การปรับตัวเองให้สอดคล้องกับปัจจัยภายนอก เพื่อชีวิตอยู่รอด เป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืช และสัตว์ ต้นไม้ขาดน้ำย่อมทิ้งใบเพื่อรักษาลำต้น สัตว์บางชนิดปรับสภาพสีผิวหนังให้เข้ากับต้นไม้เพื่อพรางตาศัตรู และคนซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย จึงได้ชื่อว่ามนุษย์คือผู้มีจิตใจสูง (มนะใจ+อุษยะสูง) แต่คนจะมีจิตใจสูงกว่าสัตว์ได้ จะต้องฝึกจิตโดยการรักษาศีล และปฏิบัติธรรมอย่างน้อยสัปปุริสธรรมหรือธรรมที่ทำให้คนเป็นคนดี 7 ประการคือ
1. ธัมมัญญุตาคือ ความรู้จักธรรมได้แก่ รู้หลักความจริง รู้กฎแห่งธรรมชาติ รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก เป็นต้น
2. อัตถัญญุตาคือ รู้จักอรรถได้แก่ รู้ว่าอะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์ โดยอาศัยหลักเหตุและผล
3. อัตตัญญุตาคือ รู้จักตนได้แก่ การรู้ว่าตนเองอยู่ในเพศภาวะ และสถานะทางสังคมใด และทำตนให้เหมาะแก่เพศภาวะ และสถานะทางสังคมนั้น
4. มัตตัญญุตาคือ รู้จักประมาณได้แก่ รู้จักความพอดีพองาม พอเหมาะแก่เพศภาวะ และสถานะทางสังคมของตนแล้วแสดงออกทางกาย และวาจาให้สอดคล้องกับเพศภาวะและสภาวะแห่งตน
5. กาลัญญุตาคือ รู้จักกาลได้แก่ รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไร รวมไปถึงการรู้คุณค่าของเวลา และไม่ปล่อยให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์
6. ปริสัญญุตาคือ รู้จักคนรอบข้าง รู้จักสังคมที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้อง และแสดงพฤติกรรมให้เหมาะสมแก่สังคมนั้นๆ ทั้งด้านการพูด และการกระทำ
7. ปุคคลัญญุตาคือ รู้จักบุคคลได้แก่ รู้ความแตกต่างของแต่ละบุคคล ทั้งในความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม เพื่อจะได้ปฏิบัติต่อบุคคลนั้นให้ถูกต้อง เหมาะสมเท่าที่จะพึงกระทำได้
ธรรม 7 ประการข้างต้นคือ หลักการที่เราทุกคนสามารถศึกษาค้นคว้า ทำความเข้าใจ และนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสังคมของตน ซึ่งเป็นสัตว์สังคม ตามนัยแห่งวิชาสังคมศาสตร์
ในคำสอนของพุทธศาสนาก็ถือว่าคนเป็นสัตว์ในทำนองเดียวกัน แต่ถือว่าคนเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์ประเภทอื่น จึงเรียกว่ามนุษย์ แปลว่า ผู้มีจิตใจสูง (มนะแปลว่า ใจ และอุษยะ แปลว่า สูง นำมาสนธิกันเป็นมนุษย์ แปลว่า ผู้มีจิตใจสูง)
อย่างไรก็ตาม นัยแห่งคำสอนพุทธศาสนามิได้หมายความโดยรวมว่า คนทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันทุกคน แต่เรียกคนที่มีจิตใจสูง อันเกิดจากการฝึกจิตโดยการรักษาศีล และปฏิบัติธรรมเท่านั้นว่าเป็นมนุษย์
ส่วนคนที่ไม่ได้ฝึกจิตโดยการรักษาศีล และปฏิบัติธรรม ก็ยังคงเป็นเสมือนสัตว์ซึ่งเรียกว่า มนุสฺสติรจฺฉาโน แปลว่า คนที่เป็นเสมือนสัตว์ และคนประเภทนี้เองที่ปรับตัวเข้ากับสังคมมนุษย์ได้ยาก ถึงแม้ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ แต่ก็มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้ศึกษาเรียนรู้คำสอนในพุทธศาสนา และทำความเข้าใจแล้วนำไปเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต
ยิ่งกว่านี้ ชาวพุทธบางคนเคยบวชเป็นพระ
ภิกษุศึกษาปริยัติธรรม และนำมาเผยแผ่จนเป็นที่ยอมรับจากผู้ฟังจำนวนมาก ครั้นละเพศบรรพชิตออกมา ปรากฏว่า มีปัญหาในการเข้าสังคม เนื่องจากการแสดงออกด้วยการพูด และการกระทำสวนทางกับสิ่งที่ตนเองเคยสอนคนอื่น จึงทำให้คนที่เคยคาดหวังว่าจะได้เห็นตัวอย่างจากคนที่เคยพูดดี เมื่อครั้งอยู่ในเพศภาวะของนักบวชออกมาเป็นตัวอย่าง ด้วยการพูดดี และทำดีในเพศคฤหัสถ์พากันผิดหวัง และกลายเป็นกลุ่มที่ต่อต้านการเข้าสังคมของคนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนในฐานะเป็นชาวพุทธและมีโอกาสศึกษาค้นคว้าคำสอนในพุทธศาสนามาพอสมควร จึงรู้สึกเห็นใจทั้งในส่วนของคนที่เคยบวชเป็นบรรพชิตแล้วออกมาเป็นคฤหัสถ์ แล้วมีปัญหาในการเข้าสังคม และคนที่เคยศรัทธาในตัวบุคคลดังกล่าวแล้วผิดหวังกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จึงใคร่ขอให้ทำใจและกลับไปศึกษาคำสอนในส่วนที่เกี่ยวกับโลกธรรม 8 ประการ มีลาภเสื่อมลาภ และมียศเสื่อมยศ เป็นต้น รวมไปถึงคำสอนที่ว่าเรียนรู้แต่ไม่ปฏิบัติตาม ไม่ต่างอะไรกับทัพพีที่ตักแกงที่ตักจนกร่อย แต่ไม่เคยรู้รสแกง เพื่อจะได้ทำใจ และให้อภัยกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับตนเอง แล้วเริ่มต้นใหม่ในแนวทางที่ถูกต้องต่อไป