xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สมัคร “ผู้ว่าฯ กทม.” คึกคัก ยกที่ 1 “กระแส” ยังนำ “นโยบาย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – ระฆังยกแรกเริ่มอย่างเป็นทางการ

สนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา ที่มีการเปิดรับสมัครเป็นวันแรกไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค.65

บรรยากาศทั้งที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง และที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา สถานที่รับสมัครทั้ง 2 เป็นไปอย่างคึกคักไม่แพ้กัน หลังจากห่างหายการเลือกตั้งในระดับนี้กันมานานนับสิบปี

โดยที่ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ปรากฎว่า 4 ทีมผู้สมัครนายกเมืองพัทยาและสมาชิกเมืองพัทยา ที่เปิดตัวกันไปก่อนหน้านี้มากันอย่างพร้อมเพรียง โดยผลการจับสลากเบอร์ปรากฎว่า ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ จากกลุ่มเรารักพัทยา บุตรชาย สันต์ศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ อดีต ส.ส.ชลบุรี 6 สมัย ที่มี “เสี่ยแป๊ะ” สนธยา คุณปลื้ม บ้านใหญ่แมืองชลบุรีให้การสนับสนุน ได้หมายเลข 1

ขณะที่ ศักดิ์ชัย แตงฮ่อ อดีตนายอำเภอบางละมุง และอดีตรองอธิบดีกรมการปกครอง ที่ลงในนามอิสระ ได้หมายเลข 2, กิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย แกนนำกลุ่มพัทยาฟิวเจอร์ หรือคณะก้าวหน้า ที่มี “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าพามาสมัครด้วยตัวเอง ได้หมายเลข 3 และ สินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาทร น้องชาย นิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร อดีตนายกเมืองพัทยา ลงในนามกลุ่มพัทยาร่วมใจ ได้หมายเลข 4

ตัดกลับมาที่ กทม.ที่ต้องถือว่าคึกคักกว่าทั้งในแง่พื้นที่ยุทธศาสตร์ทางการเมือง และยังมีเก้าอี้ ส.ก.ให้ชิงชัยถึง 50 เขตด้วยกัน ผู้สมัครต่างงัดกิมมิกออกมาชิงความสนใจกันเต็มเหนี่ยว ตั้งแต่วิธีการเดินทางที่มีทั้งจักรยาน รถเมล์ รถตุ๊กตุ๊ก กระทั่งอินเทรนด์ใช้รถไฟฟ้า (EV) ก็มี ไปกระทั่งสีสันจากกองเชียร์ที่มากันอย่างล้นหลาม

สำหรับหมายเลข “ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.” ในวันแรก ซึ่งมีผู้มาสมัครก่อนเวลาเปิดรับสมัคร จำนวน 14 คน ทำให้ต้องจับสลากปรากฎว่า “เฮียโรจน์” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.ฝีปากกล้า จากพรรคก้าวไกล จับได้เบอร์ 1, “ผู้พันปราง” พ.ท.หญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล บุตรสาว สุขวิช รังสิตพล อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ลงในนามอิสระได้เบอร์ 2, “เสี่ยจั้ม” สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีตแกนนำ กปปส. ลงในนามอิสระได้เบอร์ 3, “พี่เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดี สจล. สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้เบอร์ 4, วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครอิสระ ได้เบอร์ 5

“บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯกทม. ที่ลงในนามอิสระ ได้เบอร์ 6, “เจ๊รส” รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ได้เบอร์ 7, “จารย์ทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมช.คมนาคม ลงในนามอิสระ ได้เบอร์ 8, “มาดามนิว” วัชรี วรรณศรี ลงในนามอิสระ ได้เบอร์ 9, ศุภชัย ตันติคมน์ อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) ลงในนามอิสระ ได้เบอร์ 10

“ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตโฆษกรัฐบาล (ทักษิณ ชินวัตร) ลงสมัครในนามพรรคไทยสร้างไทย ได้เบอร์ 11, ประยูร ครองยศ อดีตผู้อำนวยการเขต กทม. ที่เคยประกาศลงสมัครในนามพรรคไทยศรีศรีวิไลย์ ก่อนเปลี่ยนมาลงสมัครในนามอิสระ ได้เบอร์ 12, พิศาล กิตติเยาวมาลย์ ลงในนามอิสระ ได้เบอร์ 13 และ ธเนตร วงษา นายกสโมสรไลออน กรุงเทพ วัชรพล ลงในนามอิสระได้เบอร์ 14

