ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในปัจจุบันนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 40 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า
มาตรา ๔๐ คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทําหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกํากับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การดําเนินการตามวรรคสองต้องคํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
อาศัยรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 40 วรรคสองซึ่งกำหนดให้มีองค์กร์ของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งทำให้เกิดพรบ. กสทช. ฉบับแรกชื่อว่า
พระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543
เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม การระเบิดดิจิทัล (Digital disruption) ก็มีส่วนที่กำหนดให้ต้องมีการแก้ไขกฎหมายของ กสทช. อยู่บ่อยครั้ง แต่การเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญทำให้มีการบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์การจัดสรรคลื่นความถี่เปลี่ยนแปลงไปด้วยทำให้จำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกัน
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 47 ได้บัญญัติไว้ว่า
มาตรา ๔๗ คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะอื่น และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ
การกำกับการประกอบกิจการตามวรรคสองต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการควบรวมการครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำ ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเองหรือโดยบุคคลอื่นใด ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน
จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2550 และการบัญญัติมาตรา 47 วรรคสอง สาม และสี่ ทำให้เกิด พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยยกเลิก พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ไปทั้งฉบับ และให้ใช้พรบ. ฉบับนี้ที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2553 แทน และยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เรียกได้ง่ายและสั้นขึ้นขอใช้คำว่า พรบ.กสทช. 2553 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้งดังนี้
การแก้ไขครั้งที่หนึ่ง เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2557 ได้มีการแก้ไข พรบ.กสทช. 2553 โดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 80/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ทั้งนี้ประกาศคณะรัฐประหารถือเป็นประกาศของรัฏฐาธิปัตย์มีลำดับศักดิ์กฎหมายเท่ากับพระราชบัญญัติ
การแก้ไขครั้งที่สอง ได้มีการตราพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 22 มิถุนายน 2560 โดยมีเหตุผลอธิบายเจตนารมณ์ของการแก้กฎหมายนี้ว่า
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อทําหน้าที่ในการจัดทํานโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกําหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและแนวทางการดําเนินการที่กําหนดไว้ในนโยบายและแผนระดับชาติ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมต่อแนวทางการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีแล้ว จึงต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว ประกอบกับเทคโนโลยีเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าเพิ่มขึ้นและเพื่อให้การใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมและสาธารณะมากยิ่งขึ้น กรณีจําเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและอํานาจหน้าที่ให้สามารถรองรับในเรื่องดังกล่าว จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
การแก้ไขครั้งที่ 3 ได้มีการตราพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
ประเด็นสำคัญมากที่สุดในพรบ. นี้คือการเพิ่มอำนาจให้ กสทช. มีอำนาจในการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม โดยมีการแก้ไข มาตรา 4 มาตรา 27 และมาตรา 50/1 ของ พรบ. กสทช. 2553 ดังนี้
มาตรา 3 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม” ระหว่างบทนิยามคำว่า “จัดสรรคลื่นความถี่” และคำว่า “ชุมชน” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
““สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม” หมายความว่า สิทธิที่ประเทศไทยหรือหน่วยงานของรัฐได้รับหรือ มีอยู่ในการส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรตามข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ”
มาตรา 10 ให้ยกเลิกความใน (14) ของมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(14) ดำเนินการในฐานะหน่วยงานอำนวยการของรัฐที่มีอำนาจในการบริหารกิจการสื่อสารระหว่างประเทศกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศอื่น รัฐบาลและหน่วยงานต่างประเทศ ตามที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสทช. หรือตามที่รัฐบาลมอบหมาย รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการของรัฐเพื่อให้มีดาวเทียมหรือให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและประสานงานเกี่ยวกับการบริหารคลื่นความถี่ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามแผนซึ่งจัดทำตาม (๑) และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”
มาตรา 11 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (14/1) และ (14/2) ของมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
“(14/1) ดำเนินการให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ และดำเนินการให้มีการใช้สิทธิดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติและประชาชน ในกรณีที่การรักษาสิทธิดังกล่าวก่อให้เกิดภาระแก่รัฐเกินประโยชน์ที่จะได้รับ กสทช. อาจสละสิทธิดังกล่าวได้ตามที่กำหนดในแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และให้รายงานคณะรัฐมนตรีพร้อมทั้งประกาศเหตุผลโดยละเอียดให้ประชาชนทราบ ในการดำเนินการให้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมดังกล่าว ให้ กสทช. มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาต รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องที่ผู้ขอรับอนุญาตหรือผู้รับอนุญาตแล้วแต่กรณีจะต้องรับภาระโดยค่าธรรมเนียมการอนุญาตดังกล่าวเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการอนุญาตแล้วเหลือเท่าใดให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
(14/2) พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมการอนุญาตดังกล่าว”
มาตรา 18 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 50/1 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรร คลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553
“มาตรา 50/1 ในการดำเนินการให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และการสละสิทธิดังกล่าว ให้ กสทช. จัดทำแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการซึ่งต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวกับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม โดยในการจัดทำแผนดังกล่าว กสทช. ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (๑) รายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมทั้งหมดที่ประเทศไทยสามารถ นำมาใช้ประโยชน์ได้ (๒) แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจร ดาวเทียม เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน (๓) แนวทางในการสละสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม กรณีที่การรักษาสิทธิดังกล่าว ก่อให้เกิดภาระแก่รัฐเกินประโยชน์ที่จะได้รับ (๔) แนวทางในการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม แผนตามวรรคหนึ่งเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ผูกพัน กสทช. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง”
โดยได้อธิบายไว้ในหมายเหตุพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 เอาไว้ว่า
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 60 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็น สมบัติของชาติ และการจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และประชาชน ประกอบกับมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้คณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรร คลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เป็นองค์กรรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการดังกล่าว และโดยที่บทบัญญัติเกี่ยวกับการเริ่มกระบวนการสรรหา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และการเริ่มกระบวนการสรรหา รวมทั้งวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานไม่มีความชัดเจน ตลอดจน กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน กสทช. ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังเป็นอุปสรรคต่อ การปฏิบัติงาน ทำให้การบริหารงบประมาณเกิดความล่าช้า ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารโดยใช้คลื่นความถี่ ได้พัฒนาขึ้น สมควรปรับปรุงการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เสียใหม่เพื่อให้การใช้คลื่นความถี่เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนั้นเพื่อประโยชน์ในการแจ้งเหตุฉุกเฉินที่ต้องการความช่วยเหลือของประชาชน สมควรกำหนด ให้มีเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อให้การรับแจ้งเหตุฉุกเฉินมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้
ข้อสังเกตสำคัญคือ พรบ. ฉบับนี้ทำให้กสทช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารจัดการสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม จัดการ/จัดเก็บผลประโยชน์ ออกใบอนุญาต กำกับดูแลช่องสัญญาณและคลื่นความถี่ของดาวเทียมต่างชาติได้อีกด้วย ทำหน้าที่อำนวยการแทนหน่วยงานของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งสละสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของชาติ!
กสทช. แย่งอำนาจหน้าที่ในการจัดการสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจากกระทรวงดีอีเอสหรือไม่?
ก่อนปี 2562 การจัดการสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เป็นหน้าที่ของรัฐคือกระทรวงดีอีเอส มาโดยตลอด กระทรวงดีอีเอสต้องจ่ายค่า license ในการเข้าฐานข้อมูลของ ITU หรือสหภาพโทรคมนาคมแห่งชาติ (International telecommunication union) ประมาณปีละ 17 ล้านบาท เพื่อที่จะเข้าถึงข้อมูลเลข NORAD อันเป็นเลขสำคัญที่ระบุอัตลักษณ์หรือตัวตนของดาวเทียมแต่ละดวง (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับเลข NORAD เพิ่มเติมได้จากบทความดาวเทียมไทยคม 7 หายไปไหน? วงโคจรยังเป็นสมบัติของชาติหรือไม่? ประชาชนได้ประโยชน์อะไร? https://mgronline.com/daily/detail/9640000072580 จากการสอบถามอดีตปลัดกระทรวงดีอีเอส (ICT และอีกหลายชื่อเก่าๆ) ก็ยืนยันว่าหน้าที่ในการจัดการสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นของกระทรวงดีอีเอสในฐานะของรัฐมาโดยตลอด
แต่ในปี 2562 กสทช. ทำหนังสือแจ้งมายังกระทรวงดีอีเอสหลังจากได้มีการตราพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยให้ กสทช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมแทนกระทรวงดีอีเอส และกระทรวงดีอีเอสไม่ต้องจ่ายค่า license ในการเข้าใช้ฐานข้อมูลของ ITU อีกต่อไป กสทช. จะจ่ายเองในแต่ละปีและจะเป็นผู้ควบคุมการเข้าถึงและการใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวในส่วนของประเทศไทย
หลังจากนั้นไม่นาน กสทช. ก็เปิดประมูลสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม หลายแพ็คเกจ จนครบหมด และมีกรณีที่น่าคลางแคลงใจหลายประการ โปรดอ่านได้จาก ย่านความถี่ที่ กสทช. นำออกประมูลแพ็คเกจสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม https://mgronline.com/daily/detail/9640000069548 และสุดท้ายก็ถูกยกเลิกประมูล
อำนาจในการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของกสทช. ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่?
เหตุใดกสทช. จึงแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจในการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งเดิมดูแลโดยกระทรวงดีอีเอส มาหลายสิบปี ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของตนเองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งถือว่าแปลก นานๆ จะเห็นหน่วยงานของรัฐต้องการมีอำนาจหน้าที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่แน่ใจว่าเมื่อมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะมีความรับผิดชอบเต็มที่แค่ไหน เพราะ Great power comes with great responsibility. แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือควรย้อนกลับไปพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่ามีความมุ่งหมายให้ กสทช. เป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำการแทนรัฐหรือไม่ และหากว่ากฎหมายใดรวมไปถึง พรบ.กสทช. 2562 นั้นขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้วก็เป็นอันบังคับใช้ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 5 บัญญัติเอาไว้ว่า
มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับ มิได้
เจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60
รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน
การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะรวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
รัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกำกับการดาเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็นป้องกันมิให้คลื่นความถี่รบกวนกัน รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป รวมตลอดทั้งการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
เราจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 แบ่งออกเป็นสามวรรค
วรรคหนึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ รัฐในที่นี้คือกระทรวงดีอีเอส
วรรคสอง กำหนดว่าการจัดสรรคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมต้องทำไปเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
วรรคสาม กำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ทำหน้าที่ตามวรรคสอง ซึ่งองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่คือ กสทช.
