ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่ไม่สิ้นสุด คราวนี้มาถึงคิวไฟเขียวนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก นำร่อง 11 โรงงาน โดย “เครือซีพี” พร้อมปักธงทวงแชมป์เบอร์หนึ่ง ดันหุ้น CPF-GFPT ดีดรับข่าวดีคึกคัก ส่วน ททท. ฝันดึงดูดนักท่องเที่ยวมาทัวร์ไทยทะลุ 2 แสนคนในปีนี้ ขณะที่แรงงานไทยสนใจไปซาอุฯยังแค่พันกว่าคน
นับเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่สินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากประเทศไทย ถูกทางการซาอุฯ ระงับและห้ามการนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2548 หลังจากซาอุฯ ลดระดับความสัมพันธ์กับไทยจากปมคดีเพชรซาอุฯและอีกหลายคดี กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะไปเยือนซาอุฯ เมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 ในรอบ 30 ปี เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้านการทูตและความร่วมมือในทุกด้าน นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา นายสธน เกษมสันต์ ณ อยุธยา อุปทูตสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด และ นายอภิชาติ ประเสริฐสุด ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ เข้าพบ ผู้บริหารสำนักงานอาหารและยาของซาอุดิอาระเบีย (SFDA) Mr. Sami Saad N. Al Sager, Vice President for Operations Sector เพื่อหารือเรื่องการยกเลิกห้ามนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากประเทศไทย โดยผลการหารือประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อ SFDA แจ้งว่าจะยกเลิกการห้ามนำเข้าตามที่ไทยร้องขอโดยให้มีผลทันที
ก่อนหน้านี้ ฝ่ายไทยโดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามและส่งเอกสาร Minutes of the Health and Technical Requirement for the Import of Poultry Meat and its Products ไปยัง SFDA เพื่อพิจารณาตามกระบวนการ
ทางเว็บไซต์ SFDA ได้เปลี่ยนสถานะการนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากประเทศไทย จาก “Banned” เป็น “Permitted” โดยรายชื่อสถานประกอบการส่งออกที่อนุญาตขึ้นทะเบียน จำนวน 11 แห่ง ประกอบด้วย โรงฆ่าสัตว์ปีก โรงตัดแต่ง และโรงงานแปรรูป มีดังนี้ GFPT PUBLIC COMPANY LIMITED, Bangkok Ranch PUBLIC co, Ltd, Sky food co. ltd, CENTRAL POULTRY PROCESSING co, Ltd, SUN FOOD INTERNATIONAL CO., LTD ส่วนโรงที่ 6-11 โรงงาน ได้แก่ CPF (Thailand) Public Company
ผลงานโบแดงชิ้นนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคุมกระทรวงเกษตรฯ และพาณิชย์ โกยคะแนนไปเต็มๆ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การอนุญาตให้นำเข้าไก่สดถือเป็นข่าวดีมาก ปัจจุบันซาอุฯ นำเข้าไก่ปีละ 5.9 แสนตัน โดยนำเข้าจากบราซิล 70% อีก 30% นำเข้าจากยูเครนและฝรั่งเศส นับจากนี้ไทยจะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดในซาอุดิอาระเบียได้มากขึ้น ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกไก่ในปี 2564 ไทยส่งออกไก่ไปทั่วโลก 912,900 ตัน มีมูลค่าการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปรวม 102,529 ล้านบาท
ขณะที่ “นายกฯลุง” ก็เก็บแต้มเช่นกัน เพราะดอกผลที่งอกเงยมาจากท่านผู้นำยกคณะไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุฯด้วยตนเอง โดยเชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ สามารถผูกสัมพันธ์เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นเมื่อนโยบายเปิดกว้างแล้วทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้ได้ผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ส่วนฟากฝั่งเอกชนที่รับผลดีเน้นๆ เนื้อๆ คือ เครือซีพี โดย นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เผยว่า โรงงานไก่เนื้อของไทย 11 แห่ง ที่องค์การอาหารและยาของซาอุฯ รับรองนั้น เป็นโรงงานแปรรูปไก่เนื้อของซีพีเอฟ จำนวน 5 แห่ง ซึ่งผลิตภัณฑ์ไก่ซีพีเอฟได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ผลิตตามมาตรฐานฮาลาลสากล ซีพีเอฟพร้อมส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่สู่ตลาดซาอุดิอาระเบีย ภายในเดือนมี.ค. 2565 หรือช้าสุดไม่เกินต้นเดือนเม.ย.นี้