นอกจากนี้ยังมีผู้สมัครที่เดินทางมาสมัครเพิ่มเติมอีก 6 ราย ประกอบด้วย พล.อ.ต. ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที นักเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช รุ่นที่ 24 เทียบรุ่นเตรียมทหารรุ่น 17 ลงในนามอิสระได้เบอร์ 1, “สาวจิ๊บ” ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ คนสนิทของ “นายห้างวินท์” วินท์ สุธีรชัย อดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล ลงสมัครในนามกลุ่มใส่ใจ ได้เบอร์ 16 และ “เฮียเทน” อุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย ลงในนามอิสระ ได้เบอร์ 17, สุมนา พันธุ์ไพโรจน์ อดีตหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ลงในนามอิสระ ได้เบอร์ 18, ไกรเดช บุนนาค รองหัวหน้าพรรคประชาไทย ลงในนามอิสระ ได้เบอร์ 19 และ อมรพรรณ อุ่นสุวรรณ ลงในนามอิสระ ได้เบอร์ 20

ขณะที่ผู้สมัคร ส.ก.ในวันแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 327 คนร่วมวงชิงชัย 50 เก้าอี้จาก 50 เขต กทม.

และไม่ว่าใครได้เบอร์อะไร ต่างหามุมดียกเป็น “เลขมงคล” ของตัวเองได้ทุกคน อย่าง “วิโรจน์ ก้าวไกล” ที่มือเฮงจับได้เบอร์ 1 เบอร์ในฝันของผู้ลงสมัคร ก็ปรับเข้ากับสโลแกน “พร้อมชนทุกปัญหา เพื่อคนกรุงเทพฯ” ของตัวเองว่า ในการทำงานต้องการให้ประชาชนเป็นที่หนึ่ง ไม่ใช่เอื้อให้กับนายทุน

ที่ดูจะขัดเขินหน่อย คงเป็นรายของ “หนุ่มจั้ม สกลธี” ที่จับได้เบอร์ 3 ที่ดันไปตรงกับสัญลักษณ์ “สามนิ้ว” ของคณะราษฎรที่จุดยืนคนละขั้วกับกลุ่ม กปปส.ของเขา จนต้องปรับการชู “สามนิ้ว” แบบสัญลักษณ์โอเค และมองในแง่ดีว่า เลขสามหรือ “ทรี” ในภาษาอังกฤษ ปรับเข้ากับชื่อตัวเองได้เป็น “สกลทรี”

ส่วน “พี่เอ้ สุชัชวีร์” จากค่ายประชาธิปัตย์ แม้จะดูไม่แฮปปี้กับเลข 4 ที่ได้ เพราะหลายประเทศถือเป็น “เลขไม่มงคล” แต่ตามหน้าเสื่อก็ต้องบอกว่า ดีใจที่ได้เบอร์ 4 ถือเป็นเลขมงคล เป็นคนทางดับทุกข์อริยสัจ 4 และยังตรงกับเดือนเกิดเดือน 4 และจบสถาบันพระจอมเกล้าฯ ที่ก็เป็นเลข 4 อีก

ขณะที่ “บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน” ที่จับได้เบอร์ 6 ก็ย้อนไปถึงการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. เป็นเวลามากกว่า 5 ปี จึงเป็นนิมิตอันดีที่จะได้ทำงานต่อเป็นปีที่ 6

ยังมีประเภทเลขดี แต่ชูมือสัญลักษณ์ยาก อย่าง “จารย์ทริป ชัชชาติ” ที่ได้เบอร์ 8 บอกว่า เบอร์ 8 เป็นรูปอินฟินิตี้พลังไม่หยุดหย่อน ทุกเลขเป็นเลขดีทั้งหมด

เช่นเดียวกับ “ผู้พันปุ่น ศิธา” ที่จับได้เลขสองตัวเบอร์ 11 ก็บอกว่า หวังไว้ว่าในวันเลือกตั้งเลขหนึ่งจะหายไปตัวนึง เพราะหวังว่าจะได้ที่ 1 พร้อมชูนิ้วสัญลักษณ์เป็นนิ้วโป้งสองข้าง

