xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช (55): พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ หนังสือของ Albert Vandal และ Edward Armstrong

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว | Albert Vandal   | Edward Armstrong
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในการทรงพระราชนิพนธ์  The War of the Polish Succession (สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์)  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้หนังสืออ้างอิงหลักทั้งหมด 7 เล่ม หนึ่งในนั้นคือ The Pupils of Peter the Great   ของ  R. Nisbet Bain  และผู้เขียนได้กล่าวถึงประวัติของ R. Nisbet Bain และสาระสำคัญของหนังสือของเขาไปในตอนที่แล้ว

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่พระองค์จำเป็นต้องใช้หนังสือของ Bain เพราะในการเข้าใจการเมืองในโปแลนด์ ก็จำเป็นต้องเข้าใจอิทธิพลของรัสเซียที่มีต่อโปแลนด์ ยิ่งกว่านั้น ในประเด็นเกี่ยวกับสงครามสืบราชสมบัติในโปแลนด์ หนังสือของ Bain ได้เขียนเรื่องนี้ไว้เป็นบทๆหนึ่งเลยทีเดียว (บทที่หก) ดังนั้น ในการเขียนเรื่องเดียวกันนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่พระองค์จะละเลยงานเขียนที่เขียนเรื่องนี้ก่อนหน้าที่พระองค์จะเขียน

จากการที่ Bain มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านภาษากว่า 20 ภาษา ทำให้เขาสามารถศึกษาข้อมูลในภาษารัสเซียได้ รวมทั้งการเขียนเรื่องการเมืองสวีเดนในยุคของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบสองและพระเจ้ากุสตาฟที่สาม ซึ่งเรื่องราวของสวีเดนก็มีอิทธิพลต่อการเมืองในโปแลนด์เช่นกัน

 หนังสือของ Bain|  บทที่หก
หนังสืออ้างอิงเล่มต่อมาคือ  Une ambassade française en Orient sous Louis XV โดยผู้แต่งคือ  Albert Vandal (ค.ศ.1853-1910)  เนื่องจากหนังสือเล่มนี้แต่งในภาษาฝรั่งเศส และผู้เขียนไม่สามารถหาสรุปสาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ในภาษาอังกฤษได้ จึงต้องขอข้ามหนังสือเล่มนี้ไป แต่สามารถข้อมูลของตัวผู้แต่งได้

Albert Vandal เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส มีผลงานตีพิมพ์เป็นหนังสือ 6 เล่ม เล่มแรกเกี่ยวกับการเดินทางไปนอร์เวย์และสวีเดน (ตีพิมพ์ ค.ศ. 1876) เล่มที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับ พระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้ากับจักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งรัสเซีย (ค.ศ. 1882) ท่านผู้อ่านน่าจะคุ้นเคยกับการได้ยินชื่อ พระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้าแห่งฝรั่งเศส แต่อาจจะไม่คุ้นกับจักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งรัสเซีย ผู้เขียนจึงขอนำประวัติสั้นๆ มานำเสนอ
 
พระนางเอลิซาเบธเป็นจักรพรรดินีรัสเซียที่ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1741-1762 พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในพระเจ้าแผ่นดินรัสเซียที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จากการที่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ลงโทษประหารชีวิตผู้ใดเลยในรัชสมัยของพระองค์ อีกทั้งพระองค์ยังมีโครงการเกี่ยวกับการโยธาต่างๆ มากมาย และการต่อต้านนโยบายของปรัสเซียอย่างจริงจัง ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้าอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการต่อกรขับเคี่ยวกันมากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศสกับรัสเซียก็เห็นต่างกันอย่างรุนแรงต่อบุคคลที่แต่ละฝ่ายสนับสนุนให้สืบราชสมบัติในโปแลนด์อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว  

หนังสือเล่มที่สามของ Albert Vandal คือ  การทูตของฝรั่งเศสในตะวันออก (ยุโรปตะวันออก) ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า (ค.ศ. 1887)  คือหนังสืออ้างอิงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้

เล่มที่สี่คือ  นโปเลียนกับพระเจ้าอาเล็กซานเดอร์ที่หนึ่ง (มีสามเล่ม ค.ศ. 1894-1897)  และเป็นหนังสือที่ได้รับรางวัล  Vaubert Prize  

แน่นอนว่า ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับนโปเลียน แต่ไม่คุ้นกับพระเจ้าอาเล็กซานเดอร์ที่หนึ่งแห่งรัสเซีย พระองค์ทรงครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1801-1825) และในรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ต้องทรงเผชิญกับสงครามนโปเลียน และพระองค์ต้องเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของฝรั่งเศสรัสเซียถึงสี่ครั้งในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1804-1812 เริ่มจากนโยบายที่เป็นกลาง ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นต่อต้าน และลงเอยด้วยการเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส

เล่มต่อมาของ Vandal คือ การเดินทางของ มาคี เดอ นอยแต (Marquis de Nointel)  ตีพิมพ์ ค.ศ. 1900 มาคี เดอ นอยแต เป็นนักการทูตฝรั่งเศสที่เดินทางไปเป็นทูตประจำราชสำนักออตโตมันในรัชสมัยเมเมดที่สี่ (Mehmed IV) ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1670-1679

