xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

CALL ME BANGKOK OR KRUNG THEP MAHA NAKHON

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์- ทัวร์ลง  “สำนักราชบัณฑิตยสภา” กลายเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ทันทีที่  “คณะรัฐมนตรี (ครม.)”  มีมติเห็นชอบการแก้ไขชื่อภาษาอังกฤษของเมืองหลวง “กรุงเทพมหานคร”  ตามที่ราชบัณฑิตฯ เสนอแก้จาก  “Bangkok”  เป็น  “Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok)” 

ประด็นที่เกิดขึ้นก่ำกึ่งระหว่างการสื่อสารที่ผิดพลาดของรัฐ และการรายงานข่าวสื่อหลายสำนักบิดเบือนข้อมูล ซึ่งทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าทางการไทยจะเปลี่ยนชื่อเรียกเมืองหลวงจาก  “Bangkok (บางกอก หรือที่ฝรั่งเรียกติดปากว่า แบงคอก)”  มาเป็นชื่อเต็มฉบับย่นย่อ  “Krung Thep Maha Nakhon (กรุงเทพมหานคร)”  จนกลายเป็นประเด็นวิพากษวิจารณ์อย่างหนัก

ซึ่งกรุงเทพมหานครมีชื่อฉบับเต็มรูปแบบว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

และเมื่อถอดชื่อเต็มของกรุงเทพมหานครเป็นอักษรโรมัน คือ Krungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharayutthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonphimanawatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit

ทว่า ความจริงก็คือ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้มีประกาศแก้ไขชื่อภาษาอังกฤษของกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยกำหนดมาตรฐานชื่อในการทับศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับชื่อไทย และเก็บชื่อเดิมไว้ในวงเล็บ หมายความว่าสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ทั้ง 2 ชื่อ “Krung Thep Maha Nakhon” และ “Bangkok”

ประเด็น ครม. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ แก้ไขชื่อภาษาอังกฤษของเมืองหลวง “กรุงเทพมหานคร” ตามที่ “สำนักราชบัณฑิตยสภา” จาก “Bangkok” เป็น “Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok)” นั้น สรุปสาระแบบเข้าใจอย่างง่ายๆ เป็นเพียงแค่กำหนดมาตรฐานชื่อในการทับศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับชื่อไทย “กรุงเทพมหานคร” ในภาษาอังกฤษ สามารถเขียนได้ 2 แบบ คือ “Krung Thep Maha Nakhon” และ Bangkok”

 สรุปสั้นๆ ยังคงใช้ชื่อ “Bangkok” ได้เหมือนเดิม 

ถึงอย่างไรก็ดี ประเด็นดรามาที่เกิดขึ้นสร้างบทสนทนาประวัติศาสตร์ที่ร้อนแรงในสังคมไทย ว่าด้วยประวัติความเป็นมาของเมืองหลวงอย่าง “กรุงเทพมหานคร” หรือ “Bangkok” ทำให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่หลับไหลถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

“Bangkok” หรือ “บางกอก” หรือที่ฝรั่งเรียกติดปากว่า “แบงคอก” เป็นชื่อเรียกเมืองหลวงของไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อ้างอิงรายงานของศูนย์สาระสนเทศกรุงเทพมหานคร ระบุตอนหนึ่งความว่า

“...ในแผนที่ทะเลและแผนที่ครั้งโบราณที่ชาวต่างประเทศได้ทำไว้แต่สมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏตำแหน่งที่ตั้งของเมืองธนบุรีในชื่อของบางกอก โดยสะกดว่า Bangkok, Bancoc, Bancok, Banckok, Bankoc, Banckock, Bangok, Bancocq, Bancock ก็มี...”

สำหรับที่มาของชื่อเมือง “บางกอก” มีข้อสันนิษฐานน่าสนใจอยู่ 4 ประเด็น ข้อสันนิษฐานแรก มาจากความเชื่อที่ว่า ตั้งแต่ก่อนขุดคลองลัดที่มีคลองสาขาเล็กๆ เรียก คลองบางมะกอก เพราะมีต้นมะกอกน้ำจำนวนมาก จึงเรียกชื่อพื้นที่ปากคลองเชื่อมแม่น้ำสายเก่าว่า บางมะกอก มีวัดของชุมชนเรียก วัดมะกอก ซึ่งปัจจุบันคือ วัดอรุณราชวรารามฯ ซึ่งเป็นข้อสันนิฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด

ข้อสันนิษฐานที่สอง มีบันทึกไว้ในหนังสือ “จดหมายเหตุรายวันของบาทหลวง เดอ ชวาสี” แปลและเรียบเรียงโดย หลวงสันธานวิยาสิทธิ์ (กำจาย พลางกูร) ได้ระบุว่า “บางกอกคือจังหวัดธนบุรี บาง แปลว่า บึง กอก แปลว่า น้ำ (กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลับเป็นดินหรือที่ลุ่มเป็นที่ดอน” ซึ่งจากข้อสันนิษฐานนี้อาจเป็นไปได้ว่า บางกอกจากเดิมที่เป็นที่ลุ่มได้มีการสะสมตะกอนมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นที่ดอนขึ้นมาก็เป็นได้

