xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปมเงื่อนของจีนในวิกฤตการณ์ยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 นับแต่ที่เกิดวิกฤตการณ์ยูเครนเรื่อยมา จีนเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกจับตามองจากประชาคมโลกว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป นอกจากการไม่ประกาศคว่ำบาตรหรือประณามรัสเซียดังที่เห็นแล้ว ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะบทบาทของจีนจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะกำหนดทิศทางของวิกฤตการณ์ดังกล่าว ว่าจะจบลงอย่างไรในขณะที่มีความวิตกกันว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 


ดังนั้น การที่สหรัฐอเมริกาและนาโต้ยืนยันที่จะไม่ส่งทหารเข้าไปในยูเครนเพื่อช่วยเหลือยูเครนนั้น นอกจากเกรงว่าวิกฤตการณ์นี้จะขยายตัวมากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังมองได้ว่าจีนอาจเปลี่ยนท่าทีจากที่เป็นอยู่ก็ได้ นั่นคือ เปลี่ยนจากท่าทีที่ไม่ประณามและคว่ำบาตรรัสเซีย มาเป็นเข้ามามีส่วนร่วมในวิกฤตการณ์นี้ด้วยการยืนข้างรัสเซีย หากเป็นเช่นนั้นจริงโลกตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก

แต่การที่จีนไม่ประณามและคว่ำบาตรรัสเซียนั้น จีนให้เหตุผลว่า การกระทำดังกล่าวมิได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ตรงกันข้ามยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการคว่ำบาตรนั้นอาจเป็นการกดดันให้รัสเซียจำต้องเพิ่มปฏิบัติการให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น ซึ่งก็คือ ไม่สามารถเปลี่ยนใจรัสเซียได้เป็นอันขาด เว้นเสียแต่รัสเซียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในวิกฤตการณ์ครั้งนี้เท่านั้น

 แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็เห็นด้วยที่จะให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้ด้วยการเจรจา ทั้งนี้เพราะวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไม่เพียงได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปทั่วโลกอีกด้วย กล่าวอีกอย่างก็คือว่า ถ้าวิกฤตการณ์ครั้งนี้เกิดอยู่ในขอบเขตเฉพาะสองประเทศคือ รัสเซียกับยูเครน โดยไม่ลุกลามหรือส่งผลกระทบไปทั่วโลกแล้ว จีนก็เห็นว่าปัญหานั้นควรให้สองประเทศนั้นแก้ไขกันเอง และไม่ควรที่ใครจะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือแทรกแซง 

การที่จีนมีทัศนะต่อวิกฤตการณ์ดังกล่าวเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่สหรัฐฯ (ซึ่งคงรวมถึงบางประเทศในสหภาพยุโรปด้วย) จะจับตามองมาที่จีน จากเหตุนี้ เราจึงได้เห็นการเจรจาระหว่างสีจิ้นผิงกับโจ ไบเดน ในวันที่ 18 มีนาคม 2022 ผ่านวิดีโอ

ทั้งนี้ควรกล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์ยูเครนนั้น จีนมีนัดเจรจากับสหรัฐฯ อยู่ก่อนแล้วในวันที่ 14 มีนาคม ณ กรุงโรมของประเทศอิตาลี การเจรจาครั้งนี้นัดกันตั้งแต่ปลายปี 2021 และมีวาระในการเจรจาว่าด้วยประเด็นปัญหาไต้หวันและฮ่องกงหรืออื่นๆ เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ยูเครนขึ้นมา ทั้งสองฝ่ายจึงหยิบยกเอาวิกฤตการณ์ยูเครนขึ้นมาเป็นวาระสำคัญของการเจรจาด้วย โดยฝ่ายสหรัฐฯ มีเจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เป็นตัวแทน และฝ่ายจีนมีหยังเจียฉือ (Yang Jiachi) ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศ (Central Foreign Affairs Commission) แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นตัวแทน

การเจรจาครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จตามที่แต่ละฝ่ายคาดหวัง เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีจุดยืนต่อวิกฤตการณ์ยูเครนที่ต่างกันอยู่ก่อนแล้ว การเจรจาครั้งนี้สหรัฐฯ หวังที่จะได้เห็นท่าทีของจีนที่มีมากกว่าการไม่ประณามหรือคว่ำบาตร ซ้ำยังเชื่อว่าจีนยืนอยู่ข้างหรือให้การสนับสนุนรัสเซียในวิกฤตการณ์ครั้งนี้อีกด้วย มิไยที่จีนจะยืนยันท่าทีหรือจุดยืนของตนอย่างไร สหรัฐฯ ก็ยังคงต้องการที่จะให้จีนยืนอยู่ข้างตนให้ได้

ด้วยเหตุนั้น จึงไม่แปลกที่จีนจะมองว่า สหรัฐฯ พยายามที่จะกดดันจีน และเห็นว่าสหรัฐฯ มีท่าทีที่ยโสโอหังในการเจรจาครั้งนี้อย่างมาก การที่จีนมองว่าสหรัฐฯ มีท่าทีที่ยโสโอหังนี้จะสะกิดให้สหรัฐฯ ได้รู้สึกมากน้อยแค่ไหนคงตอบได้ยาก เพราะสหรัฐฯ คุ้นชินกับท่าทีเช่นนี้มานานแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมา

ที่สหรัฐฯ ไม่เคยสำนึกเลยก็คือว่า ก็เพราะความยโสโอหังที่ว่าจึงทำให้สหรัฐฯ ล้มเหลวในการทูตหลายเรื่องอยู่เสมอ และก็ด้วยความยโสโอหังเช่นกัน ที่หากสหรัฐฯ ต้องการอะไรแล้วก็จะต้องได้มันมาก็แต่การใช้กำลังบังคับเอาเท่านั้น การที่สหรัฐฯ ป่าวร้องก้องโลกว่าตนรักสันติภาพจึงเป็นเรื่องที่เหม็นขี้ฟันมาโดยตลอด

แม้การเจรจาที่กรุงโรมจะล้มเหลว แต่การเจรจาระหว่างสีจิ้นผิงกับโจ ไบเดน ก็เกิดขึ้นจนได้ในวันที่ 18 มีนาคม 2022 และก็เช่นเดียวกับการเจรจาก่อนหน้านี้ที่สหรัฐฯ ยังคงต้องการให้จีนเปลี่ยนท่าทีต่อวิกฤตการณ์ยูเครน และแม้จะไม่เห็นท่าทีที่ยโสโอหัง แต่ก็ยังคงกล่าวได้ว่า สหรัฐฯ มีความพยายามที่จะบีบคั้นจีนให้ยืนอยู่ตรงข้ามกับรัสเซียให้ได้

การที่สื่อมวลชนจีนมองว่าสหรัฐฯ มีท่าทีที่ยโสโอหังนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เกินเลย โดยเฉพาะถ้าหากนำเอาเหตุการณ์ความสัมพันธ์จีนกับสหรัฐฯ เมื่อก่อนหน้านี้มาเปรียบเทียบให้เห็น ว่าตั้งยุคที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีอยู่นั้น สหรัฐฯ ได้ทำอะไรกับจีนเอาไว้บ้าง ครั้นมาถึงยุคไบเดน ท่าทีที่มีต่อจีนก็ยังคงไม่ต่างจากทรัมป์ บางทีเราอาจจะเห็นไบเดนทำกับจีนหนักหน่วงยิ่งกว่าทรัมป์ก็เป็นได้ ถ้าหากไม่มีกรณียูเครนมาคั่นกลางเสียก่อน

ด้วยเหตุนี้จึงนับเป็นเรื่องที่น่าขำอย่างยิ่ง ที่ยามเมื่อรังเกียจจีนก็หาเรื่องเล่นงานจีนด้วยข้อหาต่างๆ นานาในแบบชวนตีเยี่ยงนักเลงใหญ่ แต่พออยากจะให้จีนเปลี่ยนท่าทีในวิกฤตการณ์ยูเครนก็หันมาพูดจากึ่งหว่านล้อมกึ่งบีบคั้น ครั้นเห็นจีนยืนยันจุดยืนเดิมของตัวเองก็แสดงความขุ่นเคืองใจ จนเป็นที่มาของความยโสโอหัง

