ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ตามปกติยาขับลมทั่วไปนั้นจะมีข้อควรระวังในเรื่องรสร้อนเกินพอดี ในขณะที่รสขมก็จะมีข้อควรระวังในเรื่องรสเย็นเกินพอดีทำให้เกิดโรคลมจุกเสียดแน่นเช่นกัน แต่เนื่องจากตำรับยานี้มีรสขมและร้อนตาม โดยยาร้อนทั่วไปมักจะมีข้อควรระวังในเรื่องความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตามตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกกลับไม่ร้อนเหมือนยาลมทั่วไป รสขมเย็นถ่วงดุลรสร้อนเพื่อจะทำให้รับประทานในสรรพคุณในรสร้อนได้นานขึ้น ในทางตรงกันข้ามรสร้อนถ่วงความเย็นในรสขมเพื่อให้รับประทานยารสขมได้นานขึ้นเช่นกัน
แต่สิ่งที่แตกต่างจากยาลมทั่วไปก็เพราะว่ายาลม ๓๐๐ จำพวกนี้ยังมีฤทธิ์การขับถ่ายระบายเสมหะคล้ายกับการล้างพิษออก ที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะเป็นเพราะต้องการให้สามารถรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้ได้นานขึ้น ต่อเนื่องเป็นเวลาถึง ๙ เดือนขึ้นไป เพื่อให้ได้มีสรรพคุณเป็น “ยาอายุวัฒนะ” อีกด้วย
อย่างไรก็ตามยังมีคำถามเกี่ยวกับข้อห้าม ข้อควรระวังว่าจะมีอะไรบ้าง และบางส่วนก็จะเป็นอาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสรรพคุณที่ต้องมีวิธีการปรับให้เข้ากับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน โดยเท่าที่สำรวจในการใช้ยาลม ๓๐๐ จำพวกในคลินิกตลอดระยะเวลา ๓ ปี ได้พบคำถามหรือประเด็นที่รวบรวมได้ดังต่อไปนี้
คำถามที่ ๑. สำหรับช่วงเวลาแผลในกระเพาะอาหาร
แม้ยาลม ๓๐๐ จำพวกจะมีรสขมที่ช่วยบรรเทาแผลในกระเพาะอาหาร แต่เนื่องจากกลุ่มยาลมจะมีรสเผ็ดร้อนรวมด้วยซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อแผล ปวดท้อง แสบในกระเพาะอาหารได้ จึง “ไม่ควรรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกในขณะที่ยังมีแผลในกระเพาะอาหารอยู่” ควรรักษาแผลในกระเพาะอาหารให้ทุเลาหายก่อนจึงค่อยเริ่มรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกในภายหลัง
คำถามที่ ๒. สำหรับช่วงเวลาติดเชื้อและมีไข้
แม้ยาลม ๓๐๐ จำพวกจะมีสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ในการต้านจุลชีพ รวมทั้งยังมียารสขมเพื่อรสไข้แต่เนื่องจากยาลม ๓๐๐ จำพวกไม่ใช่ยารสไข้โดยตรง เนื่องด้วยเพราะมีรสเผ็ดร้อนเป็นสัดส่วนที่มีอยู่ไม่น้อย จึง “ไม่ควรรับประทาน” ยาลม ๓๐๐ จำพวกในขณะที่มีไข้ ตัวร้อน แต่จะเป็นยาที่สามารถใช้ได้ดีต่อจากยาที่มีรสขมและเย็น (เช่น ยาฟ้าทะลายโจร) จนทุเลาช่วงมีไข้แล้ว แต่เกิดปัญหาท้องอืด ลมจุกเสียดแน่น
