ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจาก โททาล บริษัทพลังงานสัญชาติฝรั่งเศส ประกาศถอนตัวจากแหล่งก๊าซยานาดาของพม่าตามมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่าของชาติตะวันตก นับเป็นโอกาสทางธุรกิจของ ปตท.สผ. ที่จะขยายการลงทุนเข้าถือหุ้นแทนโททาล ซึ่งบิ๊กดีลนี้ทางผู้บริหารปตท.สผ.กำลังเจรจากับคณะผู้นำรัฐบาลทหารพม่า โดยคาดว่าภายในเดือนมี.ค.นี้ จะมีความชัดเจน
รายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ในเวลานี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ.กำลังพยายามเข้าถือหุ้นเพิ่มในโครงการหลุมก๊าซยานาดา หลังจากบริษัทโททาลของฝรั่งเศสมีสัดส่วนถือหุ้น 31.2375 % ถอนตัวออกไป
บลูมเบิร์ก อ้างคำให้สัมภาษณ์ของโฆษกรัฐบาลพม่า ซอว์ มิน ตุน (Zaw Min Tun) ว่า บริษัท ปตท.สผ.ซึ่งเป็นหน่วยขุดเจาะและค้นหาพลังงานของ ปตท. ได้เสนอขอซื้อหุ้นรวมกัน 59.5% ที่ถือโดยโททาลและเชฟรอนในนามของยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ โดยเริ่มมีการหารือระหว่างกันระหว่างรัฐบาลพม่า บริษัท ปตท.สผ. (PTTEP) และผู้ซื้อรายสำคัญอื่นๆ
“ทาง ปตท.สผ.เสนอมาที่เราว่าจะขอซื้อหุ้นทั้งหมดจากโททาลและเชฟรอน แต่ทางเรายังไม่มั่นใจว่าพวกเราสมควรที่จะยอมอนุญาตให้บริษัทสามารถซื้อหุ้นทั้งหมดเหล่านี้ได้ ..... ทางเราคาดหวังที่จะสามารถออกคำตัดสินใจที่หนักแน่นได้ภายในเดือนนี้” ซอว์ มิน ตุน กล่าว และขยายความว่าคณะผู้บริหารบริษัท ปตท.ในเวลานี้อยู่ที่พม่า กำลังหารือเกี่ยวกับข้อเสนอสัญญากับเจ้าหน้าที่กระทรวงไฟฟ้าและพลังงานพม่า
บลูมเบิร์ก ชี้ว่า ปตท.กำลังจะกลายเป็นหนึ่งในผู้รับผลประโยชน์ในพม่าท่ามกลางการไหลออกของคู่แข่งชาติตะวันตกในพม่าและจากอุตสาหกรรมพลังงานในพม่า ขณะที่มีความวิตกไปถึงการคว่ำบาตรพม่ารอบใหม่ไปพร้อมกัน ซึ่งถึงแม้สหรัฐฯ จะเสียงแข็งสั่งคว่ำบาตรรอบล่าสุดโดยพุ่งเป้าไปที่บุคคล องค์กรที่เชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐประหาร แต่สหรัฐฯ ยังไม่ก้าวไปถึงบริษัทพลังงานต่างๆ ในพม่า
ในแถลงการณ์ของบริษัท ปตท.สผ. เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาคล้ายกับที่เคยออกในวันที่ 21 ม.ค. 2565 ว่า ปตท.สผ.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางดำเนินการโปรเจกต์ยาดานา และ MGTC โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดด้านความมั่นคงทางพลังงานของไทยและพม่าเป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของประชาชนทั้งสองประเทศ
นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการแผนก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา ได้มีหนังสือแจ้งการขอถอนตัวจากการเป็นผู้ร่วมทุนและผู้ดำเนินการ (Operator) ในโครงการยาดานา และในบริษัท Moattama Gas Transportation Company (MGTC) ซึ่งดำเนินธุรกิจท่อส่งก๊าซจากโครงการฯ ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 นั้น ขณะนี้ ปตท.สผ.ยังไม่ได้รับการแจ้งถอนตัวจากเชฟรอนฯ ในโครงการยาดานาแต่อย่างใด ซึ่ง ปตท.สผ.อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางบริหารจัดการ คาดว่าจะมีความชัดเจนในต้นเดือนหรือไม่เกินกลางเดือนมีนาคมนี้
ทั้งนี้ เดิมโครงการยาดานาและบริษัท MGTC มีผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัทโททาลเอนเนอร์ยีส์ อีพี เมียนมา ถือสัดส่วนการลงทุน 31.2375% บริษัท ยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ ของบริษัทเชฟรอน สหรัฐฯ 28.2625% บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. 25.5% และบริษัท เมียนมา ออยล์ แอนด์ แก๊ซ เอ็นเตอร์ไพรส์ (MOGE) 15%
ปัจจุบันโครงการยาดานา มีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2564 ประมาณ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยส่งก๊าซฯ ให้กับประเทศไทยประมาณ 570 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคตะวันตกของไทย โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็น 10-15% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในไทย ขณะที่อีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศเมียนมา และคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในเมียนมา
ผู้บริหารของ ปตท.สผ. คาดการณ์ผลการดำเนินงานปี 2565 จะดีขึ้นกว่าปีก่อนจากปริมาณการขายและราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทวางเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 467,000 บาร์เรล/วัน โดยไตรมาส 1/2565 จะมีปริมาณการขายเฉลี่ย 436,000 บาร์เรล/วัน ราคาก๊าซฯ ไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 6 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู คาดว่าทั้งปีราคาก๊าซฯ อยู่ที่ 5.9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ส่วนต้นทุนการผลิตต่อหน่วยอยู่ที่ 27-28 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปีนี้จะอยู่ในระดับสูง โดยราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 71 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาวิ่งในกรอบ 65-85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติ คาดว่าทั้งปีราคาเฉลี่ย 16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู
สำหรับผลประกอบการของกลุ่ม ปตท. นั้น นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มพลังงานซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 4/2564 นั้น คาดว่า กลุ่ม ปตท. จำนวน 7 บริษัท ประกอบด้วย บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.ไทยออยล์ (TOP), บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ (GPSC), บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) จะมีกำไรสุทธิรวม 51,080 ล้านบาท เติบโต 44.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และเพิ่มขึ้น 6% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)
บล.กสิกรไทย ประเมินว่า PTTEP จะมีกำไร 10,645 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 321.3% YOY และเพิ่มขึ้น 11.5%QOQ จากวอลุ่มยอดขายและราคาขายที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาก๊าซและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายควบคุมได้ดี อยู่ในกรอบประมาณ 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ส่วน TOP มีกำไร 4,912 ล้านบาท ลดลง 32.3%YOY แต่เพิ่มขึ้นกว่า 138.1%QOQ โดยได้แรงหนุนจากค่าการกลั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากว่าสองเท่า ส่วนสาเหตุที่ปรับตัวลงเนื่องจากไตรมาส 4/2563 มีการบันทึกกำไรพิเศษจากขายหุ้น GPSC มูลค่ากว่า 5,800 ล้านบาท
สำหรับ OR คาดมีกำไร 1,960 ล้านบาท ลดลง 32.9%YOY แต่เติบโต 3.6%QOQ เป็นผลจากค่าการตลาดถูกตรึงไว้ แต่มีกำไรจากสต๊อกสินค้า ส่วนกำไรที่คาดว่าออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ คือ PTTGC มีกำไรเหลือ 5,711 ล้านบาท ลดลง 10.8% YOY และลดลง 18.5%QOQ เป็นผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหดตัว
ขณะที่ PTT คาดการณ์กำไร 23,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.5%YOY แต่ลดลง 1.3%QOQ ทั้งนี้ รวมค่าใช้จ่ายพิเศษในการคืนเงินกองทุนไปให้ภาครัฐเพื่อสนับสนุนค่าไฟฟ้าไปแล้วมูลค่า 2,700 ล้านบาท, IRPC มีกำไรกว่า 2,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.4%YOY และเพิ่มขึ้น 1.8%QOQ เป็นผลจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหดตัวแต่ยังโตได้จากที่มีกำไรสต๊อกสินค้ามาก โดยเก็บสต๊อกน้ำมันไว้กว่า 10 ล้านบาร์เรล ส่วน GPSC ประเมินกำไรจะอยู่ที่ 2,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59%YOY และเพิ่มขึ้น 23.6%QOQ
สำหรับปี 2565 บล.กสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มกำไรกลุ่ม ปตท.จะอยู่ที่ 197,800 ล้านบาท ลดลง 13.1%YOY จากปี 2564 ที่คาดว่าจะทำกำไรได้ 227,737 ล้านบาท โดยธุรกิจปิโตรเคมีน่าจะยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามราคาน้ำมันที่กดดัน ในขณะที่ธุรกิจอื่นเป็นเติบโตตามราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่ปรับตัวดีขึ้น
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) (OR) เปิดเผยผลการดําเนินงานปี 2564 ว่าบริษัทมีกําไรสุทธิ จํานวน 11,474.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8.791.06 ล้านบาท โดยมีรายได้ขาย 511,799ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.4% และมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคา ต้นทุนทางการเงินและภาษี(EBITDA ) 20,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น15.4% โดยภาพรวมผลดำเนินงานกลุ่มธุรกิจน้ำมันดีขึ้นจากกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อที่เพิ่มขึ้นแม้ว่าปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันจะลดลง ส่วนกลุ่มธุรกิจ Non-oil (ธุรกิจ Lifestyle )ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศในบางช่วงของปีซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศ
ทางด้าน นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยผลประกอบการปี 2564 ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 44,982.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 199.61 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 465,128 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เกิดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ราคาขายปรับเพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลกหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย
โดยในปี 2564 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมกำไรจากสต๊อกน้ำมันและขาดทุนจากการปรับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับฯ) อยู่ที่ 31,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ามากกว่าร้อยละ 200 แม้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น แต่บริษัทยังดำเนินมาตรการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ส่งผลให้ปี 2564 บริษัทมี Adjusted EBITDA อยู่ที่ 55,186 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 93 จากปีก่อนหน้า
นับว่ากลุ่มธุรกิจพลังงานรายใหญ่ของประเทศไทยยังเติบโตท่ามกลางวิกฤต และแสวงหาโอกาสขยายการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง