xs
xsm
sm
md
lg

“ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๘) : ปริศนาสรรพคุณยาหรือปริศนาธรรม “รับประทานยา ๙ เดือน อายุยืนได้ถึง ๒๐๐ ปี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

“ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๘) : ปริศนาสรรพคุณยาหรือปริศนาธรรม “รับประทานยา ๙ เดือน อายุยืนได้ถึง ๒๐๐ ปี” / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในสรรพคุณที่ระบุเอาไว้ในยาลม ๓๐๐ จำพวก ซึ่งเป็นตำรับยาสุดท้ายของพระคัมภีร์ไกษย ในตำรายาหลวง แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นตำรับยาแผนไทยของชาติ เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ [๑] นั้นได้ระบุในข้อความในตำรับยาเมื่อรับประทานยาได้ต่อเนื่องกันโดยไม่เว้นแม้แต่วันเดียวได้จนถึง ๙ เดือนว่า

“รับประทานถึง ๙ เดือนอายุยืนได้ถึง ๒๐๐ ปี” [๒]

ด้วยข้อความดังกล่าวข้างต้นอาจหลายคนเกิดความสงสัยไปในหลายประเด็น เช่น เป็นไปได้อย่างไร หรือ เป็นไปไม่ได้ บางคนถึงกับไม่ให้ความเชื่อถือตำรับยานี้ทันทีเมื่ออ่านถึงข้อความสรรพคุณนี้ แต่อีกคนจำนวนมากที่มักจะพูดว่า ไม่ต้องการจะอายุยืนไปถึง ๒๐๐ ปี ฯลฯ

“ขรัวพ่อฉิม” ในฐานะเจ้าของตำรับยา คงจะทราบอยู่แล้วว่าจะต้องมีผู้อ่านสงสัยในข้อความดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน จึงปรากฏข้อความในตำรับยานี้ต่อมาความว่า

“ตำรานี้ท่านคิดปฤษณาได้ อย่าได้สนเท่ห์เลย” [๒]

แปลความหมายว่าตำรับยานี้คิดเป็น“คำทาย” จึงอย่าได้“สงสัย”เลย ดังนั้นการอ่านสรรพคุณของตำรับยานี้จะต้องเป็นไปในลักษณะการ“หาคำตอบในคำทาย”เพื่อถอดรหัสคำทายในตำรับยานี้ว่ามีความหมายอย่างไรกันแน่ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยไม่สามารถมองแบบแยกส่วนได้ และไม่สามารถแปลสรรพคุณอย่างตรงตามตัวอักษรแต่เพียงอย่างเดียวได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตำรับยานี้มาจาก“หลวงพ่อฉิม” หรือ“ขรัวพ่อฉิม” โดยขรัวฉิมนอกจากเป็นพระภิกษุอาวุโสในฐานะเป็น“พระหมอยา” ผู้ซึ่งได้รับขนานนามว่า“ขรัวฉิมเทวดา” แล้ว ยังอยู่ในฐานะเกจิอาจารย์ที่ได้ตั้งอยู่ในศีลและพรหมวิหารธรรม หมั่นศึกษาเล่าเรียนพระสูตรและพระวินัยจนแตกฉาน จนได้รับการขนานนามว่า“ขรัวฉิมสว่างโลก”อีกด้วย [๓]-[๕]

รวมถึงพระคัมภีร์ฉันทศาสตร์ ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ได้กล่าวเอาไว้ในบทไหว้ครูของการแพทย์แผนไทยว่านอกจากจะเป็นการให้ทานแล้ว ยังมีเป้าหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาคือการเข้าสู่“นิพพาน” ดังความตอนหนึ่งว่า

“ไหว้ครูกุมารภัจ ผู้เจนจัดในคัมภีร์ เวชศาสตร์บรรดามี ให้ทานทั่วแก่นรชน ไหว้ครูผู้สั่งสอน แต่ปางก่อนเจริญ ล่วงลุนิพพานดล สำเร็จกิจประสิทธิ์พร”[๖]

