xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้โจทย์ “เกิดน้อย - ด้อยคุณภาพ” รื้อ กม.อุ้มบุญ เปิดทาง LGBTQ เพิ่มสิทธิรักษา ภาวะมีบุตรยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  วิกฤตซ้อนวิกฤต “เด็กเกิดน้อย - ด้อยคุณภาพ” ส่งสัญญาณอันตรายต่อโครงสร้างประชากร ขณะที่รัฐเร่งเครื่องออกนโยบายสนับสนุนส่งเสริม เล็งรื้อ “กฎหมายอุ้มบุญ” เปิดทางสำหรับ LGBTQ กลุ่มหลากหลายทางเพศที่มีความพร้อม รวมทั้งเพิ่มสิทธิบัตรทองรักษาภาวะมีบุตรยาก หวังเพิ่มประชากรคุณภาพ และปิดช่องธุรกิจรับจ้างอุ้มบุญเถื่อน 

อัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง ย้อนกลับไปช่วงปี 2506 – 2526 มีประชากรเกิดมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี ช่วงปี 2536 - 2537 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่มากกว่า 950,000 คนต่อปี

สำหรับในปี 2564 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุตัวเลขเด็กเกิดใหม่ปี 2564 มีจำนวนอยู่ที่ 544,570 คน ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ประชากรที่เสียชีวิตในปีเดียวกันมีจำนวนสูงกว่า 563,650 คน คน นับเป็นปีแรกที่มีจำนวนเด็กแรกเกิดต่ำกว่าจำนวนคนที่ตายไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่าอัตราการเกิดต่ำเกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก

สำหรับผลกระทบของอัตราการเกิดที่ลดลงนั้น ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าเมื่อจำนวนเด็กเกิดลดลงเรื่อยๆ จะส่งผลให้วัยแรงงานลดลง ในวันข้างหน้าประเทศจะเริ่มขาดปริมาณของแรงงาน ทำให้ต้องมีการนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทนบางอาชีพ

นอกจากนี้ จะทำให้ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วขึ้นเพราะสัดส่วนเด็กลดลง ประชากรในวัยทำงานลดลง และถ้ามีแรงงานน้อยลงฐานภาษีก็จะลดลงเช่นกัน เนื่องจากกำลังสำคัญที่จะมาเป็นผลิตก็จะลดลง ขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในวัยพึ่งพิงจะเพิ่มมากขึ้น และคนในกลุ่มนี้ต้องการสวัสดิการต่างๆ มากขึ้น สวนทางกับภาษีที่จะมีน้อยลง เพราะกลุ่มมที่จะจ่ายภาษีมีน้อยลง อาจจะทำให้ภาษีมีไม่พอที่จะมาจัดสรรสวัสดิการของรัฐ

สำหรับสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ในไทยลดลดอย่างต่อเนื่อง นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมอนามัย ฉายภาพย้อนกลับไป ในช่วง 50 ปีก่อน ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มประชากรที่สูงมาก เฉลี่ยหญิงไทย 1 คน มีบุตรเฉลี่ย 6 คน เพื่อเป็นแรงงานของครอบครัว เนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปี 2513 รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายด้านประชากร มุ่งเน้นเรื่องการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด ส่งเสริมให้ครอบครัวหนึ่งมีบุตร 2 คน โดยกำหนดนโยบายในภาพรวมของประเทศ ทั้งมิติทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และนโยบายต่างๆ สนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน

ล่วงเวลา 50 ปี นโยบายได้ผลเป็นประจักษ์ อัตราการเกิดของไทยลดลง โดยหญิง 1 คน มีบุตรเฉลี่ย 1.3 คน เท่านั้น ทว่า ไม่เพียงพอต่อการทดแทนประชากร กลายเป็นว่าจากเดิมเคยเกิดปีละ 1 ล้านคน ลดลงเกือบครึ่งตั้งแต่ปี 2562 นอกจากนี้ ปี 2553 ยังพบว่าเกิดการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นสูงขึ้น

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้รัฐทำคลอด “นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2553 – 2557” มุ่งเน้นการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และมีการออกกฎหมายเฉพาะ เช่น พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ซึ่งได้ผลลดอัตราท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นได้พอสมควร

