xs
xsm
sm
md
lg

ครอบครัวเพื่อไทยกับปมปัญหาเชิงยุทธศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในระบอบประชาธิปไตย ที่พรรคการเมืองกำหนดเป้าหมายเพื่อยึดครองอำนาจรัฐด้วยการชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาล ยิ่งพรรคการเมืองนั้นเคยมีประสบการณ์ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น เคยจัดตั้งรัฐบาลมาแล้ว และมีศักยภาพเพียงพอ ในทางยุทธศาสตร์แล้วก็ยิ่งเป็นจำเป็นที่พรรคการเมืองนั้นต้องประกาศเป้าหมายการยึดอำนาจรัฐให้สาธารณะทราบอย่างชัดเจน

ความน่าสนใจในการนำเสนอของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2565 ที่จังหวัดอุดรธานี คือการนำเสนอกรอบคิดเชิงยุทธศาสตร์การเมืองที่นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคระบุว่าเป็น นวัตกรรมทางการเมือง นั่นคือ “ยุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทย” เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้คือการชนะเลือกตั้งแบบท่วมท้น ด้วยคะแนนเสียง 14 ล้านคะแนน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลในปี 2566


ความเป็นจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้อย่างหนึ่งคือ พรรคเพื่อไทยมีกลุ่มนักคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่มีประสบการณ์สูง กลุ่มนักยุทธศาสตร์เหล่านี้มีความสามารถสูงในการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทางการเมือง จุดอ่อน และจุดแข็งภายในพรรค เพื่อนำมาผลิตเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่สอดคล้องกับบริบทและทรงพลัง จนนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งหลายครั้งในอดีต อย่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2562 มีการคิด “ยุทธศาสตร์ทวิพรรค” ด้วยการจัดตั้งพรรคไทยรักษาชาติขึ้นมาเป็นพรรคคู่ขนาน เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของระบบเลือกตั้งที่เป็นแบบสัดส่วนผสม หากไม่มีความผิดพลาดอย่างรุนแรง ที่เกิดจากการตัดสินใจของนายทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับการเลือกตัวบุคคลที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเป็นเหตุนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักษาชาติก่อนการเลือกตั้งเสียก่อน ก็มีความเป็นไปได้ว่า ภูมิทัศน์ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 2562 อาจแตกต่างจากปัจจุบัน

ปมปัญหาสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยคือ ด้านหนึ่ง แม้ว่าพรรคเพื่อไทยมีกลุ่มนักคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความเฉียบคม พรั่งพร้อมด้วยทักษะในการวิเคราะห์สังคมการเมืองไทย และสามารถนำเสนอยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ทรงพลัง แต่อีกด้านหนึ่ง กลับมีจุดอ่อนที่อันตราย ซึ่งมักลดทอนพลังของยุทธศาสตร์ และกลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นการบรรลุความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งทำให้เกิดความล้มเหลวอย่างคาดไม่ถึง นั่นคือความปรารถนาและอารมณ์ความรู้สึกของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมักปรากฎและมีอิทธิพลต่อยุทธศาสตร์ในช่วงจังหวะเวลาสำคัญ จนทำให้ยุทธศาสตร์ที่วางมาอย่างดิบดี เกิดการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ และพลิกผันนำไปสู่ความพ่ายแพ้ทางการเมือง ดังตัวอย่าง เรื่องการกำกับให้พรรคเพื่อไทยลงมติเรื่องนิรโทษกรรมตนเอง หรือที่เรียกกันว่า “นิรโทษกรรมสุดซอย” ในปลายปี 2556 หรือ กรณีการเสนอรายชื่อผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคไทยรักษาชาติ ในการเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้น ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยต้องการบรรลุชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ต้องระวังตัวแปรแทรกซ้อนนี้เอาไว้ให้มาก แต่นั่นดูเหมือนเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะอิทธิพลของตัวแปรนี้ต่อพรรคเพื่อไทยมีสูงยิ่งนัก แม้แต่กลุ่มนักยุทธศาสตร์ของพรรคก็ยังต้องถอยเมื่อเผชิญกับตัวแปรนี้

กลับมาดูยุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทย กล่าวได้ว่า ยุทธศาสตร์นี้มีฐานคิดจากการปรับตัวเพื่อตอบสนองสิ่งแวดล้อมสำคัญที่คุกคามพรรค 2 เรื่อง คือ กฎหมายพรรคการเมือง กับการลดลงของคะแนนนิยมในการเลือกตั้งปี 2562 และสิ่งแวดล้อมที่พรรคมองว่าเป็นโอกาสอีกเรื่องคือ การขยายตัวของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ทางการเมือง ทั้งยังใช้จุดแข็งในเรื่องความนิยมของประชาชนที่มีต่อนายทักษิณ ชินวัตร รวมทั้งจุดอ่อนในเรื่องการแยกตัวของอดีตสมาชิกสำคัญของพรรค และการมีส่วนร่วมค่อนข้างน้อยของประชาชนที่มีต่อพรรค

กฎหมายพรรคการเมืองเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกพรรคได้กำหนดให้ประชาชนที่ประสงค์เป็นสมาชิกพรรคต้องเตรียมหลักฐานเอกสารจำนวนมากในการสมัคร ทั้งยังมีข้อผูกมัดว่าต้องเป็นสมาชิกพรรคได้เพียงพรรคเดียว และที่สำคัญคือต้องจ่ายค่าสมัครเป็นสมาชิกพรรคด้วย ข้อกำหนดของกฎหมายนี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยมองว่า เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสมัครเป็นสมาชิกพรรคซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ การสร้างองค์กรที่ไม่เป็นทางการ ปราศจากข้อจำกัดทางกฎหมายขึ้นมาเป็น “โครงสร้างคู่ขนาน” ในนาม “ครอบครัวเพื่อไทย” จึงเป็นทางออกสำคัญของพรรคเพื่อใช้ในการระดมการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรค

กรณีการลดลงของคะแนนนิยมมีความชัดเจนมากในการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้เพียง 7,881,006 คะแนน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของการเลือกตั้งในปี 2554 ได้ถึง 15,744,190 คะแนน การลดลงของคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเกิดจากหลายปัจจัย อย่างแรกคือการส่งตัวบุคคลไม่ครบทุกเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากการแบ่งพื้นที่เขตเลือกตั้งให้แก่พรรคไทยรักษาชาติ อย่างที่สอง การเข้ามาของคู่แข่งหน้าใหม่ที่ทรงพลังอย่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังประชารัฐช่วงชิงคะแนนนิยมในกลุ่มเกษตรกรและชนชั้นกลางระดับล่าง ส่วนพรรคอนาคตใหม่ช่วงชิงคะแนนกลุ่มเยาวชน และชนชั้นกลางระดับพนักงานองค์การภาคเอกชน และบางส่วนก็ยังถูกพรรคคู่แข่งเดิม อย่างพรรคภูมิใจไทยช่วงชิงอีกด้วย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

จุดแข็งที่ถูกใช้เป็นฐานของการสร้างยุทธศาสตร์คือ ความนิยมของประชาชนที่มีต่อนายทักษิณ ชินวัตร ในประเด็นนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า จวบจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีประชาชนจำนวนมากหลายล้านคนที่มีความนิยมและเชื่อมั่นในความคิดเชิงนโยบายและการบริหารเศรษฐกิจของนายทักษิณ ชินวัตร และยิ่งเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน อันเกิดจากความด้อยประสิทธิภาพในการบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความคิดเชิงเปรียบเทียบกับมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเสนอ “บุคคลยุทธศาสตร์” ที่มีความเชื่อมโยงเชิงสายเลือดกับนายทักษิณ อันได้แก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็น “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” เพื่อส่งสารและสัญญาณอย่างเข้มข้นและชัดเจนให้แก่ผู้ที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยว่า ในการเลือกตั้งคราวหน้าตระกูลชินวัตรทุ่มสุดตัว

กลุ่มนักยุทธศาสตร์ของพรรคคงประเมินว่า “บุคคลยุทธศาสตร์” จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ที่เคยสนับสนุนพรรค และดึงคะแนนนิยมที่สูญเสียกลับคืนมาได้ อย่างไรก็ตาม การเลือก น.ส. แพทองธาร เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แม้มีจุดแข็งในเรื่องการเชื่อมโยงเชิงสายเลือด แต่การมีอายุน้อยและความอ่อนอาวุโสทางการเมืองเป็นจุดอ่อนที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะไม่สอดคล้องกับฐานคิดเชิงวัฒนธรมของครอบครัวในสังคมไทย ซึ่งยึดถือหลักอาวุโส หรือบุคคลที่มีอาวุโสสูงควรเป็นหัวหน้าครอบครัว

สำหรับจุดอ่อนเรื่อง การแยกตัวของอดีตสมาชิกหลักของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมือง ยุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทยอาจไม่มีผลทางตรงอะไรมากนักในการดึงกลุ่มคนเหล่านี้กลับมา เพราะการดึงนักการเมืองกลับมามีหลายปัจจัยประกอบกัน แต่อาจส่งผลทางอ้อมอยู่บ้าง หากยุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทยได้รับการตอบรับจากประชาชน และกลายเป็นกระแสที่เอื้อต่อชนะการเลือกตั้งแบบท่วมท้น หากสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า จะทำให้อดีตนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่ไปสังกัดพรรคอื่น ๆ หวนกลับคืนมายังพรรคเพื่อไทย

ในอดีตพรรคเพื่อไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนมากนัก ในยามรุ่งเรือง แม้พรรคได้รับชัยชนะด้วยคะแนนนิยมสูงมาก แต่กลับจัดตั้งสาขาพรรคเพียงไม่กี่แห่งและจำนวนสมาชิกก็ไม่ได้สัดส่วนกับคะแนนนิยมที่พรรคได้รับ ประชาชนในสายตาของแกนนำพรรคจึงถูกตีความว่า เป็นเพียงเครื่องมือของการผลิตและรองรับนโยบายประชานิยม เป็นฐานเสียงในยามเลือกตั้ง และเป็นกลไกในการรักษาอำนาจในยามพรรคประสบวิกฤติทางการเมือง ดังนั้นยุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทยจึงได้รับการสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้กล่าวว่า ครอบครัวเพื่อไทยเป็นเสมือนกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชน และทลายกำแพงที่เป็นผลพวงจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนกับพรรคการเมืองเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งยังเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความอบอุ่น ความใกล้ชิด ความผูกพันของประชาชนที่มีต่อพรรคเพื่อไทย