ดังนั้นเป้าหมายของ“ขรัวฉิมเทวดา” ในฐานะ“ขรัวฉิมสว่างโลก”ที่ได้เล่าเรียนพระสูตรและพระวินัยจนแตกฉาน และเป้าหมายสูงสุดของศาสตร์การแพทย์แผนไทยภายใต้แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ที่รวบรวมโดย“พระยาพิษณุประสาทเวช”จึงย่อมมีเป้าหมายสูงสุดในทางธรรมเหมือนกันในทางพระพุทธศาสนาคือ“นิพพาน”

และเมื่อมุ่งเข้าสู่“นิพพาน”ด้วยแล้ว ก็ยิ่งชัดเจนว่าเป้าหมายของการบรรยายสรรพคุณยาลม ๓๐๐ จำพวก ที่กล่าวถึงอายุยืน ๒๐๐ ปีนั้น จึงน่าจะซ่อนความหมายผ่านปริศนาธรรมมากกว่า

หากจะพิจารณาสรรพคุณยาลม ๓๐๐ จำพวกที่ว่าช่วย ขับลมในทางเดินอาหาร ขับลมในเส้น, แก้พิษในโลหิต ลดน้ำตาลในกระแสเลือด ลดการติดเชื้อของจุลชีพก่อโรค บำรุงน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร ย่อยไขมัน, ระบายถ่ายพิษและเสมหะ, บำรุงสมอง และ เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยเพราะต้านอนุมูลอิสระสูงติดอันดับโลก ฯลฯ

การวิเคราะห์ผ่านสรรพคุณยาลม ๓๐๐ จำพวกข้างต้น คือการถอดรหัส“ปริศนาทางสรรพคุณยา”ว่าเหตุใดตำรับยานี้จึงได้บำรุงธาตุหรือช่วยบรรเทาได้หลายโรค และเหตุใดจึงจะทำให้เกิดการบำรุงสมองได้ และเหตุใดจึงอยู่ในฐานะยาอายุวัฒนะได้

โดยเฉพาะสรรพคุณยาดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็เพียงพอที่ตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกจะได้กล่าวถึงความสำคัญของตำรับยานี้ว่า

“ให้ทำยานี้กินเถิด ถ้าผู้ใดได้ตำรานี้แล้วไม่ทำกิน เหมือนเหยียบแผ่นดินผิดทีเดียวแล”[๒]

แต่“ปริศนาทางธรรม” นั้นได้ถูกซ่อนเอาไว้ตั้งแต่การบำรุงสมอง การมีสติ ปัญญา ความคิด ที่ว่าเมื่อมีสติปัญญาที่ดีขึ้นแล้ว ก็ควรใช้ไปเพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและปฏิบัติธรรม ดังจะเห็นได้จากคำบรรยายสรรพคุณการรับประทาน ๑ เดือนแล้ว ให้ไปศึกษาพระไตรปิฎกให้มาก เข้าใจในคาถาและปัญญาจึงจะสว่าง

เมื่อศึกษาพระไตรปิฎกและรับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวกไปถึง ๖ เดือนแล้วจะทำให้จักษุสว่างนั้นก็น่าจะหมายถึงการที่ดวงตาจะได้เห็นธรรม

คำว่า“สว่าง” ทั้งคาถา ปัญญา และดวงตามเห็นธรรม (จักษุสว่างทั้ง ๒ ข้าง) ก็สอดรับไปกับอีกสมญานามหนึ่งของ“ขรัวฉิมเทวดา” ว่า“ขรัวฉิมสว่างโลก”ด้วย

และหากผู้ที่รับประทานยาลม ๓๐๐ จำพวก ได้ศึกษาพระไตรปิฎกและปฏิบัติธรรมแล้วเมื่อ“รับประทานถึง ๗ เดือนรู้กำเนิดเทวดาในชั้นฟ้า”[๒]

