xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลดภาษีดีเซล กระชากเรตติ้ง ยืดอายุรัฐบาล เร่งเครื่องยานยนต์ไฟฟ้า ตอกย้ำจุดเด่นดีทรอยต์แห่งเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ราคาพลังงานที่ยังไต่เพดานขึ้นไม่หยุดกระทั่งกองทุนเชื้อเพลิงแบกไม่ไหว ทำให้รัฐบาลตัดสินใจลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 3 บาท 3 เดือน เพื่อพยุงค่าครองชีพประชาชนและหวังผลดึงเรตติ้ง พร้อมกับเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุ่มเงินอุดหนุน 70,000 - 150,000 บาทต่อคัน แถมลดภาษีจูงใจ ตอกย้ำหมุดหมาย Detroit of Asia


สถานการณ์ความตึงเครียดความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเข้ามาผสมโรง ปั่นกระแสยกระดับสู่สงคราม หนุนให้ราคาพลังงานโลกพุ่งไม่หยุด ขณะที่กองทุนเชื้อเพลิงฯ ที่ใช้อุดหนุนราคาติดลบ กดดันรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกแนวทางลดการจัดเก็บภาษีน้ำมัน เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ช่วยเหลือประชาชน โดยคาดว่ารัฐจะสูญรายได้เข้าคลังร่วม 17,100 ล้านบาท
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...มีสาระสำคัญปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และน้ำมันอื่นๆ ที่คล้ายกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านราคาขายปลีกน้ำมันโดยตรง และสะท้อนไปยังราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะลดลงตามไปด้วย

สำหรับรายละเอียดการปรับลดภาษี มีดังนี้ น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถัน เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนักอัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 น้ำมันดีเซลที่มีไบโอ ดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม ไม่เกินร้อยละ 4 อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตรา ภาษีใหม่ 3.440 บาท น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม เกินร้อยละ 4 แต่ไม่เกินร้อยละ 7 อัตราภาษีเดิม 5.990 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.200 บาท ส่วนน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกินร้อยละ 7 แต่ไม่เกินร้อยละ 9 อัตราภาษีเดิม 5.930 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.170 บาท ทั้งนี้ อัตราภาษีใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับถึงวันที่ 20 พ.ค. 2565 จากนั้นตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.2565 จะกลับสู่อัตราภาษีเดิม

อย่างไรก็ตาม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อธิบายว่า การลดภาษีสรรพสามิตไม่ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงลิตรละ 3 บาท เพราะต้องกันส่วนหนึ่งไปใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ติดลบมานานแล้ว แต่มาตรการนี้จะยังคงทำให้น้ำมันดีเซลต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร

 การลดภาษีสรรพสามิต คุมราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือนในรอบนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินว่า จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ เดือนละ 5,700 ล้านบาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 17,100 ล้านบาท 

เบื้องหลังการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกลไกที่ใช้ในการตรึงราคาน้ำมันคือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีปัญหาจากการขาดสภาพคล่องและยังไม่สามารถกู้เงินได้แม้ว่า ครม. จะเห็นชอบให้กองทุนฯ กู้ยืมได้ไม่เกิน 30,000 ล้านบาท แล้วก็ตาม เนื่องจากกองทุนฯ อยู่ระหว่างการเปลี่ยนสถานะจากองค์การมหาชน เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำให้ระบบบัญชียังไม่ได้รับการรับรองจึงยื่นกู้เงินไม่ได้ คาดว่าต้องรอไปถึงเดือน มี.ค.นี้ถึงจะกู้ได้ ทางกระทรวงการคลัง จึงเข้ามาช่วยแบกรับภาระแทนเป็นเวลา 3 เดือน
 
นอกจากการเปลี่ยนสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว ในขณะเดียวกัน ครม. ยังเห็นชอบร่างแผนรองรับวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2563-2567 (ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1) เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกฤษฎีกาการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ พ.ศ. 2564 ซึ่งสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ตราขึ้นเพื่อให้กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง มีเงินเพียงพอในการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนน้ำมันครั้งนี้ ได้ทบทวนกรอบวงเงินกู้ จากเดิมที่กำหนดว่า “...ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมเงินกู้ (จำนวนไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท) แล้วต้องไม่เกินจำนวน 40,000 ล้านบาท...” แก้ไขเป็น “...ต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกินจำนวน 4 หมื่นล้านบาท...”

และทบทวนกรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ จากเดิม “กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 20,000 ล้านบาท ให้กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงหยุดการชดเชย” แก้ไขเป็น “กรณีฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบ 20,000 ล้านบาท หรือติดลบตามจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 26 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหยุดการชดเชย”

นั่นหมายถึงการปลดล็อกกรอบวงเงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำกัดจากเดิมไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เป็นว่า ต้องมีเงินเพียงพอและเมื่อรวมกับเงินกู้ต้องไม่เกิน 4 หมื่นล้าน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การปลดล็อกให้เพิ่มเพดานกู้ได้มากขึ้น จากเดิม 20,000 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ตามที่ ครม.อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้

แต่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนสถานะให้การบริหารงานกองทุนฯคล่องตัวขึ้น หรือกรอบวงเงินกู้ที่ทำได้เพิ่มมากขึ้น หากราคาพลังงานโลกยังพุ่งสูงต่อเนื่อง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็คงจะยังออกอาการลูกผีลูกคนเช่นที่ผ่านมา และต้องหามาตรการอื่นๆ เข้ามาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

การลดภาษีน้ำมันครั้งนี้  นางสาวรสนา โตสิตระกูล  อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกมาตั้งคำถามว่าใครได้ประโยชน์กันแน่ เพราะยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อลดภาษีลงแล้ว ราคาน้ำมันจะลดลง 3 บาทต่อลิตรหรือไม่ ต้องไปดูโครงสร้างราคาน้ำมัน เรื่องนี้จึงต้องจับตาดูว่า เมื่อลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 3 บาท รัฐบาลจะคุมราคาน้ำมันไม่ให้เกิน 27 บาทต่อลิตร หรือไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ถ้าคุมไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเหมือนเดิมก็แสดงว่ารัฐบาลกำลังยกภาษีส่วนที่ลดให้กับผู้ค้าน้ำมันไม่ใช่ลดราคาให้ประชาชน ความจริงแล้ว รัฐบาลควรคุมราคาดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร เป็นเวลาหนึ่งปีตามที่ภาคขนส่งเรียกร้องเพื่อประชาชนด้วยการลดภาษีดีเซลจาก 5.99บาท/ลิตรเหลือ 20สตางค์/ลิตร เท่ากับภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน ที่ลดเหลือ 20สตางค์/ลิตร เป็นเวลา 1ปี 6 เดือน

นอกจากนั้น รัฐบาลควรยกเลิกสูตรพรีเมี่ยมหรือต้นทุนเทียมของผู้ค้าน้ำมันที่ใช้ราคาน้ำมันสิงคโปร์บวกค่าขนส่ง+ค่าประกันภัย+ค่าน้ำมันหก+อื่นๆ รวมแล้วลิตรละ 1 บาท ถ้าตัดสูตรต้นทุนเทียมออก จะลดค่าเนื้อน้ำมันลงได้ลิตรละ 1 บาท หรือปีละ 36,000 ล้านบาท เพื่อลดภาระบนหลังประชาชน

 “.....ตั้งแต่ท่านประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเกือบ 8 ปี ท่านประยุทธ์ ได้ภาษีน้ำมันจากประชาชนไปแล้วมากกว่า 1,200,000 ล้านบาท ในยามประชาชนลำบาก ควรผ่อนสั้นผ่อนยาวลดภาษีน้ำมันให้ประชาชนที่เดือดร้อนลำบากกันทั่วทั้งประเทศได้เงยหน้าอ้าปากกันบ้าง.... ประชาชนยังต้องจับตาต่อไปว่าการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3บาท/ลิตร จะเป็นประโยชน์ให้ใคร บริษัทค้าน้ำมัน หรือประชาชนกันแน่ !?” น.ส.รสนา ตั้งข้อสังเกต 

อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาของพลังงานฟอสซิล กลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง การเร่งเครื่องอุตสาหกรรมยานยนต์รถไฟฟ้าให้เห็นเป็นรูปธรรมเร็วขึ้นจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะพลังงานไฟฟ้าสามารถผลิตได้จากหลากหลายแหล่งเชื้อเพลิง ยิ่งเทรนด์ของโซลาร์เซลล์ พลังงานสะอาดแห่งอนาคตที่ต้นทุนต่ำลงกำลังมาแรง พร้อมกับการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมที่กักเก็บไฟได้นานขึ้น โอกาสของยานยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์อีวี จะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลจะประกาศหนุนเต็มสูบ โดยที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบแผนส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เป็นที่เรียบร้อย

 เนื้อหาสาระที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติครม.ซึ่งเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ของประเทศตามนโยบาย 30/30 คือ ในปี ค.ศ.2030 หรือปี พ.ศ. 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ โดยผลิตประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน 

 ทั้งนี้ ครม.เห็นชอบใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 3,000 ล้านบาท ให้กรมสรรพสามิต ดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนและเห็นชอบให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดหาแหล่งงบประมาณในปีงบประมาณ 2566-2568 วงเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุน พร้อมทั้งอนุมัติให้กรมสรรพสามิตคืนเงินสำหรับผู้รับสิทธิตามมาตรการสนับสนุน และให้ออกเป็นประกาศกระทรวงการคลังด้วย 



สำหรับมาตรการสนับสนุน ประกอบด้วย มาตรการทางภาษี กรณีรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน (รถยนต์นั่ง) ประเภท BEV (รถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้ปรับลดอากรศุลกากรในปี 2565-2566 ดังนี้ การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี กรณีมีอัตราอากรไม่เกิน 40% ให้ได้รับการยกเว้นอากร ส่วนกรณีเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรลงอีก 40% ขณะที่การนำเข้าทั่วไป ให้ได้รับการลดอัตราอากร จาก 80% เหลือ 40% และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง ประเภท BEV จากเดิม 8% เหลือ 2% ในปี 2565-2568

ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ปี 2565-2568 กรมสรรพสามิตจะมีเงินอุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน สำหรับรถยนต์นั่ง ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง และช่วยเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน สำหรับรถยนต์นั่ง ที่มีขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ครอบคลุมทั้งกรณีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)

รถยนต์นั่ง ขนาดแบตเตอรี่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ประเภท BEV ที่ราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท ปรับลดอากรศุลกากรในปี 2565-2566 การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี กรณีมีอัตราอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับการยกเว้นอากร กรณีอัตราอากรเกิน 20% ให้ลดอัตราอากรลงอีก 20% ส่วนการนำเข้าทั่วไปให้ได้รับการลดอัตราอากรจาก 80% เหลือ 60% ขณะเดียวกันปรับลดอัตราภาษี สรรพสามิตรถยนต์นั่ง ประเภท BEV จากเดิม 8% เหลือ 2% ในปี 2565-2568

กรณีรถยนต์กระบะ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้เงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน เฉพาะรถกระบะที่ผลิตในประเทศ (CKD) และมีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป

กรณีรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาทต่อคัน กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่า 1% สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนดและให้เงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ครอบคลุมทั้งกรณีรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และการนำเข้ารถจักรยานยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)

 “.... นายกรัฐมนตรีและครม.ยังเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาส และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะตอกย้ำความเป็น Detroit of Asia ของไทย และยังการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายธนกร กล่าว 

หลังจาก ครม. อนุมัติแผนการสนับสนุนรถไฟฟ้า ภาคเอกชนต่างออกมาขานรับ โดย  นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์เอวีในไทยเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ที่ตั้งใจจะซื้อรถยนต์เอวีและรอมาตรการกระตุ้นตลาดนี้อยู่จะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์โดยภาพรวมกลับมาฟื้นตัวได้

 สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ที่ทุ่มลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยังคงต้องโฟกัสไปที่กลุ่ม ปตท. ซึ่งจับมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn) สัญชาติไต้หวัน ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่สุดของโลก  

ความคืบหน้าล่าสุด  นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) บริษัทย่อยของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ บริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด บริษัทในกลุ่มของบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3,220 ล้านบาท โดย ARUN PLUS ถือหุ้น 60% และหลินยิ่ง 40% ตามลำดับ

ตามแผนความร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย HORIZON PLUS มีเป้าหมายที่จะก่อตั้งโรงงานผลิต EV บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) ออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2567 มีกำลังการผลิตที่ 50,000 คัน/ปี ในระยะแรก และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คัน/ปี ภายในปี 2573 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ปตท. และประธานกรรมการ HORIZON PLUS เปิดเผยว่า การลงทุนที่เกิดขึ้นสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในภูมิภาค ทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายในและยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นยานยนต์แห่งอนาคต การร่วมกันลงทุนครั้งนี้จะเป็นก้าวที่สำคัญในการสร้างฐานการผลิต EV ในประเทศไทย รวมถึงความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของ Foxconn ด้านเทคโนโลยีการผลิตและการพัฒนาแพลตฟอร์ม EV จะช่วยลดทั้งระยะเวลาในการพัฒนาและลดต้นทุนการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ

ประกอบกับความพร้อมและความมุ่งมั่นของกลุ่ม ปตท. ที่ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน EV แบบครบวงจรไปก่อนหน้านี้ จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าตามทิศทางพลังงานในอนาคต โดย HORIZON PLUS พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรค่ายรถยนต์ที่มีความสนใจในการพัฒนารถ EV ต้นแบบ และการสนับสนุนการผลิตรถ EV ในประเทศไทยและภูมิภาค ทั้งรถยนต์ 4 ล้อ และรถบัส เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งาน EV ได้สะดวกและมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต

นอกจากโรงงานที่จะเป็นฐานการผลิต EV ที่กำลังเร่งก่อสร้างแล้ว HORIZON PLUS ยังมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทยควบคู่กับการลงทุนด้านการผลิต เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมให้บุคลากรมีความรู้ ความสามารถ รองรับทิศทางของอุตสาหกรรมที่จะมุ่งสู่นวัตกรรมแห่งอนาคตได้อย่างยั่งยืนต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น