สำหรับคนที่ติดเชื้อและมีไข้อันเป็นเหตุให้ต้องหยุดยาลม ๓๐๐ จำพวก เมื่อหายป่วยแล้ว ก็ให้กลับมารับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวก ก็ให้นับ ๑ เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
คำถามที่ ๓. สำหรับช่วงเวลาการขับถ่ายที่แปรปรวน
ยาลม ๓๐๐ จำพวก มีสรรพคุณทำให้ขับถ่ายระบายพิษเสมหะ (เหมือนทยอยล้างพิษในช่วงแรก) แต่ก็ไม่ใช่การเร่งขับถ่ายรุนแรงโดยตรงเหมือนยาถ่ายทั่วไป ดังนั้นสำหรับบางคนช่วงแรกอาจไม่ขับถ่ายมากแต่มาขับถ่ายมากในภายหลัง หรือสำหรับบางคนที่ธาตุเบาอ่อนไหวง่ายอาจมีการขับถ่ายมากในช่วงแรกและไม่ขับถ่ายมากเหมือนช่วงแรก หรือบางคนธาตุแข็งมากแต่ไม่ขับถ่ายเลย สำหรับความแปรปรวนนี้มีข้อเสนอดังนี้
สำหรับคนที่ขับถ่ายระบายพิษเสมหะและเมือกมันมาก ย่อมสูญเสียเกลือแร่และแร่ธาตุมาก (ไม่ว่าจะเป็นคนธาตุเบาขับถ่ายตั้งแต่ช่วงแรกหรือมาขับถ่ายมากช่วงเวลาต่อมา) ให้รับประทานเกลือแร่ตามทุกครั้ง เมื่อการขับถ่ายเริ่มลดน้อยลงในระดับที่ไม่รุนแรงแล้ว ก็สามารถรับประทานโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวหลังมื้ออาหารเพื่อเพิ่มแบคทีเรียชนิดดี
สำหรับคนที่ขับถ่ายมากในช่วงแรกจนเกินไป แม้รับประทานดื่มเกลือแร่แล้ว ก็ยังอ่อนเพลียมาก ในกรณีนี้ให้ “ลดปริมาณ” การรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกลง อาจจะเหลือครึ่งซองหรือน้อยกว่านั้นในช่วงแรก จนร่างกายปรับสภาพได้จึงค่อยๆ เพิ่มจำนวนมาเป็น ๑ ซองในเวลาต่อมา และในกรณีคนที่กังวลว่าจะรับประทานไม่ครบ ๙ เดือนตามสรรพคุณยาอายุวัฒนะ ก็ให้ขยายเวลาการรับประทานออกไปจนครบจำนวน ๒๗๐ ซองแทน
สำหรับบางคนที่ขับถ่ายมากเกินพอดีจากยาลม ๓๐๐ จำพวก ให้พิจารณาว่าได้รับประทานยา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ทำให้ขับถ่ายอยู่แล้วหรือไม่ เช่น น้ำมันมะพร้าว หากขับถ่ายมากเกินให้ลดปริมาณยา สมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้ลดน้อยลง หรืองดไปก่อน
สำหรับบางคนที่ “ถ่ายบ่อย” ในช่วงแรกในช่วงการรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวก สามารถใช้วิธีการสวนทวารล้างลำไส้ด้วยตัวเอง เพื่อทำให้ลดความถี่การขับถ่ายให้น้อยลง
สำหรับบางคนที่ผ่าน ๒ สัปดาห์แล้วไม่เกิดการขับถ่ายเพิ่มเลย แสดงว่าเป็นคนที่ธาตุแข็งขับถ่ายยาก ท้องผูก หรือเป็นคนที่ตัวใหญ่น้ำหนักตัวมากเทียบกับค่าเฉลี่ยคนไทยทั่วไป สามารถเริ่มต้นด้วยการ “เปลี่ยนน้ำกระสายยา” โดยภายหลังจากผสมน้ำร้อนเพียงเล็กน้อยเพื่อละลายตัวยาแล้ว ให้น้ำส้ม น้ำส้มซ่า หรือน้ำมะนาวผสมน้ำส้ม เพื่อช่วยเสริมการขับถ่าย หากรับประทานแล้วยังไม่ขับถ่ายอีก ให้เสริมด้วยยาถ่าย หรือทดลองเพิ่มการรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกมากขึ้น โดยให้เริ่มจาก ๑ ซองครึ่ง หรือ ๒ ซองต่อหนึ่งวัน (อาจแบ่งช่วงเวลาเช้า ๑ ซองผสมน้ำส้ม และเย็นอีก ๑ ซองผสมน้ำร้อน)
