xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำเก่ากำลังเสื่อม ทว่าผู้นำใหม่ยังไม่เป็นที่นิยม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

การเมืองไทยยุคปัจจุบันอยู่ในภาวะผู้นำเก่าโรยราเสื่อมถอย ความนิยมตกต่ำอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทว่าผู้นำใหม่กลับยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ของผู้นำใหม่ยังอยู่ระหว่างการพิสูจน์ สถานการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่ตลอดระยะ 2 ปี เศษ จากปี 2563 จนถึงปี 2565 ดังเห็นได้จาก มีประชาชนไทยมากถึงหนึ่งในสามที่ระบุเป็นทิศทางเดียวกันในการสำรวจหลายครั้งของนิด้าโพลว่า ยังไม่มีใครเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี

ก่อนเกิดภาวะ “วิกฤตผู้นำ” ในช่วงกลางจนถึงปลายปี 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้นำการเมืองหน้าใหม่ ที่เข้ามาท้าทาย และสามารถสั่นคลอนตำแหน่งผู้นำการเมืองหน้าเก่าอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อย่างชัดเจน เห็นได้จากการสำรวจความนิยมทางการเมืองในปลายปี 2562 ของนิด้าโพล ความนิยมของประชาชนต่อนายธนาธร (31.4%) อยู่เหนือพลเอกประยุทธ์ (23.74%) ถึง 7.66 % ส่วนกลุ่มผู้ที่เห็นว่า ยังหาคนเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีเพียง 17.32% เท่านั้น สถานการณ์เช่น ย่อมสร้างความหวั่นไหวไม่น้อยแก่ชนชั้นนำทางอำนาจในสังคมไทย และนำไปสู่ปฏิบัติการณ์บางอย่างเพื่อยุติความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจเกืดขึ้นกับกลุ่มตนเอง

ในที่สุด ด้วยความมหัศจรรย์พันลึกของการตีความเชื่อมโยงกฎหมายอย่างพิสดารของชนชั้นนำทางอำนาจ พรรคอนาคตใหม่จึงถูกยุบ และนายธนาธรถูกตัดสิทธิทางการเมืองในปี 2563 ทำให้ประชาชนจำนวนมากตกอยู่ในภาวะ “ยังหาคนเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้” ซึ่งจากการสำรวจทะยานขึ้นสูงลิ่วเป็น 44.06 % ขณะที่ผู้นำหน้าเก่าอย่างพลเอกประยุทธ์ คะแนนนิยมกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเป็น 25.47 % การที่สัดส่วนของคนที่ระบุว่า ยังหาคนเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้มากกว่าสัดส่วนความนิยมต่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกือบสองเท่าความหมายว่า ประชาชนจำนวนมากเกือบครึ่งประเทศไม่ยอมรับผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทนนายธนาธร กลับไม่สามารถสร้างความนิยมให้ก้าวทันและสวมแทนนายธนาธรได้ คะแนนนิยมที่เขาได้รับครั้งแรกในฐานะผู้นำการเมืองมีเพียง 3.39 % เท่านั้น หนทางสำหรับการสร้างสถานะการเป็นผู้นำการเมืองของนายพิธา ยังเป็นเส้นทางอันยาวไกล ต้องทุ่มเทและใช้ความพยายามอีกมาก และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จในบริบทการมีโครงสร้างอำนาจที่ซับซ้อนของการเมืองไทย

สถานการณ์ที่ไม่มีผู้นำทางการเมืองอันโดดเด่นและสามารถเกาะกุมใจคนไทยส่วนใหญ่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2563 และ 2564 นั่นคือผู้คนประมาณหนึ่งในสาม หรือ 32 – 37 % คิดว่า ประเทศไทยยังไร้ผู้เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อยเมื่อย่างเข้าสู่ต้นปี 2565 เมื่อสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า ยังไม่มีผู้เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีลดลงเหลือ 27.62% ผู้คนเปลี่ยนแปลงความคิดมากขึ้น ตามบริบทการเมืองที่กระแสลมของการเลือกตั้งครั้งใหม่กำลังก่อตัว

