ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจาก “โกโก้” ถูกดันเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ภาครัฐหนุนปลูกโกโก้ เกษตรกรเริ่มหันมาเพาะปลูกกันมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันเกิดกรณีการตั้งบริษัทหลอกขายต้นพันธุ์โกโก้ โดยไม่ทำตามสัญญารับซื้อ ทำให้โกโก้กำลังจะล้นตลาด รวมทั้ง สถานการณ์ราชาผลไม้ไทย “ทุเรียน” ที่กำลังจะออกสู่ตลาดหลายหมื่นกิโลฯ แต่ปีนี้กลับไร้เงานายทุนชาวจีนติดต่อซื้อเหมาสวนเหมือนกับปีที่ผ่านๆ มา เฉกเช่นเดียวกับ “มะม่วง” ที่มีปัญหาไปในทำนองเดียวกัน ขณะที่ราคา “ปุ๋ย” กลับแพงเอาๆ
ประเด็นแรก ว่าด้วยสถานการณ์ปัญหาของพืช “โกโก้” ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าโกโก้เป็นสินค้าเศรษฐกิจที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแผนส่งเสริมพัฒนาการผลิตและการตลาด ให้เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาดโลกสูง ส่งออกยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ อีกทั้ง เป็นพืชทางเลือกชนิดหนึ่งที่สามารถปลูกเป็นพืชทดแทนและเป็นพืชแซมในสวนผสม เป็นพืชที่ดูแลง่าย เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง และให้ผลผลิตสูง
ย้อนกลับไปช่วงปี 2563 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนการบริหารนโยบายอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และพืชแห่งอนาคต (Future Crop) โดยบูรณาการร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคเกษตรกร พร้อมกับกำหนดให้ “โกโก้เป็นหนึ่งในพืชแห่งอนาคต” มีการนำร่องโดยการส่งเสริมการผลิตโกโก้ และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ.2560 เพื่อคุ้มครองเรื่องการค้าที่เป็นธรรมระหว่างเกษตรกร และภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการแปรรูป การวิจัยพัฒนา และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) เช่น อาหาร อาหารเสริม เครืองสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และอื่นๆ
ทั้งนี้ ก.เกษตรฯ มองว่าโกโก้เป็นพืชแห่งอนาคตเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่มีการพัฒนามากว่า 30 ปี โกโก้เป็นโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ดังนั้น จึงหนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจาการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาสู่พืชแห่งอนาคต ซึ่งมีลงทุนครั้งเดียวอย่างโกโก้ที่มีอายุยาวถึง 60 ปี โดยไม่ต้องใช้แรงงานมาก และผลผลิตออกทุกเดือน
นอกจากนี้ ยังมอบหมายนโยบายกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในการส่งเสริมปลูกโกโก้ เนื่องจากจะมีสวนยางที่มีหมดอายุประมาณ 200,000 ไร่ต่ปี เพื่อเป็นการทดแทนการนำเข้า ซึ่งตัวเลขล่าสุดไทยมีการนำเข้าโกโก้ผง และช็อกโกแลต ปีละ 4 -5 หมื่นตัน มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ตลอดจนมีเป้าหมายที่จะผลักดันประเทศไทยเป็นฮับโกโก้และช็อกโกแลตแห่งอาเซียน และมีการทำเกษตรกรพันธสัญญากับบริษัทโกโก้
และในปีเดียวกันมีเสียงสะท้อนของเกษตรกรในภาคใต้ออกมาเตือนพืชเศรษฐกิจกระแสแรง อย่าง “โกโก้” ว่ามีกลุ่มฉวยโอกาสหลอกขายต้นพันธุ์โกโก้ที่ไม่ได้คุณภาพ มีหลายบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ แต่ไม่ได้จดทะเบียนสายพันธุ์ แสดงความกังวลว่าปลูกแล้วอาจไม่มีตลาดจำหน่าย ปลูกแล้วจะได้ต้นไม่มีคุณภาพ ขณะที่การประชาสัมพันธ์ของรัฐยิ่งทำให้โกโก้เป็นพืชผลที่เกษตรกรมีความตื่นตัวหันมาปลูกกันมากขึ้น
