xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองเรื่องเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ : ความล่าช้า คะแนนนิยมผู้สมัคร และประเด็นหาเสียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

หลังจากยื้อยุดอย่างยาวนานร่วมสองปีเศษ นับตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลประยุทธ์ขึ้นมาในกลางปี 2562 ในที่สุดรัฐบาลก็มีมติเห็นชอบให้มีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทสุดท้ายในบรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด

เหตุผลของความล่าช้าของการเลือกจัดการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครคือความไม่พร้อมและไม่แน่ใจในทางการเมืองของรัฐบาล ด้วยความที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางอำนาจรัฐบาลจึงต้องการให้ผู้บริหารกรุงเทพมหาครเป็นบุคคลและกลุ่มบุคคลที่สามารถควบคุมกำกับได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งได้แก่ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งของคณะคสช. อันเป็นบรรพอำนาจของรัฐบาลประยุทธ์

หลังจากบริหารประเทศไปไม่นาน คะแนนนิยมของประชาชนต่อรัฐบาลประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นรัฐบาลก็มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียอำนาจควบคุมกรุงเทพฯ สิ่งที่เป็นภาพสะท้อนความตกต่ำของคะแนนนิยมของรัฐบาลและพรรคพปชร. คือ แม้ว่าแกนนำรัฐบาลพยายามหลายครั้งในการทาบทามบุคคลผู้มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมเพื่อสมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครในนามพรรค พปชร. แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่มีใครยอมลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค พปชร. เลย แม้แต่พล ต.อ. อัศวิน ขวัญเมืองผู้ว่าฯคนปัจจุบันที่ คสช.แต่งตั้งมากับมือก็ตาม

เมื่อแกนนำอำนาจของรัฐบาลได้ข้อสรุปว่า ความเป็นไปได้ในการที่ให้บุคคลภายใต้การกำกับของตนเองลงสมัครและชนะการเลือกตั้งกรุงเทพฯมีต่ำมาก ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนหลายฝ่ายที่ต้องการให้รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ ดังมากขึ้นตามลำดับ แม้แต่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเองก็ส่งเสียงออกมาด้วยเช่นเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ประกาศความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งมาเป็นเวลานาน รัฐบาลจึงไม่อาจอ้างความไม่พร้อมของ กกต. มาเป็นสาเหตุแห่งการยื้อยุดได้อีกต่อไป และในช่วงปี 2565 ก็เป็นช่วงใกล้หมดวาระของรัฐบาล ซึ่งความจำเป็นในการควบคุมกำกับกรุงเทพฯ อย่างเข้มข้นดังต้นสมัยการเป็นรัฐบาลก็เจือจางลง การตัดสินให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครจึงเกิดขึ้นในประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2565

ผู้ที่เปิดตัวลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯอย่างเป็นทางการและได้รับความนิยมจากชาวกรุงเทพสูงคือนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ การสำรวจความนิยมต่อว่าที่ผู้สมัครกรุงเทพฯของนิด้าโพลครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2564 นายชัชชาติได้คะแนนนิยม 22.43 % หลังจากนั้นนิด้าโพลก็มีการสำรวจคะแนนนิยมผู้ว่าฯอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน และในเดือนมีนาคมปีถัดมาหรือปี 2565 คะแนนนิยมของนายชัชชาติเพิ่มขึ้นไปเป็น 38.01 % ขณะที่ความนิยมของว่าที่ผู้สมัครคนอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงอยู่ในระดับเพียงสิบกว่าเปอร์เซ็น หรือบางคนก็ต่ำสิบ

แม้ว่าคะแนนนิยมของนายชัชชาติจะนำว่าที่ผู้สมัครคนอื่น ๆ ค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีผู้มีชื่อเสียงและมีความต้องการลงเล่นการเมืองท้องถิ่นในกรุงเทพฯจำนวนไม่น้อยที่ต้องการลงสมัครแข่งขัน ดังเช่น พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ซึ่งมีคะแนนนิยมอยู่ประมาณ 7.68 % และ 15.51 % ในการสำรวจเดือนมีนาคม 2564 ต่อมาพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ถอนตัวเนื่องจากทั้งคู่เป็นฝ่ายรัฐบาลและมีฐานเสียงทับซ้อนกัน ซึ่ง ทำให้คะแนนนิยมของพลเอกอัศวินกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 11.73 % ในการสำรวจเดือนมีนาคม 2565

เดือนมกราคม 2565 มีบุคคลผู้มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งได้เปิดตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ คนแรกที่ดูมีความโดดเด่นและได้รับความสนใจจากประชาชนไม่น้อยคือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเปิดตัวในนามพรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนิยมหลังจากเปิดตัวใหม่ ๆ จากการสำรวจเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ระดับ 13.06 % ซึ่งเป็นคะแนนนิยมที่สูงกว่า “คะแนนฐาน” ของพรรคประชาธิปัตย์ในการเมืองท้องถิ่นกรุงเทพฯอยู่ประมาณ 8. 43 % (การสำรวจ “อยากได้ใครเป็นผู้ว่า กทม. ของนิด้าโพลเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการเปิดรายชื่อตัวบุคคล พรรคประชาธิปัตย์ได้ 4. 63 % ) จึงอนุมานได้ว่า คะแนนนิยมที่สูงขึ้นเป็นคะแนนนิยมส่วนบุคคลที่ประชาชนมีต่อนายสุชัชวีร์