ความโรยราของพลเอกประยุทธ์ในฐานะผู้นำทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างมิอาจปฏิเสธได้ คะแนนนิยมของเขาลดต่ำลงเรื่อย ๆ ตามเวลาของการอยู่ในตำแหน่ง เมื่อเปรียบเทียบความนิยมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ในเดือนกันยายน 2564 ความนิยมในภาพรวมที่ได้ 17.54 % ถัดมาในเดือนมีนาคม 2565 เหลือเพียง 12.67 % เมื่อเจาะลงไปยังภูมิภาคที่พลเอกประยุทธ์ได้รับความนิยมสูงมากอย่างในภาคใต้ช่วงเวลาเดียวกัน ความนิยมก็ลดลงจาก 35.50 % เหลือเพียง 20.58 % หรือเพียง 6 เดือน ความนิยมของชาวใต้ที่มีต่อพลเอกประยุทธ์ลดลงเกือบ 15 % ลองดูที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่พลเอกประยุทธ์เคยมีคะแนนนิยมอยู่ไม่น้อย ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน จาก 21.69 % เหลือเพียง 12.99 % เท่านั้น

เมื่อพิจารณาช่วงวัย ดังที่ทราบกันว่า ผู้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่วัยเกิน 60 ปีขึ้นไป ทว่าคะแนนนิยมของคนกลุ่มนี้ที่มีต่อพลเอกประยุทธ์ก็เสื่อมถอยลงเช่นเดียวกัน กล่าวคือเมื่อเดือนกันยายนปี 2564 คนกลุ่มนี้ 31.89 % สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ต่อมาในเดือนมีนาคม 2565 กลับพบว่า เหลือเพียง 24.41 % เท่านั้น ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผู้สูงวัยที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ลดลงประมาณ 7 % ทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสความนิยมที่ตกต่ำของพลเอกประยุทธ์ ความนิยมของคู่แข่งสำคัญทางการเมืองกลับมิได้พุ่งทะยานขึ้นมาเหนือกว่าอย่างมีนัยสำคัญประการใด ดังคะแนนนิยมของนายพิธา ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ก็เพิ่มขึ้นจาก 11.05 % เป็น 13.42 % หรือเพิ่มขึ้นเพียง 2.37 % เท่านั้น ยังห่างไกลจากความนิยมที่นายธนาธร เคยได้รับคราวที่เขามีฐานะเป็นคู่แข่งขันทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์มากทีเดียว เช่นเดียวกันกับน.ส. แพทองธาร ชินวัตร “บุคคลยุทธศาสตร์” ในฐานะว่าที่ผู้นำทางการเมืองคนใหม่ของพรรคเพื่อไทย ก็ได้รับความนิยม 12.53 % ซึ่งใกล้เคียงกับนายพิธา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความนิยมต่อผู้นำทางการเมืองในช่วงต้นปี 2565 มีการเปลี่ยนแปลงจากปี 2564 อย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2564 นั้น แม้ว่าคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ตกต่ำลง แต่ก็ยังมีคะแนนนิยมเหนือผู้นำคนอื่น ๆ ค่อนข้างมากทีเดียว แต่เมื่อย่างเข้าปี 2565 คะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์กลับได้น้อยกว่านายพิธา อยู่เล็กน้อย นับว่าเป็นครั้งที่สองที่พลเอกประยุทธ์พ่ายแพ้แก่ผู้นำการเมืองคู่แข่ง ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2562 พ่ายแพ้แก่นายธนาธร และครั้งที่สอง เมื่อต้นปี 2565 พ่ายแพ้แก่นายพิธา และมีความเป็นไปได้สูงว่าในการสำรวจครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายน 2565 ของนิด้าโพล พลเอกประยุทธ์จะพ่ายแพ้ทั้งนายพิธา และน.ส.แพทองธาร หรือ อาจแย่กว่านั้นคือ พ่ายแพ้แก่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ด้วย เพราะเธอได้ 8.22 % ซึ่งตามหลังพลเอกประยุทธ์ไม่มากนัก จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในการสำรวจครั้งต่อไปคุณหญิงสุดารัตน์อาจได้รับความนิยมมากกว่าพลเอกประยุทธ์