โปรดอ่านรายละเอียดได้จาก https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/more_news.php?cid=87
โดยมาตรา 60 นี้มีความมุ่งหมาย กำหนดสถานะของคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ว่าเป็นสมบัติของชาติ ไม่ใช่สิทธิที่บุคคลใดจะอ้างความเป็นเจ้าของได้ และเป็นหน้าที่ของรัฐในการรักษาไว้เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน โดยกำหนดกรอบการใช้ประโยชน์ไว้ในวรรคสอง พร้อมทั้งสร้างกลไกในการกำกับดูแลไว้ในวรรคสาม
โดยที่มาตรา 60 นี้มีคำอธิบายประกอบว่า บทบัญญัติลักษณะนี้ได้มีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (มาตรา 40) และบัญญัติในทำนองเดียวกันไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (มาตรา 47) โดยเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้เพิ่มเติม “...สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรของดาวเทียม” ขึ้น เพื่อกำหนดให้เป็นสมบัติของชาติด้วย เนื่องจากวงโคจรของดาวเทียมนั้น ไม่มีเจ้าของประเทศใดจะมีสิทธิเข้าใช้วงโคจรในระดับและเส้นทางอย่างไร เป็นเรื่องการตกลงระหว่างประเทศ ที่รัฐจำเป็นต้องใช้ความเป็นรัฐไปทำความตกลง และเมื่อเป็นสมบัติของชาติแล้ว จึงต้องกำหนดให้รัฐใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
นอกจากนั้นความในวรรคสามยังกำหนดรายละเอียดของการคุ้มครองประชาชนมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ และการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ด้วย
จากเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ (ปรับปรุงข้อมูล ณ ๑๗ ต.ค. ๖๒) สามารถวิเคราะห์ได้ว่า
วรรคแรก เป็นหน้าที่ของรัฐ ต้องเป็นกระทรวงดีอีเอส เนื่องจากต้องอาศัยความเป็นรัฐในการเจรจาระดับนานาชาติและรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ รัฐจำเป็นต้องใช้ความเป็นรัฐไปทำความตกลง และเมื่อเป็นสมบัติของชาติแล้ว จึงต้องกำหนดให้รัฐใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ
ส่วนวรรคสาม หน้าที่ในการกำกับดูแลตามวรรคสองจึงเป็นหน้าที่ของกสทช. อันเป็นองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ในการกำกับดูแลคลื่นความถี่ (ไม่ใช่วงโคจรดาวเทียม) เพื่อทำหน้าที่ตามวรรคสองของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60
กสทช.ใช้อำนาจในการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่
จากการวิเคราะห์เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 ได้แยกระหว่างรัฐในวรรคหนึ่งและองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ในวรรคสาม ออกจากกันอย่างชัดเจน และย้ำว่าหน้าที่ในวรรคหนึ่งต้องอาศัยความเป็นรัฐในการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม
ส่วนกสทช. นั้นเกิดขึ้นในฐานะขององค์การอิสระของรัฐตามวรรคสามของมาตรา 60 รัฐธรรมนูญไม่ได้มีเจตนาให้กสทช. มาทำหน้าที่ตามวรรคหนึ่งในการบริหารสิทธิในการเข้าถึงวงโคจรดาวเทียมแต่อย่างใด
และยิ่งเมื่อมาพิจารณาบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแก้ไข พรบ. กสทช. (2553) ให้แล้วเสร็จใน 180 วันก็ยิ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า กสทช. เป็นองค์กรตามมาตรา 60 วรรคสาม ไม่ใช่วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด
มาตรา 274 ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เป็นองค์กรตามมาตรา 60 วรรคสาม และให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ดังนั้นการตราพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ให้ กสทช. ทำหน้าที่บริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม จึงขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 ซึ่งกสทช. จัดตั้งตามวรรคสามและมีอำนาจหน้าที่ตามวรรคสองของมาตรานี้ นอกจากนี้ยังขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 274 อย่างชัดเจนเนื่องจากกำหนดให้กสทช. เป็นองค์การอิสระของรัฐตามมาตรา 60 วรรคสาม มิใช่รัฐที่มีหน้าที่ในการจัดการสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามมาตรา 60 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด
ดังนั้นควรยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาประเด็นนี้ว่า พรบ. กสทช. ที่แก้ไขในปี 2562 นี้ขัดกับทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 60 มาตรา 274 และขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้