xs
xsm
sm
md
lg

ดาวเทียมไทยคม 7 หายไปไหน? วงโคจรยังเป็นสมบัติของชาติหรือไม่? ประชาชนได้ประโยชน์อะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.จตุรงค์ สุคนธชาติ และ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.จตุรงค์ สุคนธชาติ
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
และ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาปัญญาและการวิเคราะห์ธุรกิจ
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


หนังสือเรียนแบบเรียนระดับชั้น ม 6 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ [1] และรายวิชาเพิ่มเติมรายวิชา โลก ดาราศาสตร์และอวกาศ เล่ม 5 [2] ที่นักเรียนไทยกำลังศึกษาอยู่นั้น เนื้อหาบทหนึ่งที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศซึ่งกล่าวถึงดาวเทียมสื่อสารเพื่อการสื่อสารและโทรคมนาคมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ครูผู้สอนโดยส่วนใหญ่จึงต้องจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคมตั้งแต่ดวงที่ 1 จนถึงดวงที่ 8 ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทย




แต่เมื่อครูผู้สอนที่มีความสนใจด้านดาวเทียมสื่อสารได้ทดลองค้นคว้าหาข้อมูลของดาวเทียมไทยคมทั้งหมดในฐานข้อมูลดาวเทียมนานาชาติ กลับพบว่ามีดาวเทียมไทยคมทั้งหมดเพียง 7 ดวง ไม่พบข้อมูลของดาวเทียมไทยคม 7 (THAICOM 7) พร้อมทั้งหมายเลขนอแร็ด (NORAD Catalog Number) ประจำดาวเทียมดวงนี้ ดังแสดงในรูปที่ 1

รูปที่ 1 การค้นหาดาวเทียมไทยคมทั้งหมดและหมายเลขหมายเลขนอแร็ดในฐานข้อมูลดาวเทียมนานาชาติ ไม่พบข้อมูลของ THAICOM 7   จาก: https://celestrak.com/satcat/search-results.php
หมายเลขนอแร็ด (North American Aerospace Defense Catalog Number, NORAD ID) [3] คือ หมายเลขประจำตัว 5 หลักเพื่อระบุถึงวัตถุอวกาศ (space object) ที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อโคจรรอบโลก (คล้ายกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน) หมายเลขนอแร็ดเริ่มต้นใช้งานในปี พ.ศ. 2528 โดยหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศอเมริกาเหนือ ที่มีชื่อเรียกแบบย่อว่า นอแร็ด (North American Aerospace Defense Command, NORAD)

ในปัจจุบันหมายเลขนอแร็ดได้รับการปรับปรุงและกำกับดูแลโดยหน่วยบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐ (United States Strategic Command, USSTRATCOM) เพื่อการจัดทำแคตตาล็อกและระบุตำแหน่งของวัตถุอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่า 10 ซม. ด้วยเรดาร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการชนกับดาวเทียมหรือยานอวกาศที่จะส่งขึ้นสู่อวกาศ ดังนั้นหมายเลขนอแร็ดจึงเป็นเสมือนหมายเลขประจำตัวของวัตถุอวกาศที่กำลังโคจรรอบโลก

เมื่อดาวเทียมดวงหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า ดาวเทียมไทยคม 7 ไม่มีหมายเลขนอแร็ดเป็นของตนเอง ครูอาจารย์หรือนักวิชาการที่สนใจเรื่องดาวเทียมก็จะทราบได้ทันทีว่าดาวเทียมดวงนั้นไม่ได้เป็นวัตถุอวกาศชิ้นหนึ่งที่กำลังโคจรอยู่ในอวกาศ แล้วดาวเทียมไทยคม 7 คือสิ่งใด จัดเป็นดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยหรือไม่ เราจะมาหาคำตอบด้วยกันในบทความนี้

 รูปที่ 2 วงโคจรค้างฟ้า (Geostationary orbit, GEO) ที่อยู่ห่างจากพื้นโลกประมาณ 35,786 กิโลเมตร (22,300 ไมล์)  จาก: http://www.williamcraigcook.com/satellite/work.html
โดยทั่วไปแล้วดาวเทียมสื่อสารจะลอยอยู่ในอวกาศสูงจากผิวโลกเหนือเส้นศูนย์สูตร (equator) ประมาณ 35,786 กิโลเมตร มีอัตราเร็วในวงโคจรประมาณ 11,052 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงเกิดความสมดุลย์ระหว่างแรงโน้มถ่วง (Gravity) ซึ่งเป็นแรงดึงดูดกับแรงหนีศูนย์กลาง (Centrifugal force) ดังแสดงในรูปที่ 2 ดาวเทียมในตำแหน่งนี้จึงจะอยู่ประจำที่ตรงกับพิกัดลองจิจูด (longitude) ค่าหนึ่งบนโลกเสมอ นักวิทยาศาสตร์เรียกวงโคจรนี้ว่า วงโคจรค้างฟ้า (Geostationary orbit, GEO) [4]

เนื่องจากดาวเทียมสื่อสารจะโคจรอยู่ในอวกาศที่อยู่สูงกว่าผิวโลกมากกว่า 100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นถือเป็นเขตน่านน้ำสากลที่ไม่มีประเทศใดสามารถถือสิทธิ์ครอบครองได้ องค์การสหประชาชาติ (United Nations, UN) จึงได้จัดตั้งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union, ITU) [5] ขึ้นเพื่อจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรและคลื่นความถี่ให้แก่ประเทศที่เป็นสมาชิกอย่างเป็นธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาคลื่นความถี่จากดาวเทียมรบกวนกัน โดยสิทธิการเข้าใช้วงโคจรนี้มีชื่อเรียกว่า เอกสารจองตำแหน่งวงโคจร (Satellite Network Filings)

ประเทศไทยได้รับการจัดสรรสิทธิการเข้าใช้วงโคจรจำนวน 7 ตำแหน่ง ได้แก่ วงโคจรที่ตรงกับตำแหน่งพิกัดลองจิจูดที่ 50.5, 51, 78.5, 119.5, 120, 126, และ 142 องศาตะวันออก และมีการจองการใช้งานคลื่นความถี่เพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมในย่านต่างๆ ได้แก่ L-Band, S-Band, C-Band, X-Band, Ku-Band, และ Ka-Band

และจากเอกสารของ กสทช. ในรูปที่ 3 ได้ระบุว่าดาวเทียมไทยคม 7 ประจำอยู่ที่ตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก และใช้งานย่านความถี่ C-Band ในการสื่อสารโทรคมนาคม ตามเอกสารจองตำแหน่วงโคจรที่มีชื่อว่า

รูปที่ 3 แสดงเอกสารจองตำแหน่วงโคจรของดาวเทียมไทยคม 7 ที่ตำแหน่งววงโคจร 120 องศาตะวันออก จาก: วารสารวิชาการวิชาการ กสทช. ประจำปี 2562 หน้า 85
THAICOM-A3 ใช้งานที่ย่านความถี่ 3702-6423 และ 5927- 6423 MHz [6, 7]
THAICOM-A3B ใช้งานที่ย่านความถี่ 3567-4178, 12210-12518.1, 14001.8-14328.3, และ 6411.55-6418.45 MHz [8, 9]
และ THAICOM-N3 ใช้งานที่ย่านความถี่ 3400-4200, 5850-6725 MHz [10, 11] ตามลำดับ

จากข้อมูลดังกล่าวดาวเทียมไทยคม 7 จึงมีอยู่จริงและเป็นดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทย แล้วเพราะเหตุใดดาวเทียมไทยคม 7 จึงไม่มีหมายเลขนอแร็ดประจำดาวเทียมนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าค้นหาคำตอบต่อไป

เพื่อที่จะตอบคำถามว่า หมายเลขนอแร็ดประจำดาวเทียมไทยคม 7 หายไปไหน ได้อย่างครบถ้วนนั้นจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของการพัฒนาดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ผู้เขียนจึงได้สรุปเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมไทยคม 7 เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาดังนี้:

• เดิมที่ประเทศไทยไม่มีดาวเทียมเป็นของตัวเอง จึงเช่าดาวเทียมปาลาป้าพีบีสองของ อินโดนีเซีย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระราชดำริว่าประเทศไทยควรมีดาวเทียมสื่อสารเป็นของตนเอง และได้มีความพยายามของรัฐบาลในการสนองพระราชดำรินี้ ท้ายที่สุดได้พระราชทานนามดาวเทียมของไทยว่า ไทยคม

• ดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย คือ ดาวเทียมไทยคม 1 ขึ้นสู่วงโคจรที่พิกัด 78.5 องศาตะวันออก เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2536 มีอายุการใช้งานประมาณ 15 ปี (ถึง พ.ศ. 2551)

• ต่อมาเมื่อประเทศไทยได้รับสิทธิการใช้วงโคจรที่ 120 องศาตะวันออก จึงย้ายมามาประจำอยู่ที่ตำแหน่งวงโคจรนี้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540 จึงเรียกชื่อใหม่ว่า ดาวเทียมไทยคม 1A ให้บริการในย่านความถี่ C-Band Regional Beams ครอบคลุมพื้นที่เอเชียตะวันออกและ Ku-Band Spot Beam ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทย

• ต่อมากระทรวงไอซีทีได้จัดสรรตำแหน่งวงโคจรที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกให้แก่ดาวเทียมไทยคม 4 แต่ต่อมาภายหลังขั้นตอนการประสานงานความถี่แล้ว ดาวเทียมไทยคม 4 สามารถแจ้งจดทะเบียนได้ที่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก

• ดังนั้นเมื่อดาวเทียมไทยคม 1A ปลดระวางลงในวันที่ 18 มกราคม 2553 จึงทำให้วงโคจรที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกไม่มีดาวเทียมประจำการอยู่ ซึ่งตามกฎข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ประเทศไทยจะต้องจัดให้มีดาวเทียมใช้งาน ณ ตำแหน่งดังกล่าวภายใน 2 ปี เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้งานตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจของโลก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรให้ทันในวันที่ 17 มกราคม 2555

• แนวทางในการดำเนินการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก มี 2 แนวทาง แต่เนื่องจากแนวทางที่ 1 ซึ่งเป็นการจัดหาดาวเทียมของผู้ประกอบการต่างประเทศมาประจำอยู่ที่ตำแหน่งวงโคจรนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จึงได้ดำเนินงานตามแนวทางที่ 2 โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

หนึ่ง) ผู้ประกอบการด้านดาวเทียมจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ จะนำดาวเทียม Interim Satellite มาประจำที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกเป็นการชั่วคราวภายในสิ้นปี 2554 ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขเวลาที่กำหนดเพื่อรักษาสิทธิวงโคจรของประเทศไทย

สอง) ผู้ประกอบการด้านดาวเทียมจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ มีแผนในการจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นใช้งานที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกอยู่แล้ว จึงมีแผนที่จะนำดาวเทียม Follow-on Satellite ขึ้นประจำที่ตำแหน่งวงโคจรดังกล่าวภายในปี 2557

สาม) จากการเจรจากับผู้ประกอบการด้านดาวเทียมจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดโอกาสให้บริษัทไทยคมมีช่องสัญญาณดาวเทียมบนดาวเทียมดวงนี้ได้ โดยจะแบ่งส่วนการเป็นเจ้าของดาวเทียมกับผู้ประกอบการด้านดาวเทียมจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ

สี่) เนื่องจากผู้ประกอบการด้านดาวเทียมจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ มีความต้องการที่จะให้บริการในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นหลัก ดังนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการให้บริการแก่ลูกค้าของตนทั้งบนดาวเทียม Interim Satellite และบนดาวเทียม Follow-on Satellite ภายใต้เอกสารจองตำแหน่วงโคจร (Satellite Network Fillings) และภายใต้การอนุญาต (License) ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อปฏิบัติตามกฏระเบียบของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ห้า) บริษัทไทยคมสามารถใช้งานย่านความถี่ที่ตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก ภายใต้เอกสารจองตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทย ในจำนวนไม่น้อยกว่าที่ประเทศไทยสามารถใช้งานได้อยู่เดิม คือ ไม่น้อยกว่าการใช้งานของดาวเทียมไทยคม 1A ในย่าน C-Band จำนวน 12 วงจรดาวเทียม (transponder)

หก) ดาวเทียม Interim Satellite มีชื่อเรียกว่า ASIASAT-2 ส่วนดาวเทียม Follow-on Satellite มีชื่อเรียกว่า ASIASAT-6 และในวันที่ 7 กันยายน 2557 บริษัทไทยคมได้แจ้งอย่างเป็นทางการว่าได้ดำเนินการจัดส่ง ดาวเทียมไทยคม 7 หรือดาวเทียม ASIASAT-6 ขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ พร้อมทั้งแจ้งยืนยันลักษณะเฉพาะของดาวเทียม (Satellite Specification) ต่อสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) แล้ว

ดังนั้นเราจึงได้ข้อสรุปแล้วว่า ดาวเทียมไทยคม 7 คือวงจรดาวเทียม (transponder) 14 คอนโดแซท ในดาวเทียม ASIASAT 6 ที่มีหมายเลขนอแร็ด คือ 40141 [12] ครับ ดังนั้นดาวเทียมไทยคม 7 จึงไม่ได้หายไปไหน หากแต่ย่านความถี่ Ku-Band ที่เคยมีอยู่ในดาวเทียมไทยคม 1A อาจจะหายไปจากดาวเทียมไทยคม 7

เราจึงตอบคำถามได้ว่าดาวเทียมไทยคม 7 ไม่ได้หายไปไหน แต่อยู่ในนาม ASIASAT 6 และลงหมายเลขนอแร็ด 40141 ของบริษัทเอเชียแซท สัญชาติจีน มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง

เรามาตอบคำถามที่สองกัน วงโคจรดาวเทียมไทยคม 7 ที่ 120 องศาตะวันออกยังเป็นสมบัติของชาติหรือไม่

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดามเทียมเป็นสมบัติของชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2560 มาตรา 60 วรรคหนึ่งและวรรคสองได้บัญญัติเอาไว้ว่า

รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน

การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

เนื่องจากประเทศไทยได้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติมาจาก International Telecommunication Union: ITU และเนื่องจากหมายเลขนอแร็ด 40141 ของบริษัทเอเชียแซท ซึ่งมีสัญชาติจีน เราจึงค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยความสงสัยยิ่งว่า เมื่อหมายเลขนอแร็ดอันเป็นอัตลักษณ์ส่วนบุคคลของดาวเทียมตกอยู่ในสัญชาติจีนแล้ว เอกสารอื่นๆ ของ ITU อันเป็นหน่วยงานระดับนานาชาติที่ดูแลวงโคจรดาวเทียมของทุกประเทศทั่วโลกได้บันทึกไว้ว่าอย่างไร เราได้ไปค้นเอกสารรายงานประจำปี 2016 ของ ITU ในหน้า 85 พบว่าบันทึกชื่อดาวเทียมไว้ว่าเป็น ASIASAT6 แต่บันทึกไว้ในวงเล็บว่า THAICOM7 แต่ที่สำคัญคือบันทึกชื่อ operator หรือผู้ดำเนินการดาวเทียมไว้ว่าเป็น Asia Satellites Telecommunication Co., Ltd.

การที่ทั้งหมายเลขนอแร็ดและการบันทึกในเอกสารของ ITU ระบุว่า operators เป็นของบริษัทสัญชาติจีน เป็นเหตุที่ทำให้เราสงสัยว่า สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมไทยคม 7 ที่ 120 องศาตะวันออก น่าจะตกเป็นของจีนไปเรียบร้อยแล้ว และน่าจะเป็น Asia Satellites Telecommunication Co., Ltd. ที่เป็นคนดำเนินการติดต่อหรือขอใช้วงโคจรกับ ITU ไม่ใช่ไทยคมหรือรัฐบาลไทยโดยกระทรวง DES เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก หากสิ่งที่เราสงสัยและสืบค้นเป็นจริง แปลว่าประเทศไทยได้สูญเสียสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของไทยคม 7 ที่ 120 องศาตะวันออกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับว่าเป็นการสูญเสียสมบัติของชาติไปอย่างน่าใจหาย



รูปที่ 4 ตารางชื่อดาวเทียมและ operators จากรายงานของ ITU ปี 2016
เรามาลองพิจารณาประเด็นคำถามที่สาม ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยได้ใช้ประโยชน์อะไรจากดาวเทียมไทยคม 7 หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 วรรคสองได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

