xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ตรุษจีนที่เปลี่ยนไป (1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 ก่อนที่จีนจะเปิดประเทศในปลายทศวรรษ 1970 นั้น มีน้อยคนที่จะรู้ว่า จีนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 1949 มีการฉลองตรุษจีนกันอย่างไรบ้าง เพราะไม่แน่ใจว่า จีนคอมมิวนิสต์ที่ไม่เชื่อเรื่องศาสนาจะออกกฎอะไรมาจัดการกับเทศกาลนี้หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะกับประเพณีความเชื่อของชาวจีนที่มีต่อเทศกาลนี้ 


การจะจัดการอย่างไรกับความเชื่อที่ว่านั้น ก่อนอื่นเราลองมาดูว่า อะไรคือความเชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิมของชาวจีนที่มีต่อเทศกาลอันสำคัญนี้

 เทศกาลตรุษจีนหรือที่ชาวจีนเรียกว่า ชุนเจี๋ย (春节) ที่แปลว่า เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ โดยนัยแล้วก็คือ เทศกาลที่ต้อนรับการหวนกลับมาของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งสำหรับชาวจีนก็คือสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าถึงเวลาที่ตนจะต้องลงไปสู่ท้องไร่ท้องนาแล้ว แต่ก่อนที่จะลงสู่ท้องไร่ท้องนาเพื่อทำการผลิตนั้น ก็ควรที่จะมีการฉลองกันเสียก่อน ประมาณว่ากิน ดื่ม และเที่ยวให้เต็มที่ แล้วค่อยไปลงแรงในท้องไร่ท้องนาซึ่งต้องใช้เวลานานหลายเดือน 

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเทศกาลแล้ว การที่จะกิน ดื่ม หรือเที่ยวอะไรอย่างไรนั้นก็ควรที่จะเป็นไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ดีๆ ด้วย กล่าวคือ จะคิดจะทำอะไรก็ให้ดูเป็นมงคล ซึ่งมีตั้งแต่ไม่ดุด่าว่ากล่าวในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะในวันขึ้นปีใหม่ (จีน) ในวันที่ 1 ตามปฏิทินจันทรคติแบบจีน คำพูดคำจาควรที่จะสุภาพ ไม่กล่าวหยาบคาย ไม่กล่าวโทษบุคคลด้วยความโกรธเคือง หรืออย่างน้อยก็ต้องระงับอารมณ์เอาไว้ให้ได้

หาไม่แล้วก็จะเป็นอัปมงคลแก่เจ้าตัวหรือครอบครัว

นอกจากนี้ จากเวลานับพันปีที่ผ่านมา เทศกาลตรุษจีนยังได้ถูกประกอบสร้างด้วยประเพณีและพิธีกรรมที่แฝงไว้ด้วยหลักคิดต่างๆ ที่ล้วนถูกอธิบายให้มารวมศูนย์อยู่ที่ความเป็นมงคล ประเพณีหรือพิธีกรรมนี้จึงถูกกำหนดให้มีรายละเอียดที่แฝงไว้ด้วยความเชื่อต่างๆ ว่าถ้าทำเช่นนั้นเช่นนี้แล้วก็จะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของเจ้าตัวและครอบครัว และที่กำหนดนั้นก็กำหนดกันเป็นวันๆ ไปทั้งก่อนและหลังวันตรุษจีนที่เป็นวันที่ 1

ในที่นี้ขอประมวลมาให้พอเข้าใจว่า ในแต่ละวันทั้งก่อนและหลังวันตรุษจีนนั้น ถูกกำหนดให้เป็นอย่างไรและด้วยความเชื่อใด เริ่มจากก่อนถึงวันตรุษจีนจริงๆ ชาวจีนจะทำความสะอาดบ้านเรือนของตนอย่างขนานใหญ่ ไม่ใช่การทำความสะอาดรายวันแบบที่ทำกันปกติ การทำความสะอาดเช่นนี้จึงควรที่เราจะได้ทำความเข้าใจบ้านเรือนจีนก่อนว่าเป็นอย่างไร