อย่างไรก็ตาม กูเหมือนการหาเสียงเลือกตั้งในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน โซเชี่ยลมีเดียแพร่หลาย ทำให้ “กระแส-สีสัน” กลายเป็นที่สนใจ และดูจะกลบ “นโยบาย” ที่ควรเป็นสาระสำคัญในการหาเสียงขอคะแนนจากชาว กทม.ไปพอสมควร

ถือโอกาสสำรวจตรวจสอบนโยบายของ “ตัวเต็ง” ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.แต่ละรายว่า ใครเสนออะไรกันไว้บ้าง ไล่เรียงตามหมายเลขประจำตัว เริ่มที่ “วิโรจน์ เบอร์ 1” กับสโลแกน “พร้อมชนทุกปัญหา เพื่อคนกรุงเทพฯ” เพิ่งแถลง 12 นโยบายในธีม “เน้นความเท่าเทียม ลดอิทธิพลกลุ่มทุนใหญ่” ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล ต้นสังกัด ไปเมื่อไม่กี่วันก่อน

โดย 12 นโยบายประกอบด้วย เพิ่มเบี้ยสูงอายุ-คนพิการ, วัคซีนฟรี, ประชาชนร่วมโหวตเลือกงบ-โครงการ, บ้านในเมือง, ยกระดับรถเมล์, ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่, อัปเกรดศูนย์เด็กเล็ก, การศึกษาตอบโจทย์นักเรียน, ลอกท่อ-คลองแทนอุโมงค์ยักษ์, เปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ, ทางเท้าดีเท่ากันทั้งกรุงเทพฯ และเจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ

แต่ที่ดูจะเป็นประเด็นในระบะหลังหลีกไม่พ้นการประกาศทวงคืน “สนามหลวง” ให้เป็นพื้นที่ของประชาชน โดยจะนำรั้วออก-เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกทันทีที่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯกทม. แต่ก็มีเสียงค้านว่า อาจจะกระทบสถานะความเป็น “โบราณสถาน” ของท้องสนามหลวงหรือไม่

ด้าน “สกลธี เบอร์ 3” มาในสโลแกน “กรุงเทพฯดีกว่านี้ได้” โดยได้แถลงนโยบาย 6 ด้าน ประกอบด้วย ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการขนส่ง จราจร ล้อรางเรือ ด้านดิจิทัล ทรานฟอร์มเมชั่น ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และผังเมือง ด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นต่อท้ายทุกก้านว่า “ดีกว่านี้ได้” ไปเมื่อการเปิดตัววันที่ 24 มี.ค.65

ขณะที่ “สุชัชวีร์ เบอร์ 4” ใช้สโลแกน “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” โดยวาง 3 นโยบายเปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพฯ และ 3 นโยบายเปลี่ยนเมือง อาทิ กองทุนเพื่อการจ้างงานชุมชน, คนกรุงเทพฯ ต้องใช้อินเทอร์เน็ตฟรี, หมอมี สาธารณสุขดี ใกล้บ้าน, โรงเรียนดี ใกล้บ้าน, แก้ปัญหาจราจรเบ็ดเสร็จด้วยคอมพิวเตอร์ AI, ขอคืนผิวทางจราจรทำทางเท้าได้มาตรฐานสากล, แก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยแก้มลิงใต้ดิน, โครงการป้องกันน้ำทะเลหนุนแม่น้ำเจ้าพระยา, ประกาศสงครามกับฝุ่นพิษ PM 2.5 และปฏิวัติระบบจัดเก็บขยะ เป็นต้น

ถัดมาที่ “อัศวิน เบอร์ 6” ภายใต้สโลแกน “กรุงเทพฯต้องไปต่อ” ใช้นโยบาย 8 ด้าน ประกอบด้วย นโยบายเมืองป้องกันน้ำท่วม, นโยบายเมืองเดินทางสะดวก, นโยบายเมืองแห่งสุขภาพ, นโยบายเมืองใส่ใจสิ่งแวดล้อม, นโยบายเมืองปลอดภัย, นโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้, นโยบายเมืองดิจิทัล และนโยบายเมืองดูแลคนทุกกลุ่มทุกวัย

ทางด้าน “รสนา เบอร์ 7” ที่ชูสโลแกน “หยุดโกง กรุงเทพฯเปลี่ยนแน่” ที่บ่งบอกถึงแคแรกเตอร์ “อดีต ส.ว.รสนา” ได้เป็นอย่างดี โดยมีการประกาศว่า จะเข้าไป‘สะสาง และล้างบางการทุจริตคอร์รัปชันในอาณาจักรเสาชิงช้า ขณะที่ในด้านการแก้ไขปละพัฒนา ก็ยังชูสโลแกน “กทม.มีทางออกบอกรสนา”

