ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - บทเรียนน้ำมันรั่วกลางทะเลที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุด แม้จะขจัดคราบน้ำมันและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูชายหาดโดยหน่วยงานรัฐยืนยันผลกระทบไม่มากนัก แต่หายนะที่เกิดขึ้นซ้ำซากนี้ยังมีคำถามถึงความจริงที่ถูกปกปิดและทำให้สับสน ซึ่งโยงไปถึงการเยียวยาความเสียหายทั้งต่อระบบนิเวศน์ ชุมชน และผู้ประกอบการ
ความจริงที่ยังไม่กระจ่างชัด และสร้างความสับสนเป็นที่สุดที่สำคัญมากเป็นลำดับต้นๆ หนีไม่พ้นคำถามที่ว่า ปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลสู่ท้องทะเลครั้งนี้มีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งจะส่งผลไปถึงการประเมินผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และการจ่ายค่าเยียวยาทั้งระบบที่ “ผู้ก่อมลพิษ” คือ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) SPR ซึ่งมี CHEVRON SOUTH ASIA HOLDINGS PTE LTD เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 60.56% จะต้องรับผิดชอบทั้งหมด
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงต้นของเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา จุดเกิดเหตุห่างจากฝั่งท่าเรือมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กม. นั้น ข้อมูลที่ชี้แจงออกมาจากบริษัท SPRC เอง และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ชัดเจนและสับสนในปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วออกมา เห็นได้จากการประเมินปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลช่วงแรกคือ 400,000 ลิตร โดยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าเป็นการประเมินของ SPRC ในช่วงคืนที่เกิดเหตุ
ต่อมาในช่วงเช้า การคำนวณปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมาเปลี่ยนเป็น 160,000 ลิตร เนื่องจากพบว่าการรั่วไหลเกิดขึ้นในข้อต่อของท่อรับน้ำมันใต้ทะเลที่อยู่ด้านล่าง และหลังจากบริษัทส่งทีมนักประดาน้ำลงไปสำรวจ การประเมินปริมาณน้ำมันรั่วไหล เหลือเป็น 50,000 ลิตร และหลังจากที่บริษัท SPRC มีการกำจัดคราบน้ำมันดิบในทะเลแล้วจึงเหลืออยู่ 5,000 ลิตร
รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ยังให้สัมภาษณ์ว่า “ขอยืนยันว่าการรั่วไหลของน้ำมันดิบจะไม่กระทบกับการท่องเที่ยวและหาดแม่รำพึงอย่างแน่นอน” ซึ่งสวนทางกับความจริงที่คราบน้ำมันลอยขึ้นเต็มหาดแม่รำพึงในอีกไม่กี่วันถัดมา และส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ชุมชน และระบบนิเวศน์ที่ประเมินค่ามิได้
การประเมินสถานการณ์ต่ำเกินจริง ยังสะท้อนจากปากคำของ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่าได้รับรายงานประมาณการน้ำมันดิบรั่วไหลเบื้องต้นไม่เกิน 1.6 แสนลิตร หรือ 128 ตัน คิดเป็น 0.04% ของน้ำมันในเรือที่มีความจุประมาณ 3.2 แสนตัน ซึ่งหลังปิดวาล์วที่เกิดเหตุสำเร็จ เจ้าหน้าที่ทำการปิดล้อมพื้นที่น้ำดิบรั่วไหลในรัศมีไม่เกิน 1 ตร.กม. พร้อมทั้งฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมันแล้ว ประเมินสถานการณ์แล้วว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก คาดว่าจะไม่เข้าฝั่งและสามารถควบคุมเหตุการณ์ได้
สอดรับกับการชี้แจงของ นายพงษ์กรณ์ ช่อชูวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายความปลอดภัยระบบคุณภาพสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ที่ว่าหลังเกิดเหตุได้มีการตัดแยกระบบและส่งนักประดาน้ำไปดูจุดที่มีโอกาสรั่วพบว่ามีข้อต่อที่เป็นข้ออ่อนระหว่างจุดขนถ่ายน้ำมันกับตัวท่อที่ต่อเข้ากับท่อใต้น้ำรั่ว ท่อดังกล่าวนี้จะถึงเวลาเปลี่ยนในเดือนเมษายน 2565 แต่มาเกิดเหตุรั่วเสียก่อน โดยจุดที่รั่วไหลมีน้ำมันรั่วไหลสูงสุดประมาณ 50,000 ลิตร หรือแค่ 5.3 ตันในทะเล คาดว่าไม่น่าจะเกินเที่ยงวันที่ 27 มกราคม จะสามารถกำจัดคราบน้ำมันได้หมด
คำรับประกันมั่นเหมาะของบริษัทที่ว่าจะสามารถกำจัดคราบน้ำมันได้หมด กับการออกรับหน้าแทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ว่าฯ กนอ.ที่บอกกับสังคมว่าควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่น่ากังวล ผลกระทบไม่มาก ก็เห็นกันชัดเจนในเวลาต่อมาว่าไม่เป็นจริงตามนั้น
นายธารา มองว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤติเช่นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐต้องชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ แต่การสื่อสารในช่วงต้น สะท้อนให้เห็นการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดีต่อการรับมืออุบัติภัยที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
ผู้อำนวยการ กรีนพีช ประเทศไทย ยังมองว่า แม้ว่าปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันภายใต้การบัญชาการของศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันจะเป็นไปตามขั้นตอน โดยบริษัท SPRC ชี้แจงในแถลงการณ์ฉบับที่ 6 ว่าใช้เรือและเฮลิคอปเตอร์ของ กองทัพเรือภาคที่ 1 ฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน ขณะเดียวกัน มีบริษัท Oil Spill Response Limited (OSRL) ได้ส่งเครื่องบิน C-130 บินสำรวจพื้นที่พบคราบฟิล์มน้ำมันบางๆ และใช้เรือวางทุ่นกักน้ำมัน (boom) ไว้บริเวณชายหาดแม่รำพึง รวมถึงการจัดกำลังบุคลากรจากกองทัพเรือและกรมบรรเทาสาธารณะภัย เพื่อเฝ้าระวังและสำรวจตามแนวชายฝั่งบริเวณชายหาดแม่รำพึงถึงเขาแหลมหญ้า แต่การชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นนั้นไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมได้
ตัวอย่างเช่น ข้อมูลการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันสามารถนำมาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนและความเสียหายจากการใช้สารเคมีดังกล่าวเพื่อให้คราบน้ำมันดิบแตกตัวเป็นสารเคมีที่มีอนุพันธ์ขนาดเล็ก และจมสู่ใต้ทะเล และใช้ประกอบการสำรวจบริเวณที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำรวมถึงแนวหินธรรมชาติที่เป็นปะการังซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศที่เป็นพื้นที่ผลิตอาหารหรือการทำประมงพื้นบ้านที่อาจปนเปื้อนโดยสารเคมีกลุ่ม Polycyclic Aromatic Hydrocarbons ; PAHs โดยทั่วไป แม้ว่า PAHs เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ แต่ในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงจะพบความเป็นพิษเรื้อรังและการได้รับอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกายได้
