ผู้จัดการการสุดสัปดาห์ - กองทุนน้ำมันหมดตูดติดลบบานเบอะ “รัฐบาลลุง” ตัดใจเลิกตรึงราคา ปล่อยดีเซลขยับขึ้นเกิน 30 บาทต่อลิตร ดีเดย์ 1 พ.ค.นี้ สหพันธ์ขนส่งฯ เลิกเจรจาเตรียมขึ้นค่าขนส่งทันที โดยราคาน้ำมันดีเซลขึ้นทุก 1 บาท จะปรับค่าขนส่งขึ้น 3% ขณะที่น้ำมันเบนซินจ่อลอยตัวตามราคาน้ำมันตลาดโลก คนไทยอ่วมอรทัยรับค่าครองชีพพุ่งกระฉูดแน่
เป็นอันว่าชัดเจนแจ่มแจ้งสำหรับราคาน้ำมันที่เตรียมปรับขึ้นตามที่ นายวิศักดิ์ วัฒนศัพ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) บอกกล่าวว่าช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้ กองทุนจะพิจารณาปรับราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้ ส่วนจะปรับขึ้นเท่าไหร่คงดูราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เช่น ปัจจุบันอุดหนุนประมาณ 8 บาทต่อลิตร กองทุนฯ อาจอุดหนุนเหลือแค่ 4 บาทต่อลิตร
นั่นเป็นขยักแรกของการปรับราคาน้ำมันดีเซล เพราะถัดจากนั้น วันที่ 20 พ.ค.นี้ จะครบกำหนดมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาท ภาระค่าใช้จ่ายเงินในกองทุนจะกลับมาสูงอีกครั้ง นั่นเป็นการส่งสัญญาณว่า การขยับปรับราคาดีเซลอาจตามมาอีก
และยังไม่จบอยู่เพียงแค่นั้น เพราะนายวิศักดิ์ บอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2563-2567 โดยหารือกับกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมข้อมูลรอบด้าน เช่น ปริมาณการใช้น้ำมันในภาคขนส่ง ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ภาระการคลัง และแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยใช้ฐานราคาดีเซลลิตรละไม่เกิน 30 บาท เพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนแผน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนภายในเดือนก.ค. - ส.ค. 2565 เบื้องต้นจะศึกษาการกำหนดระดับการตรึงราคาว่าควรจะอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตรต่อไป หรือควรจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 32-33 บาท หรือ 35 บาทต่อลิตร ให้มีความเหมาะสมตามราคาน้ำมันตลาดโลก
หากฟังความตามผู้อำนวยการกองทุนน้ำมัน คาดการณ์ได้ว่าหลังเดือนส.ค.นี้ หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงยืนอยู่ในระดับราคาสูง ก็อาจเป็นไปได้ที่การกำหนดราคาน้ำมันดีเซลของ “รัฐบาลลุง” จะขยับเพดานขึ้นไปอีก
ไม่ใช่แค่ดีเซลเท่านั้นที่จะปรับขึ้น ในส่วนของน้ำมันเบนซินก็เช่นกัน ซึ่งผู้อำนวยการกองทุนน้ำมันฯ ระบุว่า การทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง ได้ศึกษาแนวทางลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยอาจปล่อยให้ราคาขายปลีกเบนซินทุกชนิดปรับขึ้น-ลงสะท้อนต้นทุนจริง ยกเว้นน้ำมัน E20 และ E85 ที่ใช้สำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์)
แพลมมาขนาดนี้ อีกไม่นานกลุ่มรถยนต์ที่ใช้เบนซินก็เตรียมตัวรับการปรับขึ้นราคาน้ำมันไว้เลย
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าราคาน้ำมันโลกจะปรับขึ้นหรือเริ่มลดลง กองทุนน้ำมันก็ยังคงเดินหน้าเก็บเงินเติมสภาพคล่องของกองทุนที่เวลานี้อยู่ในสถานะติดลบ
ผอ.สำนักงานกองทุนน้ำมันฯ ขอทำความเข้าใจต่อสังคมว่า หากสถานการณ์น้ำมันดิบตลาดโลกลดต่ำลงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศช่วงแรกอาจไม่ลดลงมากนัก เพราะยังต้องเก็บเงินมาเติมเข้ากองทุนไว้ใช้จ่ายยามวิกฤต ตอนนี้กองทุนมีเงินเข้าระบบเดือนละ 2 พันกว่าล้านบาท แต่ต้องจ่ายเดือนละ 2 หมื่นกว่าล้าน ปัจจุบันกองทุนมีกระแสเงินสด อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท มีสถานะติดลบแล้วกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท
นอกจากจะเก็บภาษีเข้ากองทุนน้ำมันแล้ว กองทุนยังต้องกู้เงินเข้ามาเสริม โดยความคืบหน้าล่าสุด การกู้เงินก้อนแรก 2 หมื่นล้านบาท กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ ยืนยันสถานะของกองทุนน้ำมันซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล ทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจ โดยปลายเดือนเม.ย.นี้ จะมีสถาบันยื่นข้อเสนอปล่อยกู้ก้อนแรก 2 หมื่นล้าน ได้เงินเดือนมิ.ย. 2565 ขณะที่ก้อนที่ 2 จะกู้อีก 1 หมื่นล้านบาท และก้อนที่ 3 อีก 1 หมื่นล้านบาท รวม 4 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีมติให้การสนับสนุนกองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานของประเทศ โดยจะจัดสรรเงินอุดหนุนแก่กองทุนน้ำมันในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน และจำเป็นต้องใช้ ขณะนี้กรมธุรกิจพลังงาน อยู่ระหว่างทำตัวเลขส่งให้กับกระทรวงการคลัง ว่า กองทุนควรจะขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเท่าไหร่
นั่นเป็นเรื่องของฝั่งรัฐบาล และการยกเหตุผลที่ต้องปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล รีดเงินเข้ากองทุนน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฟากฝั่งของผู้ประกอบการขนส่ง ยืนกรานรอบนี้ปรับขึ้นค่าขนส่งแน่นอน
