xs
xsm
sm
md
lg

ประยุทธ์ในวงล้อมของวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ช่วงนี้ไปไหนใครก็ถามว่า รัฐบาลจะยุบสภาฯ ไหมจะอยู่ครบเทอมไหม ผมตอบว่าน่าจะครบเทอมหรือไม่ก็จะยุบสภาฯ หลังจากประชุมเอเปกไปแล้ว ซึ่งตรงกับที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พูดในวงกินข้าวกับพรรคเล็กที่มูลนิธิป่ารอยต่อ

เหตุผลของผมนั้นเพราะจนถึงขณะนี้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ยังมีมากกว่าฝ่ายค้าน ปัจจุบันมี ส.ส.ทั้งสภาฯ 474 เสียง กึ่งหนึ่ง คือ 237 เสียง เสียงกึ่งหนึ่งคือ 238 แต่ปัจจุบันรัฐบาลมีเสียง 248 เสียง โดยหักกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าออกไป 18 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมี 208 เสียง เท่ากับว่าเกินกึ่งหนึ่งถึง 10 เสียง นอกจากนั้นพล.อ.ประวิตรยังบอกว่า สามารถคุมเสียงของลูกทีมธรรมนัสที่แยกออกไปได้ยกเว้นธรรมนัสคนเดียวที่คุมไม่ได้ ดังนั้นเสียงของรัฐบาลจึงยังเหนือกว่าพรรคฝ่ายค้านมาก

อย่างไรก็ตาม 248 เสียงในฝั่งรัฐบาลนั้นรวมเสียงของพรรคเล็ก 10 กว่าเสียงด้วย แต่พล.อ.ประวิตรก็ตอกย้ำว่าสามารถคุมเสียงพรรคเล็กได้ และตัวเองเป็นคนดูแลเองมาตลอดไม่ใช่ธรรมนัส

ด้วยเหตุนี้แม้จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากพรรคฝ่ายค้านที่จองกฐินไว้แล้วในสมัยเปิดประชุมเดือนพฤษภาคมก็เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะผ่านไปได้

เหตุผลสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เชื่อว่า ทุกพรรคไม่อยากให้ยุบสภาฯ ก็คือ การทำกฎหมายลูกเพื่อเลือกตั้งแบบบัตรสองใบยังไม่แล้วเสร็จ พรรคเพื่อไทยเองก็รอกฎหมายลูกฉบับนี้อยู่ เพราะเชื่อว่าพรรคของตัวเองจะได้เปรียบในการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยก็น่าจะไม่อยากให้ยุบสภาฯ ก่อนที่กฎหมายลูกจะเสร็จ ไม่เช่นนั้นจะเกิดสุญญากาศไม่มีทางออก

และพรรคเล็กสิบกว่าเสียงที่เป็น ส.ส.ปัดเศษก็ไม่น่าจะอยากให้ยุบสภาฯ เร็ว เพราะโอกาสกลับมาเป็น ส.ส.แบบปัดเศษไม่น่าจะมีอีกแล้ว เพราะหลายฝ่ายมองว่า การคิดคะแนนของ กกต.ที่ทำให้ได้ ส.ส.ปัดเศษในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้นมีปัญหา การเขียนกฎหมายลูกครั้งนี้จึงน่าจะปิดจุดโหว่ดังกล่าว ดังนั้นเชื่อว่า ครั้งหน้า ส.ส.พรรคเล็กเหล่านี้ยากจะมีปาฏิหาริย์อีก และส่วนมากน่าจะยุบพรรคไปสังกัดพรรคใหญ่

หากผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ก็เชื่อว่าการพิจารณาร่างงบประมาณ ปี 2566 ก็น่าจะผ่านไปได้ ดังนั้นก็เป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะผ่านอุปสรรคไปได้ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะได้อยู่จนเป็นประธานจัดเอเปก แล้วหลังจากนั้นจะยุบสภาฯ หรือไม่ก็ไม่มีความหมายเพราะเหลืออายุสภาฯ อีกไม่กี่เดือน

แต่ปัญหาและอุปสรรคของพล.อ.ประยุทธ์มีอยู่ก็คือ วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีว่าจะเริ่มและสิ้นสุดลงเมื่อใด ในเดือนสิงหาคมก็น่าจะมีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ เพราะถ้านับจากเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารก็จะครบกำหนดในเดือนสิงหาคม ถึงตรงนี้อนาคตของพล.อ.ประยุทธ์ก็ตกอยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนตัวผมดูเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ที่กำหนดวาระของนายกรัฐมนตรีไว้ 8 ปีที่ผู้ยกร่างเขียนไว้ดังนี้ “การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

ที่สำคัญก็คือ การที่รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 กำหนดไว้นั่นแหละว่า รัฐบาลที่เป็นมาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้นั้นให้เป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย นั่นก็คือ การเป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ 2557 ก็เป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ 2560 เช่นกัน

แต่หากรัฐธรรมนูญ 2560 จะยกเว้นไม่บังคับใช้มาตราไหนก็จะเขียนไว้อย่างใน มาตรา 264 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ สําหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินการตามมาตรา 184 (1)

จะเห็นว่า จะยกเว้นลักษณะต้องห้ามด้านไหนในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 จะเขียนไว้ชัด และถ้าจะไม่บังคับใช้มาตรา 158 วรรค 4 คือ ห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเขียนยกเว้นไว้ในวรรค 2 ของมาตรา 264 เช่นเดียวกับลักษณะต้องห้ามด้านอื่น

ส่วนตัวผมคิดว่า วาระของพล.อ.ประยุทธ์จะครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคมนี้ ถ้าเป็นอย่างที่ผมว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็จะไม่ได้อยู่ถึงเป็นประธานเอเปก ส่วนนายกรัฐมนตรีจะเป็นใครนั้นก็เป็นไปได้ที่จะเลือกตามรายชื่อของพรรคร่วมรัฐบาลที่เหลือหรือใช้มาตรา 272 ซึ่งต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 ของรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีหรือคนนอกซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาเพราะรัฐบาลคุมเสียงของ 250 ส.ว.ได้อยู่แล้ว

ดังนั้นถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อในเดือนสิงหาคม นายกรัฐมนตรีก็อาจจะเป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้มากบารมีก็เป็นไปได้

อย่างไรก็ตามนั่นเป็นการตีความของผมเท่านั้น ในขณะที่มีความเห็นต่างกันว่า น่าจะนับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 หรือเริ่มนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งในปี 2562 ทั้งนี้ก็สุดแล้วแต่ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร

ดังนั้นอนาคตของพล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ในมือของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง ไม่ใช่อยู่ในมือของ ร.อ.ธรรมนัส

ขณะเดียวกันผมคิดว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ผ่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้ อนาคตของพรรคพลังประชารัฐก็จะอยู่ไปได้อีกหนึ่งสมัย แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ผ่าน อนาคตของพรรคพลังประชารัฐก็จะมีปัญหา เพราะมองไม่ออกเลยว่า ถ้าไม่ชูพล.อ.ประยุทธ์ในการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐจะเสนอใครเป็นนายกฯ เพราะเชื่อว่าคนที่เลือกพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ นั้นเลือกที่ตัวบุคคลมากกว่าเลือกที่พรรค

ไม่น่าเชื่อนะครับว่า วันนี้ 3 ป. 3 พลเอก ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารก่อนจะมาเลือกตั้ง ต้องมาเจอกับสถานการณ์ที่ปั่นป่วนโดยร้อยเอกซึ่งเป็นคนที่เคยมีคดีติดตัวอื้อฉาวเคยถูกถอดยศแต่ต่อมารอดพ้นมลทินมาได้ เคยถูกดำนินคดียาเสพติดที่ต่างประเทศ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยชี้ว่า การถูกดำเนินคดีในต่างประเทศนั้นไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเพราะเป็นการกระทำผิดนอกราชอาณาจักร

ช่วงนี้จึงน่าจะเป็นสถานการณ์ตึงเครียดที่พล.อ.ประยุทธ์ประสบมากที่สุดตั้งแต่การยึดอำนาจมา ขณะเดียวกันแรงกดดันของธรรมนัสก็ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องหันไปสร้างสัมพันธ์กับบรรดา ส.ส.และพรรคเล็กด้วยตัวเองมากขึ้น หลังจากก่อนหน้าฝากความหวังไว้กับพล.อ.ประวิตร กระทั่งเกือบจะถูกธรรมนัสคว่ำกลางสภาฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนพล.อ.ประยุทธ์ต้องวิ่งไปเคลียร์กับพล.อ.ประวิตรจนรอดพ้นมาได้ และนำไปสู่การปลดธรรมนัสในที่สุด

แต่เมื่อดูการแสดงออกของธรรมนัสก็ใช่ว่าจะยอมง่ายๆ ทั้งการนัดพรรคเล็กตัดหน้า และการแสดงธรรมพรหมวินาศ 4 ที่ว่า 1. หลงอำนาจ 2. ฉ้อราษฎร์บังหลวง 3. หลอกลวงลูกน้อง 4. ยกย่องคนเลว ซึ่งไม่รู้ว่าต้องการส่งสารถึงใคร

แต่คนที่ธรรมนัสมีปัญหาขัดแย้งอยู่ในเวลานี้ก็คือพล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น