กระทั่ง ปี 2565 มีรายงานข่าวโกโก้พืชเศรษฐกิจที่ถูกจับตามอง กำลังล้นตลาด ขายไม่ออก เกษตรกรถูกหลอกขายต้นพันธุ์ เกิดกรณีบริษัทไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับเกษตรกรไม่รับซื้อผลิตผล กำลังเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
โดยปัญหาดังกล่าวสะท้อนผ่าน “จัน ลั่นทุ่ง” ทางเว็บไซต์ https://www.ejan.co/ เป็นความเดือดร้อนของเกษตรกรในแถบภาคอีสาน ออกมาตัดพ้อว่ารัฐประโคมข่าวโกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจแค่สร้างภาพเท่านั้น สิ่งที่ชาวบ้านเจอคือโดนหลอกขายต้นพันธุ์ เกิดกรณีนายทุนตั้งบริษัทมาเพื่อขายต้นกล้า โดยมีแรงหนุนจากกลุ่มข้าราชการในท้องที่เข้าไปชักชวนส่งเสริมให้ชาวบ้านให้ปลูกโกโก้ โดยให้คำมั่นว่ามีโรงงานรองรับหากมีผลผลิต แต่สุดท้ายโดนทิ้งไว้กลางทาง
สำหรับ “โกโก้” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ ก.เกษตรฯ ดันสุดลิ่มทิ่มประตู สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก.เกษตรฯ จะกอบกู้สถานการณ์อย่างไร เกษตรกรไทยจะลืมตาอ้าปากจากการปลูกโกโก้พืชเศรษฐตัวนี้ได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม โกโก้สามารถนำแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าได้หลากหลาย ประการสำคัญเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องสร้างกลไกผลักดันให้โกโก้เป็นพืชเศรษฐกิจอย่างครบวงจร
ประเด็นต่อมา สถานการณ์ราชาผลไม้ไทย “ทุเรียน” จ่อล้นตลาด เสียงสะท้อนจากเจ้าของสวนทุเรียนในภาคตะวันออก เร็วๆ นี้จะต้องตัดทุเรียนขายสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 20,000 กก. ทว่า ยังไร้เงาพ่อค้าคนกลางชาวจีนที่เข้าติดต่อซื้อเหมาสวนเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่ชาวสวนทุเรียนวิตกกังวลคือ ปัญหาเรื่องการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดจีน
นางบุษบา นาคพิพัฒน์ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก เปิดเผยว่าเกษตรกรมีความกังวลผลกระทบจากนโยบาย Zero Covid ของจีน ซึ่งอาจทำให้การส่งออกไปจีนมีปัญหา โดยต้องเพิ่มช่องตลาดใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ทางด้านผู้ประกอบการพยายามยกระดับโรงคัดบรรจุให้เป็น GMP Plus เพื่อให้จีนมั่นใจ แต่ผู้ส่งออกก็ต้องเตรียมแผนรองรับกรณีที่ไม่สามารถส่งไปจีนได้ ต้องหาตลาดอื่นทดแทน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และลาว พร้อมกับกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมทั้งใช้การขนส่งทางเรือ หรือทางรถไฟ เพื่อระบายผลผลิต
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยอมรับว่าสถานการณ์การส่งออกทุเรียนจากภาคตะวันออกไปยังประเทศจีนในปี 2565 ไม่ดีเหมือนปีก่อนๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยเรื่องผลผลิตทุเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกรายใหญ่ที่ในปี 2565 นี้มีผลผลิตมากถึง 740,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 600,000 ตัน ซึ่งปริมาณผลผลิตที่มีมากอาจก่อให้เกิดปัญหาล้นตลาด และอีกปัจจัยคือปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศจีนประกาศมาตรการปิดเมืองทั้งในเขตเฉิงตู ปักกิ่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยไปจีนที่มากถึงร้อยละ 80 ที่อาจตกค้างเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ปี 2564 ที่ผ่านมา ไทยมีความพยายามทดสอบส่งทุเรียนแช่แข็งไปทางเรือแต่พบว่ามีสินค้าตกค้างอยู่มากกว่า 1,000 ตู้เช่นกัน เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรกาแนวทางรับมือปัญหาทุเรียนล้นตลาด จับมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดตลาดนัดเกษตรเพื่อสนับสนุนให้คนไทยหันมาบริโภคทุเรียนมากขึ้นภายใต้ราคาที่เป็นธรรม เพื่อช่วยระบายผลผลิตของเกษตรกร
