ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การวางแผนเปลี่ยนผ่านให้โรคโควิด-19 จากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น ถือเป็นจังหวะก้าวสำคัญต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ทว่า อุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวที่ติดลบดิ่งลึกถึงจะมีสัญญาณชีพดีขึ้นแต่ยังไม่พ้นโคม่า ดูจาก THAI และ BA รวมถึง AAV ต่างดิ้นรนหนีตายจากผลขาดทุนยับเยิน ส่วนบรรดาโรงแรมที่อึดไม่ไหวต่างตัดใจขายทิ้งกิจการ เข้าทางขาใหญ่ลุยช้อปเร่งปิดดีลเติมเต็มพอร์ตลงทุน ขณะที่เป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคนในปีนี้ของ “รัฐบาลลุง” ภายใต้เงื่อนไขยุบยับอาจเป็นได้แค่ฝันลมๆ
การระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมา ทำเอาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องหดตัวอย่างรุนแรง สะท้อนจากการขาดทุนของสายการบินต่างๆ ซึ่งเพิ่งทยอยประกาศผลดำเนินงานของปี 2564 ทั้ง การบินไทย (THAI) บางกอกแอร์เวย์ส (BA) แอร์เอเชีย (AAV) ล้วนยังอยู่ในไอซียู สาเหตุหลักยังคงมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บางช่วงต้องหยุดบินจากมาตรการจำกัดการเดินทาง รวมถึงมาตรการคัดกรองผู้โดยสารจากต่างประเทศเข้มข้น และแผนชะลอการเปิดประเทศช่วงปลายปี รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
เริ่มจาก บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ปี 2564 ทำรายได้เพียง 5,668.5 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 44.5 ผลขาดทุนสุทธิ 8,599.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขาดทุนสุทธิจากการยกเลิกสัญญาเช่ากองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย 5,434.7 ล้านบาท
ขณะที่ผลขาดทุนจากการดำเนินงานในปี 2564 เท่ากับ 2,532.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับปี 2563 ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 8,145.1 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 45.4 ยอดผู้โดยสาร 536,304 คน ลดลงร้อยละ 71.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
เช่นเดียวกันกับ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ผลประกอบการ ปี 2564 ตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ 6,647 ล้านบาท มีรายได้รวม 4,508 ล้านบาท แม้ว่าช่วงปลายปี 2564 ไทยแอร์เอเชียกลับมาเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศสู่มัลดีฟส์และกัมพูชาอีกครั้ง ตามนโยบายเปิดประเทศ Test & Go แต่หลังรัฐบาลระงับโครงการอีกครั้ง ทำให้ยอดผู้โดยสาร AAV ลดลง ตลอดปี 2564 มีจำนวนอยู่ที่ 2.93 ล้านคน โดยมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 68
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย ถึงกับบอกว่าปี 2564 เป็นปีที่ยากลำบากจากผลกระทบโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3 ที่ต้องระงับการบินทุกเส้นทางชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาล ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่อง ต้องปรับโครงสร้างกิจการ ลดขนาดองค์กร หาเงินเพิ่มทุน 14,000 ล้าน เพื่อดำเนินกิจการให้ต่อเนื่อง และแสวงหาโอกาสลงทุนทุกทางที่เป็นไปได้ สำหรับปี 2565 บริษัทจะกลับมาบินในประเทศเต็มร้อย พร้อมกับเพิ่มเส้นทางบินระหว่างประเทศให้มากขึ้น ภายใต้เป้าหมายขนส่งผู้โดยสาร 12.3 ล้านคน
ฉายภาพมายังการบินไทย ซึ่งยังไม่หลุดพ้นจากวังวนสารพัดปัญหารุมเร้า ปรากฏผลการดำเนินงานขาดทุนเช่นเดิม โดยปี 2564 บริษัทการบินไทยและบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 19,702 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 15,712 ล้านบาท (44.4%) มีรายได้รวม 23,747 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 24,684 ล้านบาทหรือ 51% เนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 24,599 ล้านบาท (59.9%)
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิจำนวน 81,525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินและเงินลงทุน การปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 จำนวน 55,113 ล้านบาท
กล่าวโดยสรุปก็คือ ผลการดำเนินงานของการบินไทย ยังขาดทุนยับเยิน ส่วนที่โชว์ว่ากำไรเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และขายสินทรัพย์เป็นหลัก
THAI ยังรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยว่า กำลังอยู่ระหว่างการจัดหาสินเชื่อใหม่วงเงิน 25,000 ล้านบาทจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 รวมถึงจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดยบริษัทจะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายตามลำดับต่อไป
สำหรับความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมานั้น สาระสำคัญหลักๆ ที่ทำไปแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่น การปรับฝูงบินโดยลดจำนวนเครื่องบินเก่าที่ไม่คุ้มทุนจาก 116 ลำ เหลือ 58 ลำ, ปรับโครงสร้างธุรกิจ ปรับโครงสร้างลดขนาดองค์กร เหลือ 15,200 คน จาก 29,500 คน เมื่อปี 2562, ปรับลดค่าเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน และลดแบบเครื่องบินจาก 8 ประเภท เหลือ 4 ประเทศ ซึ่งตามโครงการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ ภายในปี 2565 บริษัทกำหนดเป้าลดค่าใช้จ่ายจำนวน 53,000 ล้านบาทต่อปี
ในส่วนการหารายได้ นอกจากค่าโดยสาร การขนส่ง การจำหน่ายสินค้าและอาหารอื่นที่นอกเหนือจากการจำหน่ายอาหารบนอากาศยาน ยังมีการจำหน่ายทรัพย์สินบางประเภท เช่น การขายหุ้นบริษัทย่อย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง อาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ ที่ดินและอาคารจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต และสำนักงานที่หลานหลวง ซึ่งดำเนินการสำเร็จแล้ว ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการขายคืออสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ และอากาศยานที่บริษัทไม่ประสงค์จะใช้งาน
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติรับทราบของครม.ด้วยว่า บริษัทการบินไทย กำลังเร่งจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบของสินเชื่อใหม่วงเงิน 25,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงิน ซึ่งเดิมประมาณการณ์วงเงินสินเชื่อไว้ 50,000 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565 คาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 นี้
สำหรับการปรับปรุงสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการนั้น นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (THAI) เผยว่า หลังจากรัฐบาลไม่มีนโยบายใส่เงินเข้ามา บริษัทได้จัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการโดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อให้เกิดภาระต่อภาครัฐ และปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้นกว่ากำหนดการเดิม เพื่อทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ก่อนเป้าหมายที่วางไว้ 5 ปี โดยการจัดหาแหล่งเงินกู้ จำนวน 25,000 ล้าน เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ มอบหมายให้ธนาคารกรุงเทพ เป็นอันเดอร์ไรเตอร์ คาดว่าจะลงนามในสัญญากู้เงินได้ภายในปลายเดือนมีนาคมนี้
“จำนวนเงินดังกล่าวเป็นวงเงินที่ต่ำกว่าแผนฟื้นฟู ที่ระบุว่าการบินไทยจะมีเงินใหม่เข้ามา 50,000 ล้านบาท โดยมาจากสถาบันการเงิน 25,000 ล้านบาท และภาครัฐให้การสนับสนุนอีก 25,000 ล้านบาท วันนี้รัฐบาลบอกชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถสนับสนุนวงเงินได้ เราจึงมีการแก้ไขแผน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเราพิจารณาแล้วว่าเงินกู้ 25,000 ล้านบาท น่าจะเพียงพอสำหรับการรองรับการเติบโตและออกไปจากแผนฟื้นฟู” นายปิยสวัสดิ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ
สำหรับวงเงินกู้ดังกล่าวเป็นการกู้จากธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ออมสิน และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โดยบริษัทได้นำสินทรัพย์ เช่น อาคารสำนักงาน อสังหาริมทรัพย์อื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเครื่องบิน มาเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน มูลค่ารวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเงินกู้จะนำไปใช้จ่าย ค่าชดเชยพนักงานที่สมัครใจลาออก ซึ่งเป็นภาระผูกพัน 12 เดือน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท ชำระคืนค่าตั๋วโดยสารให้กับผู้โดยสารที่ยังไม่ได้เดินทาง มูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน มูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท
ส่วนการปรับโครงสร้างทุน บริษัทจะประชุมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง และคาดว่าจะยื่นได้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้เช่นกัน โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง ยืนยันจะไม่สนับสนุนเงินกู้ แต่จะถือหุ้นการบินไทยอย่างน้อย 40% ต่อไป
นั่นเป็นสภาพของสายการบินที่ยังลอยคอรอวันรอดพ้นจากวิกฤต เช่นเดียวกันกับธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ที่ยังอยู่ในโหมดย่ำแย่ไปตามๆ กัน เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล ในฐานะนายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ระบุว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สูญโอกาสสร้างรายได้การท่องเที่ยวจากวิกฤตโควิด-19 เกือบ 5 ล้านล้านบาท เมื่อคิดหากอยู่ในภาวะปกติ ช่วงปี 2563-2564 ควรมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 6 ล้านล้านบาท คำนวณจากฐานรายได้ปี 2562 เป็นตัวตั้ง ดังนั้นปีนี้จึงไม่ควรเสียโอกาสอีกและควรยกเลิกระบบ Thailand Pass และ Test & Go ให้ Let it Go เพื่อช่วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด
ภาคเอกชนมองว่า หากรัฐบาลยังคงระบบ Thailand Pass และ Test & Go คัดกรองนักท่องเที่ยว มีกฎเกณฑ์หยุมหยิมยุ่งยาก เป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ว่าจะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวไทย 10 ล้านคน ในปี 2565 เป็นไปได้ยาก อาจจะได้เพียงแค่ 10% หรือเพียง 4 ล้านคน ของยอดนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน เมื่อปี 2562 เท่านั้น ไม่นับว่าสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม อย่างที่รู้กันว่าวิกฤตคือโอกาส เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทรุด ธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่เจ็บหนักจากพิษโควิด-19 นับเป็นโอกาสทองของกลุ่มทุนใหญ่สายป่านยาวที่ฉวยจังหวะเข้าช้อนซื้อของถูก กระแสข่าวขาใหญ่ลุยช้อปตั้งแต่ปีผ่านมาถึงบัดนี้มีปิดดีลกันไปแล้วรายหลาย
อย่าง กลุ่มเอราวัณ กรุ๊ป ที่ปรับโฟกัสการลงทุนใหม่ ได้ตัดขายโรงแรมบางแห่งออกไป ตามที่นายเพชร ไกรนุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW เผยว่า ช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มเอราวัณ ได้ขายโรงแรมในเครือไป 2 แห่ง คือ โรงแรมเรเนซองส์ สมุย และโรงแรมไอบิส สมุย บ่อผุด มูลค่ารวม 925 ล้านบาท และมีแผนขายเพิ่มอีก 3 แห่ง ภายในไตรมาส 2 ปี 2565 ประกอบด้วย โรงแรมไอบิส สไตล์ กระบี่, โรงแรมไอบิส กะตะ (ภูเก็ต) และโรงแรมไอบิส หัวหิน
การตัดขายโรงแรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่ในระยะยาวของเอราวัณ กรุ๊ป ที่หันมาโฟกัสกลุ่มโรงแรมราคาประหยัด ภายใต้แบรนด์ “ฮ็อป อินน์” ทั้งในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ภายใต้รูปแบบการลงทุนเองและแฟรนไชส์ โดยเอราวัณ กรุ๊ป วางเป้าหมายขยายโรงแรมฮ็อป อินน์ กว่า 100 แห่งในไทย ภายในปี 2568 จากสิ้นปี 2564 ที่มี 47 แห่งใน 36 จังหวัด และ 6 แห่งในฟิลิปปินส์ ถือเป็นการปรับพอร์ตการลงทุน เพิ่มสัดส่วนรายได้และกำไรจากฐานลูกค้าในประเทศ ลดพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับกลุ่มทุนที่เข้าซื้อโรงแรมของกลุ่มเอราวัณ คือ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ซึ่งแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้อนุมัติให้ บริษัท วัน ออริจิ้น ฮอสพิทัลลิตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เข้าทำสัญญาซื้อขายโรงแรม 3 แห่ง กับบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW และบริษัท เอราวัณ นาคา จำกัด ประกอบด้วย ไอบิส ภูเก็ต กะตะ, ไอบิส หัวหิน และไอบิส สไตล์ กระบี่ อ่าวนาง เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ โดยคาดว่าธุรกรรมการซื้อขายจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2565
บริษัท วัน ออริจิ้นฯ ประกาศแผน 5 ปี ลงทุน 2 หมื่นล้าน ในโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์รวมไม่น้อยกว่า 11 โครงการ โดยกลุ่มแรกคือ โรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ และกลุ่มที่สองคือ กลุ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ คืออาคารสำนักงานให้เช่าและพื้นที่ค้าปลีกรวม โดยโครงการที่เปิดให้บริการแล้วคือ โรงแรมสเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก ทองหล่อ, ฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีทส์ ศรีราชา แหลมฉบัง เป็นต้น
ส่วน กลุ่มสิงห์ ยังออกประกาศรับซื้อโรงแรมและรีสอร์ททั่วไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S โดยกลุ่มสิงห์สนใจรับซื้อโรงแรมติดทะเล ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว หรือหัวเมืองหลัก หัวเมืองรองตามเขตเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด ทั้งโรงแรมหรือรีสอร์ตระดับ 4- 5 ดาว ตั้งแต่ 80-250 ห้อง ทั้งโรงแรมหรือรีสอร์ตระดับ 3-3+ ดาว ที่อยู่ในหัวเมืองหลักและเมืองรองตามเขตเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มทุนใหญ่ของ เจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ไล่ซื้อโรงแรมผ่าน บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ภายใต้การบริหารของ นางวัลลภา ไตรโสรัส ลูกสาวของเจ้าสัว ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทเพิ่งอนุมัติจัดตั้งองค์กรการร่วมทุน เพื่อเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจโรงแรมตามหัวเมืองแหล่งท่องเที่ยว ประเดิมเงินลงทุนประมาณ 16,500 ล้านบาท ตามสัดส่วนลงทุน 15-60% แล้วแต่กรณี
นับจากโรคโควิด-19 ระบาด AWC เข้าซื้อกิจการโรงแรมแล้วหลายแห่งจากผู้เสนอขายกว่า 200 โครงการ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา AWC เพิ่งทำสัญญาซื้อโรงแรมซิกมา รีสอร์ท จอมเทียน พัทยา ขนาด 287 ห้อง จากบริษัท เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 550 ล้านบาท งบปรับปรุง 1,288 ล้านบาท รวมมูลค่าลงทุน 1,838 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 2564 AWC ลงนามสัญญาเช่าที่ดินริมน้ำ “ล้ง 1919” จากบริษัท หวั่งหลี จำกัด เป็นเวลา 64 ปีเศษ ด้วยงบฯลงทุน 3,436 ล้านบาท พัฒนาเป็นแลนด์มาร์กศูนย์สุขภาพริมน้ำในระดับสากล และอีกแห่งคือ โรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน อำเภอเมือง เชียงใหม่ ขนาด 130 ห้องพัก โดย AWC ซื้อจากบริษัท ดุสิตธานี พร็อพเพอร์ตี้ส์ รีท จำกัด ด้วยงบฯลงทุน 435 ล้านบาท
กลุ่มดุสิตธานี นอกจากจะขายโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ ให้กลุ่มเจ้าสัวเจริญแล้ว ยังขายโรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่ ให้กับนักลงทุนและทำสัญญารับจ้างบริหารโรงแรมดังกล่าวต่อภายใต้แบรนด์ “ดุสิตธานี”
หากจับชีพจรธุรกิจการท่องเที่ยวจากตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งเดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตามรายงานเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2565 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับลดลงจากการระงับลงทะเบียนเข้าประเทศ ผ่านระบบ Test&Go ชั่วคราว ขณะเศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวลง โดยการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนปรับลดลงจากความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 ขณะที่การส่งออกสินค้าปรับลดลง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางด้านการซื้อสินค้าและบริการ
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. กล่าวว่า ในเดือนมกราคม 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 1.33 แสนคน ปรับลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 เนื่องจากการระงับการลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go ในช่วงวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในหลายประเทศ
ส่วนรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19
สศค. ระบุว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทย เป็นประเภทพิเศษนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 133,903 คน ส่วนใหญ่มาจากรัสเซีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศ มีจำนวน 15.43 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 127.2% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 15.5%
อย่างไรก็ตาม หลังรัสเซียระเบิดสงครามบุกยูเครน ลูกค้านักท่องเที่ยวชาวรัสเซียคงหดหาย และแนวโน้มที่วาดหวังว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวก็คงตกอยู่ในสภาพริบรี่กันต่อไป