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลเลิกตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ผู้ประกอบการรับจ้างขนส่งสินค้าก็จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าขนส่งทั่วประเทศเพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยราคาน้ำมันดีเซลขึ้นทุก 1 บาทจะปรับค่าขนส่งขึ้น 3% เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้ การปรับขึ้นราคาค่าขนส่งครั้งนี้ สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ จะไม่มีการเจรจาหารือกับภาครัฐอีกแล้ว เพราะปัจจุบันต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 6 บาท/กิโลเมตร ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยลดจำนวนเที่ยววิ่งลง
ประธานสหพันธ์การขนส่งฯ บอกว่าเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานสูงขึ้นไปอีก ซึ่งค่าขนส่งที่ปรับขึ้นหลังรัฐบาลเลิกตรึงราคาดีเซลย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น
ก่อนหน้านี้ สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เคยเรียกร้องขอให้รัฐบาลตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 25 บาท เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องมาแบกรับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น เพราะหากค่าขนส่งปรับขึ้น ต้นทุนสินค้าและบริการต่างๆ ก็ต้องปรับขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้รับการตอบรับจากทางรัฐบาล
ทางด้าน นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทย คาดว่าหลังสงกรานต์ราคาสินค้าหลายรายการจะมีการปรับราคาขายขึ้น จากปัญหาการขาดวัตถุดิบและต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับตัวขึ้น ซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร และค่าขนส่งปรับขึ้นประมาณ 15-20% ว่า จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งสินค้าสำเร็จรูป รวมถึงส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง สินค้าทั่วไปปรับราคาขึ้นตาม
รองประธาน ส.อ.ท. คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดีเซลมีโอกาสแตะ 32-35 บาทต่อลิตร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาพลังงานโลก และสงครามรัสเซีย-ยูเครนในระยะต่อไปจะมีความรุนแรงต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอีก และเกิดปัญหาภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบทั่วโลก เนื่องจากต้นทุนสินค้า ต้นทุนค่าขนส่งสินค้า ต้นทุนอาหารเพิ่ม ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น โดยทุกๆ 1 เหรียญของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาค้าปลีกเพิ่มขึ้นประมาณ 0.25 สตางค์
สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ล่าสุด นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าว่าสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ กนง.และกระทรวงคลัง มีข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 ที่กำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2565
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2565 กนง.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า (ไตรมาสที่ 2 /2565 ถึงไตรมาสที่ 1/2566) จะอยู่ที่ 4.1% ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ก่อนหน้า โดยแรงกดดันเงินเฟ้อส่วนใหญ่มาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกปรับตัวสูงขึ้นมา ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นตาม โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าจะเร่งตัวสูงที่ 16.8% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 1.6%
ขณะเดียวกัน ปัญหาจากโรคระบาดในสุกรที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาอาหารสำเร็จรูป ส่วนราคาอาหารสดหมวดอื่น มีแนวโน้มปรับขึ้นตามต้นทุนอาหารสัตว์และปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสดเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ที่ 3.4% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ 0.6%
แบงก์ชาติ คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงกว่า 5% ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงหลังของปี 2565 และกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566
หากติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียของชาติตะวันตกที่ส่งผลกระทบรอบด้านเป็นวงกว้าง กระทั่งกลุ่มโอเปกออกมาเตือนสติสหภาพยุโรปในการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียจะส่งผลกระทบต่ออุปทานพลังงานเกินคาดคิด
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือโอเปก แจ้งกับอียูเมื่อวันจันทร์ที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่ามาตรการคว่ำบาตรปัจจุบันและในอนาคตที่กำหนดเล่นงานรัสเซีย จะก่อคลื่นความช็อกทางอุปทานพลังงานเลวร้ายที่สุดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นไปไม่ได้ที่จะชดเชยปริมาณน้ำมันเหล่านั้น พร้อมส่งสัญญาณว่าโอเปกพลัสจะไม่เพิ่มปริมาณการผลิตเพิ่มเติม
บรรดาเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปจัดประชุมหารือในกรุงเวียนนากับเหล่าตัวแทนจากโอเปก ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้โอเปกเพิ่มกำลังผลิต ในขณะที่อียูกำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย
“มีความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นการส่งออกน้ำมันและของเหลวอื่นๆ ของรัสเซียหายไปมากกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ผลจากมาตรการคว่ำบาตรปัจจุบันและในอนาคต หรือความเคลื่อนไหวโดยสมัครใจอื่นๆ” โมฮัมหมัด บาร์คินโด เลขาธิการโอเปกกล่าวและว่า “เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มอุปสงค์ในปัจจุบัน มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะชดเชยปริมาณที่ขาดหายไปมากมายเท่านี้”
ขณะที่สหภาพยุโรป เรียกร้องให้บรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันพิจารณาหาทางเพิ่มการส่งออกได้หรือไม่ เพื่อช่วยสกัดราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทว่า บาร์คินโด บอกว่าปัจจุบันตลาดน้ำมันมีความผันผวนสูงมาก ผลจากกรณีแวดล้อมต่างๆ ที่ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งอยู่นอกการควบคุมของโอเปก เป็นการส่งสัญญาณว่าทางกลุ่มจะไม่ผลิตเพิ่มเติม
ที่ผ่านมา โอเปกเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ และทบวงพลังงานสากล ที่ขอให้ผลิตน้ำมันเพิ่มเติมเพื่อสกัดราคาน้ำมัน ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 14 ปีเมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากสหรัฐอเมริกาและอียูกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียลงโทษกรณีรัสเซียรุกรานยูเครน
โอเปกพลัส ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกโอเปกและบรรดาผู้ผลิตอื่นๆ ในนั้นรวมถึงรัสเซีย จะปรับเพิ่มกำลังผลิตราว 432,000 ต่อวันในเดือนพฤษภาคม ตามมาตรการปรับลดกำลังผลิตที่นำมาใช้ในช่วงเผชิญวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโรคระบาดใหญ่โควิด-19
จนถึงตอนนี้มาตรการคว่ำบาตรของอียูที่กำหนดเล่นงานรัสเซีย ยังไม่ครอบคลุมถึงน้ำมัน แม้ทางกลุ่ม 27 ชาติสมาชิกเห็นพ้องกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสำหรับคว่ำบาตรถ่านหินจากรัสเซีย โดยน้ำมันอาจเป็นเป้าหมายถัดไป
รัฐมนตรีต่างประเทศไอร์แลนด์ ลิทัวเนีย และเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยต่อที่ประชุมร่วมของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอียูในลักเซมเบิร์ก ว่าทางคณะกรรมาธิการยุโรปกำลังร่างข้อเสนอห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย แต่ยังไม่มีข้อตกลงใดๆ เกี่ยวกับการแบนน้ำมันดิบของรัสเซีย ขณะที่ ออสเตรเลีย แคนาดา และสหรัฐฯ ซึ่งพึ่งพิงอุปทานรัสเซียน้อยกว่ายุโรปเคลื่อนไหวแบนการซื้อน้ำมันของรัสเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
บรรดาประเทศอียู มีความเห็นแตกแยกกันว่าจะเดินตามแนวทางนี้หรือไม่ เนื่องจากพวกเขาต้องพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียสูงมาก และความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่าจะยิ่งผลักให้ราคาพลังงานในยุโรปพุ่งสูงขึ้นไปอีก
ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ยังคงยืดเยื้อและส่อเค้ารุนแรงบานปลาย จากถ้อยแถลงต่อสาธารณะของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เมื่อวันอังคารที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ว่า การเจรจาสันติภาพกับยูเครนเจอทางตัน และประกาศเดินหน้าโจมตียูเครนต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะ พร้อมกับเย้ยหยันตะวันตกว่ากำลังล้มเหลวในการบีบบังคับให้มอสโกคุกเข่ายอมจำนน ผ่านมาตรการคว่ำบาตรอันหนักหน่วง และเชื่อว่ากฎระเบียบโลกขั้วเดี่ยวที่ครอบงำโดยสหรัฐฯ กำลังล่มสลาย
“รัสเซียจะเดินหน้าอย่างเป็นจังหวะและสุขุมเยือกเย็นในปฏิบัติการ แต่บทสรุปทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดก็คือกฎระเบียบโลกขั้วเดี่ยว ซึ่งสหรัฐฯ ได้สร้างมาหลังจากสงครามเย็น กำลังแตกสลาย” ปูติน กล่าว
ประธานาธิบดีปูติน เน้นย้ำว่ารัสเซียไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสู้รบ เพราะว่าจำเป็นต้องปกป้องพลเรือนพูดภาษารัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครน และป้องกันไม่ให้เพื่อนบ้านอดีตสหภาพโซเวียต กลายเป็นสปริงบอร์ดต่อต้านรัสเซียของบรรดาศัตรูทั้งหลายของมอสโก
นั่นหมายถึงสถานการณ์ด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกจะยังอยู่ในวิกฤตความเลวร้าย ขณะที่ “รัฐบาลลุง” ส่งสัญญาณ “ปล่อยมือ” ลอยตัวราคาน้ำมัน ซ้ำเติมการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยในยามยากลำบากเรียบร้อย