xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางพรรคการเมืองของคณะรัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจากการจัดตั้งของแกนนำรัฐประหารมักมีการเดินทางในถนนการเมืองได้ไม่ไกลนัก เป็นเส้นทางแห่งความไม่ยั่งยืน ดำรงอยู่เพียงไม่นานก็ล่มสลายหายไป ดุจดังไฟไหม้ฟาง เมื่อฐานอำนาจจากกำลังอาวุธที่เป็นเชื้อเพลิงถูกเผาไหม้จนหมดสิ้น เปลวไฟแห่งความรุ่งโรจน์ก็มอดดับ ทิ้งไว้เพียงเถ้าถ่าน ซากปรักหักพัง ถมทับในเส้นทางการพัฒนาการทางการเมืองไทย


ไม่มีพรรคการเมืองใดในสังคมไทยที่ถูกจัดตั้งโดยคณะรัฐประหารสามารถยืนระยะต่อสู้แข่งขันในระบบการเลือกตั้งได้เกินสองสมัย พรรคสหประชาไทย ซึ่งก่อตั้งในปี 2511 มี จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตแกนนำรัฐประหารเป็นหัวหน้าพรรค ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในปี 2512 จากนั้นก็ล่มสลายลงไปในปี 2514 พรรคสามัคคีธรรม ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาในปี 2535 เพื่อเป็นฐานการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารปี 2534 ส่งผู้สมัครเลือกตั้งในต้นปี 2535 แต่ก็ยุบตัวลงในปลายปีเดียวกัน

หลังปี 2535 การเมืองไทยว่างเว้นการรัฐประหารร่วม 15 ปี จากนั้นปรากฎขึ้นอีกครั้งในปี 2549 อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารยุคนั้น เข้าร่วมพรรคมาตุภูมิในฐานะหัวหน้าพรรคในปี 2551 และส่งผู้สมัครเลือกตั้งในปี 2554 แต่ได้ ส.ส. เพียง 2 คน ไม่มีตัวตนหรือบทบาทที่มีนัยทางการเมืองแต่อย่างใด ระเหยหายไปจากสนามการเมืองอย่างรวดเร็วราวน้ำค้างต้องแสงแดดยามรุ่งอรุณ ต่อมาในปี 2557 เกิดการรัฐประหารอีกครั้ง มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นแกนนำ คณะรัฐประหารยึดอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารปกครองประเทศ 4ปีเศษ และวางแผนสืบทอดอำนาจในระบบเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถูกจัดตั้งขึ้นมาในปี 2561 เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสืบทอดและครองอำนาจคณะรัฐประหารในระบบเลือกตั้ง ช่วงแรกมีพลเอกประวิตร วงษสุวรรณ เป็นผู้ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง ส่วนหน้าฉาก มอบหมายให้บุคคลในเครือข่ายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นผู้เคลื่อนไหว ลักษณะของพรรคพลังประชารัฐประกอบด้วยการผสมกลุ่มการเมือง 4 เครือข่าย คือ เครือข่ายพลเอกประวิตร เครือข่ายนายสมคิด เครือข่าย กปปส. และเครือข่ายสามมิตร ซึ่งมีสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นแกนนำ

ในการเลือกตั้งปี 2562 พปชร. ได้ ส.ส. มากเป็นลำดับสองในสภาผู้แทนราษฎร เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีพลเอกประยุทธ์ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของเครือข่ายอำนาจภายในพรรค พปชร. มีความเปราะบางอย่างยิ่ง เพราะถูกเชื่อมโยงด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้น หาใช่อุดมการณ์ทางการเมืองที่หนักแน่นแต่อย่างใด ภายในปีเดียว ความขัดแย้งเรื่องตำแหน่งและผลประโยชน์ระหว่างเครือข่ายพลเอกประวิตรกับเครือข่ายนายสมคิดก็เกิดขึ้น การต่อสู้ดำเนินไปเพียงไม่กี่เดือน จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเครือข่ายนายสมคิด ในกลางปี 2563 และพลเอกประวิตรซึ่งเคยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังพรรคก็ปรากฏตัวในเบื้องหน้าอย่างเต็มที่ เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และมี นายธรรมนัส พรหมเผ่า คนสนิทเป็นเลขาธิการพรรค ส่วนเครือข่ายนายสมคิดยกทีมออกจากพรรค และไปจัดตั้งพรรคใหม่ชื่อ พรรคสร้างอนาคตไทย ซึ่งเปิดตัวในช่วงต้นปี 2565

