทำให้มีเงินเหลือสำหรับเก็บสะสมเป็นเงินออมน้อยลง ข้อมูลในฝั่งหนี้สิน สะท้อนว่า ครัวเรือนไทยมีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมากขึ้น โดยในผลสำรวจฯ พบว่า สัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้ขยับขึ้นจาก 45.2% ในปี 2562 มาที่ 51.5% ในปี 2564 โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นบางส่วนมาจากแหล่งกู้เงินนอกระบบ

หากพิจารณาเฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้สินในปี 2564 พบว่า สัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้สินนอกระบบอย่างเดียว และสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้สินทั้งในและนอกระบบขยับขึ้นมาที่ 5.2% และ 4.0% จากที่มีสัดส่วน 4.7% และ 3.5% ในปี 2562 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ระดับหนี้สินเฉลี่ยยังเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้ของครัวเรือนด้วยเช่นกัน โดยจำนวนหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ที่ 205,679 บาทในปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.25 เท่าเมื่อเทียบกับระดับหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 164,005 ในปี 2562 ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียง 1.05 เท่า เท่านั้น

ภาพดังกล่าวตอกย้ำว่า ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและประชาชนรายย่อย ยังคงมีความอ่อนไหวต่อสภาวะผันผวนและไม่แน่นอนของเส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่อาจเริ่มขยับขึ้นในอนาคต

ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและหนี้เสียที่เป็นเทรนด์ขาขึ้นต่อเนื่อง ทำให้  “ขุนคลัง” นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เทคแอคชั่นสั่งการให้ 5 แบงก์รัฐ เร่งแก้ไขหนี้เสีย สนองนโยบายปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือนของนายกรัฐมนตรี

 5 แบงก์รัฐ ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ ธนาคารอิสลาม นายอาคม สั่งให้เข้าไปดูแลลูกหนี้โดยดึงลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้วให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติให้ได้ โดยเฉพาะแบงก์ออมสิน และ ธ.ก.ส. ที่มีหนี้เสียมากที่สุด เพราะเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้จำนวนมากจากโครงการของรัฐ  

“แบงก์เองก็ต้องมีการกันสำรองไว้ตามกฎของแบงก์ชาติ และต้องมีสภาพคล่องเพียงพอคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ เพียงแต่บทบาทในการเข้ามาช่วยเหลือประชาชนจะมีมากกว่า และยังได้รับการชดเชยจากรัฐบาลด้วย ดังนั้นแบงก์รัฐต้องออกแรงมากกว่านี้” นายอาคม กล่าวสำทับสำหรับการแก้หนี้ของแบงก์รัฐ ที่ดูเหมือนจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจของ “ขุนคลัง”

สำหรับการดึงหนี้เสียมาเป็นหนี้ปกติ นายอาคม มองว่า ถ้าทำกันจริงก็ทำได้ เช่น ดึงเข้ามาสู่มาตรการพักหนี้ และหาโครงการที่ทำให้เกิดรายได้เพื่อนำเงินที่เกิดขึ้นมาชำระหนี้เก่า ส่วนหนี้ใหม่พักไว้ก่อน โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ที่ชัดเจน

อย่างเช่น ลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เป็นหนี้เสียประมาณ 10 ล้านราย ก็ให้ดึงกลับมาเข้าโครงการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ย และทำให้มีรายได้เพิ่ม ด้วยการปล่อยกู้เพื่อเป็นทุนในการทำอาชีพเสริม เช่น การปลูกผักหรือพืชเสริม เมื่อขายได้ก็ให้หักกำไร 50% มาใช้ในการชำระหนี้เดิม ส่วนหนี้ใหม่ที่กู้ไปก็ให้พักไว้ก่อน ยังไม่ต้องเริ่มผ่อนชำระคืน การทำแบบนี้อาจเป็นการทำให้มีหนี้พอกขึ้นมา แต่หากไม่ทำก็จะไม่มีทุนที่จะทำให้เกิดรายได้ขึ้นมาเช่นกัน

นายอาคม มองว่า แบงก์รัฐทั้งออมสิน และ ธ.ก.ส. ก็ต้องรู้จักลูกค้าของตัวเอง เช่น ธ.ก.ส. ต้องรู้จักแต่ละบ้านว่ามีหนี้เท่าไหร่ มีปัญหาตรงไหน และทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจากการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรตามจังหวัดต่างๆ พบว่า เกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มกันจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น บางแห่งมีการตั้งสถาบันการเงินชุมชน มีการรวมเอาหนี้นอกระบบของสมาชิกเข้ามาเป็นหนี้ของสถาบันการเงินชุมชนแล้วผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และยังมีการจ้างงานในชุมชน สร้างรายได้เพียงพอที่จะผ่อนชำระหนี้ได้

