ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ความคิดความเชื่อที่มีต่อเทศกาลตรุษจีนที่สะท้อนผ่านพิธีกรรม อาหารการกิน และการฉลองในรูปแบบต่างๆ ย่อมขึ้นอยู่ทรัพยากรและสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ในจีน ในด้านหนึ่งย่อมหมายความไปด้วยว่า ทรัพยากรหรือสภาพแวดล้อมที่มีนั้นย่อมมีปฏิสัมพันธ์กับฤดูกาลอยู่ด้วย
อย่างเช่นเทศกาลตรุษจีนที่จีนเรียกว่า ชุนเจี๋ย ที่แปลว่า เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ชื่อเทศกาลก็บอกไปในตัวแล้วว่าฤดูแห่งการผลิตได้เวียนถึงแล้ว และการผลิตที่ว่านี้ก็หมายถึงการผลิตในภาคเกษตรเป็นหลัก ประเด็นในที่นี้ก็คือว่า จีนเป็นประเทศที่มีแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล ลำพังเพียงแค่แม่น้ำหยังจื่อหรือฉังเจียง (ไทยเรารู้จักกันในชื่อแยงซีเกียง) กั้นกลางแผ่นดินจีนก็ทำให้ฤดูกาลของทางตอนเหนือกับทางตอนใต้ของแม่น้ำแตกต่างกันลิบลับแล้ว ที่มาของทรัพยากรและสภาพแวดล้อมจึงมีความแตกต่างไปด้วย
และนั่นก็คือคำตอบที่ว่า เหตุใดรายละเอียดของเทศกาลตรุษจีนในแต่ละพื้นที่ของจีนจึงมีความแตกต่างกันไป จะมีก็แต่ลักษณะร่วมบางประการเท่านั้นที่ไม่แตกต่างกันเลย นั่นก็คือ การใช้ “สีแดงเป็นสีมงคลในเทศกาล” สีแดงในเทศกาลตรุษจีนจึงดูละลานตาไปหมด
สีแดงในความคิดความเชื่อของชาวจีนมีความหมายกว้างไกลและลึกซึ้ง คือมีความหมายตั้งแต่ความรัก น้ำใจไมตรี อำนาจวาสนา บารมี หรือแม้แต่ความกล้าหาญ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายที่เป็นสิริมงคลทั้งสิ้น
ภายใต้ความหมายเช่นว่า ชาวจีนจึงใช้สีแดงเพื่อสื่อถึงความเป็นสิริมงคลกันเป็นปกติ ซึ่งเราอาจอธิบายการใช้ได้เป็นสองระดับ ระดับแรก ใช้ในวาระพิเศษต่างๆ เฉพาะและเป็นวาระที่เป็นมงคล เช่นใช้ในพิธีแต่งงาน หรือการฉลองวันเกิดของบุคคล ซึ่งเป็นวาระที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี และเมื่อถึงวาระนี้ชาวจีนจะใช้สีแดงตั้งแต่การประดับประดาในงานนั้น จนถึงการให้ซองใส่เงินสีแดงแก่เจ้าของงาน เป็นต้น
อีกระดับหนึ่ง ใช้ในวาระระดับชาติ วาระนี้ก็เช่นเทศกาลตรุษจีน เป็นต้น เมื่อเป็นวาระระดับชาติแล้ว สีแดงก็จะถูกใช้ผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การประดับประดาสิ่งตกแต่งต่างๆ ที่เป็นสีแดง การแต่งกายด้วยเสื้อแพรพรรณที่เป็นสีแดง การทำของกินบางชนิดให้มีสีแดงหรือออกแดง หรือไม่ก็ป้ายสีแดงให้เป็นแต้มเป็นจุด เรื่อยไปจนถึงการให้ซองใส่เงินสีแดงหรือหงเปา (อั่งเปา) หรือเงิน แต๊ะเอีย เป็นต้น