คำถามที่ ๔. สำหรับช่วงเวลาความดันโลหิตที่แปรเปลี่ยนสูงขึ้นหรือต่ำลง
เนื่องจากยาลม ๓๐๐ จำพวกมีรสยาร้อนรวมอยู่ด้วย ดังนั้นอาจทำให้เกิดพลังงานความร้อนเกิดขึ้น และอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ยังไม่เกิดการขับถ่ายหรือก่อนขับลมในทางเดินอาหาร ในทางตรงกันข้ามเมื่อเกิดการขับถ่ายหรือระบายลมออกแล้ว ย่อมทำให้ความดันโลหิตลดลงเช่นเดียวกัน ดังนั้นเรื่องความดันโลหิตเพิ่มหรือลดลงนั้น เป็นสิ่งที่ต้องมีการบริหารจัดการอย่างเข้าใจในตัวสรรพคุณยานี้ด้วย
หากเป็นคนที่มีความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว จะต้องพิจารณาว่ามีอาการท้องผูกในช่วงที่จะเริ่มรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวก หรือไม่
หากเป็นคนที่ท้องผูก ก็ควรจะรับประทานยาถ่ายระบายของเสียก่อนที่จะรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกแล้วให้ดื่มน้ำตามให้มาก ดูการขับถ่ายและวัดความดันโลหิตอย่างต่อเนื่อง หากขับถ่ายมากให้ลดยาขับถ่ายลงแล้วเหลือแต่ยาลม ๓๐๐ จำพวกอย่างเดียว แต่หากขับถ่ายพอรับได้ให้ยึดรูปแบบยาถ่ายควบคู่กับยาลม ๓๐๐ จำพวกต่อไป
หากใครปฏิบัติในแนวทางดังกล่าวแล้ว ยังมีความดันโลหิตสูงขึ้นแบบผิดปกติในระหว่างทานยาลม ๓๐๐ จำพวก ให้ใช้วิธีสวนล้างลำไส้เร่งระบายความร้อนและของเสียในร่างกายผ่านการขับถ่ายให้มากขึ้น
ในทางตรงกันข้ามหากใครขับถ่ายมาก แล้วเกิดความดันโลหิตลดลงจนเป็นความดันโลหิตต่ำอ่อนเพลียมากหรือเกิดอาการวูบให้ดื่มน้ำเกลือแร่ตามไปให้มาก โดยเฉพาะหากใครรับประทานยาลดความดันโลหิตให้ลดการรับระทานยาลดความดันลงไปตามลำดับ ดังนั้นสำหรับคนที่มีปัญหาความดันโลหิตต่ำหรือสูงอยู่แล้ว ก็ควรจะวัดความดันโลหิตเป็นระยะๆ เพื่อบริหารจัดการกับความดันโลหิตให้ถูกต้องต่อไป
คำถามที่ ๕. สำหรับช่วงเวลากรดไหลย้อน ลมตีขึ้น หรือลำไส้แปรปรวน
หากใครรับประทานยาดังกล่าวแล้วมีอาการดังกล่าวข้างต้น ให้ใช้วิธีการรับประทานโดย “แบ่ง ๓ เวลา” ต่อ ๑ ซองใน ๑ วัน โดยใช้น้ำร้อนปกติเป็นตัวทำละลาย คือ เช้า กลางวัน เย็น และผสมน้ำร้อน หากมีลมอั้นในท้อง ควรพบแพทย์แผนไทยหรือแผนไทยประยุกต์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจด นวดโกยท้องเพื่อระบายขับลมเพิ่มเติม เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ในครั้งต่อไปควรรับประทานยาถ่ายมากขึ้น เช่น ยาชำระเมือกมัน ยาธรณีสัณฑฆาต เป็นต้น
