คำว่า ตัณหา หรือความอยาก ตามนัยแห่งคำสอนของศาสนาพุทธแบ่งออกเป็น 3 ประการคือ
1. กามตัณหา ได้แก่ ความทะยานอยากในกามคุณคือ สิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง 5 หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ความอยากมีในสิ่งที่ตนเองต้องการ
2. ภวตัณหา ได้แก่ ความทะยานอยากเป็นในสิ่งที่ตนต้องการจะเป็น
3. วิภวตัณหา ได้แก่ ความไม่อยากเป็นในสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการจะเป็น
ตัณหาทั้ง 3 ประการนี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ และทุกข์อันเกิดจากความอยากหรือเกิดขึ้นได้กับคนทุกคนที่ยังเป็นปุถุชนคือ คนที่ยังมีกิเลสประเภทนี้อยู่ เพียงแต่มากน้อยไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการควบคุมจิตใจ โดยการปฏิบัติธรรมและธรรมที่จะนำมาปฏิบัติเพื่อควบคุมความอยาก 3 ประการนี้ก็คือ สันโดษ ซึ่งมีอยู่ 3 ประการคือ
1.ยถาลาภสันโดษ ได้แก่ ความยินดีตามที่ตนหามาได้โดยความชอบธรรม ไม่ขวนขวายแสวงหาเกินไปกว่าที่ตนพึงมีพึงได้โดยความชอบธรรม
2. ยถาพลสันโดษ ได้แก่ ยินดีตามที่หามาได้ตามกำลังกาย และความรู้ ความสามารถของตนไม่แสวงหาเกินกำลังกาย กำลังความรู้ กำลังความสามารถ และกำลังทรัพย์ของตน
3. ยถาสารุปปสันโดษ ได้แก่ ยินดีตามที่เหมาะสมกับเพศภาวะ และสถานะทางสังคมของตน
ถึงแม้ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งล้วนเกี่ยวกับความอยากหรือตัณหา และแนวทางปฏิบัติเพื่อลด ละ และกำจัดความอยากให้หมดไป
แต่มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่วิ่งหาความอยาก และเป็นทุกข์ เนื่องจากไล่ไม่ทัน มีให้เห็นดาษดื่นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองใหญ่เนื่องจากลัทธิบริโภคนิยมเข้าครอบงำ ทำให้คนแก่งแย่งกันแสวงหาความสุข อันเกิดจากการได้ครอบครองวัตถุตามที่ตนเองต้องการ ทั้งๆ ที่บางคนถ้าพิจารณาหลักสันโดษ 3 ประการ โดยเฉพาะข้อ 2 และข้อ 3 แล้ว บางคนไม่จำเป็นต้องมี
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด และสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับการไม่นำคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่าด้วยสันโดษ 3 ประการข้างต้น มาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต และกลายเป็นคนมีความทุกข์ อันเกิดจากความอยาก
ตัวอย่างที่ว่านี้ก็คือ พระนักเทศน์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากเทศนาด้วยลีลาตลกขบขันเป็นที่นิยมเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งสนใจในความเจริญด้านวัตถุมากกว่าด้านจิตใจ
แต่ครั้นลาสิกขาออกมาโลดแล่นในสังคมในรูปแบบคฤหัสถ์เต็มตัวไม่ทันไร ภาพลักษณ์ใหม่ก็ปรากฏในทางตรงกันข้ามคือ มีเสียงตำหนิตักเตือนไปจนกระทั่งนำเอาข้อมูลส่วนตัวในทางลบออกมาเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย จนคนที่เคยยกย่องนับถือ และศรัทธา เพียงเพราะขัดแย้งส่วนตัว
จากข้อมูลบางส่วนที่คู่กรณีนำมาเปิดเผย ถ้าเป็นจริงตามนั้นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแห่งความขัดแย้งตกเป็นทาสแห่งความอยาก จึงทำให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งๆ ที่ไม่น่าขัดแย้ง ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้
1. ความอยากมี และความอยากเป็นตามข้อ 1 และข้อ 2 ได้รับการตอบสนองแล้วจากการให้ที่อยู่ฟรี ซื้อเสื้อผ้าราคาแพงให้สวมใส่ หางานให้ทำ ซึ่งมีผลตอบแทนทางด้านการเงินมากพอที่จะทำให้ความอยากมีเงิน และลักษณะงานที่ให้ทำก็ดีพอที่จะทำให้ความอยากเป็นพอใจ และยุติความอยากได้
2. แต่มีข้อมูลบางส่วนที่บ่งบอกว่า ทำให้ความอยากข้อ 1 คือ ไม่อยากเป็น ไม่ได้รับการตอบสนอง ส่วนว่าอะไรที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทะยานอยากได้ ไม่ต้องการนั้น เห็นทีจะต้องให้คู่กรณีออกมาบอกเองว่าคืออะไรที่เขาไม่อยากเป็น