และเมื่อรับประทานถึง ๘ เดือนที่กล่าวเอาไว้ว่า “พระเวสสุวรรณลงมาสู่เราแล”[๒] แม้หลายคนอาจจะตีความว่าจะทำให้ได้รับการปกป้องภูติผีปีศาจ หรือทำให้มีความร่ำรวยทรัพย์สินเงินทองดังท้าวเวสสุวัณลงมาสู่ตัวเรา

แต่หากศึกษาประวัติและความเป็นไปในทางธรรมของ“ท้าวเวสสุวัณ” เมื่ออัญเชิญมาบูรณาการกับการ“ถอดรหัสปริศนาสรรพคุณยา” แล้ว ก็จะสามารถถูกอธิบายควบคู่ไปกับการ“ถอดรหัสปริศนาทางธรรม” ด้วยว่า

“เมื่อมีสุขภาพที่ดี สติปัญญาดีจากสรรพคุณยาเป็นเวลา ๘ เดือนแล้ว หากควบคู่ไปกับการศึกษาพระไตรปิฎกและปฏิบัติธรรม ก็จะนำไปสู่การสอนผู้อื่น การช่วยเหลือผู้อื่น ได้เข้าถึงการปฏิบัติธรรมด้วย อริยทรัพย์ ๗ ประการ[๗] และยังจะช่วยป้องพระพุทธศาสนาเหมือนดัง“ท้าวเวสสุวัณ”อีกด้วย”[๘]

โดยเฉพาะพระไตรปิฎกฉบับ มหามกุฏราชวิทยาลัย มีบทบรรยายได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่และความสำคัญชองท้าวเวสสุวัณ ในการเป็นหัวหน้าจตุโลกบาล และการเป็นผู้คุ้มครองดูแลพระพุทธศาสนา ดังปรากฏในพระสุตันตปิฎก ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อาฏานาฏิยสูตรว่า

“ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ เขา คิชกูฎ ใกล้กรุงราชคฤห์ ท้าวมหาราชทั้งสี่ (จตุมหาราช) พร้อมด้วยเสนารักษ์ คนธรรพ์ (รุกขเทวดา) กุมภัณฑ์และนาค เมื่อท้าวมหาราชทั้งสี่ถวายบังคมแล้ว ท้าวเวสสุวัณ (มีพระนามอย่างหนึ่งว่าท้าวกุเวร) กราบทูลว่ามียักษ์ชั้นผู้ใหญ่ชั้นกลางชั้นต่ำที่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคก็มี ไม่เลื่อมใสก็มี แต่ที่ไม่เลื่อมใสมีมาก เพราะพระผู้พระภาคทรงแสดงธรรม เพื่อเว้นจากฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดปด ดื่มสุราเมรัย พวกยักษ์เหล่านั้น ไม่เว้นจากส่ิงเหล่านี้ โดยมากจึงไม่ชอบมีสาวกของพระผู้มีพระภาคเสพเสนาสนะ อันสงัดในป่า

ซึ่งพวกยักษ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่เลื่อมใสในพระธรรมวินัยของพระองค์อยู่เพื่อคุ้มครองรักษาเพื่อไม่ให้เบียดเบียนเพื่ออยู่เป็นสุขแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเรียนการรักษาชื่อ อาฏานาฏิยา เพื่อยักษ์เหล่านั้นให้เลื่อมใสพระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพ”[๙]-[๑๐]

เนื้อความของบทสวด“อาฏานาฏิยปริตร” [๑๑] ที่ท้าวเวสสุวัณแต่งขึ้นเพื่อถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงเรียนคาถาสำหรับใช้ในการคุ้มครองตนจากยักษ์ ภูติผีปีศาจ อมนุษย์ที่ไม่เลื่อมใสในพระธรรมวินัย รวมถึงคุ้มกันภยันตรายรอบด้าน