สิ่งที่น่าพิจารณาอย่างหนึ่งนั่นคือ หากยุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นอดีตผู้เคยสนับสนุนพรรคมาก่อน และต้องการระดมกลุ่มคนเหล่านั้นให้กลับคืนมาสู่บ้านใหญ่หลังเดิม ในแง่นี้ “ชื่อของยุทธศาสตร์” อาจสอดคล้องกับลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย แต่กลับมีเป็นปมปัญหาคือ “บุคคลยุทธศาสตร์” ที่ถูกตั้งเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งคือ น.ส. แพทองธาร เธอมีจุดแข็งที่เป็น “ทายาท” ของอดีตหัวหน้าครอบครัว แต่กลับมีจุดอ่อนเรื่อง “ความอ่อนอาวุโส” ทั้งทางชีวภาพและทางการเมือง ซึ่งเป็นความอิหลักอิเหลื่อในเชิงวัฒนธรรมของสังคมไทย

หากเป้าหมายอีกอย่างของยุทธศาสตร์ครอบครัวคือ การดึงเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นฐานสนับสนุน ในแง่นี้ “ครอบครัวเพื่อไทย” ดูไม่ค่อยสอดคล้องกับค่านิยมและอุดมการณ์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่นัก เพราะคนรุ่นใหม่ส่วนมากมีอุดมการเสรีนิยมทางการเมืองและสังคมเป็นหลัก คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออก และในการเลือกกำหนดชีวิตตนเองของปัจเจกบุคคล รวมทั้งความเสมอภาคทางการเมืองและสังคมที่เน้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแนวราบ การสืบทอดอำนาจเป็นไปตามความสามารถ ขณะที่มโนทัศน์ครอบครัวนั้นเป็นความเชื่อเชิงอนุรักษ์นิยม อยู่ภายใต้ความคิดแบบบิดาเป็นใหญ่ การเชื่อฟังผู้อาวุโส ให้ความสำคัญกับลำดับชั้นของอำนาจ และการสืบทอดอำนาจตามสายตระกูล ดังนั้น คาดว่ายุทธศาสตร์นี้ไม่โดนใจคนรุ่นหนุ่มสาวแต่อย่างใด

ถึงกระนั้น หากถามว่า แม้พรรคเพื่อไทยไม่มียุทธศาสตร์ครอบครัวเพื่อไทยแล้ว จะแพ้การเลือกตั้งหรือเปล่า คำตอบคือ “ไม่แพ้” ในความหมายที่ว่า พรรคยังมีโอกาสได้รับชัยชนะและได้จำนวน ส.ส.มากเป็นลำดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่หากถามว่า หากใช้ยุทธศาสตร์นี้แล้วจะทำให้พรรคเพื่อไทยชนะแบบท่วมท้น จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวดังที่เคยทำในอดีตได้หรือไม่ ผมก็คิดว่า “ไม่ได้” เพราะบริบทการเลือกตั้งครั้งต่อไป แตกต่างจากการเลือกตั้งปี 2554 ค่อนข้างมากทีเดียว

ประเมินในเวลานี้ก็คือ พรรคเพื่อไทยมีโอกาสชนะเป็นลำดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ชนะแบบท่วมท้น อาจเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่เป็นรัฐบาลผสม และหากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้และสามารถรวบรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ได้มากกว่า 375 เสียง ซึ่งชนะ 250 เสียงของสมาชิกวุฒิสภาได้ คุณแพทองธารอาจมีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดของประเทศไทย

แต่ไม่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นไปในลักษณะใด ในทางวิชาการด้านยุทธศาสตร์การเมืองและการเลือกตั้งแล้ว ต้องยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีความสามารถคิดค้นยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่อำนาจได้ทรงพลังและแหลมคม แต่นั่นแหละ พรรคนี้มีจุดอ่อนที่สำคัญคือ ในยามมีอำนาจ ความคิดอันแหลมคมที่เคยใช้เพื่อก้าวสู่อำนาจ มักจะกลายเป็นความคิดที่ “ทื่อ” หรือ “กัดกร่อน” อำนาจตนเองอยู่เสมอ และมักอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ พรรคเพื่อไทย “เก่ง” ในการเข้าสู่อำนาจ แต่ “อ่อน” ในการรักษาอำนาจ นั่นเอง

กล่าวโดยสรุป ความสำเร็จและล้มเหลวของพรรคเพื่อไทยขึ้นอยู่กับพลวัตของ “ความปรารถนาและอารมณ์ของผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค” กับ “ความมีเหตุผลของกลุ่มนักยุทธศาสตร์” ว่าอย่างใดจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคมากกว่ากัน




กำลังโหลดความคิดเห็น