xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เจ้ามือมะกัน” กินรวบ “สงครามยูเครน” “อียู” ลำบาก “รัสเซีย” เจ็บ “ประชาชน” รับกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซียส่อแววยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ โดยกองทัพรัสเซียยังคงเปิดฉากยิงถล่มเมืองใหญ่ๆ ของยูเครนต่อเนื่อง หลังการเจรจาระหว่างผู้แทน 2 ประเทศที่ชายแดนเบลารุส-ยูเครนรอบแรกไร้ผล ขณะที่กระแสคว่ำบาตรที่กว้างขวางและครอบคลุมจากนานาชาติส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลรัสเซียอ่อนยวบลงไปแล้วถึง 1 ใน 3 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์เริ่มออกมาคาดการณ์ทิศทางของการสู้รบครั้งนี้ว่าจะบานปลายจนถึงขั้นกลายเป็น “สงครามนิวเคลียร์” หรือไม่

ท่ามกลางสถานการณ์สงครามที่ยังไม่รู้จุดจบ ถ้าหากถามว่า “ใครได้-ใครเสีย” จากการบุกยูเครนของรัสเซีย

ตอบโดยไม่ลังเลได้เลยว่า “ประชาชนชาวยูเครน” คือผู้ที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียจากสงครามที่เกิดขึ้นมากที่สุด บ้านเมืองถูกทำลาย ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง คนยูเครนนับเป็นล้านๆ คนต้อง “อพยพ” ลี้ภัยสงครามไปยังประเทศอื่น โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ คาดการณ์ว่า มีประชาชนอพยพจากยูเครนแล้วกว่า 8.7 แสนคน และอาจพุ่งเป็น 1 ล้านคนในเร็วๆ นี้ หากสถานการณ์ยังไม่สงบ และแน่นอนว่า ชีวิตของพวกเขาจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม หรือถ้าจะมีก็ต้องใช้เวลานานโขเหมือนเช่นที่ “คนอิรัก” ได้รับจากการก่อสงครามของสหรัฐอเมริกา

รองลงมาก็คือ “ประชาชนชาวอียู” ตลอดรวมถึง “ประชาคมโลก” ที่ต่างต้องแบกรับความสูญเสียเช่นกัน ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน ธุรกิจการค้า การเดินทางและราคาน้ำมัน-ราคาพลังงานที่ขยับแพงขึ้นเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ “คนรัสเซีย” เองก็ต้องตกระกำลำบากจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นไม่แพ้กัน

ตรงกันข้าม ถ้าหากถามว่า “ใครได้ประโยชน์” มากที่สุด ก็อาจจะฟันธงได้เลยว่าคือ “สหรัฐอเมริกา” ดังที่หลายคนใช้คำว่า “เจ้ามือกินรวบ” เพราะแม้จะได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากสถานการณ์โลก ทว่า ก็ได้รับผลดีในการสกัดรัสเซียจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติต่างๆ ในยุโรปไปด้วย ยิ่งหากย้อนดูประวัติศาสตร์ก็จะยิ่งเห็นความจริงในข้อนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการค้าอาวุธสงครามและอำนาจการต่อรองที่เพิ่มมากขึ้น

สหรัฐฯ ไม่ได้ใช้พลังงานจาก “รัสเซีย” ต่างจากอียูที่ต้องพึ่งพาการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดย “ก๊าซพรอม” (Gazprom) บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซียที่รัฐเป็นเจ้าของ เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของอียู

สหรัฐฯ ยังคงค้าขายกับอียูได้เหมือนเดิม เผลอๆ จะมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