เมื่อพิจารณาคำแปลของบทสวดดังกล่าวนี้ เป็นการสรรเสริญพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ และขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ด้วยกาย วาจา ใจ ไม่ว่าจะเวลาใดก็ขอให้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นโปรดช่วยคุ้มครองให้พ้นโรค พ้นภัย ไปจนถึงความเดือดร้อนต่างๆ

นอกเหนือจากนั้นแล้ว พระองค์ยังทรงมีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนเรียนคาถานี้ไว้ป้องกันภยันตรายจากมิจฉาทิฐิ ป้องกันเภทภัยรอบด้านไม่ให้มาถึงตัว จึงเกิดเป็นความเชื่อตามมาว่า ผู้ใดก็ตามที่เจริญภาวนาปริตรบทนี้อยู่เป็นนิตย์ จะได้รับการคุ้มครองจากภยันตรายทั้งปวง ทำให้มีแต่ความสุขความเจริญ หากแม้นต้องประสบเคราะห์กรรม จะไม่รุนแรงเท่ากับผู้อื่น

กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังนิยมสวดพระปริตรสะเดาะเคราะห์อย่างกว้างขวาง เชื่อกันว่าช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ปกป้องคุ้มครองผู้สวดและผู้สดับให้อยู่ด้วยความสุขสวัสดี ทั้งยังมีการจัดพิธีกรรมเป็นประจำทุกปี เรียกพิธีนี้ว่า“สวดภาณยักษ์”ไล่สิ่งอัปมงคล

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงแล้วท้าวเวสสุวัณซึ่งได้ทำหน้าที่ในการปกป้องพระพุทธศาสนานั้น ก็ด้วยเพราะพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าเอง ดังนั้นการที่ท้าวเวสสุวัณให้การคุ้มครองได้นั้น ไม่ใช่อาศัยเพียงยาลม ๓๐๐ จำพวกเท่านั้น หากแต่บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองให้มีความสุขปราศจากโรคภัยเบียดเบียนด้วย

มาถึงจุดนี้ย่อมมีความชัดเจนว่าตำรับยานี้มีความมุ่งหวังไปไกลกว่า“สรรพคุณยา” นั่นคือ“การศึกษาพระไตรปิฎก และการปฏิบัติธรรม” ในทางพระพุทธศาสนานั่นเอง ไม่ว่าจะอายุสั้นหรือยาวเพียงใดก็ตาม

ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงเรื่องอายุยืนอันเนื่องด้วยรู้จักประมาณในการรับประทานจะทำให้อายุยืนโดยมีเนื้อความว่า

ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เขตพระนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระสุธาหารหุงด้วยข้าวสารหนึ่งทะนาน ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยแล้วทรงอึดอัด เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นเสวยแล้วทรงอึดอัด จึงทรงภาษิตพระคาถานี้ในเวลานั้นว่า

“มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้มา ย่อมมีเวทนาเบาบางเขาย่อมแก่ช้า ครองอายุได้ยืนนาน ฯ[๑๒]

นอกจากนั้นแล้วพระธีรดา สมจิตฺโตและพระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ได้เขียนบทความเรื่อง “แนวทางการส่งเสริมความมีอายุยืนด้วยหลักอิทธิบาท ๔” ตีพิมพ์ในวารสารปัญญาปณิธาน เมื่อปี ๒๕๖๔

โดยในพระพุทธศาสนามีหลักการปฏิบัติตนให้อายุยืนด้วยอํานาจของ “อิทธิบาท ๔” ซึ่งได้กล่าวไว้ใน มหาปรินิพพานสูตรว่า

“เมื่อคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจําพรรษาที่บ้านเวฬุวคาม ทรงประชวรหนัก เกิดทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงถึงใกล้จะปรินิพพาน ทรงมีสติสัมปชัญญะ อดทนอดกลั้น ไม่พรั่นพรึง แล้วทรงใช้ความเพียรอิทธิบาท ๔ ขับไล่อาพาธ ดํารงชีวิตร่างกาย ทรงใช้ความเพียรขับไล่ความเจ็บป่วยและทรงหายประชวรในที่สุด ต่อมาได้ตรัสแสดงอํานาจของอิทธิบาท ๔ ให้แก่พระอานนท์ทราบว่า หากผู้ใดกระทําอิทธิบาท ๔ ให้มากแล้ว จะมีอายุยืนยาวได้ถึง ๑๐๐ ปี หรือเกินกว่า” [๑๓]