พูดถึงคำว่า แต๊ะเอีย แล้วก็เห็นว่าเป็นคำที่ควรอธิบายขยายความ ด้วยเป็นคำที่มีที่ใช้ค่อนข้างจะเฉพาะ นั่นคือ เป็นคำที่กล่าวกันว่าเป็นคำในภาษาพูดจีนถิ่นแต้จิ๋วที่แปลว่า ทับหรือถ่วงเอว ซึ่งหมายถึงทับหรือถ่วงกระเป๋าที่เอวของเด็กให้หนัก และมีภาษาเขียนว่า เอียบส่วย จีนกลางออกว่า ยาเฉียน อันที่จริงแล้วคำในจีนกลางที่หมายถึง แต๊ะเอีย นั้นจะใช้ว่า ยาสุ้ยเฉียน โดยคำว่า ยา แปลว่า กด บีบ ทับ คำว่า สุ้ย คือ หน่วยนับของอายุ และคำว่า เฉียน แปลว่า เงินที่ใช้สำหรับจับจ่ายใช้สอย
ดังนั้น คำว่า ยาสุ้ยเฉียน จึงมีความหมายในทำนองที่ว่า เป็นเงินกักเก็บรายปี หรือเงินสะสมรายปี โดยในทางปฏิบัติก็คือ เงินที่ผู้หลักผู้ใหญ่หรือนายจ้างเก็บเอาไว้ในรอบปีสำหรับแจกหรือจ่ายให้แก่ลูกหลานหรือลูกจ้าง เมื่อแจกแล้วแต่ละคนจะได้เท่ากันบ้างไม่เท่ากันบ้างแล้วแต่กรณี ซึ่งโดยมากแล้วจะมีเกณฑ์ในการพิจารณาจากช่วงวัย อายุในการทำงาน หรือความขยันขันแข็งของคนนั้นๆ
กรณีการแจกเงินลูกจ้างนี้ปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบไปมาก ซึ่งอาจมิได้แจกในวันตรุษจีนเสมอไปอีกแล้ว ยกเว้นในแวดวงธุรกิจการค้าของชาวจีนที่ยังคงรักษาประเพณีการแจกไว้ที่วันตรุษจีน และมิได้เรียกว่า แต๊ะเอีย อีกต่อไป แต่จะเรียกว่า โบนัส
กลับมาที่คำว่า ยาเฉียน ที่เป็นคำเรียก ยาสุ้ยเฉียน ให้สั้นลงนั้น ก็มีความหมายไม่ต่างกันว่าเป็นเงินเก็บรายปี แต่ก็มีแหล่งอ้างอิงอื่นที่อธิบายว่า คำว่า เอีย ในคำว่า แต๊ะเอีย นั้น ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า ยาว ที่แปลว่า เอว ถ้าเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า คำว่า แต๊ะเอีย จะออกเสียงว่า ยายาว
เหตุดังนั้น คำว่า แต๊ะเอีย จึงมีความหมายว่า การให้เงินเด็กในวันตรุษจีน และเนื่องจากในสมัยโบราณชาวจีนจะเก็บเงินโดยเหน็บไว้ที่เอว การให้เงินดังกล่าวจึงสื่อเป็นนัยว่าให้เงินเยอะมากจนกระเป๋าที่เหน็บไว้ที่เอวมีน้ำหนักมากกว่าปกติ และทำให้เจ้าตัวหรือเด็กรู้สึกเหมือนมีของหนักมาถ่วงที่เอว การเปรียบเปรยเช่นนี้นอกจากใช้เฉพาะกับเด็กแล้ว สิ่งที่พึงเข้าใจตามมาด้วยก็คือ การที่มีเงินหนักแบบนั้นแสดงว่าเงินในสมัยโบราณของจีนนั้นไม่ใช่เงินกระดาษ แต่อาจเป็นเงินก้อนหรือเหรียญกษาปณ์นั้นเอง
การให้ แต๊ะเอีย ในปัจจุบันนี้ไม่ได้ให้ในรูปแบบเช่นนั้นแล้ว แต่ให้ในรูปธนบัตรที่ไม่ “หนัก” แบบแต่ก่อน แต่ที่ลุ้นกันคือจะ “หนา” แค่ไหน ซึ่งก็สนุกไปอีกแบบ แต่ที่ถือกันมากก็คือ หากเปิดซองแดงออกมาแล้วผิดหวังว่าเงินไม่มากอย่างที่คิด ท่านว่าอย่าได้ตำหนิติเตียนผู้ให้ เพราะโดยทั่วไปแล้วผู้ให้ (ที่ปกติดี และไม่ตระหนี่ถี่เหนียวเอาเปรียบลูกจ้าง) คงมีเหตุผลในการให้อยู่ ยิ่งเป็นเด็กด้วยแล้วผู้ใหญ่จะสอนในเรื่องนี้หนักมาก หรือสอนว่าไม่ให้เปิดต่อหน้าผู้ให้