เพราะสหรัฐฯ มิได้ต้องการแตกหักในประเทศที่ตัวเองไม่มีผลประโยชน์มากพออย่างยูเครน

ที่สำคัญคือ เมื่ออียูไม่ซื้อก๊าซจากรัสเซีย ก็อาจหมายถึงโอกาสในการขายของสหรัฐฯ ด้วย เพราะมีข่าวเป็นระยะว่ารัฐบาลสหรัฐกับอังกฤษกำลังหารือแผนส่งก๊าซให้ยุโรปทดแทนส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งจากการตรวจสอบสถิติการนำเข้า LNG ชี้ชัดว่าปี 2019-20 อียูนำเข้าจากกาตาร์มากสุด รองมาคือ ไนจีเรีย รัสเซียกับสหรัฐฯ เป็นลำดับ 3 กับ 4 ด้วยจำนวนใกล้เคียงกัน ปี 2020 อียูลดนำเข้าจากกาตาร์และเพิ่มการนำเข้าจากรัสเซียกับสหรัฐฯ ซึ่ง Nord Stream 2 น่าจะทำให้รัสเซียขายได้มากขึ้นอีก กล่าวคือสามารถส่งก๊าซโดยตรงจากรัสเซียสู่เยอรมนีปีละ 55,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมกับ Nord Stream (อันเดิม) จะส่งก๊าซถึง 110,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ในขณะเดียวกันแนวทางดังกล่าวก็เท่ากับตัดทอนเศรษฐกิจรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกพลังงานเป็นรายได้หลัก หรือกล่าวได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย

แน่นอน ไม่มีใครชอบสงครามเพราะมีแต่ทำให้เกิดความสูญเสีย แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า โลกไม่เคยว่างเว้นจากสงคราม เล็กบ้างใหญ่บ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไป

กล่าวสำหรับรัสเซีย ในขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน เชื่อมั่นในแสนยานุภาพของทัพรัสเซียว่าสามารถที่เอาชนะยูเครนได้ไม่ยากเย็น ทว่า การตัดสินใจของเขาทำให้ “ประชาคมโลก” ที่รับไม่ได้กับการก่อสงครามครั้งนี้ ดังจะเห็นได้จากการที่ประชุมฉุกเฉินของสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ลงมติในช่วงกลางดึกของคืนวันพุธที่ 2 มีนาคม 2565 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 141 ต่อ 5 เสียง จากจำนวนสมาชิก 193 ประเทศ เรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครน และถอนกองทัพทั้งหมดออกไปในทันที ซึ่งถือเป็น “การเรียกประชุมฉุกเฉินครั้งแรก” นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา

ในบรรดาชาติที่เรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังออกจากยูเครน 141 ประเทศนี้ รวมถึง “ประเทศไทย” ด้วย ขณะที่ประเทศที่โหวตคัดค้านมติครั้งนี้ประกอบด้วย 5 ประเทศ นอกจาก “รัสเซีย” แล้ว ยังมี “เบลารุส คิวบา เกาหลีเหนือ และซีเรีย” และมี 35 ประเทศงดออกเสียง นำโดย “จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ และเวียดนาม”

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ต่อสภาผู้แทนราษฎรที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. โดยกล่าวประณามผู้นำรัสเซียอย่างรุนแรง กรณีส่งทหารรุกรานยูเครน
แม้เบลารุสและซีเรียจะประณามมติดังกล่าว และถูกมองว่าพวกเขาเป็น “พันธมิตรรัสเซีย” แต่ถ้าหากมองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ก็อาจใช้คำว่า “สองมาตรฐาน” กับมติของ UNGA ที่ออกมาได้เช่นกัน เพราะบรรดาประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ต่างก็เคยรุกรานลิเบีย, อิรัก และอัฟกานิสถาน มาก่อนเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังทำให้รัสเซียต้องเผชิญกับ “สงครามเศรษฐกิจ” ครั้งใหญ่ที่สุดในหลากหลายรูปแบบ โดยสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักรได้ประกาศตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นเครือข่ายการเงินที่เชื่อมโยงธนาคารและสถาบันกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 ประเทศ โดยมาตรการนี้จะส่งผลให้ภาคธุรกิจรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้แบบเรียลไทม์ ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐฯ และพันธมิตรอีกหลายชาติยังได้ประกาศมาตรการ “ปิดน่านฟ้า” ห้ามเครื่องบินรัสเซียผ่านเข้าออกด้วย

ทั้งนี้ การตัดรัสเซียออกจากระบบสื่อสารระหว่างธนาคารอย่าง SWIFT ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับรัสเซีย เพราะระบบ SWIFT ที่เชื่อมโยงธนาคารมากกว่า 11,000 แห่งทั่วโลกเข้าด้วยกันในการทำธุรกรรมนับล้านล้านดอลลาร์ระหว่างธนาคาร มีความสำคัญกับรัสเซียอย่างยิ่ง เพราะเป็นกลไกสำคัญในการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ไม่เพียงเท่านั้น บรรดาบริษัทธุรกิจชั้นนำต่างร่วมวงบอยคอตรัสเซียกันถ้วนหน้า