ทั้งนี้ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), ได้ได้กล่าวเอาไว้ในเรื่องอิทธิบาท ๔ ดังนี้

อิทธิบาท ๔ (คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ, คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย - path of accomplishment; basis for success)

๑.ฉันทะ (ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป - will; aspiration)

๒.วิริยะ (ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย - energy; effort; exertion)

๓.จิตตะ (ความคิด คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป - thoughtfulness; active thought)

๔.วิมังสา (ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผลและตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น - investigation; examination; reasoning; testing [๑๔]

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พระมหาทวี มหาปญฺโญ(ละลง)อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เผยแพร่บทความงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เรื่อง“วิเคราะห์อายุสสธรรม ๕: หลักธรรมที่ช่วยให้อายุยืน ๕ ประการ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท” เอาไว้อย่างน่าสนใจความตอนหนึ่งว่า

“ผลการวิจัยพบว่า ความสำคัญของชีวิตและอายุที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา กล่าวคือ ชีวิตเป็นองค์ประชุมของขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเหตุปัจจัยที่ประกอบกันขึ้นตามกฎธรรมชาติ และดำรงอยู่ได้เพราะองค์ประกอบเหล่านั้นมีความสมบูรณ์และสมดุล เบื้องต้นของชีวิตคือความเกิด ที่สุดของชีวิตคือความตาย

ในระหว่างความเกิดกับความตายเป็นเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกของสัตว์ทั้งมวล เรียกว่า“อายุ” ชีวิตดำเนินไปโดยสัมพันธ์กับโลกผ่านทางอายตนะเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อ อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติคือมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

การได้มาซึ่งอัตภาพแห่งชีวิตและอายุเป็นอริยทรัพย์ภายในของบุคคลที่มีค่าเหนือกว่าทรัพย์ภายนอกทั้งปวง จึงต้องดูแลรักษาสุขภาพให้มีองค์ประกอบสมบูรณ์ สามารถทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความอยู่รอดและนำพาชีวิตไปสู่ประโยชน์สุขในระดับต่าง ๆอันมีพระนิพพานเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด



ความสำคัญของการมีอายุยืนที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา หมายถึง การมีอายุยืนอย่างมีคุณค่า คือ การดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่อาลัยกับอดีต และไม่พะวงกับอนาคต สร้างประโยชน์และคุณค่าให้กับชีวิตผ่านโอกาสและเวลาปัจจุบันของตนเอง เพื่อประโยชน์สุขอันเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต

หลักพระพุทธศาสนาเน้นการสร้างสุขภาพหรือภาวะที่เป็นสุขแบบองค์รวมให้กับระบบของชีวิต ๔ ด้านคือ ทางกาย ทางสังคม ทางจิต และทางปัญญา โดยเน้นการพัฒนาจากธรรมชาติภายในชีวิตคือพัฒนาจิตให้เกิดปัญญา อันส่งผลต่อชีวิตซึ่งดำเนินไปโดยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธรรมชาติภายนอกทั้งทางกายและทางสังคม

หลักอายุสสธรรมมี ๕ ประการ คือ

๑) สปฺปายการี สร้างสัปปายะ คือทำอะไร ๆ ให้เป็นที่สบายเกื้อกูลแก่สุขภาพ

๒) สปฺปาเย มตฺตญฺญู แม้ในสิ่งที่สบายนั้นก็รู้จักประมาณ ทำแต่พอดี

๓) ปณิตโภชี บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย (เช่น เคี้ยวให้ละเอียด)

