ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อวสานคดีค่าโง่คลองด่าน ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกคำขอรื้อคดีคลองด่านใหม่ด้วยเหตุไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สั่งจ่ายค่าโง่ให้เอกชน 9.6 พันล้านบาท ขณะที่คดีโฮปเวลล์ ศาลปกครองสูงสุด สั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคดีไว้พิจารณาใหม่ เริ่มนับหนึ่งสู้ค่าโง่ 2.6 หมื่นล้าน
บอกได้คำเดียวว่าเหมือนจะชนะแต่แพ้ เพราะการต่อสู้คดีค่าโง่คลองด่านที่ยืดเยื้อยาวนานร่วมทศวรรษ มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่ารัฐบาลจะไม่ต้องควักจ่ายแม้แต่แดงเดียว จนรัฐบาลยกให้คดีคลองด่านเป็นกรณีศึกษาสำหรับคดีค่าโง่ต่างๆ ที่อยู่ในชั้นศาล ทว่า ฉากสุดท้ายกลับกลายเป็นว่ารัฐเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เมื่อศาลปกครองสูงสุด ฟันฉับว่า การขอรื้อคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษนั้น “ไม่มีข้อเท็จจริงใหม่”
ศาลฯ ยังพิเคราะห์ว่า พยานหลักฐานที่ว่ามีน้ำหนักหักล้างที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ยื่นมาประกอบขอรื้อคดีนั้น ล้วนมีอยู่ก่อนแล้ว แต่ทางกรมควบคุมมลพิษ กลับไม่ยกขึ้นมาต่อสู้ในชั้นคณะอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งตอนที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ชาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง ก็เช่นกัน
สำหรับกระทรวงการคลัง ที่เป็นผู้ร่วมยื่นคดีด้วยนั้น ศาลปกครองสูงสุด ก็ว่าไม่ใช่คู่กรณี และไม่ได้รับผลกระทบแห่งคดี ปัดตกเหตุผลของกระทรวงการคลัง ที่ยกประเด็นว่าถ้ารัฐต้องจ่ายค่าโง่ ก็ต้องมาควักเอาที่คลังนี่แหละ และเป็นความเสียหายของประเทศชาติ ดังนั้นคลังจึงต้องยื่นมือเข้าไปสอดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ
คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ทำเอา “นายกฯ ลุง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกอาการเป็นงง สั่งให้ทีมกฎหมายไปศึกษาคดีใหม่ เพราะคดีอาญาคลองด่าน ก็ตัดสินว่าผู้ร่วมกระทำการซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี มีความผิดและให้ชดใช้ค่าเสียหาย
“ฝ่ายกฎหมายศึกษารายละเอียดอยู่ ศาลคนละศาลตัดสินต่างกัน ศาลอาญาสั่งลงโทษไปแล้ว” นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าว หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้รัฐจ่ายค่าชดเชยให้เอกชนในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน 9.6 พันล้านบาท
แน่นอน ตามหลักกฎหมายแล้ว ผลตัดสินคดีแต่ละศาลไม่มีผลผูกพันซึ่งกันและกัน แต่การขัดกันของผลตัดสินแต่ละศาลก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเดียวกันว่าสร้างความพิศวงงงงวยให้กับสังคม ไม่เว้นแม้แต่ท่านผู้นำประเทศ
ทั้งนี้ คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ที่มีคำพิพากษากลับคำสั่งคำพิพากษาศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้กรมควบคุมมลพิษ ต้องจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย ให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี กรณีสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โดยศาลปกครองสูงสุด ได้พิเคราะห์ประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
ในส่วนของกระทรวงการคลัง ไม่ได้เป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีอันมีฐานะเป็นคู่กรณีตามคำพิพากษาศาลปกครอง ตลอดจนมิใช่คู่สัญญาตามสัญญาโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ฝั่งตะวันออกและตะวันตก เลขที่ 75/2540 ลงวันที่ 20 ส.ค. 2540 และไม่อยู่ในบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ หมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค. 2554 และคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ย่อมมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีในคดีเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ที่จะมีผลทำให้เป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีดังกล่าวแต่อย่างใด กระทรวงการคลัง จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
สำหรับกรมควบคุมมลพิษ ศาลปกครองสูงสุด โดยประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.2/2551 และคำพิพากษาศาลแขวงดุสิต คดีหมายเลขแดงที่ 3501/2552 กรมควบคุมมลพิษ ได้เสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลปกครองมาแต่แรกในชั้นการพิจารณาคดีครั้งก่อน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีของศาลแขวงดุสิต ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดง ที่ 3501/2552 ที่กรมควบคุมมลพิษ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ที่ 1 กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญาโครงการ ย่อมแสดงว่ากรมควบคุมมลพิษ ต้องมีพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างว่าสัญญาเกิดขึ้นจากการร่วมกันทุจริตทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐและกลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้องอยู่ก่อนแล้ว แต่กรมควบคุมมลพิษ ไม่นำเสนอเข้ามาในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไป
ส่วนคดีของศาลอาญาตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.4197/2558 ที่กรมควบคุมมลพิษอ้างเอกสารที่ยื่นส่งในชั้นสืบพยาน และอ้างว่าศาลอาญามีคำพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมควบคุมมลพิษเป็นการกระทำโดยทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนคู่สัญญา ว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ประกอบการยื่นขอพิจารณาคดีใหม่ นั้น ศาลฯ เห็นว่า คำพิพากษาดังกล่าวเป็นการที่ศาลนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงในสำนวน คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่
ส่วนข้อเท็จจริงในสำนวนคดีดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงสืบเนื่องมาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฉบับลงวันที่ 11 เม.ย. 2555 ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการของกรมควบคุมมลพิษและการเอื้อประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดการน้ำเสียในเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี จะยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2546 และพยานหลักฐานที่ศาลอาญาได้รับไว้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อจัดให้มีการทำสัญญาเลขที่ 75 /2540 ลงวันที่ 20 ส.ค. 2540 ซึ่งก็เป็นเอกสารที่มีขึ้นก่อนเริ่มต้นกระบวนการอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้น
และอีกส่วนหนึ่งเป็นพยานหลักฐานอันสืบเนื่องมาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฉบับลงวันที่ 11 เม.ย. 2555 ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้นในคดีก่อนเช่นกัน ดังนั้น พยานหลักฐานอันเกี่ยวกับการพิจารณาคดีอาญาของศาลอาญาที่กรมควบคุมมลพิษ กล่าวอ้างเพื่อขอพิจารณาคดีใหม่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อนทั้งสิ้น จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
ส่วนหนังสือ ที่ ปง 015.2/807 ลงวันที่ 16 พ.ค. 2559 ถึงกรมควบคุมมลพิษ ที่แจ้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.148/2559 ลงวันที่ 13พ.ค. 2559 อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 2 รายการ พร้อมดอกผล ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่กรมควบคุมมลพิษ ต้องชำระให้แก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ไว้ชั่วคราว นั้น เป็นการกล่าวอ้างถึงการรับฟังข้อเท็จจริงและผลของคำพิพากษาศาลอาญา หมายเลขแดงที่ อ. 4197/2558 เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่านั้น จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด
และที่อ้างในความไม่ชอบของคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ อันมีสาเหตุมาจากการขาดคุณสมบัติเรื่องความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ นั้น เห็นว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีนายเสถียร วงศ์วิเชียร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการท่าเรือ กับพวก ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่อนุมัติให้แก้ไขสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการอู่เรือ บริเวณแหลมฉบัง และแจ้งข้อกล่าวหาให้นายเสถียร ทราบในระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการในคดีนี้แต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นคนละมูลเหตุพิพาทกับคดีนี้และมิใช่คู่กรณีเดียวกัน จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ ที่จะต้องเปิดเผยตามข้อ 12 ของประมวลจริยธรรมอนุญาโตตุลาการ และไม่ทำให้คุณสมบัติความเป็นกลางของนายเสถียร ต้องเสียไป ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
“เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า พยานหลักฐานของกรมควบคุมมลพิษเป็นพยานหลักฐานที่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อน และกรมควบคุมมลพิษได้รู้ถึงพยานหลักฐานดังกล่าวมาก่อนแล้วทั้งสิ้น และไม่ใช่กรณีที่คู่กรณีไม่อาจทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาครั้งที่แล้วมา จึงมิใช่ความผิดของผู้นั้น ตามมาตรา 75 วรรคสอง กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
“และข้อเท็จจริงที่กรมควบคุมมลพิษ กล่าวอ้างมิใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) (4) และวรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 อันจะเป็นเหตุที่ขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นและประเด็นระยะเวลาการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป”
สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดข้างต้น ซึ่งเท่ากับปิดฉากมหากาพย์ค่าโง่คลองด่านนั้น เป็นผลมาจากคดีก่อนหน้านี้ กล่าวคือ เมื่อเดือน พ.ย. 2557 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ยตามข้อร้อง เป็นเงิน 4,983,342,383 บาท กับอีก 31,035,780 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 4,424,099,982 บาท และจำนวน 26,434,636 ดอลลาร์สหรัฐ ตามสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการให้กับ กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ซึ่งประกอบไปด้วย 6 บริษัท คือ บ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด บ. นอร์ทเวสท์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บ.ประยูรวิศการช่าง จำกัด บ. สี่แสงการโยธา จำกัด บ.กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด และบ.เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด
ต่อมา กรมควบคุมมลพิษ ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอพิจารณาคดีใหม่โดยอ้างพยานหลักฐานใหม่เป็นคำพิพากษาศาลอาญาว่าโครงการดังกล่าวเป็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการทางการเมือง ร่วมกันกับเอกชนที่เอื้อประโยชน์ให้ซึ่งกันและกันเพื่อให้ที่ดินของบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ให้ใช้ในการก่อสร้างโครงการ และให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการจัดการน้ำเสีย จ.สมุทรปราการ จนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน
ศาลปกครองกลาง สั่งรับคำขอไว้พิจารณา และมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2561 สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษ ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับเอกชน
ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ว่าหลักฐานที่กรมควบคุมมลพิษ อ้างไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่ แต่มีอยู่ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการแล้ว
ขณะที่กระทรวงการคลัง ก็อ้างว่าเป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีส่วนได้เสียและถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้โดยตรง จึงมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ได้
หลังจากศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา ทาง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้หารือกับทีมกฎหมายของกรมควบคุมมลพิษ และกำลังเร่งทำหนังสือยื่นต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เพื่อชี้ให้เห็นว่าตามที่ศาลแขวงดุสิต มีคำตัดสินในคดีอาญาว่า กิจการร่วมค้า NVPSKG มีความผิดฐานฉ้อโกงจริง ถือว่ามีความผิดและมีการลงโทษไปแล้ว อีกทั้งระหว่างนี้ คพ.ได้ฟ้องแพ่งต่อจำเลยทั้งหมด 54,000 ล้านบาท บริษัทและจำเลยไม่สมควรได้รับเงิน ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย
ทางด้าน นางดาวัลย์ จันทรหัสดี แกนนำคัดค้านโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน กล่าวว่า คดีคลองด่าน มีคดีอาญาหลายคดี และศาลตัดสินจำเลยผิด เช่น คดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, คดีอาญาข้าราชการ, คดีอาญาบริษัทเอกชน และขณะนี้ยังมีคดีแพ่งอีกหลายคดี เช่น คดีที่ ปปง.ฟ้องเอาเงินคืนจากกิจการร่วมค้า ประมาณ 4,000 ล้านบาท ที่ได้ไปจากค่าโง่งวดแรก และคดีที่ คพ.ฟ้องแพ่ง ฐานความผิดละเมิด ติดตามเอาทรัพย์คืน จำนวนเงินกว่า 59,000 ล้านบาท ฟ้องเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562
นางดาวัลย์ มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลว่าจะต้องไม่จ่ายเงินให้กิจการร่วมค้า โดยให้รัฐบาลยึดคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญา ฉ้อโกงสัญญาและฉ้อโกงที่ดิน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2560 เป็นหลัก และให้ยืนยันข้อสั่งการที่หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการอยู่ เช่น ปปง. และคพ. ในส่วนของปปง. ที่ดำเนินการฟ้องแพ่งกับกิจการร่วมค่าประมาณ 10 คดี ดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ในส่วนของคพ. ที่ฟ้องแพ่งกับกิจการร่วมค้า ฐานละเมิดติดตามเอาทรัพย์คืนก็ให้ดำเนินการต่อไป และเมื่อ คพ.ฟ้องแพ่ง คพ.สามารถใช้สิทธินำไปอ้างเป็นเหตุของดการบังคับคดีที่ศาลปกครองได้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
คดีค่าโง่คลองด่านจะรื้อขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้งหรือไม่ ยังต้องลุ้นกันต่อไป แม้ว่ามหากาพย์นี้ดูเหมือนจะปิดฉากแล้วก็ตาม แต่สำหรับค่าโง่โฮปเวลล์ กลับมีสัญญาณในทางที่ดี ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่าศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 81-83/2565 โดยมีมติกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น กรณีให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายค่าชดเชยค่าตอบแทนตามสัญญาสัมปทานให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำนวน 24,000 ล้านบาท เป็นให้พิจารณาคดีใหม่ตามคำขอของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
นายศักดิ์สยาม ได้วางแนวทางการต่อสู้คดีของกระทรวงคมนาคม โดย รฟท. ยกใหม่ว่า จะต่อสู้ในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องอายุความ หรือการนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และประเด็นมติคณะรัฐมนตรี รวมถึงการจดทะเบียนของบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ของบริษัทที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งบริษัทที่มาลงนามกับภาครัฐไม่ได้เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นทีมที่เรียกว่าปิดทองหลังพระ กล่าวว่า หลังศาลตัดสินให้พิจารณาคดีใหม่ กระบวนการก็จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ โดยจะโต้แย้งในประเด็นสำคัญคือคดีขาดอายุความ ส่วนการบังคับคดีที่ให้รัฐจ่ายค่าโง่ก็จะต้องงดการบังคับคดีตามที่ศาลปกครองสูงสุดสั่ง
สำหรับคดีค่าโง่โฮปเวลล์ บริษัทเอกชน ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่าค่าโง่หลังจากการก่อสร้างล่าช้าและบริษัทมีปัญหาทางการเงิน นำไปสู่การยกเลิกสัญญาสัมปทานเมื่อต้นปี 2541 ทางบริษัทจึงฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย โดยฝ่ายรัฐบาลแพ้คดีทั้งในชั้นอนุญาโตตุลาการ เมื่อปี 2551 และศาลปกครองสูงสุด เมื่อปี 2562 สั่งให้จ่ายค่าโง่ให้โฮปเวลล์กว่า 2.4 หมื่นล้าน แต่กระทรวงคมนาคม ในยุคนายศักดิ์สยาม ฮึดสู้ขอรื้อคดีใหม่อีกครั้ง พร้อมลั่นวาจา “ยุคนี้จะไม่มีค่าโง่”
กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้มอบหมายให้ นายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจยื่นหลักฐานใหม่ต่อศาลปกครอง ขอรื้อคดี โดยอ้างว่าพบว่าบริษัทโฮปเวลล์ เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ก็ถูกตีตกโดยศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด ทางกระทรวงคมนาคม และ รฟท. จึงพลิกเกมใหม่ โดยยื่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
หลังรับเรื่องจากคมนาคม ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งคำร้องที่ขอให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุด นำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คือ ไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่ และการกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการคือตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ **“รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”** ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว
ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 ตามคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่ยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กระทรวงคมนาคม จึงยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ กระทั่งศาลปกครองสูงสุด โดยมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 มีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้น รับคำร้องของกระทรวงคมนาคมและ ร.ฟ.ท. ที่ขอให้หยิบคดีนี้มารื้อฟื้นใหม่ไว้พิจารณาในที่สุด
ถ้าหากนับกันตามวัน ว. เวลา น. แล้ว วันที่ 30 ม.ค. 2541 บ.โฮปเวลล์ฯ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา, วันที่ 9 มี.ค.2544 ศาลปกครองเปิดทำการวันแรก และ วันที่ 24 พ.ย.2547 บ.โฮปเวลล์ฯ ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยชี้ขาด ก่อนที่จะฟ้องร้องคดีจนถึงศาลปกครองในเวลาต่อมา ตามกฎหมายแล้วการจะยื่นคำร้องต่ออนุญาโตฯ หากไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้เฉพาะ จะต้องทำใน 5 ปีนับแต่วันที่มีการโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญา
คีย์สำคัญจึงอยู่ตรงที่แต่บริษัทโฮปเวลล์ ยื่นคำร้องหลังได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาถึง 6 ปีกับ 10 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเลยกำหนดระยะเวลา หรือ “หมดอายุความ” ที่จะสามารถยื่นคำร้องได้ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทรวงคมนาคม ยกขึ้นมาต่อสู้ตลอดแต่พ่ายแพ้ กระทั่งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กระทรวงคมนาคม จึงพลิกกลับมามีแต้มต่อและเริ่มต้นนับหนึ่งสู้คดีกันยกใหม่
มหากาพย์ค่าโง่โฮปเวลล์ ที่คล้ายรูดม่านปิดฉาก จึงเริ่มเปิดวิกใหม่อีกครั้ง ยาวๆ ไป