xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (56) : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับบันทึกความทรงจำ กษัตริย์สเปนแห่งราชวงศ์บูร์บอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บูร์บองอยู่ห่างจากปารีส 271 กิโลเมตร
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


ในตอนก่อนๆ ได้กล่าวถึงหนังสืออ้างอิงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง  The War of the Polish Succession (สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์) ที่ได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์อังกฤษ T. Fisher Unwin ในปี พ.ศ. 2445 อันเป็นปีที่พระองค์เสด็จกลับจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

หนังสือแต่ละเล่มที่พระองค์ทรงเลือกมานั้น ถือว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่แต่งโดยนักวิชาการชั้นนำในสมัยนั้น และมีหนังสือที่เขียนในภาษาฝรั่งเศสด้วย แสดงว่า พระองค์ทรงรู้ภาษาฝรั่งเศสในระดับที่อ่านหนังสือที่เขียนในภาษาฝรั่งเศสในระดับวิชาการได้ ดังที่ได้นำเสนอไปแล้ว ยังเหลือหนังสืออ้างอิงอีก 2 เล่มสุดท้าย นั่นคือ Memoirs of the Kings of Spain of the House of Bourbon ของ William Coxe และ Frederick the Great ของ Thomas Carlyle 

Memoirs of the Kings of Spain of the House of Bourbon มีชื่อเต็มว่า Memoirs of the Kings of Spain of the House of Bourbon : from the accession of Philip V. to the death of Charles III. 1700-1788 เป็นหนังสือ 5 เล่มจบ ( 5 volumes) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2356/2358 (ค.ศ. 1813/15) โดยสำนักพิมพ์ Longman, Hurst, Rees, Orme and Brown เนื้อหาของหนังสือเล่มก็เป็นไปตามชื่อ นั่นคือ เป็นบันทึกที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์สเปนแห่งราชวงศ์บูร์บอง และบันทึกที่ว่านี้เป็นบันทึกของทูตอังกฤษที่ประจำอยู่ที่สเปน

เมื่อเอ่ยถึงราชวงศ์บูร์บอง คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงราชวงศ์พระมหากษัตริย์ของฝรั่งเศสมากกวาของสเปน ดังนั้น ก่อนจะกล่าวถึงสาระของหนังสือเล่มนี้ จะขอกล่าวถึงราชวงศ์บูร์บองเสียก่อน จะได้ทำให้คลายสงสัยว่า ตกลงแล้ว ทำไมพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสและสเปนถึงอยู่ในราชวงศ์เดียวกัน




 แรกเริ่มเดิมที ฝรั่งเศสไม่ได้ปกครองโดยราชวงศ์บูร์บอง แต่ปกครองโดยราชวงศ์แคะเปะ (Capet) ที่เป็นที่รู้จักกันในนามของราชวงศ์ฝรั่งเศส (the House of France) ส่วนราชวงศ์บูร์บองนั้นมีที่มาในปี พ.ศ. 1815 (ในช่วงประมาณยุคสุโขทัย) จากการที่เจ้าชายรอแบร์ (Robert) พระราชโอรสพระองค์เล็กสุดของพระเจ้าหลุยส์ที่เก้าแห่งราชวงศ์แคะเปะเสกสมรสกับเบียทรีซ (Beatrice) ทายาทหญิงของอภิชนแห่งบูร์บอง  

หลังจากนั้น สายของเจ้าชายรอแบร์ได้ครองเมืองสืบเนื่องถึงสามร้อยปีในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์แคะเปะของพระเจ้าหลุยส์ที่เก้า ต่อมาในราวศตวรรษที่สิบหก สายราชวงศ์แคะเปะมีปัญหาผู้สืบสาย สายของวงศ์บูร์บองจึงได้ขึ้นมาปกครองฝรั่งเศส และกษัตริย์ฝรั่งเศราชวงศ์บูร์บองหลายพระองค์ได้ปกครองฝรั่งเศสและรวมไปถึงเมืองเนวาระ (Navarrre) ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ทางตอนเหนือของสเปน