๔) กาลจารี ประพฤติตนให้เหมาะสมในเรื่องเวลา เช่น รู้จักเวลา ทำถูกเวลา ทำเป็นเวลา ทำพอเหมาะแก่เวลา

๕) พฺรหฺมจารี รู้จักถือพรหมจรรย์ตามควร

ซึ่งหลักอายุสสธรรมทั้ง ๕ ประการนี้เป็นข้อปฏิบัติที่เกื้อกูลแก่อายุ ที่มีความสอดคล้องกับแนวทางการรักษาสุขภาพหรือภาวะที่เป็นสุขแบบองค์รวมให้กับระบบของชีวิตทั้ง ๔ ด้าน คือ ทางกาย ทางสังคม ทางจิต และทางปัญญา เป็นแนวคิดหรือหลักปฏิบัติที่เชื่อมโยงวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีงามและถูกต้องตามกฏธรรมชาติเข้ากับประโยชน์สุขอันเป็นจุดมุ่งหมายของชีวิตได้อย่างสอดคล้องกัน” [๑๕]

หลักอายุสสธรรมมีเป้าหมาย ๓ ประการซึ่งสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของชีวิต กล่าวคือ การดำเนินชีวิตไปสู่จุดมุ่งหมายโดยการสร้างประโยชน์สุขในระดับต่าง ๆ ให้กับชีวิต เป้าหมาย ๓ ประการ ประกอบด้วย

(๑) เป้าหมายชีวิตแนวตั้ง ประกอบด้วย ประโยชน์ปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์) ประโยชน์ภายหน้า (สัมปรายิกัตถประโยชน์) และประโยชน์อย่างยิ่ง (ปรมัตถประโยชน์)

(๒) เป้าหมายชีวิตแนวราบ ประกอบด้วย ประโยชน์ตน (อัตตประโยชน์) ประโยชน์ผู้อื่น (ปรัตถประโยชน์) และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถประโยชน์)

(๓) เป้าหมายที่เป็นความสุข ๓ ระดับ คือ ระดับศีล (กามสุข) ระดับสมาธิ (ฌานสุข) และระดับปัญญา (นิพพานสุข)

ทั้งนี้ หลักพุทธธรรมที่ใช้วัดผลบุคคลที่บรรลุการศึกษาของชีวิตทั้ง ๔ ด้านคือหลักภาวนา ๔ อันประกอบด้วย ภาวิตกายคือผู้มีกายที่พัฒนาแล้ว ภาวิตศีลคือผู้มีศีลที่พัฒนาแล้ว ภาวิตจิตคือผู้มีจิตที่พัฒนาแล้ว และภาวิตปัญญาคือผู้มีปัญญาที่พัฒนาแล้ว

อายุสสธรรมนอกจากเป็นหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสุขภาพของระบบชีวิตแบบองค์รวมทั้ง ๔ ด้านแล้ว ยังมีความสอดคล้องกับหลักอริยสัจ ๔ ซึ่งมุ่งกำจัดเหตุแห่งความทุกข์เพื่อสร้างสุขภาพหรือภาวะที่เป็นสุขให้เกิดกับชีวิต เป็นธรรมที่ส่งเสริมอริยมรรค ๘


ซึ่งเป็นปฏิปทาเพื่อนำชีวิตไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุด และยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือไม่ปฏิบัติแบบสุดโต่งหรือย่อหย่อนเกินไป ครอบคลุมข้อปฏิบัติด้านศีล สมาธิ ปัญญา อย่างครบถ้วน กล่าวคือ

หลักอายุสสธรรมข้อที่ ๑ เป็นการพิจารณาเลือกปัจจัยที่มีความสำคัญต่อชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับด้านศีล

ส่วนอายุสสธรรมข้อที่ ๒,๓,๔ สอดคล้องกับด้านสมาธิ เป็นการสร้างภาวะแห่งจิตใจที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัจจัยนั้น ๆ อย่างมี สติ สมาธิ และวิริยะ อยู่ในกรอบของคุณค่าแท้ กล่าวคือ

