ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นประเด็นใหญ่ที่น่าจับตา เมื่อกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เร่งเครื่องจัดทำ “ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank)” เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนตลอดทุกช่วงวัย (Lifelong learning) เพื่อเปิดโอกาสให้คนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในวัยทำงานและวัยเกษียณสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงได้พัฒนาและเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน เพื่อเอาไปต่อยอดในการทำงาน พัฒนาตนเอง ตลอดจนสามารถสะสมไว้เพื่อการศึกษาต่อในระดับต่างๆ ได้
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อธิบายว่าธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติจะทำหน้าที่ในการรับฝากหน่วยกิตของผู้เรียน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ผู้เรียนเป็นใครก็ได้ที่เมื่อไปเรียนในหลักสูตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรประกาศนียบัตร หลักสูตร Non Degree หรือหลักสูตรการฝึกอบรมทั่วไป ก็จะสามารถนำหน่วยกิตมาเก็บสะสมไว้ได้ในธนาคารกลางแห่งนี้
ทั้งนี้ การฝากและสะสมหน่วยกิตจะเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือสถาบันฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองคุณภาพจาก อว. โดยเมื่อสะสมหน่วยกิตได้ถึงระดับหนึ่งจะสามารถได้รับใบประกาศนียบัตรความเชี่ยวชาญ หรือปริญญาบัตร เพื่อแสดงถึงการเป็นผู้มีความรู้และทักษะในด้านต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานและการทำธุรกิจ
อย่างไรก็ดี แนวคิดธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ ของ อว. มาจากการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Academic Credit Bank : Credit Bank) หรือระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนได้เรียนและทำงานไปในเวลาเดียวกัน โดยสามารถนําผลการเรียนรู้ที่ได้จากประสบการณ์การทํางาน อาชีพ หรือการฝึกอบรม ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยที่สะสมไว้มาเทียบโอนกันได้
กล่าวสำหรับการสะสมหน่วยการเรียนรู้เป็นระบบที่แพร่หลายทั่วโลกทั้งในแถบยุโรปและเอเชีย อำนวยความสะดวกและกระตุ้นให้พลเมืองไม่หยุดเรียนรู้ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด
ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา แบ่งการศึกษาเป็น ประถมศึกษา – มัธยมศึกษา, อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยใช้แนวคิดธนาคารหน่วยกิต มีระบบการประเมินผลการเรียนรู้เดิม เทียบโอนประสบการณ์การใช้ชีวิต และการทำงานให้เป็นที่ยอมรับในรูปแบบหน่วยกิตทางการศึกษา มีหน่วยบริหารจัดการและกลไกการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต American Council on Education และ The Council for Adult and Experiential Learning เป็นหน่วยงานหลัก
ออสเตรเลีย ระยะเวลาของการศึกษาขั้นพื้นฐาน 13 ปี แบ่งเป็น ระดับประถมศึกษา เด็กที่มีอายุระหว่าง 6-12 ปี, ระดับมัธยมศึกษา (มัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย), ระดับอุดมศึกษา อย่างมหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรืออาชีวศึกษา และการฝึกอบรม โดยใช้แนวคิดธนาคารหน่วยกิต เน้นการรับรองผลการเรียนรู้เดิม เพื่อให้การรับรองผลการเรียนรู้และทักษะจากการศึกษาในระบบ และจากการทำงานจากประสบการณ์การเรียนรู้ตามหลักสูตร รับรองสมรรถนะของบุคคลโดยยึดโยงกับกรอบคุณวุฒิ ซึ่งมี Department of Education skills and Employment ดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐาน มี Australian Qualification Framework ควบคุมคุณภาพการศึกษา มี Australian skills quality authority ควบคุมการอาชีวศึกษา การฝึกอบรมของสถาบันต่างๆ และมีการควบคุมมาตรฐานโดย College of Technical and Future Education หรือ TAFE เป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐาน
หรือประเทศในแถบเอเชีย สาธารณรัฐเกาหลีหรือประเทศเกาหลีใต้ มีระบบธนาคารหน่วยกิต เรียกว่า Academic Credit Bank System หรือ ACBS เชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และคุณวุฒิวิชาชีพไว้เป็นระบบ มีหน่วยงานเฉพาะที่มาบริหารจัดการและกลไกการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต เป็นต้น
สำหรับการจัดทำธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติของไทยจะเป็นการรองรับการพัฒนากำลังคนตลอดทุกช่วงวัย (Lifelong learning) ตามนโยบายของตนที่ต้องการเปิดโอกาสให้ “คนทุกช่วงวัย” โดยเฉพาะใน “วัยทำงาน” และ “วัยเกษียณ” สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึง ได้พัฒนาและเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นในโลกยุคปัจจุบัน เพื่อเอาไปต่อยอดในการทำงาน พัฒนาตนเอง ตลอดจนสามารถสะสมไว้เพื่อการศึกษาต่อในระดับต่างๆ
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มองว่าการจัดทำธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานและคนทั่วไป มีทางเลือกในการเรียนสิ่งที่สนใจ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาตนเองได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องรอแนวทางที่ชัดเจนจาก อว. เช่น ให้สามารถสะสมหน่วยกิตได้เฉพาะการเรียนในมหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่ง เมื่อเก็บหน่วยกิตได้ครบแล้วก็สามารถรับปริญญาของมหาวิทยาลัยนั้นได้ หรือจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนข้ามมหาวิทยาลัย สามารถสะสมหน่วยกิตมารวมได้ด้วย และเมื่อสะสมหน่วยกิตครบตามที่กำหนด จะสามารถได้รับใบประกาศนียบัตรความเชี่ยวชาญ หรือปริญญาบัตร ซึ่งการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนหลากหลายมหาวิทยาลัย จะยิ่งเปิดโอกาสทางการศึกษามากขึ้นไปอีก การเรียนลักษณะนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนในสิ่งที่ต้องการ เพราะคนในวัยทำงาน หรือบุคคลที่ต้องการหาความรู้เพิ่มเติม จะทราบตนเองอย่างดีว่าตนเองต้องการเรียนอะไร และเหมาะกับการเรียนลักษณะไหน รวมถึงสามารถวางแผนแนวทางการเรียนของตัวได้ ทำให้ผู้เรียนตัดสินใจ และวางแผนจัดการศึกษาของตนได้ ถือเป็นเรื่องที่ดีช่วยเปิดโอกาส และช่วยให้ผู้เรียนมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ด้าน มธ. ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในลักษณะธนาคารหน่วยกิตมาบ้างแล้ว มีผู้สนใจเข้าเรียนจำนวนมาก ล่าสุด ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ผู้เรียนสามารถเข้าไปเรียนหลักสูตรที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดการเรียนการสอนแล้วโอนจำนวนหน่วยกิตที่ผู้เรียนได้เรียน มาเทียบกับหลักสูตรของ มธ. โดยจะดูว่าผู้เรียนได้เรียนวิชาครบถ้วนตามหลักสูตรที่ มธ. กำหนดหรือไม่ หากเรียนครบตามที่กำหนดแล้วก็จะสามารถเรียนจบและรับปริญญาของ มธ. ได้