xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดีเดย์แจก “ถุงยางอนามัย-ยาคุม” สังคมไทยโปรดอย่าทำเหนียมอายเกิน ทำเมิน Safe sex!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ไม่ใช่ครั้งแรกในสังคมไทยที่ยกเอาเรื่องการแจกถุงยางอนามัยแจกยาคุมกำเนิดเป็นการทั่วไป และต้องการให้เข้าถึงเป้าหมายหลักอย่างกลุ่มวัยรุ่นเพื่อป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม โดยครั้งนี้มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นแม่งานหลัก แต่ด้วยความคิดฝังลึกในสังคมไทยที่ทำเป็นรับไม่ได้กับเซ็กซ์ในวัยเรียน และความเหนียมอายที่จะหยิบใช้ถุงยาง-ยาคุม ให้เป็นเรื่องปกติเป็นธรรมชาติของมนุษย์ จุดหมาย Safe sex จึงยังไปไม่ถึงไหน 


ข่าวคราวแจกยาคุมแจกถุงยางเลือกไซซ์ได้ ฟรี อายุ 15 ปีขึ้นไปที่สะพัดว่อนเน็ต สะท้อนถึงการได้รับความสนใจไม่น้อยจากสังคม หลังจาก  นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการให้บริการยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน และถุงยางอนามัยแบบเลือกไซส์ได้ ในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นบริการสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ทั้งนี้ สปสช. ได้เพิ่มจุดให้บริการในหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อการเข้าถึงได้มากขึ้น ประกอบด้วย คลินิกการพยาบาลฯ, ร้านขายยา, โรงพยาบาลเอกชน, คลินิกเวชกรรม และหน่วยบริการปฐมภูมิเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และเพิ่มความปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

สำหรับเงื่อนไขการขอรับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานนั้น มีดังนี้ หญิงไทยทุกสิทธิ อายุระหว่าง 15-59 ปี โดยผู้รับบริการสามารถรับบริการยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ครั้งละไม่เกิน 3 แผง คนละไม่เกิน 13 แผง/ปี ส่วนวิธีการขอรับสามารถทำได้ผ่านโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนในแอปเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ โดยเลือกบริการสร้างเสริมสุขภาพ เลือกหน่วยบริการที่จะไปรับ จองสิทธิ และไปรับภายในวันที่จองสิทธิ ส่วนกรณีไม่มีสมาร์ทโฟน ให้แสดงบัตรประชาชนเพื่อขอรับยาคุมกำเนิด ณ หน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ

ส่วนถุงยางอนามัย มีเงื่อนไขในการให้คือ ให้บริการแก่คนไทยทุกสิทธิอายุ 15 ปีขึ้นไป รับบริการได้ครั้งละ 10 ชิ้น/ สัปดาห์ รอบการจ่าย 7 วัน รับได้ 1 ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนถุงยาง/คน/ปี วิธีการขอรับถุงยาง ทำได้โดยใช้สมาร์ทโฟน Add Line สปสช. สแกน QR code ณ หน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการแจกถุงยางอนามัย (ดูรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ สปสช.) เพื่อรับถุงยางอนามัยตามไซส์ มีให้เลือก 4 ไซส์ คือ 49 มม., 52 มม., 54 มม. และ 56 มม. ทั้งนี้ การให้บริการยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน จะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. 2565 นี้เป็นต้นไป ส่วนถุงยางอนามัยจะเริ่มให้บริการในช่วงเดือนเมษายน 2565

นโยบายการแจกยาคุมกำเนิดกับถุงยางอนามัยในวงกว้างรอบนี้ มองอีกด้านหนึ่งถือเป็นความพยายามอีกครั้งในการทำให้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ต้องการการป้องกันเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ไม่ต้องทำเป็นเหนียมอาย เคอะเขินกันอีกต่อไป สามารถยืดอกเข้าไปขอรับยาคุมกับถุงยางที่สถานบริการของ สปสช.ได้ทุกแห่ง

 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้เป็นต้นไป ผู้หญิงไทยที่มีสิทธิการรักษาอายุระหว่าง 15-59 ปี สามารถเข้ารับบริการยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานได้ฟรี ไม่เกิน 3 แผงต่อครั้ง และคนละไม่เกิน 13 แผงต่อปี บริการยาคุมกำเนิดเป็นสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณและดำเนินการเชิงรุกให้เข้าถึงได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ขณะนี้มีหน่วยบริการทั่วประเทศกว่า 2.5 พันแห่ง พร้อมให้บริการยาคุมกำเนิดสำหรับหญิงไทยทุกสิทธิ เพื่อแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น

มองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ กรณีการกระจายถุงยางอนามัยให้ถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งก็คือกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียน โดยการผลักดันของกระทรวงสาธารณสุข ที่เปิดโครงการ  “ตู้ขายถุงยางอนามัยในโรงเรียน”  ได้กลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมไทยอย่างดุเดือด มีการแบ่งฝ่ายหนุนฝ่ายเชียร์ โดยเสียงจากผู้ปกครอง พ่อแม่ ส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วย กลัวเด็กจะหมกมุ่นแต่เรื่องเพศสัมพันธ์ ไม่สนใจการเรียน