หลักอายุสสธรรมข้อที่ ๒ คำนึงในเชิงปริมาณที่พอเหมาะพอดีกับความต้องการของชีวิต

หลักอายุสสธรรมข้อที่ ๓ คำนึงในเชิงคุณภาพ มีลำดับขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอันเป็นการรบกวนเป็นภาระชีวิต ต้องทุ่มเทกำลังทั้งภายนอกและภายในชีวิต เช่น การบริโภคอาหารที่ปรุงด้วยขั้นตอนง่าย ๆ ไม่จำเป็นต้องประดับเพื่อเพิ่มคุณค่าเทียมเกินความต้องการที่แท้จริงของการบริโภค ที่มุ่งเน้นประโยชน์ที่แท้จริงคือการยังอัตภาพของชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อลดขั้นตอนและภาระของระบบภายในร่างกายที่ต้องทำงานหนักเพื่อการย่อยอาหาร

และหลักอายุสสธรรมข้อที่ ๔ คำนึงในเชิงคุณภาพคือ การปฏิบัติด้วยความตั้งใจมั่น เป็นกิจวัตรที่ดำเนินอยู่อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ถูกต้องถูกเวลาสอดคล้องกับวิถีชีวิตของตน

และหลักอายุสสธรรมข้อที่ ๕ สอดคล้องกับด้านปัญญา เป็นหลักสำคัญที่มุ่งเน้นการขัดเกลาจิตใจ ด้วยการสร้างคุณธรรม ศรัทธา และสติปัญญา ให้เกิดขึ้น โดยมีสัมมาทิฏฐิหรือปัญญาเป็นจุดเริ่มต้นของความประพฤติชอบทั้งทางกาย วาจา และใจ[๑๕]

ความมีอายุยืนแม้ว่าจะเป็นสภาพที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง แต่มิได้ถือว่าเป็นตัวตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต เครื่องตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตนั้น คือการได้ทำสิ่งที่ดีงาม เจริญกุศลธรรม ดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญา มีเมตตากรุณา มีความกตัญญู อันเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ไม่ว่าอายุจะสั้นหรือยืนยาวก็ตาม

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ชีวิตที่งอกงามด้วยกุศลธรรมอำนวยประโยชน์สุขแก่ตนและส่วนรวม แม้จะสั้นก็ยังประเสริฐกว่าชีวิตซึ่งยืนยาว แต่เป็นที่สั่งสมและแผ่ขยายของอกุศลธรรม สร้างความทุกข์และปัญหาไม่ว่างเว้น

ช่วงอายุที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตก็คือขณะปัจจุบัน หรือขณะที่กำลังใช้ชีวิตอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ย้อนไปคิดถึงอดีตและคำนึงไปถึงอนาคต

การอยู่กับขณะปัจจุบันคือการมีสติสัมปชัญญะควบคุม อยู่กับการรับรู้และเผชิญกับความเป็นจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของธรรมชาติอยู่ตลอดเวลาด้วยปัญญาของตนเอง ระลึกรู้ถึงสภาวธรรมที่ปรากฏในขณะจิต จดจ่ออยู่ในกิจกรรมที่กำลังกระทำ เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นกับชีวิต ที่สำคัญคือเป็นการพัฒนาจิตให้เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงด้วยสัมมาทิฏฐิ เพื่อนำชีวิตไปสู่พระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต [๑๕]