 จีนเป็นประเทศที่มีอากาศอบอุ่นและหนาว หน้าร้อนที่ทำให้อากาศร้อนมีอยู่ในช่วงสั้นๆ ไม่นานเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองไทย ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นชาวจีนใส่เสื้อหนาวกันเป็นปกติ หรือถ้าเป็นคนเมืองก็จะใส่สูทที่เห็นได้จนชินตา การมีอากาศเช่นนี้ทำให้ชาวจีนใส่รองเท้าอยู่บ้านเป็นปกติไปด้วย ซึ่งผิดกับไทยเราที่มักถอดรองเท้าเมื่ออยู่ในบ้าน 

 เมื่อเป็นเช่นนี้บ้านของชาวจีนจึงมักถูกทำความสะอาดด้วยการกวาดเป็นประจำ โดยเฉพาะบ้านในชนบท เหตุดังนั้น การทำความสะอาดใหญ่เพื่อรับตรุษจีนจึงเป็นอะไรที่ “ใหญ่” จริงๆ เรียกได้ว่าทุกตารางนิ้วของบ้านจะถูกทำความสะอาดอย่างหมดจด อะไรที่ถูกเก็บถูกซุกอยู่ในตู้ในกล่องหรือในมุมบ้านที่ตลอดทั้งปีไม่เคยถูกแตะต้อง ก็จะถูกนำออกมาชำระสะสางในช่วงก่อนวันตรุษจีน 

พร้อมกันไปกับการทำความสะอาดก็คือ การซื้อของกินของใช้สำหรับเทศกาลตรุษจีน ซึ่งส่วนหนึ่งย่อมผูกพันกับการเซ่นไหว้อยู่ด้วย ว่าจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง กล่าวเฉพาะของกินแล้วก็มีประเด็นที่พึงทำความเข้าใจด้วยว่า การที่ของกินจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ในด้านหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับทรัพยากรของแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะจีนที่มีแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาลนั้นทำให้ทรัพยากรของแต่พื้นที่แตกต่างกันไปด้วย

พื้นที่หนึ่งมีสิ่งหนึ่งที่อีกพื้นที่หนึ่งอาจไม่มี และที่พื้นที่หนึ่งมีแต่ในอีกพื้นที่หนึ่งไม่มี หรือถ้ามีก็มีแต่น้อยหรือหายาก เพราะฉะนั้นของกินที่ใช้ประกอบการเซ่นไหว้ในแต่ละพื้นที่จึงมีรายละเอียดที่ต่างกันไป ชาวจีนจึงไม่ถือเคร่งว่าจะต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ได้ในทุกพื้นที่ หาไม่แล้วจะไม่สบายใจด้วยรู้สึกว่าชีวิตนี้จะอัปมงคล

เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อมแล้ว ชาวจีนก็กำหนดให้แต่ละวันนับจากวันที่ 1 ซึ่งเป็นวันตรุษจีนให้มีความหมายตามความเชื่อ นั่นคือ วันที่ 1 ให้ถือเป็นวันรับเทพเจ้า เมื่อเป็นวันรับเทพเจ้าเช่นนี้ชาวจีนจึงไม่ให้พูดจาไม่ดีในวันนี้ดังได้กล่าวไปแล้ว พอถึงวันที่ 2 ก็จะเป็นวันไหว้บรรพชนและถือเป็นวันเปิดศักราชหรือไคเหนียน (开年)

แต่ที่น่าสนใจก็คือ วันที่ 3 และ 4 ซึ่งถือเป็นวันคารวะพ่อตาแม่ยาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเพณีการแต่งงานของชาวจีนนั้นหมายถึงฝ่ายหญิงแต่งเข้าบ้านฝ่ายชาย เมื่อแต่งแล้วชีวิตของฝ่ายหญิงก็ขาดจากบ้านเดิมของตนไป ดังนั้น การที่มีวันคารวะพ่อตาแม่ยายจึงเป็นกุศโลบายของคนโบราณ ที่มิให้ฝ่ายหญิงต้องถึงกับถูกตัดรอนจากครอบครัวเดิมของตน ด้วยการกำหนดให้ฝ่ายชายต้องเดินทางไปยังบ้านฝ่ายหญิงเพื่อคารวะพ่อแม่ของฝ่ายหญิง ซึ่งก็คือพ่อตาแม่ยายของตน ในด้านหนึ่งของประเพณีนี้จึงเป็นการรักษาสายใยให้แก่ครอบครัวของฝ่ายหญิงมิให้ถูกตัดไปจนขาด

สมัยที่ผมยังเด็กอยู่นั้น ผมเคยเห็นเพื่อนพ่อคนหนึ่งมีภรรยาเป็นคนเชียงใหม่ พอตรุษจีนผ่านไปวันสองวันท่านก็จะพาภรรยาของท่านเดินทางจากปัตตานีไปยังเชียงใหม่ เพื่อคารวะพ่อตาแม่ยายของตน การเดินทางไกลเช่นนี้ทำให้ท่านต้องหยุดยาวกว่าใครในช่วงเทศกาลตรุษจีน

เนื่องจากยังเป็นเด็ก ผมจึงไม่รู้จักประเพณีนี้ คิดอยู่อย่างเดียวว่า ถ้าเป็นผม ผมจะทนเดินทางด้วยรถไฟแบบถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่างด้วยระยะทางที่ไกลแสนไกลเช่นนั้นได้ไหม

ส่วนที่ว่าชาวจีนสมัยก่อนจะเดินทางไกลเพื่อการนี้หรือไม่อย่างไรคิดว่าน่าจะมีอยู่ แต่ก็คงไม่มากนัก เพราะในสังคมเกษตรกรรมของจีนในอดีตนั้น ชายหญิงที่แต่งงานกันมักอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ชาวจีนคงไม่ย้ายบ้านไปไกลหากไม่จำเป็น เช่น หนีภัยสงคราม เป็นต้น ดังนั้น การที่กำหนดให้มีวันคารวะพ่อตาแม่ยายไว้สองวันจึงน่าจะมาจากเหตุที่ว่า

ต่อไปคือวันที่ 5 วันนี้ถือเป็นวันต้อนรับเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง เป็นวันที่ชาวจีนจะไม่ออกนอกบ้าน ด้วยเชื่อว่าหากออกแล้วจะนำสิ่งเลวร้ายมาให้ ความเชื่อนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นอุบายอย่างหนึ่งที่จะให้สมาชิกในครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา แค่วันเดียวคงไม่มีใครโวยวาย จากนั้นในวันที่ 6 ซึ่งเป็นวันฉลองโคมไฟ วันนี้เชื่อกันว่า คนที่ยังไม่มีลูกจะเปลี่ยนโคมไฟใหม่เพื่อที่จะได้มีลูก

 สุดท้ายคือวันที่ 7 ถือเป็นวันกำเนิดมนุษย์ ในวันนี้จะมีการกินบะหมี่ที่เรียกว่า ฉังโซ่วเมี่ยน (长寿面) ชื่อนี้สื่อว่ากินแล้วจะมีอายุยืนยาว ชาวจีนจึงเชื่อกันว่า เวลากินห้ามไม่ให้ตัดบะหมี่ที่ตนกิน หาไม่แล้วจะเท่ากับตัดอายุของตนให้สั้นลง 
จะเห็นได้ว่า ชาวจีนในอดีตฉลองตรุษจีนกันยาวหลายวันเหมือนคนไทยฉลองสงกรานต์ แต่ทุกวันนี้สังคมจีนต่างจากอดีตไปแล้ว สัดส่วนของการเป็นสังคมเกษตรกรรมลดลงโดยมีสังคมอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่ การที่จะฉลองกันอย่างที่กล่าวมาจึงไม่สะดวกที่จะทำ

สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชาวจีนจากห้วงสามสี่สิบปีมานี้ก็คือ การเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อฉลองตรุษจีน ซึ่งทำให้เห็นว่า ชาวจีนนับร้อยล้านคนคือชาวจีนที่จากบ้านเกิดของตนไปทำงานยังต่างถิ่นเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ชาวจีนจะคลาคล่ำอยู่ที่สถานีขนส่งและสนามบินเช่นนี้ไปอีกนานแค่ไหน


กำลังโหลดความคิดเห็น