สำหรับโรงงานชำแหละไก่ และโรงงานแปรรูปไก่เนื้อของซีพีเอฟ 5 แห่งผ่านการรับรองให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อไปที่ซาอุฯ ประกอบด้วย โรงงานชำแหละไก่มีนบุรี โรงงานแปรรูปไก่เนื้อมีนบุรี 1 โรงงานแปรรูปไก่เนื้อมีนบุรี 2 โรงงานชำแหละไก่สระบุรี และโรงงานแปรรูปไก่เนื้อสระบุรี หลังจากที่หน่วยงานองค์การอาหารและยาได้เดินทางมาตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการผลิตของโรงงานของซีพีเอฟล่วงหน้ามาตั้งแต่ปี 2562 โดยซีพีเอฟ เคยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูปไปยังซาอุฯ เป็นอันดับ 1 ของไทย ก่อนที่มีมาตรการห้ามนำเข้าไก่จากประเทศไทย
ตลาดซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงเพราะมีประชากรมากถึง 35.6 ล้านคน และภายในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ ซาอุฯ ยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนนำเข้าอาหารสูงที่สุดถึง 52.7% โดยมีอัตราการบริโภคเนื้อไก่มากถึง 45 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปีของประชากรทั้งประเทศ
ทันทีที่มีข่าวซาอุฯ เปิดนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกโดยมี 11 โรงงานดังกล่าวข้างต้น หุ้น CPF-GFPT ปรับตัวขึ้นรับข่าวดีทันที โดยเมื่อเวลา 9.59 น. ของวันที่ 15 มี.ค. ราคาหุ้นของ CPF เพิ่มขึ้น 3.35% หรือ ปรับขึ้น 0.80 บาท มาที่ 24.70 บาท มูลค่าซื้อขาย 153.81 ล้านบาท ส่วน GFPT ปรับขึ้น 3.91% หรือ เพิ่มขึ้น 0.50 บาท มาที่ 13.30 บาท มูลค่าซื้อขาย 86.10 ล้านบาท
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนสถานการณ์นำเข้าไก่จากไทยของซาอุฯ จากเดิมที่ “ห้าม” มาเป็น “อนุญาต” ให้นำเข้าได้โดยมีผลทันที แม้จะแสดงถึงโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมไก่ไทย แต่ผลบวกในระยะสั้นน่าจะยังจำกัด เนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันในตลาด ซึ่ง CPF ระบุว่ากรณีนี้จะช่วยเปิดตลาดใหม่ให้กับผู้ผลิตไก่ไทย แต่คู่แข่งที่สำคัญ คือบราซิล ยังมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในแง่ของต้นทุนอาหารสัตว์ที่ต่ำกว่า เนื่องจากบราซิลเป็นผู้ผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพดรายใหญ่
ขณะเดียวกัน บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) ระบุว่าบริษัทไม่น่าจะได้รับผลบวกโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะซาอุดิอาระเบีย นำเข้าเนื้อไก่ดิบเป็นหลัก ในขณะที่สินค้าส่งออกของ GFPT เน้นไปที่ไก่แปรรูป แต่อาจจะมีผลบวกทางอ้อมหากการส่งออกไก่เพิ่มขึ้น จะทำให้อุปทานสำหรับตลาดในประเทศลดลง ซึ่งในกรณีนี้น่าจะทำให้ราคาไก่ในประเทศขยับสูงขึ้น
เคจีไอ ยังคงคำแนะนำซื้อ CPF เนื่องจากคาดว่าราคาเนื้อสัตว์ในประเทศที่ขยับเพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ และ CPF น่าจะฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และปัญหาขาดแคลนแรงงานที่คลี่คลายลง ส่วน GFPT แนะนำให้ถือต่อ โดยประเมินว่า GFPT มีความสามารถจำกัดในการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ลูกค้า ซึ่งผลจากกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงเกินคาด
นอกจากการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกแล้ว นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งข่าวดีว่า รัฐบาลซาอุฯ ประกาศยกเลิกการห้ามบุคคลสัญชาติ “ซาอุดิอาระเบีย” เดินทางเข้าไทย ซึ่งเป็นข้อห้ามที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี รวมทั้งอนุญาตให้บุคคลสัญชาติไทยเดินทางเข้าซาอุฯ ได้
ข้อจำกัดที่ถูกทลายลง โฆษกรัฐบาลเชื่อมั่นว่า ประเทศไทย จะเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยว ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ โดยปีนี้ ททท. ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ มาเที่ยวไทย 200,000 คน เน้นกลุ่มครอบครัว คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน กลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มคู่รักฮันนีมูน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เป็นกลุ่มที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าหลายชาติ และเป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยเดินทางมาไทย
ก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ก็นำคณะผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยไปโรดโชว์ดึงนักท่องเที่ยวซาอุฯ เข้าไทยโดยตั้งเป้าปีนี้สองแสนคน คาดว่าจะสร้างรายได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนฝั่งซาอุฯ ดูเหมือนจะฝันไกลกว่า โดยตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ไว้ที่ 29.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 5.3% ของ GDP และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 55 ล้านคน หรือคิดเป็นมากกว่า 10% ของ GDP ในปี 2573 ตามนโยบาย Saudi Vision 2030 ที่มุ่งพัฒนาซาอุฯ ไปสู่ยุคสมัยใหม่
ซาอุฯ มีประชากรประมาณ 35 ล้านคน พวกเขานิยมเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ ส่วนใหญ่ไปแบบครอบครัวขนาดใหญ่ 7-8 คนขึ้นไป ประเทศที่คนซาอุฯ ไปมากสุด 5 อันดับแรก คือ บาห์เรน ยูเออี กาตาร์ จอร์แดน และตุรกี ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 30 โดยปี 2562 มีชาวซาอุฯ เข้าเที่ยวไทย 36,783 คน คิดเป็นรายได้ 3,220 ล้านบาท แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม คือ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย กระบี่ และพังงา
ดังนั้น เมื่อดูจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของชาวซาอุฯ แล้ว ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในเบอร์ต้นๆ การดึงดูดให้คนซาอุฯมาเที่ยวไทยตามเป้าสองแสนคน ททท.และภาคเอกชนคงต้องออกแรงแข็งขันไม่น้อย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
อีกเรื่องที่เป็นความหวังภายใต้การฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ก็คือ การส่งออกแรงงานไทยไป “ขุดทอง” ที่ซาอุฯ เหมือนเมื่อครั้งอดีต ซึ่งความคืบหน้าในการนำเข้าแรงงานจากไทยนั้น ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า ทางการไทยและซาอุดิอาระเบีย ได้ข้อสรุปร่วมกันถึงการจัดส่งแรงงานไทยไปซาอุฯ แล้ว โดยจะลงนามข้อตกลงด้านแรงงานกันในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เป็นการกระชับความสัมพันธ์และเพิ่มโอกาสของแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานในซาอุฯ
ข้อมูลจากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ (ณ วันที่ 11 มีนาคม 2565) ระบุว่า ขณะนี้มีคนไทยแจ้งความประสงค์ไปทำงานประเทศซาอุฯ โดยลงทะเบียนผ่านระบบ e–Service เว็บไซต์ https://toea.doe.go.th แล้วจำนวน 1,011 คน แบ่งเป็นชาย 670 คน หญิง 341 คน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ การทดสอบฝีมือแรงงาน และการตรวจสอบตำแหน่งที่สมัครว่าตรงตามที่ทางซาอุฯ ต้องการหรือไม่
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเพิ่งนำคณะผู้แทนของซาอุฯ เข้าร่วมประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับการจัดส่งแรงงานของไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม ซาอุดิอาระเบีย เผยว่า ทางซาอุฯต้องการแรงงานในสาขาช่างเชื่อม ช่างเคาะพ่นสี รวมถึง Medical Staff และแรงงานภาคบริการโรงแรมและพ่อครัวหรือเชฟ
ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ไทยมีเป้าหมายส่งแรงงงานในระดับ smart labour คือเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ เพราะค่าแรงของแรงงานระดับไร้ฝีมือ เช่น ช่างก่อสร้าง ค่าจ้างถูก ส่วนแรงงานกึ่งฝีมือ เช่น ช่างเทคนิค ช่างฝีมือในงานก่อสร้างขนาดใหญ่ และงานบริการ-การท่องเที่ยว จะมีรายได้ที่ดีกว่า
ซาอุฯ จ่ายค่าแรงเฉลี่ยสำหรับแรงงานทักษะสูง 127,500 บาท แรงงานกึ่งทักษะ 25,500-76,500 บาท และแรงงานไร้ทักษะ 17,000 บาท ปัจจุบันต้องการแรงงานถึง 8 ล้านคน
นายกานต์ ศรีเปารยะ เจ้าของบริษัทจัดหางานเทคโน-ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ผู้ถือใบอนุญาตจัดหางานคนไทยไปต่างประเทศ และเลขาธิการสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าอัตราเงินเดือนค่าจ้างในซาอุฯ ไม่ได้สูงมาก จึงไม่ค่อยดึงดูดแรงงานไทยเท่าไหร่ อีกทั้งแรงงานไทยมีคู่เปรียบเทียบจากแรงงานอินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ ซึ่งค่าแรงของไทยจะแพงกว่าชาติอื่นประมาณ 30%
ภาพวันวานที่คาราวานแรงงานไทยแห่ไปขายแรงยังซาอุฯ เพื่อสร้างฐานะอาจเป็นเพียงอดีตที่ไม่หวนคืน ยิ่งคนเจนใหม่ที่ออกแบบชีวิตชนิด “เลือกได้” คงไม่ไปทำงานหนักในต่างแดนถ้าเงินเดือนจูงใจไม่สูงมากพอ