คำถามที่ ๖. สำหรับช่วงเวลาปวดศีรษะ
สำหรับบางคนอาจเกิดอาการปวดศีรษะ มักพบปัญหาการขับถ่ายหรือการขับลมไม่มากพอ ดังนั้นจึงมีทางเลือกคือ สวนล้างลำไส้ และใช้แผ่นเจลเย็น หรือผ้าเย็นเช็ดหน้า หน้าผาก และท้ายทอย หรือการกินยาถ่ายมากขึ้น และในครั้งต่อไปยังเกิดอาการซ้ำอีก ให้แบ่งการรับประทานโดย “แบ่ง ๓ เวลา” ต่อ ๑ ซองใน ๑ วัน หากมีลมอั้นในท้อง ควรพบแพทย์แผนไทยหรือแผนไทยประยุกต์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการกดจุด นวดโกยท้องเพื่อระบายขับลมเพิ่มเติม
คำถามที่ ๗. สำหรับช่วงเวลาที่บางคนอาจมีผื่นหรือลมพิษขึ้น
ให้พิจารณาว่าการขึ้นผื่น ลมพิษ ปากบวมนั้นถึงคอและบริเวณใบหน้าหรือไม่ ถ้าขึ้นถึงคอและบริเวณใบหน้า อาจหมายถึงการแพ้สมุนไพรตัวใดตัวหนึ่งหรือหลายตัวรวมกัน ให้หยุดยาลม ๓๐๐ จำพวกเสียก่อน แล้วรับประทานตำรับยาขาว ตามศิลาจารึกวัดโพธิ์ หรือยามะรุม
แต่หากผื่นขึ้นไม่ได้ถึงคอหรือใบหน้า แต่ขึ้นตามผิวของร่างกาย ให้เสริมด้วยการรับประทานยาชำระเมือกมัน หรือยาขับถ่ายอื่นๆ ดื่มน้ำให้มาก เพื่อเร่งระบายของเสียที่ถูกขับออกมาจากร่างกายให้ระบายนำออกไปจากร่างกายให้เร็วขึ้น
ในกรณีเป็นคนที่แพ้อาหารหรือสมุนไพรง่าย อาจจะต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายภาวะสำไส้รั่วหรือไม่ ในช่วงการชะลอหยุดยาลม ๓๐๐ จำพวกไปก่อน ให้รับประทานน้ำมันมะพร้าวเพื่อลดจำนวนยีสต์ในลำไส้ และเมื่อขับถ่ายครั้งใดจากน้ำมันมะพร้าว ก็ให้รับประทานโยเกิร์ต หรือนมเปรี้ยวตามไปทุกครั้ง และรับประทานพืชผักให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มจำนวนแบคทีเรียชนิดดี ลดหรืองดน้ำตาลและอาหารหวานให้น้อยลง และเป็นการกระชับผนังลำไส้เพื่อลดภาวะภูมิแพ้อาหารและสมุนไพรให้น้อยลงอีกด้วย ควบคู่กับการรับประทานยาขาว ตามศิลาจารึกวัดโพธิ์ก่อนนอน เมื่ออาการแพ้อาหารหรือสมุนไพรดีขึ้นแล้ว จึงค่อยกลับมาทดลองรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกใหม่ แต่ให้เริ่มจากรับประทานน้อยๆ ให้ร่างกายคุ้นชิน แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณตามมาตรฐานต่อไป
คำถามที่ ๘. สำหรับสตรีบางคนที่มีการปรับตัวของประจำเดือนเนื่องจากยาลม ๓๐๐ จำพวก อาจเพิ่มการนำโลหิตไปเลี้ยงที่มดลูก และเพิ่มความสามารถในการบีบตัวเพื่อขับประจำเดือนดีขึ้น ดังนั้นสำหรับบางคนอาจมีการเปลี่ยนแปลงวงรอบประจำเดือนใหม่ หรือบางคนอาจมีประจำเดือนกลับมา รวมถึงอาจมีการขับน้ำคาวปลา หรือลดการติดเชื้อในช่องคลอดให้น้อยลง จึงไม่ควรตื่นตระหนกจากอาการดังกล่าว