โดยปล่อยชุดนโยบายออกมา อาทิ บำนาญประชาชน 3,000 บาท เริ่มต้นได้ที่ กทม., การไม่ต่อสัมปทานบีทีเอสและลดค่าตั๋วอยู่ที่ 20 บาทตลอดสาย, การแจกฟ้าทะลายโจร และยาไทยฟรีทุกบ้านในช่วงวิกฤตโรคระบาด, กระจายงบประมาณ 50 ล้านบาทต่อเขตให้คนพื้นที่ตัดสินใจแก้ปัญหา, ระบายน้ำท่วม จ้างงานขุดลอก 1,600 คลอง ฟื้นวิถีท่องเที่ยวเวนิสตะวันออก, ตั้งกองทุนหลังคาบ้านโซลาร์เซลล์ประหยัดค่าไฟ 500 บาททุกเดือน, กทม.ต้องปลอดภัยทั้งทางบกและทางน้ำ ติดกล้อง CCTV 500,000 ตัว และเลิกรอคิวนาน ยกระดับ 69 ศูนย์อนามัย กทม.เป็น รพ.24 ชม.

ส่วน “ชัชชาติ เบอร์ 8” ใช้สโลแกน “กรุงเทพฯเมืองน่าอยู่ สำหรับทุกคน” เคยแถลงนโยบายไว้ถึง 200 นโยบาย ที่สามารถขมวดเป็นแนวคิด “กรุงเทพฯ 9 ดี” คือ บริหารจัดการดี, ปลอดภัยดี, สุขภาพดี, สิ่งแวดล้อมดี, เรียนดี, เดินทางดี, โครงสร้างดี, เศรษฐกิจดี และสร้างสรรค์ดี

มาถึง “ศิธา เบอร์ 11” ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการก่อนวันรับสมัครเพียงวันเดียว โดยปล่อยสโลแกนแรกออกมาว่า “ผมจะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯกทม.ไม่เคยทำ” สะท้อนให้เห็นว่าปัญหา กทม.เรื้อรังมาทุกยุคทุกสมัย แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข พร้อมเสนอนโยบาย 3P ประกอบด้วย People สร้างเมืองแห่งโอกาสให้ชาว กทม. ในการจะลงทุนกับเรื่องการศึกษา และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น, Profit สร้างมหานครแห่งความมั่งคั่ง แก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน และ Planet โดยจะสร้างคุณภาพชีวิตคน กทม.อย่างยั่งยืน

ที่ไล่เรียงไว้เป็นเพียงนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.บางรายที่ปล่อยออกมาในช่วงยกแรกเท่านั้น ยังมีเวลาอีกเกือบ 2 เดือนให้ปล่อยของเรียกแต้มกัน เชื่อว่าช่วงโค้งสุดท้าย ผู้สมัครแต่ละรายคงมี “ออกอาวุธ” ออกมาเต็มที่

หากวัดที่ “กระแส” นาทีนี้ในส่วนของแคนดิเดตผู้ว่าฯกทม.ก็ยังเป็น “ชัชชาติ” ที่มีคะแนนนิยมนำในทุกสำนักโพล ทิ้งห่างคู่แข่งอยู่หลายช่วงตัว แต่ก็เบียดบี้สูสีกับกลุ่ม “ยังไม่ตัดสินใจ” อยู่ที่ว่าผู้ตามรายอื่นๆจะทำคะแนนตีตื้นขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน

ปัจจัยก็ไม่พ้นนโยบาย-ความเชื่อมั่นต่อตัวผู้สมัคร โดยมีปัจจัยเสริมอย่างการแข่งขันในสนามผู้สมัคร ส.ก. หรือแม้แต่การเมืองภาพใหญ่ ที่อาจจะมีผลไปถึงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ก็เป็นได้

ต้องไม่ลืมว่าสนามผู้ว่าฯ กทม. เป็น “สังเวียนปราบเซียน” อ่อนไหวต่อ “กระแส” แบบที่ผู้นำมาตลอดทาง มาพลิกแพ้กันนาทีสุดท้ายก็มีให้เห็นมาแล้ว.




กำลังโหลดความคิดเห็น