ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
การที่จีนได้เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่สังคมอุตสาหกรรมในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ที่ทำให้ชาวจีนต้องปรับประเพณีและพิธีกรรมในช่วงเทศกาลตรุษจีนไปด้วยนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และเป็นเรื่องปกติที่ชาติอื่นๆ ก็ปรับประเพณีและพิธีกรรมในช่วงเทศกาลต่างๆ ของตนเช่นกัน ชั่วอยู่แต่ว่าจะปรับมากน้อยเพียงใดเท่านั้น
แต่ไม่ว่าจะปรับอย่างไร สิ่งที่ยังคงรักษาเอาไว้ก็คือ สาระสำคัญของเทศกาลนั้นๆ
จากเหตุดังกล่าว ชาวจีนที่ปรับเทศกาลตรุษจีนของตนให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไปจึงอาจแยกได้สองระดับ ระดับแรก การสร้างคำอธิบายให้กับสาระสำคัญของเทศกาลตรุษจีนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรและด้วยเหตุผลใด ระดับต่อมา การสร้างประเพณีหรือพิธีกรรมให้สอดรับกับสาระสำคัญของเทศกาลตรุษจีนที่มีรายละเอียดต่างๆ ที่จะต้องถือปฏิบัติ
เพียงแค่ระดับแรกชาวจีนก็มีคำอธิบายเทศกาลตรุษจีนไปต่างๆ นานา เริ่มจากความเชื่อที่ว่า วันเปลี่ยนผ่านจากวันสุดท้ายของปีไปสู่วันที่ 1 ของปีใหม่จะมีสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งชื่อว่า เหนียน (年) ออกอาละวาดทำร้ายและทำลายเรือกสวนไร่นาหรือทรัพย์สินของผู้คน ชาวจีนจึงต้องหาทางตั้งรับเจ้าเหนียนตัวนี้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น จุดประทัดไล่เพราะเจ้าเหนียนกลัวเสียงดัง ห้ามสมาชิกในครอบครัวออกจากบ้านในช่วงเปลี่ยนผ่านวันสุดท้ายของปีไปสู่วันปีใหม่วันที่ 1 เป็นต้น
อย่างหลังนี้ทำให้ชาวจีนแต่ละพื้นที่ต้องสร้างกิจกรรมภายในครอบครัวขึ้นมา เพื่อไม่ให้เหงาจากการรอคอยช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าว กิจกรรมที่ว่าจะมีความแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่หรือครอบครัว บางครอบครัวในบางพื้นที่จะทำอาหารกินกัน บ้างก็หาการละเล่นต่างๆ มาเล่น ช่วยกันห่อเกี๊ยวแล้วนำมาต้มกินด้วยกัน หรือตั้งโต๊ะเซ่นไหว้เมื่อขึ้นสู่วันใหม่ เป็นต้น
การสร้างกิจกรรมดังกล่าวก็คือ การสร้างประเพณีและพิธีกรรมให้สอดรับกับสาระสำคัญที่เชื่อว่ามีตัวเหนียนออกมาอาละวาด ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่า กิจกรรมที่ชาวจีนสร้างขึ้นมาให้สอดรับกับความเชื่อเรื่องเหนียนนั้น เป็นกิจกรรมที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ในจีน แต่จะแตกต่างกันอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับทรัพยากรกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ
จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่จะช่วยกันห่อเกี๊ยวกินกันอยู่นั้น แต่ในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลในบ้านเราจะไม่เห็นประเพณีนี้ เห็นแต่กินใหญ่ในมื้อเย็นเสร็จแล้วก็จะแจกอั่งเปาในหมู่สมาชิกในครอบครัวกันอย่างครื้นเครง จากนั้นก็อาจจะนั่งคุยกันจนดึกหรือไม่ก็เข้านอนเพื่อเตรียมตั้งรับวันปีใหม่ที่จะมาถึงในวันรุ่งขึ้น ที่จะห่อเกี๊ยวหรือทำอาหารกินกันช่วงดึกๆ ไม่สู้จะปรากฏให้เห็น
ความแตกต่างดังกล่าวจึงเป็นเรื่องของรายละเอียดมากกว่าที่จะมาบอกว่า ถ้าใครทำไม่เหมือนที่ตนทำแล้วถือว่าผิด ซึ่งชาวจีนเองก็เข้าใจดีในเรื่องนี้ หาไม่แล้วก็คงได้ทะเลาะกันหรือตีกันตายไปข้าง แต่เพราะเข้าใจกันดี ชาวจีนในพื้นที่หนึ่งจึงมองประเพณีปฏิบัติของอีกพื้นที่หนึ่งที่ต่างไปจากตนด้วยความเคารพ มิใช่ตำหนิว่าผิด
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในเรื่องเจ้าตัวร้ายที่ชื่อว่า เหนียน ก็ถือเป็นความเชื่อร่วมกันที่มาช้านานนับพันปีมาแล้ว ครั้นเวลาผ่านไปเจ้าตัวเหนียนก็มีความหมายว่า ปี มาจนทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นแล้วการที่ชาวจีนเรียกวันปีใหม่ว่า ซินเหนียน (新年) จึงชวนให้สงสัยว่า ในเมื่อเหนียนเป็นสัตว์ประหลาดที่ดุร้ายแล้ว ทำไมพอมาเป็นซินเหนียนหรือปีใหม่แล้ว เจ้าเหนียนจึงดูดีไปหมด ใครๆ ต่างก็พากันต้อนรับด้วยอารมณ์ที่เบิกบานสำราญใจ
ความแตกต่างที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เราเห็นด้วยว่า ชาวจีนแต่ละพื้นที่ยังได้สร้างชุดคำอธิบายเฉพาะตนขึ้นมาอีกด้วย โดยเฉพาะกับการอาหารการกินในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งคำอธิบายแต่ละชุดนี้มีความพิสดารแตกต่างกันไป แต่ทุกคำอธิบายล้วนแล้วแต่เป็นสิริมงคลทั้งสิ้น ในที่นี้จะขอยกเรื่องอาหารการกินมาให้เห็นเป็นตัวอย่างสักสองสามตัวอย่าง
เริ่มจากการกินเกี๊ยวก่อนเที่ยงคืน โดยคำว่า เกี๊ยว นี้จีนกลางเรียกว่า เจี๋ยวจื่อ เสียงที่ออกนี้ได้ผันวรรณยุกต์ตามหลักภาษาจีนแล้ว เสียงที่ออกก่อนผันวรรณยุกต์คือ เจี่ยวจื่อ (铰子) ชาวจีนได้นำคำในพยางค์แรกคือ เจี่ยว ไปโยงกับคำว่า เจียว (交) ที่หมายถึง เชื่อมต่อ ว่ามีเสียงพ้องกัน แล้วอธิบายว่า การกินเกี๊ยวเสมือนกับได้เชื่อมเวลาวันสุดท้ายของปีเก่าไปสู่วันที่ 1 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ การกินเกี๊ยวจึงเหมือนกับเจ้าตัวได้นำตนข้ามเวลาให้มีความต่อเนื่องกันไปด้วย
ด้วยคำอธิบายเช่นนี้ทำให้ชาวจีนเชื่อว่า แม้บนโต๊ะจะมีอาหารมากมายเพียงใด แต่ก็ต้องมีเกี๊ยวเป็นส่วนหนึ่งอยู่เสมอ หาไม่แล้วก็จะรู้สึกว่าไม่ได้นำตนเองเชื่อมข้ามเวลาให้ต่อเนื่อง จนเหมือนกับชีวิตนี้ขาดความต่อเนื่องและจะไม่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต การกินเกี๊ยวในช่วงตรุษจีนจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อไปด้วยเหตุนี้
ความสำคัญของการกินเกี๊ยวนี้ ถึงกับทำให้ผู้นำจีนปัจจุบันมีกิจกรรมไปเยี่ยมเยียนชาวจีนบางครอบครัวในช่วงเวลาดังกล่าว (จะมีการแจ้งล่วงหน้าหรือต้องการไปแบบเซอร์ไพรส์ไม่ทราบได้) ทั้งเพื่อไปทักทายและไปช่วยห่อเกี๊ยวกับครอบครัวนั้นให้เป็นที่ปลาบปลื้มแก่เจ้าของบ้าน และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ตัวผู้นำอีกด้วย ว่าเป็นคนติดดิน มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านในห้วงยามสิริมงคล
แต่ก็น่าสังเกตด้วยว่า ชาวจีนโพ้นทะเลหรือชาวไทยเชื้อสายจีนไม่มีการทำเกี๊ยวกินเหมือนคนจีนแผ่นดินใหญ่ จึงน่าศึกษาว่าประเพณีนี้มีมาตั้งแต่เมื่อไร คืออาจมีมานานแล้ว แต่ช่วงร้อยกว่าปีก่อนตอนที่จีนตกต่ำจากการถูกต่างชาติคุกคามนั้น ชาวจีนคงไม่อยู่ในวิสัยที่จะมีแก่ใจมาห่อเกี๊ยวกิน หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะมีความยากจนอยู่ก็เป็นได้
ถัดมาคือ ขนมเข่งหรือที่จีนเรียกว่า เหนียนเกา (年糕) คำจีนคำนี้ไปพ้องเสียงกับคำว่า เหนียนเหนียนเกา (年年高) ที่แปลว่า สูงขึ้นทุกปี เพื่อเปรียบว่าชีวิตจะดีขึ้นทุกปี กล่าวกันว่า แต่เดิมขนมเข่งมีไว้สำหรับเซ่นไหว้เทพและบรรพชนเท่านั้น แต่มาภายหลังจึงถูกจัดให้เป็นของกินที่อยู่ควบคู่กับเทศกาลตรุษจีน กรณีนี้จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ชาวจีนได้ปรับความคิดความเชื่อของตนอยู่ตลอดไม่ต่างกับชนชาติอื่นเช่นกัน
ตัวอย่างสุดท้ายที่จะยกมาคือ ขนมบัวลอย ซึ่งจีนเรียกว่า หยวนเซียว (元宵) หรือ ทังหยวน (汤圆) ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวแล้วนำมาต้มใส่น้ำตาลให้มีรสหวานเบาๆ (ไม่เหมือนกับบัวลอยไข่หวานที่มีบางเจ้าทำจนหวานติดคอ) จะใส่ขิงหรือไม่แล้วแต่บางครอบครัว บัวลอยเป็นขนมที่ปั้นเป็นก้อนกลมเล็กพอคำ ชาวจีนดึงเอาลักษณะนี้มาอธิบายว่า การกินบัวลอยสื่อถึงการสร้างความสามัคคีกลมเกลียวในหมู่สมาชิกในครอบครัว การกินบัวลอยจึงถือเป็นสิริมงคลอย่างหนึ่งของชีวิต
ตัวอย่างที่ยกมานี้เลือกมาเฉพาะที่ไทยเรารู้จักกันเท่านั้น โดยที่ควรกล่าวด้วยว่า หากศึกษาลงลึกในรายละเอียดแล้วจะพบว่า จีนในแต่ละพื้นที่ยังมีของกินในเทศกาลตรุษจีนเฉพาะของตนอีกด้วย ถ้าจะอธิบายกันจริงๆ แล้วคงอธิบายกันไม่หวาดไม่ไหว บอกได้อย่างเดียวว่า ทุกพื้นที่จะอธิบายของกินในถิ่นตนเป็นสิริมงคลทั้งสิ้น
ที่สำคัญ ของกินที่ว่านี้มักจะสัมพันธ์กับทรัพยากรของพื้นที่นั้นๆ ด้วย เช่น ในซื่อชวนหรือที่ไทยเราเรียกกันว่าเสฉวนนั้น จะทำหม้อไฟหมาล่าในคืนวันส่งท้ายปี หมาล่า (麻辣) หรือพริกชา (ที่หลายปีมานี้วัยรุ่นไทยชอบกินกัน) เป็นทรัพยากรที่มีมากในถิ่นนี้ อีกทั้งชาวจีนในพื้นที่นี้ก็นิยมกินเผ็ดด้วย การกินหม้อไฟหมาล่าจึงสื่อถึงความเด่นดังร้อนแรง เป็นต้น
เฉพาะเรื่องอาหารการกินไม่กี่ตัวอย่างก็ทำให้เห็นแล้วว่า ชาวจีนมีวัฒนธรรมในการปรับตัวได้ไม่ต่างกับชนชาติอื่น ซึ่งในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแล้วถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอยู่ไม่น้อย