คำถามที่ ๙. สำหรับบางคนที่มีภาวะร้อนเกิน ปากแห้งแตก
สำหรับบางคนอาจมีภาวะร้อนเกิน เมื่อรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกแล้วเกิดอาการร้อนใด ปากแห้งแตก ในกรณีนี้ให้ดื่มน้ำให้เยอะมากขึ้น และแบ่งยาลม ๓๐๐ จำพวกออกเป็น ๓ มื้อ และอาจผสม “น้ำผึ้ง” เพื่อเพิ่มธาตุดินและน้ำให้มากขึ้นบรรเทาความร้อนลงได้ พักผ่อนให้เพียงพอ หรือบางคนขับถ่ายน้อยจนความร้อนอยู่ภายในมากก็ให้รับประทานยาถ่ายมากขึ้น หรือบางคนถ่ายมากจนสูญเสียน้ำในร่างกายมาก ก็ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ตามลงไปมากขึ้นเช่นกัน
คำถามที่ ๑๐. สำหรับบางคนที่รับประทานร่วมกับน้ำมันมะพร้าว หรือสมุนไพรฤทธิ์ร้อนอื่นๆ
สำหรับบางคนที่ดื่มน้ำมะพร้าวเป็นประจำ หรือรับประทานยาสมุนไพรฤทธิ์ร้อนอื่นๆ การรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกอาจทำให้เกิดภาวะร้อนเกิน หรือ ร้อนใน ในกรณีร้อนเกินให้ดื่มน้ำให้มากขึ้น และลดปริมาณสมุนไพรฤทธิ์ร้อนให้น้อยลง และหากยังร้อนอยู่ให้พิจารณาลดปริมาณน้ำมันมะพร้าวให้ลดลงตามลำดับ
คำถามที่ ๑๑. สำหรับบางคนที่รับประทานร่วมกับสมุนไพรฤทธิ์เย็นเป็นประจำ
หากสมดุลกันก็คงไม่มีปัญหา แต่สำหรับบางคนที่อายุมากแต่รับประทานสมุนไพรฤทธิ์เย็นเป็นประจำ จนเกิดปัญหาไม่มีกำลังในการขับถ่าย หนาวเย็นสะท้านง่าย มือเท้าเย็น ไม่มีแรง การเผาผลาญไม่ดี ในกรณีการรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกแล้วยังอาการไม่ดีขึ้น ให้งดสมุนไพรที่ฤทธิ์เย็นไปก่อน
คำถามที่ ๑๒. สำหรับบางคนที่เป็นโรคเบาหวาน ไขมัน และความดันโลหิต
ตำรับยานี้ช่วยในการย่อยอาหาร ลดน้ำตาล และขับถ่ายระบายพิษ หากผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน ควบบูรณาการไปพร้อมกับการลดหรืองดอาหารกลุ่มแป้งและนำ้ตาล และอาหารผัดทอดกรอบให้น้อยลง และให้คอยวัดความดันโลหิตหรือน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง หากความดันโลหิตลดลง หรือน้ำตาลลดลง ให้ทยอยลดยาให้น้อยลงไปตามลำดับ
คำถามที่ ๑๓. สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ตำรับยานี้ทำให้เกิดการขับถ่ายระบายพิษ และมีสมุนไพรออกฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระและเนื้องอก ตลอดจนสามารถฟื้นฟูยีนได้ ทำให้เจริญอาหาร หากผู้ป่วยโรคมะเร็งมือเท้าเย็น การไหลเวียนไม่ดี ย่อยอาหารได้ยาก หรือนอนติดเตียงและมีเสมหะมาก อย่างใดอย่างหนึ่งสามารถรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกได้ แต่ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทยประยุกต์หรือแพทย์แผนไทยที่เคยมีประสบการณ์ในการใช้ยาลม ๓๐๐ จำพวกกับผู้ป่วยมะเร็งเสียก่อน
