ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์ป่วยโรคซึมเศร้านำสู่การฆ่าตัวตาย กำลังเป็นปัญหาคุกคามสังคมไทย มีคนไทยอย่างน้อย 1.5 ล้านคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ปี 2564 มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อชั่วโมง ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า และ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยที่ผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษา ซึ่งผู้ที่ป่วยรุนแรงจะนำไปสู่ความพยายามฆ่าตัวตาย อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์โรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต ระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน โดยเฉลี่ยผู้ป่วยจำนวน 100 คน เข้าถึงการรักษาเพียง 28 คนเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าเพศหญิงมีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าเพศชาย แต่เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า โดยในปี 2564 คนไทยพยายามฆ่าตัวตายชั่วโมงละ 6 คน หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คน และเสียชีวิตราว 4,000 คน
การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในไทย โดยข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต ระบุว่าจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ สาเหตุจากภาวะซึมเศร้า 10% ขณะที่สาเหตุการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มาจากปัญหาอื่นๆ เช่น ด้านความสัมพันธ์ ฯลฯ
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นภัยเงียบของสุขภาพเป็นได้ทุกวัย หากไม่ได้รับการแก้ไขจะมีผลกระทบรุนแรง ทำงานหรือเรียนหนังสือไม่ได้ อนาคตในอีก 18 ปี ข้างหน้าจะส่งผลกระทบกลายเป็นภาระการดูแลรักษาอันดับ 1 ของทั่วโลก
โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากในไทย เกิดจากความผิดปกติของการหลั่งสารเคมีในสมองจนส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะอาการเศร้าหมอง หดหู่ มองโลกในแง่ลบ และมักจะรู้สึกเบื่อหน่ายอยู่เสมอ
อ้างอิงข้อมูลจากโรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า เกิดจากปัจจัยหลักๆ คือ 1. ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง หรือความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่สำคัญ
และ 2. ปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า ปัจจัยทางอารมณ์ เป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางอารมณ์ เช่น หากเป็นภาวะซึมเศร้าในวัยเด็ก อาจมีสาเหตุจากความตึงเครียดในครอบครัว เหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง ภาวะซึมเศร้าในโรคประสาทซึ่งอาจพบร่องรอยว่า ถูกบีบคั้นอย่างมากในวัยเด็ก แล้วปะทุออกมาในช่วงชีวิตภายหลัง อีกทั้งภาวะซึมเศร้าเพราะความชรา เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวลดน้อยลง มีชีวิตโดดเดี่ยว มีปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือปัญหาที่เรียกว่า ภาวะสะเทือนใจหลังเกษียณ (สูญเสียคุณค่าในตน ไม่มีงาน มีความรู้สึกว่าไร้สมรรถภาพ)
รวมถึงภาวะซึมเศร้าจากปฏิกิริยาทางใจ เช่น อาการซึมเศร้าหลังจากคู่แต่งงานเสียชีวิต ตกงาน หย่าร้าง สภาพจิตใจอ่อนล้าเนื่องจากความเครียดเรื้อรัง เช่น ชีวิตสมรสมีปัญหาขัดแย้งไม่รู้จบ ความกดดันจากงานที่ต้องรับผิดชอบ การเปลี่ยนงาน ภาระมากเกินไป เป็นต้น
และปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทางจิตใจดันตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นๆ รวมทั้ง แนวโน้มการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลรายงานของกรมสุขภาพจิตในปี 2564 ที่ผ่านมาพบว่าสถานการณ์โควิด - 19 กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น
กรมสุขภาพจิตเปรียบเทียบระหว่างช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดโควิด-19 และช่วงพีคของการระบาด มีจำนวนผู้ติดเชื้อหลักหมื่นรายต่อวัน อัตราการเสียชีวิตหลายร้อยรายต่อวัน พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า หรือประมาณ ร้อยละ 7 - 8 และมีแนวโน้มสูงขึ้น และยังพบลักษณะการทำร้ายคนอื่น ก่อนทำร้ายตัวเองตาม
“อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทยเดิมอยู่ที่ 6 - 7 ต่อแสนประชากร กลับพบว่าตอนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8 ต่อแสนประชากร ซึ่งเรามุ่งหวังว่าจะต้องรักษาไม่ให้เกิน 8 ต่อแสนประชากร ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของทั่วโลกจะเหมือนกันคือสูงขึ้นหลังวิกฤตประมาณ 6 เดือน เป็นต้นไปประมาณ 1 ปี เป็นจุดสูงสุดของปัญหา ดังนั้นตั้งแต่เดือน ส.ค. 2564 – ส.ค. 2565 เป็นเวลาทองที่เราต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้ตัวเลขการฆ่าตัวตายสูงไปกว่านี้” พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
เรื่องของวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อจิตใจให้รู้สึกแย่และกดดันให้ฆ่าตัวตายง่ายขึ้นในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเดิม หรืออาจส่งผลกระทบโดยอ้อมทำให้เกิดความตึงเครียด เมื่อเครียดจิตใจอาจจะถูกกระทบให้แย่ลง บริบทรอบตัวมีความกดดันสูงขึ้น นำสู่การทำให้ทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนมากเข้าไม่ถึงการรักษา เมื่ออาการรุนแรงนำสู่ความพยายามยามฆ่าตัวตาย ซึ่งผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า
สำหรับโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หาย ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขอีกครั้ง กระบวนการรักษามีหลายวิธี ทั้งวิธีรักษาทางจิตใจ หรือว่าการใช้ยารักษาเพื่อปรับสมดุลเคมีภายในสมอง ซึ่งการวิธีรักษาที่ดีที่สุด คือ การให้ผู้ป่วยปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม โดยเน้นไปที่สาเหตุและแรงกระตุ้นของปัญหานั้นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมแง่ลบที่มีต่อตนเอง
ในประเทศไทยภาวะซึมเศร้าเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตา เพราะหากไม่มีการกำกับดูแลใกล้ชิดจะส่งผบต่อระบบสุขภาพในอนาคต ตามที่มีการคากการณ์ว่าอีก 18 ปี โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นภาระการดูแลรักษาอันดับ 1 ของทั่วโลกตามที่กล่าวในข้างต้น
พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดเผยว่าคนไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า และไม่กล้าพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการ ทำให้ประชากรไทยมีแนวโน้มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงขึ้น ซึ่งโรคซึมเศร้าถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ สร้างความสูญเสียด้านสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม หากมีสัญญาณภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นสามารถรับคำปรึกษาผ่าน สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 และสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย 02-713 – 6793 เวลา 12.00 - 22.00 น.
โดยปัจจุบันโรคซึมเศร้ารักษาฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายตามมีสิทธิรักษาพยาบาล อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือ บัตรทอง หลังประเมินอาการวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม, สำนักงานประกันสังคม ภายใต้สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ให้ความคุ้มครองการรักษาโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวชทุกประเภท สามารถใช้สิทธิในโรงพยาบาลที่กำหนดไว้ในระบบประกันสังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมทั้ง สวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ก็ครอบคลุมการรักษาโรคซึมเศร้าทั้งข้าราชการและครอบครัวเช่นเดียวกัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