แอปเปิล อิงค์ แถลงเมื่อวันอังคาร (1 มี.ค.) ว่าได้หยุดจำหน่ายไอโฟนและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในรัสเซีย พร้อมถอดแอปฯ สื่อรัสเซียอย่าง Sputnik News และ RT ออกจากแอปสโตร์ ขณะที่ Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก, Alphabet Inc บริษัทแม่ของกูเกิล, Youtube รวมไปถึง TikTok ต่างมีมาตรการบล็อกแอปฯ ของสื่อ RT และ Sputnik ในสหภาพยุโรป

โบอิ้ง ค่ายอากาศยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศระงับให้บริการด้านอะไหล่ การบำรุงรักษาและการสนับสนุนทางเทคนิคให้แก่สายการบินของรัสเซีย ขณะที่ค่ายยานยนต์ระดับโลกไม่ว่าจะเป็นฟอร์ด, บีเอ็มดับเบิลยู, ฮอนด้า, มาซด้า รวมถึงฮาร์เลย์-เดวิดสัน พร้อมใจสั่งระงับการปฏิบัติงานในรัสเซีย และหยุดส่งออกยานพาหนะไปยังรัสเซีย

บทลงโทษจากนานาชาติเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างหนัก โดยค่าเงินรูเบิลนั้นร่วงหนักถึง 30% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 110 รูเบิลต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 2 มี.ค. จากเดิมซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ 75 รูเบิลต่อดอลลาร์ ก่อนที่รัสเซียจะประกาศรับรองเอกราชให้แก่ 2 แคว้นกบฏยูเครนตะวันออก

 ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย
ผู้นำรัสเซียเองก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะบรรเทาผลกระทบจากบทลงโทษของตะวันตก เช่น ออกกฤษฎีกาห้ามประชาชนนำเงินสดสกุลต่างชาติออกนอกประเทศเกินกว่า 10,000 ดอลลาร์ โดยเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค., บังคับให้ผู้ส่งออกรัสเซียต้องเทขาย 80% ของรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ, ห้ามมิให้ประชาชนทำสัญญาปล่อยกู้เงินตราต่างประเทศให้แก่บุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้พำนัก (non-residents) รวมถึงนำเงินตราต่างประเทศเข้าไปฝากไว้กับบัญชีธนาคารต่างชาติ เป็นต้น
และคำถามเดิมๆ กลับมาอีกครั้งว่า แล้วทำไมอยู่ดีๆ รัสเซียก็บุกยูเครน เพราะการที่ประเทศหนึ่งจะตัดสินใจใช้กำลังทางการทหารนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในยุคนี้ เนื่องจากผลกระทบที่ได้รับกลับคืนมานั้นมีมากมายเหลือที่จะประเมินค่าเป็นตัวเงินตัวทองได้

เหตุที่รัสเซียมีความอ่อนไหวในเรื่องยูเครนก็เพราะยูเครนถือเป็นรัฐกันชนกับยุโรป ถือเป็นรัฐกันชนสำคัญในการต้านอิทธิพลจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ โดย “จุดแตกหัก” อยู่ตรงการที่ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ โซเลนสกี ต้องการนำยูเครนเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ ด้วยความยินดีของสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ในนาโต้ แต่รัสเซีย โดยประธานาธิบดีปูติน ไม่อาจยอมได้ เพราะหากยูเครนเป็นสมาชิกของนาโต้ ก็หมายความว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถตั้งฐานยิงขีปนาวุธในยูเครนได้ อันเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซีย

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัสเซียไม่พอใจก็คือในปี 1989 ประธานาธิบดี Mikhail Gorbachev แห่งรัสเซียยอมให้มีการรวมประเทศเยอรมันตะวันตก กับเยอรมันตะวันออกเข้าด้วยกัน และได้มีการทำลายกำแพงเบอร์ลินที่สร้างขึ้นหลังสงครามโลกเพื่อแยกเยอรมันเป็น 2 ประเทศเสีย โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่า NATO จะไม่รับสมาชิกเพิ่มอีก แต่ต่อมา NATO กลับรับสมาชิกเพิ่มอีกหลายประเทศ และกำลังจะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอีก 1 ประเทศ เท่ากับว่า สหรัฐอเมริกาและ NATO ไม่ได้รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับรัสเซียแต่อย่างใดเลย แล้วครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาและ NATO กลับไม่พูดถึงคำสัญญาเดิมต่อรัสเซียเลย มีแต่เรียงแถวออกมาประสานเสียงประณามรัสเซีย บางคนถึงกับประณามว่า เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนเลยทีเดียว

“ดังนั้นการทำให้สงครามยุติลงโดยเร็ว ไม่ขยายไปเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่อาจเป็นสงครามนิวเคลียร์ความจริงไม่ยากเลย เพียงแต่ยูเครนประกาศว่าจะไม่เข้าเป็นสมาชิกของ NATO สหรัฐยุติการคว่ำบาตรรัสเซีย ส่วนเรื่อง Donetsk และ Luhansk ขอให้มีการตั้งโต๊ะเจรจากัน ถ้าทำได้ ทุกอย่างก็จบ หรืออย่างน้อยก็จบได้ชั่วคราว เพียงแต่สหรัฐอเมริกาและยูเครนจะยอมทำเช่นนั้นหรือไม่เท่านั้น” รศ.หริรักษ์ ให้ความเห็น

ขณะที่ “กษิต ภิรมย์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และและอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย วิเคราะห์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “วันนี้ที่สหรัฐฯ ยุโรปตะวันตก ประณามรัสเซียว่า การปฏิบัติการทางการทหารในยูเครน ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ก็ต้องถามว่า ต้นทางมันคืออะไร ซึ่งต้นทางก็คือข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียต ระหว่างบุชผู้พ่อ กับกอร์บาชอฟ ว่าจะไม่มีการขยายนาโต้ หลังเยอรมนีรวมประเทศและยังเป็นสมาชิกนาโต้อยู่ หลังจากนั้นก็มีข้อตกลงคู่ขนาน ที่ต้องมีการลดอาวุธ ทั้งของโซเวียต และของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยูในยุโรป ซึ่งช่วงนั้นก็ได้มีการลดอาวุธกันไปตามข้อตกลง แต่เมื่อสหรัฐฯ และยุโรป ยังไม่ยอมจบ ยังสนับสนุนให้มีการขยายตัวขององค์การนาโต้ และสหภาพยุโรป สิ่งที่ตามมาก็คือสถานการณ์ที่ร้อนระอุในวันนี้”

 ประธานาธิบดีเชเลนสกี แห่งยูเครน
ทั้งนี้ ผู้แทนยูเครนและรัสเซียได้เปิดเจรจาครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งก็จบลงแบบไม่มีข้อสรุป หลังจากที่ประธานาธิบดี ปูติน ได้ยื่นเงื่อนไขให้ยูเครนต้องพิจารณาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่ชอบธรรมตามกฎหมายของรัสเซียโดยปราศจากข้อแม้, รับรองอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเหนือไครเมีย, ลดทอนเพิกถอนความเป็นรัฐทหารและความเป็นนาซี รวมถึงรับประกันว่ายูเครนจะดำรงสถานะเป็นกลาง
แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะยังคงเปิดโอกาสในเจรจารอบสอง แต่โอกาสที่จะคลี่คลายสถานการณ์ด้วยวิธีเจรจายังดูริบหรี่เต็มทน

เมื่อตัดภาพกลับไปที่นักแสดงตลกที่ผันตัวเองมาเป็น “ประธานาธิบดียูเครน” อย่าง “เซเลนสกี” นั้น แม้ภาพที่ออกมาเขาประกาศสู้ยิบตา แต่ถ้าหากพิจารณาถึงความสูญเสียที่ประเทศและประชาชนชาวยูเครนต้องแบกรับ ก็ทำให้เกิดคำถามเช่นกันว่า คุ้มกันหรือไม่กับการตัดสินใจทางการเมืองเช่นนั้น