ข้อสันนิษฐานที่สาม ในหนังสือ “เล่าเรื่องบางกอก” โดย ส.พลายน้อย(เล่ม 1) ให้ข้อมูลว่า ผู้รู้บางคนกล่าวว่าบางกอกน่าจะมาจากคำว่า Benkok เป็นภาษามลายู แปลตามตัวว่า คดโค้ง หรือ งอ โดยอ้างว่าแม่น้ำในบางกอกสมัยก่อนคดโค้งอ้อมมาก และข้อสันนิษฐานที่สี่ อ้างอิงจากหนังสือเล่าเรื่องบางกอก ส.พลายน้อย ให้ข้อมูลว่า มีนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง (ไม่ได้ระบุชื่อ) ให้ข้อคิดว่า...คำ Bangkok นั้น ฝรั่งแต่โบราณเขียนเป็น Bangkoh ซึ่งมีทางว่าน่าจะอ่านว่า บางเกาะ และคำๆ นี้ก็มีการออกชื่อปรากฏอยู่ในจดหมายของท้าวเทพสตรีที่มีไปถึงกัปตันไลน์หรือพระยาราชกัปตันด้วย แต่เสียดายที่มีชื่อปรากฏเป็นหลักฐานอยู่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ซึ่งต่อมา “บางกอก” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรุงเทพมหานคร” เปรียบเสมือนมหานครแห่งน้ำ

พุทธศักราช 2310 พระเจ้าตากสินมหาราช สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี และทรงโปรดฯ ให้ตั้งเมืองบางกอกฝั่งซ้ายเป็นเมืองหลวง โดยมีการสร้างกำแพงเมืองขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึกศัตรู ขณะเดียวกันความเจริญของเมืองหลวงก็ทำให้มีการขยายเมืองไปเติบโตหนาแน่นที่เมืองบางกอกฝั่งขวา

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ทรงมีพระราชดำริว่า “...เมืองธนบุรีนี้ ฝั่งฟากตะวันออกเป็นที่ชัยภูมิดีกว่าที่ฟากตะวันตก โดยเป็นที่แหลม มีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง ถ้าตั้งพระนครข้างฝั่งตะวันออก แม้นข้าศึกยกมาติดถึงชานพระนครก็จะต่อสู้ป้องกันได้ง่ายกว่าอยู่ข้างฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นที่ดอน แต่ก็เป็นคุ้งน้ำเซาะทรุดพังอยู่เสมอไม่ถาวร พระราชมมณเฑียรสถานเล่าก็ตั้งอยู่ในอุปจาร ระหว่างวัดแจ้งและวัดท้ายตลาดขนาบอยู่สองข้าง ควรเป็นที่รังเกียจ...”

บทความเรื่อง  “ชื่อของกรุงเทพมหานครทำให้สุขเกษมสมบูรณ์ขึ้น! กินเนสบุ๊คจัดอันดับ เป็นชื่อยาวที่สุดในโลก!!”  โดย  โรม บุนนาค  คอลัมน์ เรื่องเก่าเล่าสนุก เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ mgronline บอกเล่าความเป็นมาความว่า

ในการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในปี ๒๓๒๕ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชประสงค์ที่จะรักษาสัญลักษณ์ต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยาที่เสียไปให้กลับคืนมา เช่นพระนามพระมหาปราสาทต่างๆ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์ (ขำ บุนนาค) บันทึกไว้ว่า

“ครั้นเสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดให้จัดการสมโภชพระนครต่อเนื่องกันไป ให้นิมนต์พระสงฆ์ทุกๆ พระอารามทั้งในกรุงและนอกกรุง ขึ้นสวดพระพุทธมนต์บนเชิงเทินทุกๆ ใบเสมาๆ ละรูปรอบพระนคร ขอแรงให้ข้าราชการทำข้าวกระทงเลี้ยงพระสงฆ์ทั้งสิ้น แล้วให้ตั้งโรงทานรายรอบพระนคร พระราชทานเลี้ยงยาจกวนิพกทั้งปวง แล้วให้ตั้งต้นกัลปพฤกษ์ตามวงกำแพงรอบพระนคร ทิ้งทานต้นละชั่ง ๓ วัน สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก ให้มีการมหรสพต่างๆ และมีละครผู้หญิงโรงใหญ่ เงินโรงวันละ ๑๐ ชั่ง เป็นการสมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วยครบ ๓ วันเป็นกำหนด ครั้นเสร็จการฉลองพระนครแล้ว จึงพระราชทานนามพระนครใหม่ให้ต้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรว่า”

“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

เป็นพระมหานครที่ดำรงรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นแก้วอย่างดีมีสิริอันประเสริฐ สำหรับพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ประดิษฐานกรุงเทพมหานครนี้ ตั้งแต่พระราชทานนามนี้มา บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขเกษมสมบูรณ์ขึ้น”


ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงสร้อยที่ว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” นอกนั้นคงไว้ตามเดิม

นอกจากนี้ อ้างอิงจากหนังสือ “น้ำบ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย” โดย ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ให้ข้อมูลถึงความหมายของชื่อกรุงเทพมหานคร ความว่า “...ใน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาเมืองฝั่งซ้ายเป็นราชธานี ซึ่งเหมือนกับพระเจ้าอู่ทองย้ายข้ามฟากเข้าไปอยู่ในโค้งแม่น้ำเพื่อตั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า

“...ในลักษณะการสร้างพระนครในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะจำลองความรุ่งเรืองของกรุงเก่ามาไว้ ณ ที่ใหม่ ในประเด็นนี้ชื่อเมืองก็ระบุให้เห็นถึงความพยายามที่จะ “ย้าย” กรุงศรีอยุธยามาไว้ในโค้งแม่น้ำใหม่นี้ ชื่อ “กรุงเทพมหานคร” มีความหมายว่า “มหานครแห่งเทพเจ้าซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำ(กรุง)...”

เป็นอันว่า จบดรามาเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจาก “Bangkok” เป็น “Krung Thep Maha Nakhon” เพราะจริงๆ แล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังคงใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษได้ทั้งสองแบบเช่นเดิม





กำลังโหลดความคิดเห็น