บทสรุปของประเด็นการถอดรหัสปริศนาทางธรรมเรื่องอายุยืน ๒๐๐ ปี จึงกลายเป็นเรื่องรองและไม่สำคัญเท่ากับคุณค่าในกุศลธรรมในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะต่อให้อายุขัยจะยาวไปได้จริงถึง ๒๐๐ ปีก็ยังต้องเสียชีวิตอยู่ดี ดังนั้นเมื่อได้ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะทำให้เข้าใจได้ว่าประเด็นอายุยืนถึง ๒๐๐ ปีที่เป็นความคาดหวังหรือความไม่เชื่อของผู้อ่านนั้น เป็นเพียงกระพี้ของปริศนาเพื่อให้ได้มาศึกษาและปฏิบัติในแก่นของธรรมในพระพุทธศาสนานั่นเอง

ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง
[๑] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การประกาศกําหนดตําราการแพทย์แผนไทยของชาติและตํารับยาแผนไทยของชาติ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๖๐, วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เล่ม ๑๓๔ ตอนพิเศษ ๒๗๑ ง หน้า ๙
https://www.dtam.moph.go.th/images/document/law/National_Texts_2560-13.PDF

[๒] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๗๕๐-๗๕๑

[๓] Ruthai Sivakomen, วัดชัยชนะสงคราม ในบทความ บันทึกกิจกรรม “สัมพันธวงศ์” วันเดียวเที่ยวครบ ครั้งที่ ๒, เว็บไซต์ ruthai.in.th, วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒
https://www.ruthai.in.th/?p=1716

[๔] พัทธสีมานุสรณ์ประวัติการสร้างวัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก) และคําจารึกในแผ่นทองของท่านขรัวฉิมเทวดา, ทําดีได้ดี ทําชั่วได้ชั่ว, ๒๕๐๓

[๕] เบนจมินพระเครื่องสาขา 3, พระกลีบบัว ท่านขรัวฉิมเทวดา วัดชัยชนะสงคราม(วัดตึก), 13 มกราคม 2564
https://www.thaprachan.com/amulet_detail/UA13015070

[๖] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๓๑

[๗] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), อริยทรัพย์ ๗, พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, เว็บไซต์8400.org
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=292

[๘] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๗) : ปริศนารับประทานยา ๘ เดือน กับ “ท้าวเวสสุวรรณ”, เฟสบุ๊คแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕, และ MGR Online, วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/4999108293482433/
https://mgronline.com/daily/detail/9650000014071

[๙] ปริวัตร ศิระเกียรติกุล, อรอุษา สุวรรณประเทศ, “ท้าวเวสสุวัณคือใครในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและฮินดู ตีพิมพ์ในวารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร”, วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนกันยายน-ธันวาคม ๒๕๖๐ หน้า ๑๒๑-๑๓๖
https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jhnu/article/download/172218/123651/

[๑๐] มหามกุฏราชวิทยาลัย,พระไตรปิฎกและอรรถกถา แปลพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกายปาฏิกวรรค ภาค ๓ เล่ม ๒, ๒๕๕๒, นครปฐม: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย

[๑๑] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, ๙. อาฏานาฏิยสูตร (๓๒), เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ บรรทัดที่ ๔๒๐๗-๔๕๐๐ หน้าที่ ๑๗๓-๑๘๕.เว็บไซต์8400.org
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=11&A=4207&Z=4500
[๑๒] พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โทณปากสูตรที่ ๓, เว็บไซต์8400.org
https://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=15&A=2631&Z=2656

[๑๓] พระธีรดา สมจิตฺโต และ พระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ, แนวทางการส่งเสริมความมีอายุยืนด้วยหลักอิทธิบาท ๔, วารสารปัญญาปณิธาน, ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๔) หน้า ๑๕-๒๘
https://so05.tci-thaijo.org/index.php/PPJ/article/download/248660/170344

[๑๔] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พิมพ์ครั้งที่ ๑, ๒๕๔๖, เว็บไซต์8400.org
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=213

[๑๕] พระมหาทวี มหาปญฺโญ(ละลง), วิเคราะห์อายุสสธรรม ๕: หลักธรรมที่ช่วยให้อายุยืน ๕ ประการ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท, เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๖
https://www.mcu.ac.th/article/detail/281


กำลังโหลดความคิดเห็น