ต่อมาในศตวรรษที่สิบแปด พระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์บูร์บองในสายสเปน นั่นคือ ในสายที่ปกครองเมืองเนวาระได้เป็นกษัตริย์ในหลายดินแดน เช่น สเปน เนเปิลส์ ซิซิลี และปาร์มา โดยสามเมืองหลังนี้อยู่ในอิตาลี และเมืองปาร์มา (Parma) ก็คือเมืองที่มีชื่อเสียงในการทำปาร์มาแฮม (parma ham) ที่หลายคนรู้จัก

นอกจากกษัตริย์สเปนราชวงศ์บูร์บองปกครองเมืองต่างๆที่ว่ามาแล้ว ยังข้ามไปปกครองเมืองลักซ์เซมเบอร์กด้วย ซึ่งถ้าดูจากแผนที่ข้างล่างนี้(ภาพที่ 5) ก็พอเข้าใจได้ว่า กษัตริย์ฝรั่งเศสราชวงศ์บูร์บองได้แผ่ขยายอำนาจไปปกครองสเปน อิตาลีและลักซ์เซมเบอร์กได้อย่างไร เพราะอย่างน้อยดินแดนก็ติดต่อกัน

Memoirs of the Kings of Spain of the House of Bourbon เป็นหนังสือที่เน้นไปที่เรื่องราวของกษัตริย์สเปนราชวงศ์บูร์บองในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2243-2331 (ค.ศ. 1700-1788) คือ ตั้งแต่การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าฟิลลิปที่ห้าจนถึงการสวรรคตของพระเจ้าชาร์ลสที่สาม

สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้หนังสือเล่มนี้ เพราะเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการเกิดสงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์ ซึ่งเกิดในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2276-2281 (ค.ศ. 1733-1738) และกษัตริย์สเปนมีบทบาทสำคัญต่อสงครามสืบราชสมบัติในโปแลนด์ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ออสเตรียและรัสเซียสนับสนันให้เลือก Frederick Augustus II แห่งแซกโซนี พระราชโอรสของ Augustus เป็นกษัตริย์โปแลนด์ แต่สเปนกับฝรั่งเศสต่อต้านออสเตรียและรัสเซียที่สนับสนุนAugustus II




ดังนั้น ในการเข้าใจที่มาของสงครามสืบราชสมบัติในโปแลนด์ จึงจำเป็นต้องเข้าใจตัวแสดงสำคัญที่มีส่วนทำให้เกิดสงคราม ซึ่งในยุคนั้นภายใต้การปกครองแบบราชาธิปไตย กษัตริย์คือผู้มีบทบาทสำคัญในนโยบายต่างประเทศ หรือถ้าไม่ใช่กษัตริย์ ก็อาจจะเป็นพระราชินีก็ได้ อย่างในกรณีของสเปน พระราชินีของพระเจ้าฟิลลิปที่ห้า พระนางเอลิซาบีธ ฟาเนสสิ (Elisabeth Farnese) ทรงมีอิทธิพลอย่างยิ่งในนโยบายต่างประเทศของสเปน ส่งผลให้ในทางปฏิบัติ พระองค์เป็นผู้ปกครองของสเปนในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1714-1746 (คาบเกี่ยวกับการเกิดสงครามสืบราชสมบัติในโปแลนด์)
และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับ เอลิซาบีธ ฟาเนสสิ โดยตรงเป็นหนึ่งในหนังสืออ้างอิง ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว

 Memoirs of the Kings of Spain of the House of Bourbon จะออกแนวชี้ให้เห็นถึงด้านลบของกษัตริย์และพระราชินีสเปนเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเริ่มจากพระเจ้าฟิลลิปที่ห้าที่เป็นโรคซึมเศร้าและลุ่มหลงพระราชินีของพระองค์มาก (หลงเมีย !) และต่อมาก็คือ พระเจ้าเฟอร์ดินานที่หก พระราชโอรสของพระเจ้าฟิลลิปที่ห้าที่มีพฤติกรรมแปลกๆแย่ๆในบั้นปลายพระชนม์ชีพ เช่น ทรงทุบตีทำร้ายข้าราชบริพารและทำแต่เรื่องพิสดารไม่มีหยุด ซึ่งในความเห็นของ เดวิด แบรดดิ่ง (David Anthony Brading) ศาสตราจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้กล่าวไว้ในปี พ.ศ. 2523 ว่า หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องราววงในของกษัตริย์สเปนที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง (หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2356/58 นั่นคือเกือบ 170 ปีที่แล้ว นับจาก พ.ศ. 2523)