สำหรับในไทยแล้ว ท่าทีที่ยโสโอหังอาจเห็นได้จากที่สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยได้แสดงความไม่พอใจไทยที่มีจุดยืนที่  “เป็นกลาง”  ร่วมกับอาเซียน โดยที่หลังจากนั้นต่อมาทูตของสหภาพยุโรป 25 ประเทศในไทยก็เข้าพบกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย เพื่อแถลงจุดยืนของตนในเรื่องนี้ และขอให้ไทยประณามรัสเซีย แต่ไทยยังคงยืนยันจุดเดิมของตนที่มีร่วมกับอาเซียน

การที่สหรัฐฯ มีความคาดหวังหรือแม้กระทั่งบีบคั้นจีนนั้น ก็เพราะจีนเป็นเพียงมหาอำนาจเดียวที่มีจุดยืนไม่ประณามและไม่คว่ำบาตรรัสเซีย จุดยืนเช่นนี้ของจีนเป็นไปตามหลักนโยบายต่างประเทศจีนที่มีมาตั้งแต่หลังยุคปฏิรูป ค.ศ.1978 และต่อวิกฤตการณ์ยูเครนจีนก็มีท่าทีที่ชัดเจนที่พอสรุปได้ว่า...

 จีนสนับสนุนการเคารพและปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพของทุกประเทศ, จีนสนับสนุนแนวคิดด้านความมั่นคงที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม, จีนให้ความสนใจและติดตามพัฒนาการของปัญหายูเครน, จีนให้การสนับสนุนความพยายามทางการทูตทั้งหมดที่เอื้อต่อการยุติวิกฤตการณ์ในยูเครน, จีนเห็นว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติควรมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหายูเครน 

จะว่าไปแล้วการที่จีนมีท่าทีเช่นนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายในวิกฤตการณ์ยูเครน เหมือนกับที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปไม่ส่งทหารของตนเข้าไปช่วยยูเครน เพราะถ้าหากส่งเข้าไปจริงแล้ว ไม่เพียงสงครามโลกครั้งที่ 3 อาจจะเกิดขึ้นดังที่หลายฝ่ายกังวลเท่านั้น หากยังเป็นสงครามโลกที่จีนจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปน่าจะเดาได้ว่าจีนจะยืนอยู่ข้างใคร

ส่วนที่ว่าท่าทีของจีนเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายนั้น ก็เพราะท่าทีของจีนแสดงอยู่นั้นจะว่าไปแล้วก็ไม่ได้เข้าข้างรัสเซีย ถึงแม้ทั้งสองจะมีความสัมพันธ์ที่ดีก็ตาม แต่จีนก็ไม่ได้เข้าข้างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ถึงแม้ความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐฯ และกับยุโรปบางประเทศจะอยู่ในสภาพที่ไม่สู้ดีนักก็ตาม ในกรณีหลังนี้จะว่าไปแล้วถ้าจีนจะยืนอยู่ข้างรัสเซียก็เป็นที่เข้าใจได้ ถ้าดูจากสิ่งที่สหรัฐฯ ทำกับจีนในหลายปีที่ผ่านมา

 ท่าทีของจีนดังกล่าว ในด้านหนึ่งจึงมีส่วนทำให้วิกฤตการณ์ยูเครนไม่หนักหน่วงไปกว่าที่เห็นในขณะนี้ และการที่จีนไม่ยอมตามการบีบคั้นด้วยความยโสโอหังของสหรัฐฯ ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงนโยบายที่เอาแต่ได้ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ มากขึ้น ว่าตัวเองนั้นเกลียดกลัวจีนอยู่แท้ๆ แต่ก็อยากให้จีนมายืนอยู่ข้างเมื่อเห็นผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้

ท่าทีของจีนต่อวิกฤตการณ์ยูเครนในอีกด้านหนึ่งจึงสะท้อนความเหลวไหลของสหรัฐฯ ไปด้วย 




กำลังโหลดความคิดเห็น