คำถามที่ ๑๔. สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ
สำหรับโรคหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งการรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกเป็น ๓ เวลา เพื่อวัดการแปรเปลี่ยนไปในเรื่อความดันโลหิต หากปรับตัวได้แล้วจึงค่อยปรับตามสภาพความเหมาะสมของแต่ละคน ส่วนคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสามารถแบ่งช่วงเวลาในการรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวก ควบคู่ไปกับยาหอมได้ แต่ทั้งนี้ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่มีประสบการณ์เสียก่อน
คำถามที่ ๑๕. สำหรับบางคนที่ปวดกล้ามเนื้อ
ยาลม ๓๐๐ จำพวก แม้จะเป็นยาขับลมในเส้น และทำให้ลดอาการปวดตามกล้ามเนื้อ ลมจุกเสียดแน่น แต่สำหรับบางคนอาจมีปัญหาการเกิดจุดกล้ามเนื้อรัดตัวตามจุดต่างๆ อันเป็นอุปสรรคในการขับลมในเส้น จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการด้วยการกดจุดของการแพทย์แผนไทยประยุกต์ร่วมด้วย
คำถามที่ ๑๖. สำหรับบางคนปวดตามข้อเป็นเก๊าท์
เนื่องจากยาลม ๓๐๐ จำพวก มีสรรพคุณในการขับลมในเส้น จึงย่อมช่วยลดการอักเสบตามข้อต่างๆ ด้วย แต่สำหรับบาลคนอาจมีปัญหาการอักเสบของหลอดเลือดเป็นสมุฏฐานของโรคเดิมอยู่แล้ว จึงควรแก้ที่สาเหตุที่แท้จริงด้วยการ งดอาหารที่ลดอาการอักเสบของหลอดเลือด ได้แก่ แป้ง น้ำตาล ของหวาน และของผัดทอดทั้งหลาย ดื่มน้ำให้มากแล้วดื่มน้ำมันโอเมก้า ๓ ที่ช่วยทำให้ลดการอักเสบของหลอดเลือดและเลือดเหลวตัวลง เช่น น้ำมันปลา น้ำมันลินิน น้ำมันงาขี้ม้อน น้ำมันเมล็ดกัญชงหรือกัญชา และอาจรับประทานสมุนไพรที่ช่วยลดการอักเสบและออกฤทธิ์ขับปัสสาวะ เช่น โกโบ หรือ รากเบอร์ด็อก เป็นต้น และอาจรวมถึงการบูรณาการกดจุดกับแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่มีประสบการณ์เสียก่อน
คำถามที่ ๑๗. ยาลมทานเท่าไหร่กันแน่
หากมีอาการลมจุกเสียดแน่น ยาลม ๓๐๐ จำพวก ก็สามารถรับประทานได้เมื่อมีอาการ ตามคัมภีร์ไกษยระบุสรรพคุณว่าหากรับประทานต่อเนื่องในช่วงไม่เกิน ๑ เดือนแรกจะช่วยแก้โรคทางเสมหะให้บรรเทาลง ระหว่าง ๑ เดือนถึง ๘ เดือนจะเป็นเรื่องการฟื้นฟูความทรงจำและบำรุงสมอง และเมื่อรับประทานได้นานถึง ๙ เดือนจะมีฐานะเป็นยาอายุวัฒนะ หรือบางคนจะรับประทานมากกว่า ๙ เดือนขึ้นไป ก็ไม่มีข้อห้ามใดๆ และไม่ว่าจะรับประทานมากหรือน้อยเพียงใด ตำรับยานี้ก็มีสภาพเป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้สูง
คำถามที่ ๑๘. สำหรับคนที่รับประทานรสขมไม่ได้
เทคนิคหนึ่งคือการผสมน้ำร้อนเพื่อเป็นตัวทำละลายเบื้องต้นแต่เพียงเล็กน้อย ดมกลิ่นแล้วผสมน้ำส้มผสมน้ำมะนาว หรือน้ำส้มซ่า กรดในน้ำส้มทำปฏิกิริยากับรสขมที่พบมากสารอัลคาลอยด์ได้เกลือที่ทำให้ลดความขมลง แต่ความเผ็ดจะโดดเด่นขึ้นอย่างชัดเจน
คำถามที่ ๑๙. ความสัมพันธ์ฟ้าทะลายโจร ยาขาว กับ ยาลม ๓๐๐ จำพวก ในช่วงการเกิดโรคระบาด
ในช่วงการเกิดโรคระบาด สำหรับประชาชนจำนวนมากรับประทานยาฟ้าทะลายโจรเพื่อยับยั้งเชื้อตั้งแต่ยัง “สงสัย” ว่าจะติดเชื้อ แต่ยารสขมเย็นย่อมจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดลมจุกเสียดแน่น จึงควรจะรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกตามไปด้วย ส่วนผู้สูงวัยนั้นก็เหมาะสำหรับการรับประทานทุกวันเป็นประจำในฐานะเป็นการบำรุงธาตุ และเสริมภูมิคุ้มกันผ่านระบบการขับถ่าย ในฐานะมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ส่วนยาขาว ตามศิลาจารึกวัดโพธิ์นั้น ใช้แก้พิษในโลหิตในช่วงการเกิดโรคระบาด สามารถใช้คู่กับยาฟ้าทะลายโจรได้ หรือสามารถใช้บรรเทาอาการแพ้ยาลม ๓๐๐ จำพวกได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งยาฟ้าทะลายโจร และยาขาว เป็นยาเย็นเหมาะในยามที่ติดเชื้อและมีไข้ขึ้นสูง ซึ่งในช่วงเจ็บป่วยมีไข้นี้จึงให้งดยาลม ๓๐๐ จำพวกไปก่อน จนกระทั่ง “ไข้ลง” เป็นปกติแล้ว จึงสามารถกลับใช้ยาลม ๓๐๐ จำพวกมาร่วมบูรณาการในการฟื้นฟูการเคลื่อนไหวในระบบทางเดินอาหารต่อไปได้
คำถามที่ ๒๐. การประยุกต์ใช้ยาลม ๓๐๐ จำพวก รับมือกับการใช้นำ้มันกัญชาและกระท่อมมากเกินพอดี
ด้วยเพราะตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวก เป็นตำรับที่แก้ “ลมกองหยาบ” หรือลมในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ “น้ำมันกัญชา” หรือ “กระท่อม” เป็นยาเดี่ยวนั้น อาจมีผลทำให้เกิดอาการใช้ต่อเนื่องจนเกินพอดีจนเกิดการเคลื่อนไหวในระบบทางเดินอาหารผิดปกติไปหรืออ่อนกำลังลง การใช้ยาลม ๓๐๐ จำพวกจึงเป็นหนึ่งในตำรับที่ช่วยบรรเทาผลข้างเคียงจากการใช้ “น้ำมันกัญชา” หรือการบริโภคกระท่อมเกินพอดีได้
ขอเป็นกำลังใจและอวยพรให้ท่านผู้อ่านที่ตั้งใจจะรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้ ได้ฝ่าฟันอุปสรรคและประสบความสำเร็จได้ตามปรารถนาด้วยเทอญ
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต