ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผมป่วยและติดเชื้อโควิด เลยได้มีโอกาสต้องเคลมสินไหมจากประกันภัยโควิดประเภทตรวจเจอว่าติดเชื้อแล้วจ่ายทันทีที่ทางสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ทำประกันภัยชนิดนี้ให้พนักงาน/บุคลากรไว้ทุกคน
เพิ่งเห็นยอดเบี้ยประกันโควิด เจอ แล้ว จ่าย คือตรวจเจอโควิดแล้วจ่ายเลย นิด้ามีบุคลากรประมาณ 700 คน จ่ายเบี้ยไปประมาณหนึ่งแสนสี่หมื่่นบาท
ณ วันนี้ นิด้ามีบุคลากรติดโควิดไปแล้วประมาณ หกสิบราย ถ้าจ่ายสินไหมชดเชยการติดเชื้อโควิดคนละห้าหมื่นบาท บริษัทอาคเนย์ประกันภัย ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ก็จะเสียเงินค่าสินไหมจากกรณีประกันภัยโควิด เจอแล้วจ่ายไปแล้วประมาณ สามล้านบาท คิดเป็น อัตราส่วนการสูญเสียหรือ loss ratio ในกรณีนี้เท่ากับ สามล้าน*100/หนี่งแสนสี่หมื่นบาท เท่ากับร้อยละ 2142 อันเป็น loss ratio ที่สูงมาก
สาเหตุมาจากการคำนวณค่าเบี้ยคิดจาก Reproductive number และ ความชุก prevalence ตั้งแต่สายพันธุ์อู่ฮั่น แต่เมื่อเจอโอมิครอน ตัวเลขสถิติเหล่านี้เปลี่ยนหมด สูงกว่าเดิมมาก
การกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้บริษัทประกันภัยเข้าสู่ภาวะการล้มละลายทีเดียวครับ
อาคเนย์ประกันภัยขอยกเลิกกรมธรรม์เพราะการคิดเบี้ยประกันภัยใช้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับสภาพจริงที่ไวรัสกลายพันธุ์ไปมากเหลือเกิน แต่เมื่อ คปภ. ห้ามจึงตัดสินใจจะปิดกิจการเลิกกิจการไปเลย
การบริหารความเสี่ยง (Risk management) เองมีความเสี่ยงที่สูงมาก โดยเฉพาะ event ใหม่ ๆ ที่เรายังไม่มีข้อมูลเพียงพอ พลาดมาก็เจ็บตัวหนักมาก
การส่งประกันภัยต่อ (re-insurance) ไม่รับไว้เองเป็นอีกทางเลือกที่ปลอดภัย ไม่เจ็บหนัก แต่เข้าใจว่าประมาท ทำไว้น้อยเกินไป
แต่อีกหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทประกันชีวิต ก็เลือกที่จะไม่ขาย หรือหยุดขายประกันประเภทนี้มาพักใหญ่แล้วครับ อันนั้นคือวิธีการบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเลยครับ
เอ! แต่ว่าการปิดตายไม่ขายประกันภัยโควิดประเภท ตรวจเจอติดเชื้อจ่ายเงินสินไหมเลย ก็ทำให้บริษัทประกันภัยขาดรายได้ไปเหมือนกัน ก็คงต้องชั่งน้ำหนักเอาให้ดีว่าการตลาดนำหน้าขายของได้ แต่บริหารความเสี่ยงได้ไม่ดี โดยไม่สามารถควบคุมต้นทุน (Cost containment) ได้บริษัทก็เจ๊งได้เหมือนกัน ขายดีมากมาย แต่บริษัทอาจจะล้มละลายในที่สุด แต่ไม่ขายเลย ก็กลายเป็นไม่แข่งยิ่งแพ้ จะแข่งแค่ไหน ยังได้กำไรและไม่เจ็บตัว
เรื่องเช่นนี้เป็นศาสตร์และศิลป์แห่งการบริหารความเสี่ยงที่ต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ การเงิน ประชากรศาสตร์ การพยากรณ์ บูรณาการเข้ามาด้วยกันเพื่อบริหารความเสี่ยงในโลกนี้ที่นับวันจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น
โลกในอนาคตอันใกล้นี้ เป็น new normal จะเกิดความเสี่ยงอะไรบ้าง
• ความเสี่ยงจากมหาสงครามโรคระบาดโควิด-19 อาจจะยืดเยื้อกว่านี้อีกหรือไม่ จะมีการกลายพันธุ์รุนแรงอีกหรือไม่ หรือจะเกิดโรคอุบัติใหม่ (Emerging disease) อะไรใหม่อีก
• โลกจะเกิด Post-Covid Great Depression หรือมหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกหลังโควิดหรือไม่ อย่างไร
• โลกจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สามจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนหรือไม่
• โลกจะเกิดวิกฤติพลังงานหลังจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนหรือไม่
• Digital disruption หรือการระเบิดดิจิทัลหลังปกติใหม่ (New Normal) จะมีตัวแบบธุรกิจเก่าแบบใดที่จะล้มหายตายจากไปบ้างหรือจะต้องปรับตัวอย่างไรจึงจะอยู่รอด
• สินทรัพย์ดิจิทัล ที่ยังมีปัญหากฎหมายและการกำกับดูแลจะกลายเป็นทิวลิปน้อย ๆ หรือไม่ เกิดการเก็งกำไรจนฟองสบู่แตกหรือไม่
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่การบริหารความเสี่ยงต้องศึกษาหาข้อมูลแล้วนำมาพิจารณาพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นเพื่อวางแผนและป้องกันความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด
งานสำหรับนักคณิตศาสตร์ประกันภัย อาจจะหายากกว่าเดิมในช่วงนี้ เพราะอุตสาหกรรมประกันภัยเซไปกับโควิดมากพอสมควร แต่งานด้านการบริหารความเสี่ยงเป็นที่ต้องการในทุกอุตสาหกรรมและยังขาดแคลนอีกมากครับ
ลองดูรายละเอียดและสมัครมาเรียนกับผมได้นะครับ