ต้นปี 2564 ควันสงครามระหว่างเครือข่ายพลเอกประวิตร กับเครือข่ายนายสมคิดยังไม่จางหาย สัญญาณการเสื่อมถอยอีกครั้งก็ตามมา เมื่อเครือข่าย กปปส. ที่เป็นรัฐมนตรีถูกศาลอาญาตัดสินจำคุกจากคดีการทำผิดกฎหมายระหว่างการชุมนุมประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วงหลายปี 2556 - ต้นปี 2557 ทำให้ต้องหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรี และหลุดจากตำแหน่ง ส.ส. ไปในที่สุด เครือข่าย กปปส. เป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนคณะรัฐประหาร โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ อย่างแข็งขัน แต่ค่อนข้างห่างเหินกับพลเอกประวิตร การถูกทำให้ต้องหมดบทบาททางการเมืองด้วยกระบวนการยุติธรรม ในความรู้สึกของคนเหล่านั้นอาจไม่ต่างจากการถูกทอดทิ้งและหักหลังจากกลุ่มอำนาจที่พวกเขาเคยสนับสนุน แต่ก็บทเรียนอย่างหนึ่งให้แก่บรรดานักการเมืองทั้งหลายที่ทำตัวเองเป็นฐานรองรับของกลุ่มอำนาจว่า เมื่อใดที่พวกเขาไร้ประโยชน์ ก็จะถูกทอดทิ้งไปอย่างไม่ไยดี

การสูญหายของเครือข่าย กปปส. ในพรรค พปชร. ด้านหนึ่งทำให้อำนาจของเครือข่ายพลเอกประวิตรภายในพรรคดูเข้มแข็งขึ้น แต่ในภาพรวมทำให้พรรคอ่อนแอลง เพราะเครือข่าย กปปส. เป็นนักการเมืองที่มีฐานเสียงสนับสนุนอยู่ไม่น้อย และมีส่วนสำคัญในการทำให้พรรค พปชร. ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2562 โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ยิ่งกว่านั้นเมื่อความขัดแย้งระหว่างต่างเครือข่ายภายในพรรคจบลง แทนที่ความขัดแย้งภายในพรรคจะสงบและจบลง กลายเป็นว่าความขัดแย้งเคลื่อนตัวไปยังกลุ่มฝักฝ่ายภายในเครือข่ายพลเอกประวิตรแทน

ตั้งแต่กลางปี 2564 พรรคพลังประชารัฐเหลือ 2 เครือข่ายใหญ่คือ เครือข่ายพลเอกประวิตร และเครือข่ายสามมิตร เครือข่ายพลเอกประวิตรหาได้เป็นเนื้อเดียวกันไม่ แต่มีกลุ่มฝักฝ่ายหลักอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนายธรรมนัสที่มีความสนิทแนบแน่นกับพลเอกประวิตรสูง และกลุ่มสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ที่มีนายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นแกนนำ ในที่สุดการแตกหักระหว่างกลุ่มนายธรรมนัส กับ กลุ่มสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ก็เกิดขึ้น เมื่อกลุ่มนายธรรมนัสเคลื่อนไหวเพื่อโค่นพลเอกประยุทธ์ โดยอาศัยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในกลางปี 2564 เป็นเครื่องมือ แต่ทำไม่สำเร็จ พลเอกประยุทธ์รู้แผนเสียก่อน สามารถกำชัยในการต่อสู้ครั้งนั้น และนำไปสู่การปลดนายธรรมนัส ออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

มีความเป็นไปได้สูงว่าการเคลื่อนไหวของนายธรรมนัสในครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจากพลเอกประวิตร โดยมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเป้าหมาย คาดการกันว่าหากพลเอกประยุทธ์ไม่อาจทนแรงกดดันและลาออกจากตำแหน่ง พลเอกประวิตรจะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน กระแสข่าวการแตกแยกและขัดแย้งระหว่างพลเอกประยุทธ์ และพลเอกประวิตรแพร่กระจายสู่สาธารณะ จนพลเอกประยุทธ์ต้องแสดงบทบาทสร้างภาพการฟื้นฟูความสัมพันธ์ มีการใช้สัมผัสทางกายภาพ และการกระทำที่ดูสนิทสนมในที่สาธารณะจนเกินความจำเป็น เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนเองกับพลเอกประวิตรยังคงมีความสัมพันธ์ดีเช่นเดิม แต่ยิ่งแสดงออกแบบผิดปกติมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ผู้คนสงสัยมากยิ่งขึ้น

ความตกต่ำของพรรค พปชร. สะท้อนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมด้วยพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในเลือกตั้งซ่อมจังหวัดชุมพร และสงขลา หลังการเลือกตั้งซ่อมมีการวิวาทะกันถึงสาเหตุของความพ่ายแพ้ระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์กับกลุ่มนายธรรมนัส สถานการณ์ความขัดแย้งเคลื่อนตัวไปสู่สถานการณ์ที่ฝ่ายสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ต้องการให้ฝ่ายนายธรรมนัสออกจากพรรค ขณะที่ฝ่ายนายธรรมนัสเองก็ปรารถนาออกจากพรรค แต่ต้องการดำรงรักษาตำแหน่ง ส.ส.เอาไว้ได้ จึงจบลงด้วยการลงมติขับไล่กลุ่มนายธรรมนัสจำนวน 21 คนออกจากพรรคในกลางเดือนมกราคม 2565 ซึ่งทำให้จำนวน ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 กรุงเทพมหานครเมื่อปลายเดือนมกราคม บ่งบอกถึงความตกต่ำอย่างรุนแรงของพรรค พปชร.มากยิ่งขึ้น ผู้สมัครของพรรคแพ้การเลือกตั้งอย่างย่อยยับ ได้รับคะแนนเสียงเพียง 7,906 คะแนน หรือ ร้อยละ 8.97 ของจำนวนผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผู้สมัครของพรรคได้ 34,907 คะแนน หรือ ร้อยละ 28.44 ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คะแนนเสียงลดลงประมาณร้อยละ 20 ทีเดียว ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจคะแนนนิยมของนิด้าโพล ที่สำรวจเมื่อเดือนกันยายน 2564 ซึ่งพบว่าพรรค พปชร. เหลือคะแนนนิยมในกรุงเทพฯเพียงร้อยละ 9.09 เท่านั้น การเลือกตั้งซ่อมกรุงเทพฯ จึงเป็นเพียงภาพสะท้อนความเป็นจริงเชิงรูปธรรมที่ชัดเจนของการเสื่อมถอยของพรรคพลังประชาชนที่มีมาก่อนหน้านั้นแล้วนั่นเอง

อนาคตของพรรค พปชร. มีแนวโน้มถดถอยลงไปเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มสูงว่า หากมีการเลือกตั้งใหม่ เครือข่ายกลุ่มสามมิตรอาจจะออกจากพรรค พปชร. ฉากทัศน์ของพรรค พปชร. ในการเลือกตั้งครั้งหน้ามี 4 ฉากทัศน์ 1) การกลายเป็นพรรคขนาดกลาง ซึ่งมีเงื่อนไขคือ พลเอกประวิตร ยังเป็นหัวหน้าพรรค 2) การกลายเป็นพรรคขนาดกลางค่อนข้างเล็ก ในกรณีนี้เงื่อนไขคือ การมีพลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้าพรรค 3) การเป็นพรรคขนาดเล็ก หรือสูญพันธุ์ เงื่อนไขคือ มีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สองคนที่กล่าวถึงข้างต้น และ 4) พรรคล่มสลาย ไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

แบบแผนการก่อเกิด ดำรงอยู่ และล่มสลายของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ต่างจากพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นโดยอดีตคณะรัฐประหารในอดีต นั่นคือ เกิดจากการรวมรวบนักการเมืองเก่าด้วยการอาศัยอำนาจ ตำแหน่ง และผลประโยชน์เป็นเครื่องมือ กลายเป็นพรรคใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร และเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสนับสนุนแกนนำคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นเมื่อได้อำนาจบริหารประเทศ การแย่งชิงผลประโยช์และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฝักฝ่ายภายในพรรคก็เกิดขึ้น กลุ่มฝักฝ่ายที่พ่ายแพ้เกมการเมืองในพรรคออกจากพรรค ตามมาด้วยความเสื่อมและการตกต่ำของคะแนนนิยม และในที่สุดจะกลายเป็นพรรคที่มีขนาดเล็กลง หรืออาจสูญหายไปในการเลือกตั้งครั้งถัดไป


กำลังโหลดความคิดเห็น