มาเจาะใส้ในของ ธ.ก.ส. ล่าสุด นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์   ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในปีบัญชี 2564 ที่สิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 9.2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 6.63% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากปีบัญชี 2563 ที่มีหนี้เสียอยู่ที่ 3.7% ของสินเชื่อรวม โดยเป็นผลมาจากในปี 2564 การแพร่ระบาดโควิดยังอยู่ในระดับสูงกระทบรายได้ของเกษตรกร และปัญหาภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมในช่วงกลางปี ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังมีภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. อธิบายว่า ในปีบัญชี 2653 เป็นช่วงที่พักหนี้ให้เกษตรกรทั้งระบบ จากนั้นมาตรการดังกล่าวได้สิ้นสุดลงในสิ้นเดือน เม.ย. แต่ในช่วงนั้นก็ประสบปัญหาโควิดระบาด ปัญหาภัยธรรมชาติ และต้นทุนการผลิต ทำให้กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้หนี้เสียเพิ่มขึ้น ยอมรับว่าหนี้เสียดังกล่าวเป็นตัวเลขที่น่ากังวล เพราะเพิ่มขึ้นสูงมากเป็นครั้งแรกเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าธนาคารจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ดี ในปีบัญชี 2565 นี้ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะบริหารจัดการให้หนี้เสียปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 4.5% ของสินเชื่อรวม

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในปีบัญชี 2564 ของธนาคารยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ปล่อยได้เพียง 3.5 หมื่นล้านบาท ทำให้หนี้เสียต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ปล่อยได้ไม่มากนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่มีเข้ามามาก เช่น โครงการประกันรายได้ที่มีวงเงินถึง 4.5 หมื่นล้านบาท โครงการอุดหนุนเกษตรกรไร่ละ 1 พันบาท วงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท รวมแล้วประมาณกว่า 9 หมื่นล้านบาท ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสินเชื่อกับธนาคาร

สำหรับภาพรวมผลประกอบการของธนาคาร ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2564 มีสินทรัพย์รวม 2.23 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.75% สินเชื่อคงค้าง 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.26% หนี้สิน 2.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.03% รายได้ 9.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.98% ค่าใช้จ่าย 9 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.79% ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 7,300 ล้านบาท ลดลงจากปีบัญชีก่อนที่มีกำไร 7,900 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายดำเนินงานในปีบัญชี 2565 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ในระดับเท่ากับปีบัญชี 2564 หรือ 3.5 หมื่นล้านบาท

 อย่าว่าแต่ประชาชนมีหนี้ครัวเรือนท่วม และแบงก์มีปัญหาหนี้เสียบานเบอะ แม้แต่รัฐบาลเอง ซึ่งเปรียบเสมือนหัวหน้า “ครอบครัวประเทศไทย” ก็ก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเพื่อหาเม็ดเงินมาลงทุนและบริหารประเทศเช่นกัน โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 ตามที่คณะกรรมการนโยบายและการการกำกับการหนี้สาธารณะ เสนอ ซึ่งประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1.41 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.36 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครั้งที่ 1 จำนวน 4.96 หมื่นล้านบาท 

 แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.53 ล้านล้านบาท ลดลง 3.57 หมื่นล้านบาท และแผนการชำระหนี้ วงเงิน 3.63 แสนล้านบาท จากเดิม 3.62 แสนล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้น 1.03 พันล้านบาท  

การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว เพื่อกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นหนี้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้โควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อบริหารความเสี่ยงวงเงินกู้ต่างประเทศที่คาดว่าจะลงนามสัญญา หรือรองรับการระดมทุนในสกุลเงินตราต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้น จำนวน 2.9 หมื่นล้านบาท

นอกจากนั้น ยังเป็นการกู้เงินมาเพื่อใช้ในการลงทุนและการพัฒนาประเทศ ขับเคลื่อนโครงการที่สำคัญต่างๆ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ วงเงินกู้ 3.9 หมื่นล้านบาท

สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ปรับเพิ่มวงเงินกู้ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย ปรับเพิ่มวงเงินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ช่วงบางซื่อและตลิ่งชัน จำนวน 1.1 พันล้านบาท, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ปรับเพิ่มวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565-2567 ภายใต้กรอบวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท และโครงการอื่นๆ ที่จะบรรจุเพิ่มในแผนบริหารหนี้สาธารณะครั้งที่ 2 อีก 21 โครงการ

การปรับแผนการก่อหนี้สาธารณะครั้งนี้ยกระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ 62.76% ต่อ GDP ซึ่งไม่เกิน 70% ตามกรอบหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 ที่มีมติเห็นชอบให้ขยายกรอบเพดานหนี้ไม่เกิน 70% ของจีดีพี เพื่อรองรับการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด 1 ล้านล้านบาท และการกู้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด 5 แสนล้านบาท

 หากไม่ขยายกรอบเพดานกู้หนี้สาธารณะ รัฐบาลก็คงได้ชื่อว่าก่อหนี้เกินตัว ไม่ต่างจากครัวเรือนที่ก่อหนี้พุ่งและเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการทำมาหารายได้โดยเฉพาะประชาชนฐานรากอยู่ในภาวะยากลำบากจากเศรษฐกิจที่ยังโงหัวไม่ขึ้นเพราะพิษการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อยาวนาน 


กำลังโหลดความคิดเห็น