เมื่อมาพิจารณาดาวเทียมไทยคม 7 หรือ ASIASAT6 ซึ่งไทยคมจ้าง Asia Satellites Telecommunication Co., Ltd.ยิงในราคาค่าจ้างประมาณ 170 ล้านเหรียญ และให้ ASIASAT6 ใช้ 14 Transponder ส่วนไทยคมใช้อีก 14 Transponder ที่เหลือ

เมื่อเราค้นข่าวเราพบว่ากลุ่มบริษัททีวีดิจิทัลของอินเดียชื่อ Hinduja Ventures Ltd. ได้เข้ามาเช่า 14 Transponders ที่เหลือจนเต็มทั้งหมด 100% ในนามของ Hinduja Group’s Grant Investrade Ltd.
ตามที่ระบุในแหล่งข่าวด้านล่างนี้
https://www.thaicom.net/wp-content/uploads/2019/07/20151119-thcom-pr01-en.pdf
https://www.realwire.com/releases/Hinduja-Groups-HITS-service-on-THAICOM-7
https://www.indiantelevision.com/cable-tv/msos/hinduja-group-s-hits-to-be-available-on-thaicom-7-151114

และเมื่อพิจารณาจากรายงานประจำปี 2016 ของ ITU ในหน้า 101 ก็พบว่าพื้นที่ให้บริการครอบคลุม (Area of coverage) ในตารางของตำแหน่งวงโคจรที่ 120 องศาตะวันออก มีแต่เอเชียตะวันตก อินเดีย เอเชียตะวันออก แต่ไม่พบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไม่พบพื้นที่ประเทศไทย

ดังนั้นจากข่าวที่ปรากฏหากเป็นความจริง ดาวเทียมไทยคม 7 มี 28 transponder ให้ จีนคือ ASIA Satellite ใช้ไป 14 และให้บริษัททีวีดิจิทัลในอินเดียใช้ไปอีก 14 transponder จนหมด จึงไม่น่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่เป็นความมั่นคงของรัฐ และไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ และไม่ได้ให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วยเลย อันน่าจะเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 60

กล่าวโดยสรุปดังนี้

หนึ่ง ดาวเทียมไทยคม 7 ไม่ได้หายไปไหน ปรากฏในสากลในนามของ ASIASAT 6 บริษัทสัญชาติจีน ที่ตั้งในฮ่องกง

สอง ตามหลักฐานเท่าที่สืบค้นได้ทำให้น่าสงสัยว่าสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรไทยคม7 ที่ 120 องศาตะวันออกน่าจะเสียให้จีนไปแล้ว ตามหมายเลขนอแร็ดของ ITU และเอกสารอื่นๆ ของ ITU

สาม ดาวเทียมไทยคม 7 ไม่ได้เกิดประโยชน์สาธารณะอะไร ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและประชาชนชาวไทย เพราะประชาชนชาวไทยไม่ได้ใช้งาน ตามที่สืบค้นข่าวได้มา และหากข่าวที่สืบค้นมาเป็นจริงข้อนี้เป็นการกระทำที่น่าจะขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 อย่างชัดเจนที่สมควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ

รูปที่ 5 ตารางพื้นที่ให้บริการครอบคลุมของดาวเทียมและวงโคจร จากรายงานของ ITU ปี 2016
อ้างอิงจาก:
1. https://proj14.ipst.ac.th/m4-6-sci-basic/earth-science/
2. https://proj14.ipst.ac.th/m4-6-earth/m6-earth-book5/
3. https://en.wikipedia.org/wiki/Satellite_Catalog_Number
4. http://www.lesa.biz/space-technology/satellite/orbits
5. https://www.itu.int/en/un/Pages/un-agency.aspx
6. https://www.itu.int/net/ITU-R/space/snl/bresult/radvance.asp?sel_satname=THAICOM-A3
7. https://www.itu.int/online/snl/removal_details.sh?ntc_id=92520021
8. https://www.itu.int/net/ITU-R/space/snl/bresult/radvance.asp?sel_satname=THAICOM-A3B
9. https://www.itu.int/online/snl/removal_details.sh?ntc_id=95520135
10. https://www.itu.int/net/ITU-R/space/snl/bresult/radvance.asp?sel_satname=THAICOM-N3
11. https://www.itu.int/online/snl/removal_details.sh?ntc_id=105520060
12. https://www.n2yo.com/satellite/?s=40141



กำลังโหลดความคิดเห็น