ถามว่าผู้แต่งได้ข้อมูลมาจากไหน ? อย่างที่กล่าวไปแล้ว ผู้แต่งได้จากบันทึกของทูตอังกฤตในสเปน

ผู้แต่งคือ William Coxe  (มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2291-2371/ ค.ศ. 1748-1828) เป็นบาทหลวงและนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ จบปริญญาตรีและปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และสังกัดคณอีตัน (Eton College) ต่อมาได้เข้าเป็นสมาชิกคณะคิงส์ (King’s College) ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาได้เดินทางท่องไปยุโรปในฐานะอาจารย์สอนหนังสือ และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางของอภิชนชนชั้นสูง ซึ่งเข้าใจว่า หนึ่งในนั้นน่าจะได้แก่ทูตอังกฤษในสเปนด้วย

Memoirs of the Kings of Spain of the House of Bourbon | William Coxe
นอกจาก Memoirs of the Kings of Spain of the House of Bourbon ที่มีความยาวถึง 5 เล่มแล้ว Coxe ยังมีผลงานหนังสืออีก 17 เล่ม ได้แก่ สถานะของรัฐสวิสเซอร์แลนด์ (ค.ศ. 1779), การค้นพบต่างๆของรัสเซียระหว่างทวีปเอเชียและอเมริกา (1780), คุกและโรงพยาบาลในรัสเซีย สวีเดนและเดนมาร์ก (1781), การท่องโปแลนด์ รัสเซีย สวีเดนและเดนมาร์ก (1784), เทือกเขามองบลังก์และเทือกเขาแอลพ์ (1789), การท่องเที่ยวในสวิสเซอร์แลนด์ (1789), จดหมายเรื่องคณะตุลาการลับของเวสต์ฟาลีย (1796), ชีวิตของจอห์น เกย์ (1797), บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตและการบริหารราชการของเซอร์ โรเบิร์ต วอลโปล (สามเล่มจบ/ 1798), เป็นบรรณาธิการข้อเขียนเกี่ยวกับนิทานของจอห์น เกย์ (1798), เรื่องสั้นต่างๆของ จอร์จ เฟรเดอริค เฮนเดล และ จอห์น คริสโตเฟอร์ สมิธ (1799), พาเที่ยวประวัติศาสตร์ในมอนมัชเชียร์ (1801), บันทความทรงจำเกี่ยวกับโฮราติโอ (1802), ประวัติราชวงศ์ออสเตรีย (1807), บันทึกความทรงจำของ จอห์น ดุ๊คแห่งมาร์ลเบอเรอ (1818-1819), จดหมายโต้ตอบของ ชาร์ลส ทัลบอต ดุ๊คแห่งชรูส์เบอรี่ (1821) และเล่มสุดท้ายที่ตีพิมพ์หลังเขาเสียชีวิตได้หนึ่งปีคือ บันทึกความทรงจำของการบริหารราชการของเฮนรี่ เพลเลม (1829)

ดูจากผลงานของเขาแล้ว น่าทึ่งมาก คนอะไรเขียนหนังสือออกมาได้เฉลี่ยปีละเล่มสองเล่มขนาดนั้น

 คราวหน้าจะกล่าวถึงหนังสืออ้างอิงเล่มสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นคือ Frederick the Great ของ Thomas Carlyle

ที่น่าสนใจคือ Thomas Carlyle น่าจะเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดในบรรดาผู้แต่งหนังสืออ้างอิงทั้งหมดที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ ! 


กำลังโหลดความคิดเห็น