หลังจากไม่มีความช่วยเหลือทางทหารจากอียูและสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศชัดว่า จะไม่ส่งทหารอเมริกันเข้าร่วมในสงครามที่ยูเครน “เซเลนสกี” ออกมาเรียกร้องให้ชาวต่างชาติร่วมสมัครเป็น “กำลังพลอาสาสมัครนานาชาติ” เพื่อช่วยยูเครนต่อสู้กับกองกำลังรัสเซียผู้รุกราน ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่าพลเมืองญี่ปุ่น 70 คน ซึ่งรวมถึงอดีตสมาชิกกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น 50 คน และอดีตสมาชิกกองทหารต่างด้าวของฝรั่งเศส 2 คน ได้ยื่นใบสมัครที่จะไปช่วยยูเครนรบ ส่วนที่ประเทศไทยก็มีผู้ใช้ทวิตเตอร์เผยแพร่ภาพคนไทยที่เดินทางไปติดต่อสถานทูตยูเครนประจำประเทศไทย เพื่อสมัครเป็นทหารอาสาเช่นกัน

ถ้าจะว่าไป ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้คือ “การเจรจา” ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของผู้นำยูเครนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์ชัดแล้วว่า “เซเลนสกี” โปรอียู มากกว่ารัสเซีย ทั้งๆ ที่ถ้าหากชั่งน้ำหนักกันแล้ว ประธานาธิบดียูเครนควรจะ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นสงครามที่ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนของตัวเอง

ภาพเหตุการณ์ขณะขีปนาวุธรัสเซียพุ่งเข้าถล่มที่ทำการรัฐบาลในเมืองคาร์คีฟ (Kharkiv) เมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน เมื่อวันที่ 1 มี.ค.

ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 2 มี.ค. คาดว่ามีพลเรือนลี้ภัยสงครามออกนอกยูเครนแล้วเกือบ 875,000 คน
แน่นอน รัสเซียคงไม่ชนะง่ายๆ และคงไม่สามารถ “เทกโอเวอร์” ประเทศนี้ได้ในเร็ววัน แต่ถามว่า “ปูติน” ได้วิเคราะห์ฉากทัศน์ดังกล่าวเอาไว้แล้วหรือไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ก็ต้องตอบว่า น่าจะอยู่ในการคาดการณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่อาจคาดไม่ถึงว่าจะเจอการตอบโต้ทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขนาดนี้

กระนั้นก็ดี ในความเคลื่อนไหวที่ยิ่งกระพือความหวาดหวั่นสงครามนิวเคลียร์ สำนักข่าว RIA ของรัสเซียได้เผยแพร่ถ้อยแถลงของ เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งระบุเมื่อวันพุธ (2 มี.ค.) ว่า หากสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นสงครามที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการทำล้ายล้างอย่างรุนแรงต่อมวลมนุษยชาติ

ลาฟรอฟ ย้ำว่า รัสเซียเองก็จะเผชิญ “อันตรายอย่างแท้จริง” หากปล่อยให้เคียฟได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จากตะวันตก

ผู้นำรัสเซียมีคำสั่งเมื่อวันอาทิตย์ (27 ก.พ.) ให้กองกำลังป้องปรามทางนิวเคลียร์ของรัสเซียเตรียมพร้อมในระดับสูง ซึ่งความหมายในทางปฏิบัติยังไม่เป็นที่ชัดเจน เพราะโดยปกติแล้วกองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียและสหรัฐฯ ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ที่ติดตั้งประจำการทางภาคพื้นดินและในเรือดำน้ำ ซึ่งมีการระมัดระวังและเตรียมพร้อมสำหรับการสู้รบตลอดเวลาอยู่แล้ว

รัฐมนตรีกลาโหม เบน วอลเลซ ของอังกฤษ เชื่อว่าประกาศดังกล่าวของ ปูติน เป็นเพียง “การขู่” เท่านั้น ขณะที่ กอร์ดอน โคเรรา ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงของ BBC ออกมาวิเคราะห์ว่า ไม่ว่า ปูติน จะมีเจตนาเพียงแค่ขู่ หรือตั้งใจจะนำอาวุธทำลายล้างสูงออกมาใช้งานจริง ก็ล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการ “เข้าใจผิด” ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนถึงขั้นควบคุมไม่ได้

ถึงตรงนี้ บทสรุปที่ได้ก็คือ ทุกประเทศเจ็บกันถ้วนหน้า และเจ็บกันอีกนาน จะมีก็แต่สหรัฐฯ เท่านั้นที่จะ “กินรวบ” ในฐานะ “เจ้ามือ” เหมือนเดิม ทั้งๆ ที่คือชนวนเหตุของความวุ่นวายทั้งหมด.




กำลังโหลดความคิดเห็น