ขณะที่ตัวเด็กเองมองเป็นเรื่องปกติธรรมดา และกล้ากดตู้ซื้อถุงยางมากกว่าจะเข้าไปซื้อหาตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยาที่มักจะถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ จากคนรอบข้าง อย่างน้อยก็เป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศ ป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม เพราะการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ สุดท้ายเสียงไม่เห็นด้วยที่จะมีตู้กดซื้อถุงยางอนามัยในโรงเรียนดูจะดังกว่า ครูบาอาจารย์ก็ไม่อยากเสี่ยงกับเสียงตำหนิจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วย โครงการนี้ก็เลิกราไปในที่สุด

ไม่ต้องพูดถึงการหาซื้อยาคุมกำเนิดของเด็กสาววัยรุ่นที่น้อยคนนักจะมีความกล้าก้าวเท้าเข้าไปซื้อตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่มักจะถูกซักไซ้ไล่เรียงและอบรมสั่งสอนไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน มากกว่าจะทำความเข้าใจในธรรมชาติความต้องการของมนุษย์ที่ต้องสืบพันธุ์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ ซึ่งควรสนับสนุนให้การมีเพศสัมพันธ์เป็นไปด้วยความปลอดภัยและช่วยป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมเป็นด้านหลัก แทนที่จะทำให้เกิดความอายที่วัยว้าวุ่นแอบไปมีเพศสัมพันธ์กัน

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนค่านิยม ความคิด ความเชื่อฝังลึกในสังคมไทยที่ต่อต้านการมีเซ็กซ์ในวัยเรียน แต่อย่างน้อยๆ สปสช. ก็เริ่มเดินหน้าและเป็นหัวหอกเปลี่ยนค่านิยมนี้อย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ต้นตอแล้ว

หากนับเวลาเหลืออีกไม่กี่วันก็จะถึง 14 กุมภาฯ วันวาเลนไทม์ เทศกาลแห่งความรักที่ทุกปีทางกรมควบคุมโรค มักจะออกมารณรงค์ขอให้คู่รักที่ตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์กันแสดงความรักควบคู่ไปกับการป้องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการติดเชื้อเอชไอวี โดยการใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติในการดูแลสุขภาวะทางเพศ รับผิดชอบต่อคู่รักและสังคมตามแนวคิด  “New Normal New Safe SEX : ชีวิตวิถีใหม่กับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย” 

ปัจจุบันสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคสำคัญ มีแนวโน้มสูงขึ้น ได้แก่ หนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง ซึ่งในปี 2562 พบว่า โรคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดในทุกกลุ่มอายุ คือ โรคหนองใน 14.8 และโรคซิฟิลิส 13.2

ข้อมูลจากรายงานการเฝ้าระวังโรค ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 พบว่ากลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคสำคัญสูงถึง 124.4 ต่อประชากรแสนคน และหากแยกรายโรคพบว่า มีอัตราป่วยด้วยโรคหนองใน สูงถึง 69.7 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ ซิฟิลิส 41.4 ต่อประชากรแสนคน นอกจากนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ง่ายกว่าคนทั่วไป 5-9 เท่า และอาจเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ป้องกัน

ขณะที่ปัญหาท้องไม่พร้อมก็น่าห่วงไม่น้อย นพ.พีระยุทธ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สถานการณ์หนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการเกิดที่ด้อยคุณภาพ เป็นผลสืบเนื่องจากการตั้งครรภ์โดยไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น สถิติใน พ.ศ. 2562 พบวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี คลอดบุตรเฉลี่ยวันละ 169 คน ในขณะที่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้กำเนิดบุตรเฉลี่ยวันละ 6 คน จำนวนคุณแม่วัยใสพบว่าในปีเดียวกัน มีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่ให้กำเนิดบุตรอยู่ที่ 63,831 ราย แยกเป็นอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 61,651 ราย และอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 2,180 ราย และยังมีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีที่มีการคลอดซ้ำอีกถึง 5,222 ราย

กรมอนามัย ได้ร่วมกับ 6 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (พ.ศ.2560-2569) อย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าหมายลดอัตราการคลอดในวัยรุ่นในปี 2569 ให้เหลือไม่เกิน 25 ต่อ 1,000 คน จากปัจจุบันอยู่ที่ 28 ต่อ 1,000 คน โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะเน้นสร้างความตระหนักรู้การดูแลตัวเอง ส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงเรื่องเพศศึกษาที่เหมาะสม หากเด็กท้องต้องได้เรียนอย่างมีคุณภาพ โดยขอเชิญชวนวัยรุ่นใช้ไลน์ TEEN CLUB ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/@teen_club เพื่อให้คำปรึกษาและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น