ส่วนเล่มสุดท้ายคือ การกำเนิดของโบนาปาร์ต (ค.ศ. 1902) 

ในปี ค.ศ. 1897 หลังจากที่มีการตีพิมพ์หนังสือ “นโปเลียนกับพระเจ้าอาเล็กซานเดอร์ที่หนึ่ง” และได้รับรางวัล Vaubert Prize Vandal ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของสำนักบัณฑิตยสถานของฝรั่งเศส (The Académie française) เป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1635 ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสาม แต่ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส สถาบันได้ถูกยุบไปในปี ค.ศ. 1793 แต่มาในปี ค.ศ. 1803 นโปเลียนได้ฟื้นฟูให้เป็นแผนกหนึ่งของสถาบันฝรั่งเศส (Institut de France) Vandal ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งการสอนจาก Albert Sorel ศาสตราจารย์ทางรัฐศาสตร์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบลถึงห้าครั้ง

การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้หนังสือเรื่อง Une ambassade française en Orient sous Louis XV ในการทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์ ก็แสดงให้เห็นว่า นอจากจะทรงเชี่ยวชาญในภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีแล้ว (ขนาดแต่งตำราเรื่อง The War of the Polish Succession ที่ได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์อังกฤษ) พระองค์ยังทรงเชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสอีกด้วย

หนังสืออ้างอิงเล่มต่อมาคือ   Elisabeth Farnese (ค.ศ. 1892) แต่งโดย Edward Armstrong เอลิซาบีธ ฟาเนสสิ เป็นพระนามของพระราชินีของพระเจ้าฟิลลิปที่ห้า กษัตริย์สเปน พระนางเอลิซาบีธ ฟาเนสสิทรงมีอิทธิพลอย่างยิ่งในนโยบายต่างประเทศของสเปน ส่งผลให้ในทางปฏิบัติ พระองค์เป็นผู้ปกครองของสเปนในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1714-1746 และพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1759-1760 จากการที่พระเจ้าฟิลลิปที่ห้าทรงมีปัญหาในเรื่องความจำเสื่อม หนึ่งในนโยบายต่างประเทศของพระองค์คือ การทำให้สเปนมีอิทธิพลในรัฐต่างๆ ในอิตาลี

ส่วน Edward Armstrong (ค.ศ. 1846-1928) เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ผลงานของเขาได้แก่ Lorenzo De' Medici and Florence in the Fifteenth Century. (1896) ซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ของลอเรนโซ เดอ เมดิชี่ เจ้าผู้ปกครองแห่งรัฐฟลอเรนส์ อิตาลี

 จักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งรัสเซีย

 พระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้าแห่งฝรั่งเศส

 ลอเรนโซ เดอ เมดิชี่

 จักรพรรดิชาร์ลสที่ห้า
 ใครที่เคยอ่านหนังสือเรื่อง เจ้าผู้ปกครอง หรือ the Prince ของมาคิอาเวลลี นักคิดทางการเมืองชาวฟลอเรนส์ อิตาลี ย่อมจะรู้ว่า มาคิอาเวลลีได้เขียนคำอุทิศในหนังสือของเขาให้ ลอเรนโซ เดอ เมดิชี่ ดังนั้น ใครที่อยากจะรู้จักลอเรนโซ เดอ เมดิชี่ มากกว่าที่ได้อ่านไปใน the Prince ก็น่าจะหาหนังสือเล่มนี้ของ Armstrong มาอ่าน 

ผลงานต่อมาของ Armstrong คือ  The Emperor Charles V (สองเล่มจบ)  ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1902 ชาร์ลสที่ห้าเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นกษัตริย์สเปนระหว่าง ค.ศ. 1516-1556 และการครองดินแดนในยุโรปและอเมริกาของพระองค์ ทำให้จักรวรรดิของพระองค์ได้รับการขนานนามก่อนอังกฤษว่า เป็น “จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” 

ผลงานชิ้นสุดท้ายของ Armstrong คือ  The French Wars of Religion: Their Political Aspect (ค.ศ. 1904)  

จะเห็นได้ว่า หนังสืออ้างอิงที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกการตางประเทศของรัสเซีย ฝรั่งเศสและสเปน ซึ่งเป็นสามประเทศสำคัญที่มีบทบาทในสงครามสืบราชสมบัติในโปแลนด์ และผู้แต่งหนังสือดังกล่าวล้วนแต่เป็นนักประวัติศาสตร์ชั้นนำในสมัยนั้น และที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่งก็คือ การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง The War of the Polish Succession  ที่มีนักประวัติศาสตร์ชั้นนำชาวตะวันตกหลายคนได้เขียนไว้แล้วนั้น นับว่าเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง และพระราชนิพนธ์ของพระองค์น่าจะมีความน่าสนใจและแตกต่างไปจากนักประวัติศาสตร์ก่อนหน้าพระองค์ มิฉะนั้นแล้ว คงไม่ได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์อังกฤษเป็นแน่ !

คราวหน้าจะได้กล่าวถึงอีกสองเล่มสุดท้ายที่เป็นหนังสืออ้างอิงที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง สงครามสืบราชสมบัติในโปแลนด์ นั่นคือ  Memoirs of the Kings of Spain of the House of Bourbon ของ William Coxe และ Frederick the Great ของ Thomas Carlyle 


กำลังโหลดความคิดเห็น