ทว่าหลังการเปิดตัวเพียงไม่กี่วันกระแสวิพากษ์วิจารณ์นายสุชัชวีร์ ก็ถาโถมเข้ามาดุจพายุ ส่วนหนึ่งเกิดมาจากท่วงทำนองการพูดเชิงโอ้อวดที่ไปเชื่อมโยงกับอัลเบิร์ต ไอสไตน์ ส่วนหนึ่งมาจากการถูกขุดคุ้ยประวัติส่วนตัวและการทำงาน ซึ่งส่งผลด้านลบต่อนายสุชัชวีร์อย่างรุนแรง จนทำให้คะแนนนิยมลดลงเหลือเพียง 8.61 % ในการสำรวจเดือนมีนาคม 2565 ปรากฎการณ์นี้สะท้อนถึงพลังแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมที่มีต่อคะแนนนิยมทางการเมืองได้อย่างชัดเจน

ผู้สมัครอีกคนที่มีการเปิดตัวแล้ว ได้รับการตอบรับอยู่พอสมควรคือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล หลังเปิดตัวมีคะแนนิยม 8.08 % คะแนนนิยมที่นายวิโรจน์ได้รับสูงว่า “คะแนนนิยมฐาน” ของพรรคก้าวไกลในการเมืองท้องถิ่นกรุงเทพฯ อยู่เล็กน้อยประมาณ 1.71 % ( ก่อนเปิดชื่อผู้สมัคร พรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยม 6.37 %) กรณีนายวิโรจน์ คะแนนนิยมที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากฐานคะแนนนิยมพรรคก้าวไกลไม่มากนัก ซึ่งแตกต่างจากจากนายสุชัชวีร์ที่ได้รับคะแนนนิยมสูงกว่าคะแนนฐานของพรรคประชาธิปัตย์มาก อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจเดือนมีนาคม นายวิโรจน์ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 8.83 % และ กลายเป็นว่า ในการสำรวจเดือนมีนาคมคะแนนนิยมของนายวิโรจน์นำนายสุชัชวีร์อยู่เล็กน้อยแล้ว

หากพิจารณาจากผลสำรวจคะแนนิยมอย่างต่อเนื่องของนิด้าโพล เราสามารถสรุปได้ว่า แนวโน้มที่นายชัชชาติ จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. มีสูงยิ่ง ด้วยมีคะแนนนิยมนำห่างจากว่าที่ผู้สมัครคนอื่น ๆ ประมาณ 20 % ซึ่งเป็นการนำที่ยากแก่การตามให้ทันได้ อย่างไรก็ตาม การเมืองเป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงสูง ความแปรผันของคะแนนนิยมยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในช่วงที่มีการรับสมัครและรณรงค์หาเสียงอย่างเป็นทางการ เพราะในช่วงดังกล่าวบรรดาผู้สมัครต้องระดมกลยุทธ์การหาเสียงนานับประการมาต่อสู้กัน เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชนให้หันมาสมับสนุนตนเอง มีความเป็นไปได้ว่า ผู้สมัครบางคนหรือบางพรรคสามารถอาจทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกรุงเทพเปลี่ยนใจจากการยังไม่ตัดสินใจ หรือจากการที่เคยคิดเลือกผู้สมัครคนอื่น มาเลือกตนเองได้บ้าง เพราะการตัดสินใจเลือกใครในระดับการเมืองท้องถิ่นนั้น อุดมการณ์หรือความเชื่อพื้นฐานทางการเมืองมีอิทธิพลไม่มากนัก สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกคือ ลักษณะของตัวบุคคลและนโยบายบริหารกรุงเทพฯ ที่สอดคล้องกับความคิดและความต้องการของผู้เลือกตั้งในขณะนั้น

แก่นของภาพลักษณ์หลักที่มีผลต่อการตัดสินใจคนกรุงเทพจำนวนมากในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯคือ ความซื่อสัตย์ ความใกล้ชิดติดดิน และการเป็นนักบริหาร และแก่นเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติด้วย ในบางยุคบางสมัย การเมืองระดับชาติมีกระแสท่วมท้นด้วยเรื่องอื้อฉาวของการทุจริตคอรัปชั่น จะทำให้ภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์มีความโดดเด่น ดังเช่น กระแสนิยมที่ชาวกรุงเทพเลือกพลตรีจำลอง ศรีเมือง ซึ่งเด่นในเรื่องภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์ ในยุคต้นทศวรรษที่ 2530 ในอีกด้านหนึ่ง ช่วงที่กระแสการเมืองระดับชาติท่วมท้นด้วยความไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร จะทำให้ภาพลักษณ์ของความเป็นนักบริหารมืออาชีพมีความโดดเด่น เช่น ช่วงที่ชาวกรุงเทพฯ เลือกนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อย่างไรก็ตาม ในบางยุคที่มีความขัดแย้งในการเมืองระดับชาติซึ่งซ้อนทับด้วยความเชื่อทางการเมือง การแข่งขันในสนามผู้ว่าก็ได้รับอิทธิพลจากความขัดแย้งในการเมืองระดับชาติด้วย ดังการเลือกตั้งในยุคทศวรรษที่ 2550 ซึ่งสนามเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เป็นการจำลองการต่อสู้ทางการเมืองระดับชาติระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย

สถานการณ์ปัจจุบันของสนามเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพ 1) เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ไม่นิยมรัฐบาลประยุทธ์ ดังนั้นผู้สมัครที่อยู่ในพรรคการเมืองสังกัดพรรครัฐบาลจึงมีสถานภาพการแข่งขันต่ำ โอกาสได้รับชัยชนะมีน้อยอย่างยิ่ง 2) เมื่อได้ข้อยุติในเรื่องความเป็นขั้วการเมืองแล้ว สิ่งที่จะเป็นประเด็นหลักในการตัดสินใจของชาวกรุงเทพคือ ลักษณะและภาพลักษณ์ส่วนบุคคล และด้วยสถานการณ์การเมืองระดับชาติที่รัฐบาลล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจระดับประเทศอย่างสิ้นเชิง จะทำให้กระแสความต้องการผู้ว่า กทม. ที่มีลักษณะเป็นนักบริหารมืออาชีพมีความโดดเด่นในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ที่กำลังจะเกิดขึ้น 3) ขณะเดียวกัน แม้ว่าคนกรุงเทพจะชมชอบคนที่มีภาพลักษณ์การบริหารที่ทันสมัยมีวิสัยทัศน์ แต่ก็มิได้ละทิ้งคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์และความใกล้ชิดติดดินแต่ประการใด ผู้สมัครที่มีภาพลักษณ์ของการประสบความสำเร็จในการบริหาร แต่มีปมปัญหาอื้อฉาว หรือถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ก็จะถูกปฏิเสธจากคนกรุงเทพ

ภาพลักษณ์ของผู้สมัครที่น่าจะมีสอดคล้องกับความต้องการของคนกรุงเทพฯในการเลือกตั้งที่จะถึงประกอบด้วย ภาพลักษณ์หลักคือ การเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จและมีความทันยุคทันสมัย ภาพลักษณ์รองคือ ความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ไม่มีเรื่องอื้อฉาว ไม่มีคุยโตโอ้อวดคุณสมบัติตนเองเกินจริง และภาพลักษณ์เสริมคือ ความใกล้ชิดติดดิน เข้าถึงได้ง่าย

ภาพลักษณ์อื่นยังไม่มีความโดดเด่นและเป็นประเด็นสนใจของชาวกรุงเทพมากนัก แต่ผู้สมัครก็สามารถสร้างกระแสและสร้างภาพลักษณ์ขึ้นได้ เช่น หากต้องการสร้างภาพลักษณ์ความกล้าหาญ กล้าชนปัญหา ก็ต้องทำให้ประชาชนเกิดการรับรู้และตระหนักว่า ปัญหานั้นมีอยู่จริง มีอยู่มาก จนดึงความสนใจของคนส่วนใหญ่ได้ จากนั้นจึงเชื่อมโยงไปสู่ภาพลักษณ์ของการเป็น “นักแก้ปัญหา”

นอกจากภาพลักษณ์ผู้สมัครแล้ว นโยบายเชิงรูปธรรมที่สร้างประโยชน์แก่ชาวกรุงเทพฯทั้งระยะสั้นและระยะยาวก็เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจผู้เลือกตั้งอยู่ไม่น้อย ผู้สมัครแต่ละคนก็ต้องวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อเสนอ “นโยบายที่แก้ปัญหา” ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และ “นโยบายที่พัฒนาสร้างอนาคต” แต่การเสนอนโยบายทั้งสองประเภทก็ต้องคำนึงให้ดีว่า บางเรื่องนั้นอาจอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ กทม. และบางเรื่องไม่อาจทำให้บรรลุได้ด้วยกรุงเทพมหานครเพียงหน่วยงานเดียว และที่สำคัญไม่ควรผลิตนโยบายที่เพ้อฝัน ดังที่ผู้สมัครบางคนในอดีตเคยทำ

การเลือกตั้งกรุงเทพฯที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและแสดงสิทธิอำนาจทางการเมือง ซึ่งเป็นบรรยากาศทางการเมืองที่พึงประสงค์ในระบบการเมืองสมัยใหม่ที่มีความศิวิไลซ์มากกว่าการเมืองโบราณที่มีรถถังอยู่เต็มท้องถนนอย่างเทียบกันไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น