ดูเหมือนพลเอกประยุทธ์และบริวารรอบข้างไม่อาจยอมรับสภาพความเป็นจริงนี้ได้ จึงพยายามโต้แย้งผลสำรวจหลายครั้งหลายคราว รวมถึงอาจมีความพยายามหากลุ่มคนมาทำโพลเพื่อให้ได้ตัวเลขที่แตกต่างจากการสำรวจของนิด้าโพล ดังที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งเคยทำให้กับหัวหน้าพรรคตนเอง แต่นั่นเป็นความพยายามหลอกตนเองอย่างสิ้นหวัง รังแต่ทำให้ผู้มีความรู้แอบหัวเราะเชิงดูถูกอยู่ในใจกับผลโพลและระเบียบวิธีการวิจัยอันพิสดารที่เกิดจากการรับจ้างนักการเมือง การทำโพลเหล่านั้นไม่ต่างกับความมหัศจรรย์ทางกฎหมายที่รองนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งเคยกล่าวไว้ ในยามที่ใช้การตีความกฎหมายอย่างพิสดาร ซึ่งแตกต่างจากบรรทัดฐานอันชอบธรรม เพื่อให้ได้ผลตามธงที่ตั้งเอาไว้ล่วงหน้านั่นเอง

การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองของนิด้าโพลแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรับจ้างนักการเมืองที่ทำโดยผู้อาศัยสถานะทางวิชาการกลุ่มหนึ่ง นิด้าโพลมีจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ไม่รับจ้างทำโพลการเมือง เพื่อรักษาความเป็นกลางและความเที่ยงธรรมในการสะท้อนความคิดและความรู้สึกทางการเมืองของประชาชนอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งมีระเบียบวิธีการวิจัยที่แข็งแกร่ง เป็นไปตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด ทั้งในการตั้งคำถามที่ให้ผู้ตอบเลือกอย่างอิสระโดยปราศจากชี้นำ การสุ่มตัวอย่างก็เป็นไปตามหลักวิชา เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างมีขนาดที่เพียงพอและกระจายอย่างเป็นสัดส่วน เพื่อให้สามารถอนุมานเป็นตัวแทนของประชากรจริงได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด และการเลือกหน่วยตัวอย่างในการสอบถาม ก็ใช้หลัก “ความน่าจะเป็น” จากระบบการสุ่มตัวอย่างที่ได้รับการออกแบบโดยนักวิชาการด้านสถิติ

แพทองธาร ชินวัตร

 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ดังนั้น หากใครติดตามการเผยแพร่ผลการสำรวจของนิด้าโพลฉบับที่เป็นทางการ ก็จะพบว่า นิด้าโพลนำเสนอข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจทุกครั้ง เพื่อให้สาธารณะตรวจสอบความน่าเชื่อถืออย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหากใครเข้าไปดูก็จะพบว่า สัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่จำแนกตามภูมิภาค เพศ และอายุ นั้นสอดคล้องกับสัดส่วนของประชากรจริงที่ได้มาจากการสำมะโนประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ด้วยการยึดหลักวิชาการอย่างตรงไปตรงมา ผลการสำรวจความนิยมของของนิด้าโพลจึงเป็นเสมือนกระจกใส ที่ปราศจากฝุ่นละอองปกคลุม ซึ่งทำให้สามารถสะท้อนความเป็นจริงทางเมืองได้อย่างกระจ่างชัด

ที่กล่าวข้างต้นนี้ก็เพื่อสื่อสารแก่บรรดานักการเมือง สื่อมวลชน และประชาชนที่ยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนว่า หากเราต้องการดูความน่าถือของโพลนั้นควรดูในประเด็นใดบ้าง เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและความจริงได้อย่างถูกต้อง อันเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมฐานความรู้ในระบอบประชาธิปไตยยุคศตวรรษที่ 21

ภาพความจริงแห่งความเสื่อมความนิยมของประชาชนที่มีต่อพลเอกประยุทธ์ มาจากหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญคือ การไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ปรากฎออกมาอย่างชัดเจน จนไม่อาจโต้แย้งได้ แม้แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เคยสนับสนุนพลเอกประยุทธ์มาก่อนก็ยังสัมผัสกับความจริงเหล่านี้ได้ หากไม่หลอกตนเอง จนทำให้พวกเขาจำนวนมากต้องเลิกสนับสนุนพลเอกประยุทธ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มนต์มายาที่ถูกร่ายออกมาอย่างซ้ำซากและต่อเนื่องว่า จะสร้างความสุข ความสงบเรียบร้อย และความมั่งคั่งแก่ผู้คนในสังคมได้เสื่อมคลายจนแทบจะหมดสิ้นแล้ว ด้วยผู้คนประสบและประจักษ์กับความจริงที่แตกต่างจากคำอวดโอ้อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

ยุคสมัยแห่งการครองอำนาจทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์และเครือข่ายทางการเมืองของเขากำลังจะจบลง แม้ว่าจะพยายามออกแรงยื้อยุดเพียงไร ก็ไม่อาจหยุดยั้งกระแสความตกต่ำที่เกิดขึ้นได้ อันที่จริง โดยปกติ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ สังคมมักจะมีผู้นำทางการเมืองคนใหม่ที่มีความโดดเด่นปรากฎขึ้นมาแทนผู้นำเก่าที่โรยรา แต่เนื่องจากกว่า สถานการณ์ทางอำนาจที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนของการเมืองไทย ดังนั้น แม้ว่าผู้นำทางการเมืองที่กลุ่มชนชั้นนำสนับสนุนอย่างพลเอกประยุทธ์เสื่อมความนิยมไปแล้วก็ตาม แต่กลุ่มชนชั้นนำกลับยังไม่สามารถแสวงหาบุคคลที่เป็นตัวแทนความเชื่อ ผลประโยชน์ของพวกเขา และมีคุณสมบัติที่จะได้รับความนิยมจากประชาชน ด้วยความอับจนของกลุ่มชนชั้นนำ ทำให้ยังต้องเลือกใช้พลเอกประยุทธ์ต่อไปอย่างเสียไม่ได้

ด้านผู้นำทางการเมืองคนอื่น ๆ แม้ได้รับความนิยมและยอมรับจากประชาชน แต่กลับไม่เป็นที่ต้องการของกลุ่มชนชั้นนำ เพราะเกรงว่าผู้นำการเมืองเหล่านั้นจะสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือบั่นทอนทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคมของพวกเขา ดังนั้น กลุ่มชนชั้นนำจึงมักใช้เครือข่ายอำนาจและวิธีการพิสดารทางกฎหมายทำลายโอกาสทางการเมืองของผู้นำทางการเมืองเหล่านั้นเสียจนหมดสิ้น

สังคมไทยจึงตกอยู่ในสภาวะวิกฤติผู้นำ ซึ่งมีผู้นำทางการเมืองที่ชนชั้นนำทางอำนาจยอมรับ แต่มักไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ มักสร้างผลลัพธ์ที่เลวร้าย ก่อความเดือดร้อนแก่ชีวิตประชาชน ซึ่งผู้คนสามารถรับรู้และสัมผัสได้กันทุกผู้ทุกนาม และท้ายที่สุดก็ถูกปฏิเสธโดยประชาชนส่วนใหญ่ ส่วนผู้นำทางการเมืองที่ประชาชนยอมรับและเริ่มมีความหวัง แต่ชนชั้นนำกลับรังเกียจ ก็จะถูกทำลายโอกาส จนไม่สามารถแสดงบทบาทในเวทีการเมืองที่เป็นทางการได้ กล่าวได้ว่า สังคมไทยยุคนี้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ ผู้นำเก่าโรยราดับสูญ แต่ผู้นำใหม่กลับไม่อาจเดินสู่ความรุ่งเรืองเพื่อทดแทนได้ บรรยากาศของการเมืองไทยจึงดูสลัว ๆ มัวหม่น และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน





กำลังโหลดความคิดเห็น