 แต่ผลพวงของนโยบายวางแผนประชากรและคุมกำเนิด ส่งผลให้เกิดสภาพการณ์ “เด็กเกิดน้อย และยังด้อยคุณภาพ” ต่อมา ปี 2559 รัฐบาลทำคลอด “นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560–2569” เน้นการส่งเสริมการเกิด และการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อแก้ไขปัญหา อัตราการเกิดลดลง ไม่เพียงพอต่อการทดแทนประชากร ปลุกกระแสสังคมให้ตระหนักถึงการเพิ่มประชากร อาทิ วิวาห์สร้างชาติ, ปั้มลูกเพื่อชาติ เป็นต้น 

ทั้งนี้ นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2560 แต่หากย้อนสถิติในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าตัวเลขเด็กเกิดใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย ปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่จำนวนอยู่ที่ 544,570 คน, ปี 2563 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 587,368 คน, ปี 2562 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 618,193 คน, ปี 2561 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 666,357 คน ลดลง 5.17% และ ปี 2560 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 702,755 คน

ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ยังคงลดฮวบต่อเนื่อง ชี้ชัดว่าการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มประชากรยังไม่ประสบผลสำเร็จ รัฐคงต้องระดมมันสมองระดับหัวกะทิกลั่นนโยบายเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ ที่ไม่ใช่สักแต่เพียงเพิ่มจำนวน แต่จะทำอย่างไรให้เติบโตอย่างมีคุณภาพด้วย

 ในประเทศที่ประสบปัญหาอัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลง มีนโยบายจัดการกับสถานการณ์หลากอย่างหลากหลาย อาทิ ประเทศจีน ซึ่งเคยมีนโนบายมีลูกคนเดียว ขณะเดียวกันผู้สูงอายุมากขึ้น ขาดแคลนแรงงาน จึงได้ออกนโยบายให้มีลูกมากกว่า 2 คน โดยเพิ่มการเข้าถึงบริการการเลี้ยงเด็ก, ประเทศญี่ปุ่น ออกนโยบายมากมายเพื่อกระตุ้นคนในชาติ เช่น ท้องถิ่นของญี่ปุ่นบางเมือง ประกาศให้เงิน 1 ล้านเยน หรือ 200,000 บาท ให้ครอบครัวที่มีลูกคนที่ 4, ประเทศเกาหลีใต้ มีมาตรการแจกเงินให้ทารกแรกเกิดถึง 1 ขวบ 300,000 วอน หรือกว่า 8,000 บาท ทุกเดือน หรือ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ จะได้รับเงิน 1 ล้านวอน หรือราว 30,000 บาท รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายเตรียมคลอดอีกครอบครัวละ 2 ล้านวอน หรือราว 60,000 บาท เป็นต้น 

ในประเด็นนี้ ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนะว่านโยบายส่งเสริมการเกิดในประเทศไทย ควรเน้นส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ ส่วนเรื่องจำนวน ก็เป็นเรื่องสิทธิของบุคคล รัฐควรส่งเสริมให้กลุ่มที่พร้อมมีลูก คือในวัยทำงาน โดยรัฐต้องช่วยให้สามารถสร้างครอบครัวได้เร็วขึ้น และประเด็นสำคัญรัฐจะมีนโยบายจูงใจในเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องเป็นนโยบายทางสังคมมากขึ้น เช่น จะทำอย่างไรให้การทำงานกับการเลี้ยงลูก ไปด้วยกันได้พร้อม ๆ กัน สร้างความสมดุลชีวิตการทำงาน นับเป็นประเด็นที่ท้าทาย ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของจำนวนน้อยอย่างเดียว แต่เป็นการที่จะทำอย่างไรให้จำนวนที่น้อยนี้มีคุณภาพ

อย่างไรก็ดี มติที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กเกิดน้อยของประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 เห็นว่าต้องดำเนินการหลายมาตรการพร้อมกัน ทั้งมาตรการทางสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง และระบบสาธารณสุข

ประเด็นที่น่าสนใจ ปัจจุบันสังคมไทยมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เช่น ชายแต่งกับชาย หญิงแต่งกับหญิง คนที่แปลงเพศแล้วอยากมีลูก หรือ คนที่อยากมีลูกแต่ไม่มีสามี และไม่ได้อยากมีภรรยา ทว่า เป็นประเด็นละเอียดอ่อนมีแง่มุมทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง

ดังนั้น  “พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 “ หรือ “กฎหมายอุ้มบุญ” เป็นกลไกสำคัญในการปลดล็อคสำคัญ ซึ่งต้องจับตากันว่าจะมีแนวทางสนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ที่มีความพร้อมและอยากมีลูกอย่างไร

ซึ่งตาม พ.ร.บ. กำหนดไว้ว่า จะต้องดำเนินการในคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นคู่สมรสชายหญิง ชายชายหรือหญิงหญิง แต่แม้ประเทศไทยมี พ.ร.บ.คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ แต่ยังไม่อนุญาติให้อุ้มบุญในครอบครัว LGBTQ แม้พวกเขาและเธอจะมีความพร้อมและต้องการมีบุตรก็ตาม เพราะยังไม่เข้าตามข้อกำหนดอุ้มบุญ

อย่างไรก็ตามทุกอย่างจะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองเด็ก ป้องกันการรับเด็กไปดูแลไม่ดี หรือมีความเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ รวมถึง การต้องปรับทัศนคติคำว่าครอบครัว ที่ปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐตระหนักกับสถาการณ์ตั้งครรภ์ในคนอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งอาจเป็นวัยที่ยังไม่พร้อม เพราะอยู่ระหว่างการเรียน โดยมี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่ต้องจัดระบบดูแล เพื่อไม่ให้ผู้หญิงไปทำแท้ง ได้รับการดูแลให้ยังอยู่ในระบบการศึกษา ได้เรียนต่อ ลดปัญหาการตีตรา สร้างอาชีพ และช่วยให้เด็กที่เกิดมาได้รับการดูแล ขีดเส้นใต้ว่ารัฐไม่ได้ส่งเสริมให้ท้องก่อนวัยอันควร

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ มีการขับเคลื่อนให้ภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการรักษามากขึ้น โดยมอบหมายให้ราชวิทยาสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ดำเนินการตามกรอบกฎหมายอุ้มบุญ เพื่อเอื้อต่อประโยชน์ต่อผู้มีความพร้อมในการมีบุตร

ซึ่งแต่เดิมภาวะมีบุตรยากไม่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพใดๆ ของรัฐ เพราะไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรค ต่อมา องค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุภาวะมีบุตรยากถูกเป็นโรคแล้ว เมื่อภาวะมีบุตรยากได้รับการประกาศเป็นโรคที่ต้องรับการรักษา ทำให้ทางระบบสาธารณสุขไทยปรับโครงสร้างสิทธิประโยชน์ในการรักษาผู้มีบุตรยากตามสิทธิหลักประกันสุขภาพภาครัฐ เพื่อให้คนไข้ก็จะมีโอกาสเข้ารับการรักษาโรคได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงบริการ โดยระยะแรกจะเริ่มต้นที่ผู้ป่วย สปสช. หรือ บัตรทอง

และที่ผ่านมายังมีขบวนการรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (Department of Special Investigation : DSI) ได้ประสานความร่วมมือดำเนินการปราบปรามอย่างเข้มข้น ซึ่งในปี 2565 DSI จะยกระดับให้คดีอุ้มบุญเป็นคดีพิเศษ มีการนำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมอาชญากรรมข้ามชาติ และกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาดำเนินการกับผู้กระทำผิด จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

แต่สุดท้ายแล้วกฎหมายอุ้มบุญคงไม่อาจหยุดยั้งธุรกิจบาปอุ้มบุญเถื่อน ได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ส่วนประเด็นการใช้กฎหมายอุ้มบุญให้ครอบครัว LGBTQ ที่มีความพร้อมให้มีลูกได้นั้น ในสังคมไทยจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ น่าติดตามว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนอย่างไร

 ที่สำคัญกราฟตัวเลขเด็กเกิดใหม่ที่ดิ่งลงเหวอย่างต่อเนื่องหลายปี นับเป็นอีกความท้าทายของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำคลอดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการมีบุตร ภายใต้เงื่อนไขการเพิ่มอัตราเด็กเกิดใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ปริมาณแต่ต้องมีคุณภาพด้วย 





กำลังโหลดความคิดเห็น