ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นประเด็นต่อเนื่องสำหรับการจัดการขยะพลาสติก หลังจากทุกภาคส่วนขับเคลื่อนนโยบายรัฐตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ระบุให้ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน จะถูกยกเลิกในปี 2565 ตั้งเป้าให้ประชาชน “ลด” และ “เลิก” ใช้ถุงพลาสติกจำพวกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หวังลดจำนวนขยะพลาสติกที่กำลังทะลักล้นอยู่ทุกพื้นที่
และล่าสุดเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single - use plastics) เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อสงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการลดขยะในอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มีโทษปรับสูงสุด 100,000 บาท เริ่มแล้วตั้งแต่ 6 เม.ย. 65 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ปมแบนขยะพลาสติกกลายเป็นประเด็นดังสุดร้อนแรงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ“ถุงพลาสติก” เป็นเหตุให้เกิดการปะทะคารมณ์ระหว่างสองรัฐมนตรี คือ “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกกรณ์ ขณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำลังจะพิจารณา เรื่อง การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่จะสิ้นสุดลง โดยมาตรการดังกล่าวก็เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ ขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ไปในตัว
มนัญญา กล่าวแสดงความเห็นต่อนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติกทำนองว่า ในช่วงที่ผ่านมาร้านค้าไม่ให้ถุงพลาสติกกับประชาชนที่มาซื้อของ แต่กลับเอามาขาย ทำแบบนี้นอกจากจะไม่ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก แล้วยังเป็นการเอาเปรียบประชาชน จึงขอให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ผลักดันนโยบายช่วยดูด้วยว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
ขณะที่วราวุธตอบโต้ทันทีความว่า ไม่เกี่ยวกับกระทรวงทรัพย์ เพราะดูแค่นโยบายลดการใช้พลาสติก ส่วนการขายเป็นเรื่องของร้านค้า ขออย่าพูดพาดพิง อย่าพูดเพื่อเอามัน ซึ่งมนัญญาก็สวนกลับทันทีว่า การพูดแบบนี้ไม่รับผิดชอบ
เปิดศึกปะทะคารมณ์ชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร จนกระทั่ง “นายกฯ ลุงตู่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมฯ ไล่ให้สองรัฐมนตรีไปเถียงกันข้างนอก
และต้องยอมรับว่าประเด็นเรื่องที่ร้านค้างดให้ถุงพลาสติกแก่ประชาชนที่มาซื้อของ แต่กลับจำหน่ายเป็นทางเลือกแทนนั้น เอาเข้าจริงนอกจากไม่ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก ยังมองได้ว่าเป็นการผลักภาระให้ประชาชนไม่ผิดเพี้ยนไปจากข้อคิดเห็นของรมช.เกษตรและสหกรณ์
สำหรับ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573 ระบุให้มีการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ชนิด ภายในปี 2565 เพื่อใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ (1) ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน (2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร (3) แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ (4) หลอดพลาสติก รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำพลาสติกกลับมารีไซเคิล ได้แก่ (1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว (2) บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (3) ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) (4) ฝาขวด (5) แก้วพลาสติก (6) ถาด/กล่องอาหารและ (7) ช้อน/ส้อม/มีด กลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งตั้งแต่ช่วงปี 2563 รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ให้งดแจกถุงพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) เพื่อสร้างการรับรู้แก่สาธารณะตื่นตัวต่อปัญหาขยะพลาสติก
อย่างไรก็ตาม กรณีศึกษานโยบายงดแจกถุงพลาสติกของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดย รีเบคกา เทย์เลอร์ (Rebecca Taylor) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย พบว่าผลกระทบการดำเนินนโยบายด้านถุงพลาสติกของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ประกาศห้ามใช้อย่างถาวรในช่วงปลาย ปี 2559 โดยการห้ามใช้อย่างถาวรทำให้ปริมาณขยะพลาสติกลดลงทันที 18 ล้านกิโลกรัม แต่กลับไปเพิ่มยอดขายถุงดำใส่ขยะซึ่งรวมๆ แล้วคิดเป็นราว 30 เปอร์เซ็นต์ของขยะพลาสติกที่ลดได้ อีกทั้งยังเพิ่มขยะจากถุงกระดาษราว 36 ล้านตันต่อปี
การจัดการปัญหาขยะพลาสติกเป็นเรื่องที่ท้าทาย แม้จะได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ก็ตาม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการลดปริมาณการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก คาดว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนมาใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ประมาณร้อยละ 10 ต่อปี (68,978 ตัน) ของปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีการผลิตอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 689,785 ตัน ส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN
ขณะที่กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร ได้สนับสนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพ เพื่อการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ลดปริมาณการใช้พลาสติกที่จะกลายเป็นขยะตกค้างที่ย่อยสลายได้ยากอย่างต่อเนื่อง และได้เสนอ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ) โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามประเภทที่กำหนด และได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม มาหักเป็นรายจ่ายได้เพิ่มอีกเป็นจำนวนร้อยละ 25 สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
โดยล่าสุดที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ จากเดิมที่สิ้นสุดลงเมื่อ 31 ธ.ค. 2564 ออกไปจนถึง 31 ธ.ค. 2567 ทั้งนี้ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าแม้มาตรการทางภาษีนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในปี 2565 - 2567 ประมาณปีละ 673 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้และลดงบประมาณภาครัฐในการกำจัดขยะพลาสติกตกค้าง
สำหรับตลาดพลาสติกแบบย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegrable) นั้นกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในประเทศที่ตื่นตัวเรื่องมลภาวะพลาสติก อาทิ จีน ญี่ปุ่น อเมริกาฯ หรือ ฝั่งยุโรป ซึ่งมูลค่าการตลาดของพลาสติกชนิดดังกล่าวในปี 2019 อยู่ที่ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2027
ตัวเลขการเติบโตของตลาดพลาสติกแบบย่อยสลายได้ทางชีวภาพอาจเป็นสัญสาณที่ดีของการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก แต่ในเชิงพฤติกรรมสะท้อนว่าผู้บรโภคเพียงเปลี่ยนวัสดุ ดังนั้น การใช้พลาสติกไม่ได้ลดลงหรืออาจมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ อาจสร้างปัญหาใหม่ในการจัดการขยะในอนาคตหากไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ
บทความเรื่อง “ข้อเท็จจริง พลาสติกย่อยสลายได้ในสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ (Environmentally Degradable Plastics: EDP)” โครงการ Chula Zero Waste อธิบายไว้ว่า “พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastic)” หมายถึงการที่พลาสติกแตกออกโดยกิจกรรมของจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิต โดยทั่วไปถ้าจะให้เกิดการย่อยอย่างสมบูรณ์ (น้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ หรือมีเทน และชีวมวล) จะต้องมีสภาวะที่เหมาะสม (เช่น จุลินทรีย์ ความชื้น และความร้อน เป็นต้น) ถ้าพลาสติกนี้ถูกทิ้งในสภาวะแวดล้อมทั่วไป ไม่ว่าจะในหลุมฝังกลบ หรือรั่วไหลลงทะเล ก็จะแตกออกเป็นชิ้นเล็กได้และอาจจะเล็กลงไปเป็นไมโครพลาสติกซึ่งจะสะสมในธรรมชาติมากขึ้นและเป็นระยะเวลานานได้
แตกต่างจาก “พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable plastic)” ซึ่งหมายถึงพลาสติกที่สามารถสลายตัวได้เป็นแร่ธาตุและสารประกอบในธรรมชาติ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และชีวมวล พลาสติกชนิดนี้สามารถสลายตัวทางชีวภาพในสภาวะควบคุมที่เหมาะสมในการหมักปุ๋ยระดับอุตสาหกรรมหรือเครื่องหมักปุ๋ยจากเศษอินทรีย์ เมื่อพลาสติกประเภทนี้อยู่ในธรรมชาติปกติก็จะไม่สามารถสลายตัวได้
ดังนั้น พลาสติกที่มีการติดป้าย compostable (โดยนัยยะว่าเป็นพลาสติกที่ควรผ่านมาตรฐานตามข้อกำหนดสากล ISO 17088, EN13432 หรือ ASTM 6400) จะช่วยทำให้การจัดเก็บรวบรวมนำไปจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การนำไปผ่านกระบวนการทำปุ๋ยหมักที่มีแร่ธาตุหรือได้ฮิวมัส (humus) สามารถนำไปปลูกพืชต่อไป ในขณะที่พลาสติกที่ติดป้าย biodegradable จะไม่สามารถบอกถึงการนำไปกำจัดหรือจัดการได้
รายงานของกรีนพีซ เอเชียตะวันออก ระบุว่าการผลิตพลาสติกชีวภาพที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษพลาสติกในประเทศจีนได้ ขณะเดียวกัน ถ้าหากการผลิตพลาสติกชีวภาพยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ภายในปี 2568 อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของจีนสร้างขยะพลาสติกชีวภาพประมาณ 5 ล้านตันต่อปี
Dr.Molly Zhongnan Jia นักวิจัยพลาสติก กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่าการเปลี่ยนจากพลาสติกประเภทหนึ่งไปเป็นพลาสติกอีกประเภทหนึ่งไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษพลาสติกที่เรากำลังเผชิญได้ เพราะพลาสติกชีวภาพส่วนใหญ่ต้องการอุณหภูมิและความชื้นที่เฉพาะเจาะจงในการย่อยสลาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่มีในธรรมชาติ หากไม่มีสภาพแวดล้อมจำลองแบบการหมักที่ควบคุมได้ พลาสติกชีวภาพส่วนใหญ่จะจบลง ที่หลุมฝังกลบ หรือที่แย่กว่านั้นคือเล็ดรอดไปสู่แม่น้ำและมหาสมุทร
ทั้งนี้ พลาสติกชีวภาพส่วนใหญ่จะแตกตัวภายใน 6 เดือน ภายใต้สภาพแวดล้อมจำลองของการหมัก โดยต้องมีอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส และปริมาณความชื้นภายใต้การควบคุม ซึ่งอย่างไรก็ตามระบบการจัดการขยะพลาสติกชีวภาพของจีนยังมีไม่มากนัก ดังนั้น พลาสติกชีวภาพจึงมักถูกทิ้งที่หลุมฝังกลบ ซึ่งภายใต้สภาพแวดล้อม (อุณหภูมิและความชื้น) ของหลุมฝังกลบ พลาสติกชีวภาพสามารถอยู่ได้นานเกิน 6 เดือน หรือนานกว่านั้น
ดังนั้น เรื่องการจัดการขยะพลาสติกชีวภาพเป็นเรื่องที่รัฐต้องให้ความสำคัญ ต้องมีการส่งเสริมการจัดการขยะ เพราะคำว่าพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ไม่ได้หมายความย่อยสลายที่ไหนก็ได้ ฉะนั้น หากไม่มีโครงสร้างระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ พลาสติกเหล่านี้สร้างปัญหาแน่นอน