สำหรับการแก้วิกฤตทุเรียนไทยของรัฐบาลโดย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่ารัฐบาลได้หารือกับทางจีน โดยขอให้ล้งไทยที่ผ่านกระบวนการอบรมหลักสูตร ล้งปลอดโควิด-19" มี GMP Plus รับรอง สามารถผ่านด่านจีนได้โดยไม่ต้องเปิดทุกตู้ ส่วนการขนส่งบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาวโดยการปิดตู้ที่ประเทศลาว และส่งไปคุนหมิงโดยไม่ต้องแวะตรวจที่ด่านโมฮ่าน เพื่อให้สามารถส่งทุเรียนทางรางได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.2565 รวมทั้ง เสนอให้ด่านมี Green Lane สำหรับผลไม้ไทยเป็นการเฉพาะ
ขณะที่ผลไม้ตัวถัดมาคือ “มะม่วง” ก็ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน โดยปีนี้ราคาม่วงตกต่ำเป็นอย่างมาก ทำให้ชาวสวนต้องประสบกับความยากลำบากเนื่องจากได้รับผลกระทบทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตไม่ดี พอมาปีนี้พอจะได้ผลผลิตบ้างก็มาพบกับปัญหาราคาตกต่ำอีก ขณะที่ผลผลิตมีตำหนิพ่อค้า แม่ค้าคนกลางที่รับซื้อก็ไม่เอา ต้องคัดแยกทิ้ง สวนทางกับราคาข้าวของอุปโภคบริโภคที่แพงไปหมด ทั้งราคาน้ำมันพุ่งสูง ราคาปุ๋ยยา ข้าวสารแพงขึ้นทุกวัน
ยกตัวอย่างเช่นที่ตลาดกลางรับซื้อขายมะม่วง ต.วังยาง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เกษตรกรชาวสวนมะม่วงในพื้น 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สุพรรณบุรี จ.อ่างทอง และ จ.สิงห์บุรี ได้รับความเดือดร้อนหนักหลังจากราคามะม่วงปี 2565 ตกต่ำ ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ โดยทั้งในพื้นที่ 3 จังหวัด ชาวสวนปลูกสวนมะม่วงหลายสายพันธุ์ เช่น เขียวเสวย น้ำดอกไม้ ฟ้าลั่น โชคอนันต์ เดือนเก้า เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ณ ปัจจุบัน มะม่วงเขียวเสวย ราคากิโลละไม่ถึง 10 บาท น้ำดอกไม้ราคากิโลกรัมละไม่ถึง 5 บาท และมะม่วง มันเดือน9 ราคากิโลกรัมละ 1-2 บาท แต่ก็ยังไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ
ด้าน นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางการบริหารจัดการสินค้ามะม่วง ในปี 2565 เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกมากในช่วงเดือน เม.ย. 2565 ในแหล่งผลิตสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ลำพูน สุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี พิจิตร นครราชสีมา กรมได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดในแหล่งผลิต ดำเนินมาตรการกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตโดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการ กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณผลผลิตมะม่วงเป้าหมาย รวม 14,900 ตัน
นอกจากนี้ มีแผนที่จะดำเนินการเปิดจุดจำหน่ายผ่านรถโมบาย การเคหะฯ ห้างท้องถิ่น และนิคมอุตสาหกรรม อย่างต่อเนื่องตลอดฤดูการผลิต โดยมีเป้าหมายรับผลผลิตมะม่วงในช่วงเดือน เม.ย. 2565 ปริมาณไม่น้อยกว่า 8,000 ตัน ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ จะช่วยรักษาเสถียรภาพราคามะม่วงให้อยู่ในเกณฑ์ดีได้ตลอดฤดูการผลิต
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า ความเดือดร้อนของเกษตรกรไทยจะถูกซ้ำเติมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ “ปุ๋ย” มีราคาแพงขึ้น โดยสถานการณ์ราคาขายส่งปุ๋ยเคมีภายในประเทศเดือน มี.ค. 2565 ยังคงปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันแม่ปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญที่เกษตรกรไทยใช้มากในตลาดโลก ได้ปรับขึ้นจากปีก่อนเกิน 100% ได้แก่ ยูเรีย 46-0-0 เพิ่มจากปีก่อน 360 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน แอมโมเนียมซัลเฟต 21-0-0 เพิ่มจากปีก่อน 180 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 400 ดอลลาร์ต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 122% ฟอสเฟต 18-46-0 เพิ่มจากปีก่อน 570 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 1164 ดอลลาร์ต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 104% โพแทสเซียม 0-0-60 ขึ้นจากปีก่อน 256 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 750 ดอลลาร์ต่อตันหรือเพิ่มขึ้น 193%
ที่สำคัญคือ คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงเพาะปลูกของไทย
โดยปุ๋ยยูเรียเป็นผลิตภัณฑ์ของน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ต้องพึ่งพาการนำเข้า ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และราคาอิงกับตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันตลาดโลก โดยไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ 5 ล้านตันต่อปี โดยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1.09 ล้านตัน รองลงมาเป็นซาอุดิอาระเบีย 7.2 แสนตัน รัสเซีย-เบลารุส 7.1 แสนตัน โอมาน 3.67 แสนตัน เกาหลี 3.32 แสนตัน แคนาดา 3.27 แสนตัน
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ที่เป็นผู้ควบคุมราคาขายก็ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยกรมการค้าภายในยอมรับว่า ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นมากถึง 36-49% เมื่อเทียบกับปี 64 หรือเกือบ 100% เมื่อเทียบปี 63 จากผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้แหล่งผลิตปุ๋ยเคมีใหญ่ทั้ง 2 แหล่งได้รับผลกระทบจากสงคราม อีกทั้งไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีเกือบ 100% หรือปีละกว่า 5 ล้านตัน โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญคือ ตะวันออกกลาง จีน รัสเซีย แคนาดา ฯลฯ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการหรือกับกับผู้ประกอบการปุ๋ยเคมีของไทย เพื่อพิจารณาสถานการณ์การผลิต และจำหน่าย รวมถึงพิจารณาการปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมีในประเทศตามที่ผู้ค้าร้องขอว่า หากจะอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาขายปุ๋ยเคมี กรมยืนยันว่า จะพิจารณาให้เป็นรายๆ ไป เพราะแต่ละรายมีต้นทุนแตกต่างกัน ไม่ใช่อนุญาตให้ปรับขึ้นเท่ากันหมด หรือให้ปรับขึ้นได้ทุกราย
นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า แม้กระทรวงพาณิชย์ จะอนุญาตให้ปรับราคาและกระตุ้นให้นำเข้าได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถไปแข่งขันสั่งซื้อแม่ปุ๋ยเคมีกลับเข้ามาทันฤดูเพาะปลูกที่กำลังจะเริ่มหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาราคาปุ๋ยก็แพงขึ้นอยู่แล้ว และพอเกิด สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ราคาแม่ปุ๋ยพุ่งขึ้นไปอีก ที่สำคัญหลายประเทศ เช่น จีนก็มีการสั่งห้ามส่งออกปุ๋ย อีกหลายประเทศก็มีการเก็บสต็อกไว้ สำหรับเพิ่มความมั่นคงในการผลิตอาหารภายในประเทศ
ถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ของ “เกษตรกรไทย” ในปีนี้น่าเป็นห่วงจริงๆ.