แน่นอนว่า การให้ แต๊ะเอีย ก็ยังคงใช้ซองสีแดงเป็นสัญลักษณ์เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ที่ก็ใช้สีแดงไปโดยทั่ว สีแดงกับเทศกาลตรุษจีนจึงเป็นของคู่กันที่แยกขาดจากกันไม่ได้ เห็นก็แต่ปีนี้ (2022) นี่แหละที่ใครก็ไม่รู้อุตริตั้งตนเป็นหมอดูแล้วว่า ห้ามใช้สีแดงในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ และว่าใช้แล้วจะเป็นอัปมงคลแก่เจ้าตัว ดีที่ไม่มีใครบ้าจี้ไปฟังและเชื่อคำพยากรณ์นี้ ลองคิดดูว่า ถ้าเทศกาลตรุษจีนไม่ใช้สีแดงแล้วจะเกิดอะไรขึ้นในความรู้สึกของชาวจีน
นอกจากความคิดความเชื่อจากที่กล่าวมาแล้ว เทศกาลตรุษจีนยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือสิ่งที่เรียกว่า ตุ้ยเหลียน หรือกลอนคู่ ซึ่งชาวจีนจะเขียนคำที่เป็นมงคลลงบนกระดาษแดงด้วยหมึกดำ คำที่ว่านี้เป็นคำกลอนมีความหมายไปในทางอวยพรในวาระปีใหม่ ส่วนกระดาษแดงที่ใช้เขียนจะมีลักษณะยาวตั้งยืนและมีอยู่สองแผ่น เมื่อเขียนเสร็จก็จะนำไปติดที่สองข้างซ้ายขวาของประตูบ้าน
ใครไปใครมาพอได้เห็นกลอนคู่หรือตุ้ยเหลียนแล้วก็จะรู้สึกดี นับเป็นกุศโลบายที่มีผลต่อจิตใจทั้งเจ้าของบ้านและคนที่เดินผ่านไปมา
พ้นไปจากการฉลองเทศกาลตรุษจีนที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ชาวจีนก็จะมาถึงวาระสุดท้ายของในการฉลองของแต่ละปี วาระนี้เรียกว่า เทศกาลหยวนเซียว (元宵) หรือเทศกาลโคมไฟ ซึ่งวันที่แขวนโคมไฟจะตรงกับวัน 13 ค่ำ คำว่า หยวนเซียว นี้แปลว่า คืนแรก และหมายถึง คืนเพ็ญแรกของปี
เทศกาลนี้เอิกเกริกมาก ในบันทึกของจีนที่เล่าถึงเทศกาลนี้ทำให้เห็นเช่นนั้น เช่น เล่าว่าในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ในวันดังกล่าวทางราชสำนักจะจัดเลี้ยงแก่ข้าราชการ และอนุญาตให้ราษฎรเข้าเยี่ยมชมพระราชวังได้ ในพระราชวังจะประดับโคมไฟไว้ทุกที่ และมีเวทีดนตรีเล่นเล่นอยู่ตลอด ครั้นถึงเที่ยงคืนก็จะมีราชโองการพระราชทานอภัยโทษ
ส่วนบ้านเรือนราษฎรในเมืองหลวงฉังอันก็มีการเลี้ยงกันทุกครัวเรือนจนสว่าง ว่ากันว่า ความสว่างไสวของโคมไฟนั้น สามารถเห็นได้จากระยะทางไกลถึง 20 กิโลเมตร
ที่มาของเทศกาลหยวนเซียวนี้มาว่ากันหลากหลายจนหามติที่แน่นอนไม่ได้ แต่ก็พอสรุปได้ว่าเป็นเทศกาลที่มีมานานนับพันปีแล้ว และน่าจะมาหลังเทศกาลตรุษจีน จุดเด่นที่เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้ก็คือ โคมไฟ ซึ่งจะถูกผลิตและติดตั้งโดยภาครัฐและเอกชนมาแต่โบราณ โคมไฟที่ทำขึ้นนี้ผู้ที่ทำพยายามให้มีรูปแบบที่พิสดารและหลากหลาย เมื่อติดประดับในที่สาธารณะหรือตามบ้านเรือนของแต่ละบุคคลแล้วจะดูงดงามมาก ทั่วทุกที่ถิ่นแคว้นสว่างไสวกันไปทั้งปริมณฑล
ปัจจุบันเทศกาลนี้มีการปรับตัวไปตามสภาพเช่นกัน และพอจบเทศกาลหยวนเซียวแล้วก็เป็นอันจบเทศกาลตรุษจีน หลังจากนั้นชาวจีนก็จะเริ่มลงมือทำการผลิตในท้องไร่ท้องนา ถ้าเป็นปัจจุบันต่างก็จะตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินตามอาชีพของตนในแบบสังคมอุตสาหกรรม
เพื่อรอการเวียนมาถึงของเทศกาลตรุษจีนอีกครั้งหนึ่ง