ไม่เพียงแต่ผลกกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยังมีผลกระทบทางสุขภาพของคนในพื้นที่และที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การเฝ้าระวังสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานทั้งการโรยสารเคมี และจัดเก็บคราบน้ำมันชายหาด ที่ถึงแม้จะสวมอุปกรณ์ป้องกันก็มีโอกาสสัมผัสสารปนเปื้อน
นายธารา บอกเล่าผ่านสื่อว่า อุบัติภัยน้ำมันรั่วในทะเลไทยครั้งล่าสุดนี้ เป็นเพียงหนึ่งในกว่า 235 ครั้งตลอดช่วง 45 ปีที่ผ่านมา แม้แต่กับบริษัทสตาร์ปิโตรเลียมฯ เองในปี 2540 เกิดเหตุน้ำมันรั่วระหว่างการขนถ่ายน้ำมันจากเรือ สู่สถานีน้ำมันดิบทำให้น้ำมันดิบกว่า 160,000 ลิตร รั่วไหลในลักษณะเดียวกันนี้มาแล้ว รวมถึงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลที่อยู่ในความทรงจำ ในปี 2556 ซึ่งมีปริมาณกว่า 50 ตัน เกิดขึ้นบริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ก็อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเกาะเสม็ด จ.ระยอง เช่นกัน
“นั่นจึงเป็นที่มาของข้อคำถามที่ว่าเครื่องมือที่ใช้รับมือเหตุการณ์อุบัติภัยในภาวะฉุกเฉิน มีความพร้อมสอดคล้องกับการขยายตัวของอุสาหกรรมปิโตรเลียมของไทยหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาอากาศยานที่ใช้ปฏิบัติการก็จำเป็นต้องนำมาจากมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ แม้แต่เครื่องเก็บน้ำมันชายฝั่งก็ยังขาดแคลน”
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตั้งข้อสังเกตในทำนองเดียวกันว่า เรื่องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับน้ำมันรั่วเป็นประเด็นใหญ่ และมักมีข้อถกเถียงกันเสมอว่ามีปริมาณเท่าไรกันแน่ เหตุน้ำมันรั่ว ปี 2556 ก็เช่นกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นแม้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฝ่ายรัฐจะระบุน้ำมันดิบรั่วไหล 4-5หมื่นลิตร แต่จากการคำนวณของผู้เชี่ยวชาญกลับพบว่ามีปริมาณไม่ต่ำกว่าแสนลิตร ความจริงการหาข้อมูลทำได้ง่ายมาก ขึ้นอยู่กับบริษัทน้ำมันจะบอกความจริงหรือไม่ เอกสารการนำเข้าน้ำมันต้องแจ้งกับศุลกากร ได้มีการตรวจสอบแล้วหรือไม่
การติดตามสถานการณ์น้ำมันรั่วครั้งล่าสุดของมูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงยังเจอปัญหาการปกปิดข้อมูลเช่นเคย จากการส่งทีมงานเข้าไปในพื้นที่ก็เจอกับการกำกับและควบคุมการรายงานข่าว ภาพถ่ายดาวเทียมของจิสด้าถูกปล่อยจำนวนไม่มาก หรือภาพถ่ายและข้อมูลที่ให้กับสื่อมวลชนก็อยู่ในระดับที่น้อยมาก หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐก็ไม่ค่อยได้รับข้อมูลจากการทางบริษัท นี่คือเรื่องร้ายของการแก้ไขปัญหา แต่เหนืออื่นใดคือความเสียหายจะลุกลามและกว้างขวางมาก จึงไม่อยากให้รัฐและบริษัททำแบบนี้ การไม่เปิดข้อมูลว่าปริมาณน้ำมันรั่วเท่าไหร่ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟนนั่ง จำกัด (มหาชน) กับหน่วยงานรัฐเป็นสิ่งที่ไม่สมควร และไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
“ผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือปะการังในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ที่คราบน้ำมันตกสลายลงไปจมอยู่ใต้พื้นท้องทะเล ตัวปะการังจะได้รับผลกระทบก่อน ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นของแพลงก์ตอน และแพลงก์ตอนก็เป็นจุดเริ่มต้นแรก ๆ ของห่วงโซ่อาหารในทะเลทั้งหมด นั่นหมายความว่าจะเป็นผลกระทบที่ใหญ่” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวระหว่างการเสวนาออนไลน์หัวข้อ “Citizen Science กับการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ”
นายสนธิ คชวัฒ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การประเมินตัวเลขของน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมาจริงต้องมีความชัดเจน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ผ่าน EIA Monitoring ที่มีการส่งรายงานให้กรมเจ้าท่าทุก 6 เดือน และถ้าหากทราบว่าบริษัท SPRC รับน้ำมันมาเท่าไหร่ เหลืออยู่ในเรือเท่าไหร่ก็สามารถทราบได้ว่าเกิดการรั่วไหลลงในทะเลปริมาณเท่าไหร่ แต่เรือบรรทุกน้ำมันที่มาโหลดน้ำมันกลับไปแล้ว ใครจะบอกได้ว่าน้ำมันรั่วออกมาเท่าไหร่
"สำคัญคือการเรียร้องค่าเสียหาย ปล่อยน้อยจ่ายน้อย ปล่อยมากจ่ายมาก...ถ้ามันเป็นเพียงอุบัติเหตุจ่ายน้อยไม่ใช่ว่าท่อเสื่อม ท้ายสุดต้องตั้งกรรมการมาประเมินว่าเสียหายเท่าไหร่ ทั้งค่าเสียหายและสินไหมทดแทน ค่าเสียโอกาสของชาวประมง สัตว์น้ำ การฟื้นฟูอีกกี่ปี สุดท้ายเงินที่รัฐต้องเสียในอนาคตมันมีอีกมาก"
เอาเข้าจริงจนถึงวันนี้จึงยังไม่มีตัวเลขยืนยันชัดเจนถึงปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลลงทะเล แม้แต่ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “เจาะลึกทั่วไทย” ก็ยังบอกว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงจำนวนน้ำมันที่รั่วไหล ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมเจ้าท่าที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด
การสร้างความสับสนของปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลลงทะเล และการที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยังไม่ยืนยันตัวเลขปริมาณการรั่วไหล ทำให้สังคมตั้งข้อกังขาไม่ต่างไปจากเหตุการณ์เมื่อปี 2556 ยิ่งเมื่อมาดูตัวเลขการขออนุญาตใช้สารขจัดคราบน้ำมันจำนวนมาก ยิ่งทำให้มีข้อสงสัยเพิ่มขึ้นไปอีก ยังไม่นับว่าการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันจะก่อผลกระทบโดยปะการังอ่อนกระทบหนักสุด ลามไปถึงแพลงก์ตอน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารทั้งระบบ
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลว่า ได้มีการอนุมัติการระดมฉีดสารขจัดคคราบน้ำมัน (Dispersant) สลายคราบน้ำมัน รวม 85,400 ลิตร ซึ่งพิจารณาแล้วตามความจำเป็น แม้หลายฝ่ายอาจเป็นกังวลว่าเหตุใดจึงใช้เป็นจำนวนมาก
เอาปากกามาวงตรงที่ “ซึ่งพิจารณาแล้วตามความจำเป็น” ก็ชวนย้อนกลับไปดูว่าถ้าน้ำมันรั่วจริงเพียง 50,000 ลิตร อย่างที่บริษัทว่า หรือจะเอาตัวเลขปริมาณรั่วไหลไม่เกิน 1.6 แสนลิตร หรือแม้แต่ประเมินสูงสุด 400,000 ลิตร แล้วเหตุไฉนถึงต้องขออนุญาตใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันมากมายปานนั้น
นายสนธิ ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้สารเคมี dispersant พ่นลงไปในคราบน้ำมัน ปริมาณที่ขออนุญาตจากกรมควบคุมมลพิษ คือ 85,400 ลิตร การใช้ปรกติต้องผสมน้ำ 10 เท่าแล้วพ่นลงไปสามารถกำจัดคราบน้ำมันได้ถึง 854,000 ลิตร เลยทีเดียว...
การใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันมากเกินไปจะส่งผลต่อสัตว์น้ำอย่างมาก มีข้อห้ามใช้ใกล้ฝั่งในระยะ 5 กิโลเมตร เพราะจะทำลายระบบห่วงโซ่อาหารในทะเล และทำลาย Marine life จำนวนมาก ผลกระทบระยะยาวที่จะตามมาคือปรากฎการณ์แพลงตอนบูมและเหตุการณ์ Red tide รวมถึงระบบนิเวศน์ในทะเลถูกทำลาย เกิดก้อนน้ำมันเล็กพัดขึ้นชายฝั่งและชายหาดท่องเที่ยวต้องทำความสะอาดขนานใหญ่ต่อไป
หากมองย้อนกลับไปยังต้นเหตุของน้ำมันรั่วครั้งนี้ นายสนธิ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ระบบทุ่นรับน้ำมันกลางทะเลและท่อใต้ทะเลของบริษัท SPRC ดำเนินการมาตั้ง แต่ปี 2538 จะหมดอายุการใช้งานโดยต้องรื้อเปลี่ยนใหม่เกือบหมดภายในปี 2568 โดยใช้งานมา 26-27 ปีแล้ว โดยจุดอ่อนของการเกิดท่อน้ำมันใต้ทะเลรั่วหรือแตกคือ ท่อและวาล์วเปิดปิดน้ำมันใต้ทะเลเริ่มเสื่อมสภาพใกล้หมดอายุการใช้งานแล้วมีโอกาสแตกหรือรั่วได้ทุกขณะ แต่ยังไม่มีระบบตรวจเช็คหรือสัญญาณเตือนอัตโนมัติว่ามีเหตุน้ำมันรั่วลงจุดไหนของระบบ อาศัยความมั่นใจว่าจะไม่เกิดการรั่วอย่างแน่นอนเป็นหลัก
ส่วนการเปิดปิดวาล์วในขณะที่มีการรับน้ำมันดิบกลางทะเล ยังต้องใช้นักประดาน้ำดำลงไปเพื่อเปิดปิดวาล์ว ดังนั้นเมื่อทราบว่าน้ำมันรั่วแล้วกว่าจะลงไปใต้ทะเลเพื่อปิดวาล์วต้องใช้เวลานานมาก ทั้งที่หลักการคือต้องติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเปิดปิดการจ่ายน้ำมันโดยใช้ระบบควบคุมสั่งการจากทุ่นลอยน้ำ
สำหรับระบบการตรวจสอบทั้งหมดดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของโรงงานเอง ซึ่งอาจทำเป็นงานประจำและถูก ตรวจสอบจากหน่วยงาน ABS หรือสถาบัน American Bureau of shipping ทุก 5 ปีซึ่งครั้งสุดท้ายตรวจสอบเมื่อปี 2563 และจะมีการตรวจสอบอีกครั้งในปี 2568 ซึ่งนานเกินไปสำหรับระบบท่อที่กำลังจะครบอายุการใช้งาน
เขาเรียกร้องต่อภาครัฐว่าต้องสอบสวนถึงสาเหตุและการดำเนินการตามมาตรการในรายงานอีไอเออย่างจริงจัง ไม่ควรเชื่อแต่ภาคเอกชนเท่านั้น และควรรื้อระบบความปลอดภัยของการป้องกันการรั่วไหลของน้ำมันลงทะเลของทุกโครงการที่มีการรับน้ำมันกลางทะเลทั้งหมด เนื่องจากเหตุการรั่วไหลของน้ำมันดิบครั้งนี้ ถือว่าเป็นอุบัติภัยร้ายแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว อาชีพประมง ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และพ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเลรวมทั้งความเชื่อมั่นทั้งของนักลงทุนและประชาชนในพื้นที่ด้วย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันประเมินสรุปความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ ค่าเสียโอกาสทางการท่องเที่ยว การประมง การประกอบอาชีพ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาทุกบาททุกสตางค์จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อทวงคืนจากบริษัทต้นเหตุอย่างถึงที่สุดต่อไป
เวลานี้ กรมเจ้าท่า เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้ บมจ. สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง รับผิดชอบชดใช้ความเสียหายในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว
ส่วนผลจะออกมาเป็นเช่นไร จะซ้ำรอยบทเรียนน้ำมันรั่วลงทะเลเหมือนที่ผ่านๆ มาหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป