xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ซิ่ง-ชน-ดับ” พรากชีวิต “หมอกระต่าย” โศกนาฏกรรมซ้ำซากแห่งสยามประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับ  “หมอกระต่าย” หรือ “พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล”  ซึ่งถูกรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อดูคาติ 795 สีแดง พุ่งชนเสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลาย หน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถ.พญาไท นับเป็นความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ เพราะไม่ควรมีใครบาดเจ็บหรือเสียชีวิตระหว่างข้ามทางม้าลาย และกว่าที่ประเทศไทยจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์มาได้แต่ละคนนั้นต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากมาย

ยิ่งไปกว่านั้น  “ผู้ก่อเหตุ”  ยังเป็น  “ผู้บังคับใช้กฎหมาย”  เสียเอง ซึ่งก็คือ  “ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก” แห่งกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) ที่  “ซิ่ง”  มาด้วยความเร็วบนรถจักรยานยนต์ที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน อันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายที่เข้าขั้นวิกฤต รวมทั้งเป็นคดีที่สังคมพุ่งเป้าและทวงถามถึงเรื่อง  “การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ให้ดังกระหึ่มอีกครั้ง เพราะนับตั้งแต่หลังเกิดอุบัติเหตุแทนที่ตำรวจจะมอบหลักฐานยืนยันตัวตนต่างๆ ให้ทางกู้ภัยในนำส่งให้โรงพยาบาลเพื่อติดต่อญาติ แต่กลับเก็บหลักฐานพิสูจน์ตัวตนไปไว้ที่โรงพักทั้งหมด นั่นทำให้ “คุณหมอกระต่าย” กลายเป็นศพนิรนามอยู่นานถึง 2 ชั่วโมง กระทั่งมาทราบว่าเสียชีวิตเพราะทางโรงพยาบาลโทรตามไปเข้าเวร จนเกิดข้อกังขามีการประวิงเวลาเพื่อวัตถุประสงค์ใดหรือไม่ แม้ทางตำรวจยืนยันว่าดำเนินไปตามขั้นตอนก็ตามที

ทั้งนี้ เบื้องต้น “ส.ต.ต.นรวิชญ์” ถูกแจ้งดำเนินคดีไปแล้ว 7 ข้อหา ประกอบด้วย 1. ขับรถโดยประมาทและการกระทำนั้น เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2. นำรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทาง 3. ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย 4. ไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง (ไม่หยุดรถให้คนข้าม) 5. ความผิด พ.ร.บ.รถยนต์ ฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี 6. นำรถไม่สมบูรณ์มาขับ (ไม่ติดกระจกมองหลัง) และ 7. ความผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ใช้รถที่ยังไม่ได้จัดให้มีประกันภัย

และเตรียมแจ้งข้อหาเพิ่ม คือ ขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี รวมทั้ง ข้อหาขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) อยู่ระหว่างตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ หากพบว่าเกิน 80 กม.ต่อ ชม.จะแจ้งเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังเกิดข้อครหาประเด็นการปล่อยตัว “ส.ต.ต.นรวิชญ์” ผู้ต้องหา โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน ซึ่งทางตำรวจพื้นที่เจ้าของคดี สน. พญาไท ให้เหตุผลว่าผู้ต้องหาเข้ามอบตัวและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

และที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดไม่แพ้กันคือ การที่ “ส.ต.ต.นรวิชญ์” และ “ร.ต.ต.นิคม บัวดก” ผู้เป็นพ่อ ย่องเงียบเข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดปริวาสราชสงคราม แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร โดยอ้างบวชเพื่ออุทิศกุศลให้แก่ผู้เสียชีวิต ทว่า หากพิจารณาตามเกณฑ์แล้ว ผู้ต้องหาที่มีคดีอาญาติดตัวไม่สามารถบวชได้ เกิดคำถามว่าพุทธศาสนากลายเป็นแหล่งฟอกตัวของผู้กระทำผิดไปแล้วใช่หรือไม่ นอกจากนี้ ยังตีความได้ว่าการบวชเป็นแทกติกเพื่อลดโทษทางกฎหมาย

 ไทย : ประเทศแห่งอุบัติเหตุท้องถนนระดับโลก 

สำหรับอุบัติเหตุบนท้องบิ๊กไบค์พุ่งชนคนขณะข้ามทางม้าลาย ตอกย้ำภาพจำอุบัติเหตุบนท้องถนนไทยรุนแรงรั้งอันดับโลก ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี 2559 - 2564 มีประชาชนคนเดินถนนต้องประสบเหตุจากการเดินข้ามถนนสูงมากถึง 224,068 คน เฉลี่ยต่อปี กว่า 41,000 ราย โดยเกือบครึ่งหนึ่งที่เกิดอุบัติเหตุ เกิดจากรถจักรยานยนต์ ชนคนข้ามถนน หรือคนเดินเท้าจนได้รับบาดเจ็บที่ทั้งเล็กน้อยไปถึงสาหัส และเสียชีวิต

นอกจานี้ รายงานพิเศษโครงการส่งเสริมการเข้าถึงระบบคมนาคมที่เป็นธรรมและปลอดภัย (LIMIT 4 LIFE) สะท้อนความจริงของผู้เปราะบางบนถนน (VRUs) ปี 2562 ระบุว่า จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนของกรมทางหลวงในช่วงปี 2556 - 2560 พบว่า ลักษณะของการชนที่ทำให้เกิดความรุนแรงสูง ได้แก่ อุบัติเหตุรถชนคนเดินเท้า ที่จัดเป็นอุบัติเหตุที่มีดัชนีความรุนแรงสูงสุด โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 55 รายต่ออุบัติเหตุ 100 ครั้ง

ตลอดจนรายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY ปี 2561 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในเอเชีย โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน รองลงมาคือเวียดนาม 26.4 คน, มาเลเซีย 23.6 คน, เมียนมา 19.9 คน, กัมพูชา 17.8 คน, ลาว 16.6 คน, ปาปัวนิวกินี 14.2 คน, ติมอร์เลสเต 12.7 คน, ฟิลิปปินส์ 12.3 คน, อินโดนีเซีย 12.2 คน, สิงคโปร์ 2.8 คน ต่อประชากร 1 แสนคน

อย่างไรก็ตาม หลังเกิด “โศกนาฏกรรมหมอกระต่าย” ซึ่งที่สร้างความสูญเสียครั้งสำคัญ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณากรล้อมคอกปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนครั้งใหญ่ นำสู่ประชุมหารือโดยคณะกรรมการนโยบายการป้องกันอุบัติเหตุทางท้องถนน โดยมี  “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อการวางมาตรฐานการดูแลทางม้าลายทั่วประเทศให้เกิดความปลอดภัยในระยะยาว รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับกรุงเทพฯ จะมีการติดตั้งเครื่องหมายสัญญาณไฟทางม้าลาย รวมถึงกล้องตรวจจับ ส่วนที่ต่างจังหวัด จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมกับท้องถิ่น พร้อมจะประเมินว่า ถ้าจุดไหนไม่มีมาตรฐานต้องปรับปรุงอย่างไร จุดไหนไม่เหมาะสมหรือมีความเสี่ยงมากก็จะยกเลิกหรือปรับย้ายทางม้าลายออกไป

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบกได้ร่วมยกร่างระเบียบระบบตัดคะแนนสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว และจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อดำเนินการต่อไป ก่อนจะอนุมัติและบังคับใช้ได้ในเดือน ก.ค. 2565 มีการเสนอเพิ่มโทษการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร จากปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นไม่เกิน 4,000 บาท

โดยในต่างประเทศทางม้าลายในประเทศต่าง ก็การตีเส้นคล้ายๆ กัน หรือบางประเทศอาจมีรูปแบบต่างออกไปบ้าง แต่สิ่งที่แตกต่างคือเรื่องกฎหมายจราจร ซึ่งในหลายประเทศมีการสั่งปรับรถที่ไม่จอดให้คนข้ามถนน อาทิ สหราชอาณาจักร สั่งปรับ 100 ปอนด์ (4,460 บาท) ผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนใบขับขี่ 3 คะแนน, เยอรมนี สั่งปรับ 80 ยูโร (ประมาณ 3,000 บาท) ผู้ขับขี่ถูกตัดคะแนนใบขับขี่ 1 คะแนน, สิงคโปร์ ปรับ 150 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 3,680 บาท) ผู้ขับขี่ตัดคะแนนความประพฤติ 6 คะแนน หรือ ญี่ปุ่น ปรับ 9,000 เยน (ประมาณ 2,600 บาท) และหากผู้ขับขี่ไม่จ่ายค่าปรับ อาจถูกจำคุกสูงสุด 3 เดือน หรือถูกปรับเพิ่มสูงสุด 50,000 เยน (ประมาณ 14,500 บาท) เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมมือกับ สน.ทองหล่อ นำเทคโนโลยี AI มาใช้เก็บข้อมูลผู้ฝ่าฝืนวินัยจราจร ระยะเวลา 1 เดือนพบผู้ฝ่าฝืนวินัยจราจรจำนวนมาก 25,094 คน ซึ่งจะมีการนำร่องบังคับใช้กฎหมาย หวังเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้มีวินัยจราจร

“ทุกครั้งที่มีข่าวความสูญเสียที่สังคมให้ความสนใจ ผู้นำและหน่วยงานกำกับจะทำงานเข้มข้นขึ้น ระยะหนึ่งเรื่องก็เงียบไป ขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง และหลายครั้งของความสูญเสียก็สรุปสั้นๆ เพียงความประมาท เลินเล่อ ขาดจิตสำนึก หรือด่วนสรุปเพียงคนขี่หรือคนเดินข้ามประมาท หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้อง ควรต้องสร้างระบบแห่งความปลอดภัย (Safe System) ที่เป็นหลักประกันให้กับสังคม มากกว่าการสั่งการแบบเดิมๆ โดยไม่เกิดระบบจัดการที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่สังคมไทยจะดำเนินการควบคู่กันต้องมีระบบเฝ้าระวัง ระบบกำกับติดตาม และที่สำคัญการทวงถามความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้คนในสังคมต้องพบกับความสูญเสียเหมือนที่ครอบครัวของคุณหมอกระต่ายอีก” นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วิพากษ์ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา

 เดินเครื่องแก้กฎหมายคุม “บิ๊กไบค์”

ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา มีพูดคุยเรื่องการแก้กฎหมายจราจร แยกใบขับขี่บิ๊คไบค์จากใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป โดย  นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เสนอว่าควรเร่งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้มีใบขับขี่แยกจากรถจักรยานยนต์ทั่วไป และเพิ่มโทษผู้ที่ขับขี่โดยประมาทด้วย

เป็นไปในทิศทางเดียวกับ  พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ  รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ในฐานะคณะทำงานแก้ปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอให้เพิ่มมาตรการคัดกรองผู้ขับขี่ ควรแยกใบขับขี่เป็น 2 ประเภท แยกระหว่างรถธรรมดาและบิ๊กไบค์ ผู้ขับขี่ต้องมีอายุที่เหมาะสมและความสามารถในการควบคุมรถ โดยผ่านการอบรมอย่างเป็นขั้นตอน รวมทั้ง เสนอให้กรณีตำรวจ หรือผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม หากทำผิดควรได้รับโทษรุนแรงกว่าคนธรรมดาในฐานะคนรู้กฎหมาย

ขณะที่คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร มีความพยายามผลักดันในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งเสนอให้แยกใบขับขี่บิ๊กไบค์ และควรบังคับอบรม ไม่ใช่การสมัครใจ รวมทั้ง เสนอใช้มาตรการตัดแต้มสำหรับผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎหมายด้วย

ความคืบหน้าล่าสุด กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขในการอบรมและทดสอบผู้ขอรับใบขับขี่บิ๊กไบค์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ หรือขนาด 400 ซี.ซี.ขึ้นไป โดยเบื้องต้นจะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ตลอดชีพมาแล้ว รวมถึงต้องผ่านการอบรมและทดสอบเพิ่มเติมจากปกติ

และการกำหนดอายุผู้ซื้อหรือผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ประเภทบิ๊กไบค์ กรมการขนส่งมีแนวทางการดำเนินการสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถเป็นไปตามระบบการอนุญาตขับขี่อย่างเป็นลำดับขั้น (Graduated Driver Licensing - GDL) โดยปัจจุบันกำหนดให้ผู้มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 18 ปี สามารถทำใบขับขี่จักรยานยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 110 ซี.ซี.ได้ ส่วนจักรยานยนต์ที่มีความจุตั้งแต่ 110 ซี.ซี. จะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จึงจะสามารถขอรับใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราวและใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (5 ปี) ได้

โดยอยู่ระหว่างการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เพื่อเพิ่มโทษสำหรับผู้ขับรถบิ๊กไบค์โดยไม่มีใบอนุญาต เพื่อเป็นการบังคับใช้กฎหมายให้สมบูรณ์ ทว่า กฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ประกาศใช้ ดังนั้นในส่วนนี้คงต้องยกประโยชน์ให้จำเลย “ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก” ผู้ขี่บิ๊กไบค์ ยี่ห้อดูคาติ พุ่งชนแพทย์หญิงขณะข้ามทางม้าลายเสียชีวิต

อ้างอิงข้อมูลจากวิจัยกรุงศรีฯ เปิดเผยยอดจำหน่ายจักรยานยนต์ที่มีกระบอกซูบมากกว่า 400 ซีซี ในปี 2020 มียอดจำหน่ายในประเทศ 23,978 คัน ขณะที่ในปี 2021 มียอดจำหน่าย 14,429 คัน แสดงให้เห็นถึงความนิยมของรถบิ๊กไบค์ ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึง เรื่องใบขับขี่บิ๊กไบค์ และกฎหมายควบคุมโดยเฉพาะมีความจำอย่างยิ่ง

 บวชล้างบาป หรือ แทกติกทางกฎหมาย 
ประเด็นที่สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักคือ “ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก” และ “ร.ต.ต.นิคม บัวดก” ผู้เป็นพ่อ เข้าพิธีบวชที่วัดปริวาสราชสงคราม แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร

แน่นอน การบวชของ “ส.ต.ต.นรวิชญ์” ทางหนึ่งได้รับการชื่นชม เพราะเห็นว่า สำนึกต่อการกระทำผิดของตัวเองและเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า อาจเป็นแทกติกทางกฎหมายเพื่อลดโทษหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งเกิดคำถามไปยังมหาเถรสมาคม(มส.)และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ถึงมาตรการเพื่อป้องกันมิให้วัดกลายเป็นแหล่งฟอกตัวของผู้กระทำผิดคดีอาญา

 ทนายรัชพล ศิริสาคร  เจ้าของเพจ สายตรงกฎหมาย เปิดเผยว่าในทางกฎหมายการบวชไม่อาจจะหนีความผิดได้ แต่มีระบุว่า ถ้าเกิดคนที่กระทำความผิด รู้สำนึกในการกระทำผิดแล้ว และบรรเทาโหดร้ายให้กลายเป็นดี ศาลก็สามารถที่จะลดโทษได้ ฉะนั้น การบวช ถ้าคนที่บวชรู้สึกผิด และบวชเพื่ออโหสิกรรมให้กับผู้ตาย ศาลอาจจะมองว่าสำนึกผิดแล้ว ก็อาจจะลดโทษได้ ทั้งนี้ ในคดีเรื่องของการขับรถโดยประมาท และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือว่าขับรถชนคนตาย ปกติศาลจะรอลงอาญา ถ้าผู้ขับขี่ไม่ได้เมาแล้วขับ และคดีนี้มีโอกาสสูงที่ศาลจะรอลงอาญา

ขณะที่  ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์  ประธานเครือรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ให้ความคิดเห็นกรณีการบวชของ “ส.ต.ต.นรวิชญ์” มองเป็น 2 มุม คือ 1. ตกใจ หวาดกลัวในความผิดที่ตนทำ และสำนึกผิดอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร ตามหลักความเชื่อของศาสนาพุทธ 2. เพื่อนำผลของการบวชมาใช้ในการประกอบสำนวนของศาล แสดงให้เห็นว่าตัวเองทำเพื่อตัวเองสำนึกผิดจริงๆ คือ หลักการให้ศาลเชื่อว่า ตัวเองสำนึกผิด

อนึ่ง คุณสมบัติห้ามอุปสมบทนี้ มหาเถรสมาคมได้ตรากฎมหาเถรสมาคมหลายฉบับ ซึ่งรวมทั้งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ในข้อ 14 ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 กำหนดว่า พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามเหล่นี้

1.คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน 2. คนหลบหนีราชการ 3. คนต้องหาในคดีอาญา 4. คนเคยถูกตัดสินจำคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ 5. คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา 6. คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย 7. คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้
2.
โดยในข้อ 16 ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 กำหนดว่า เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์จะรับผู้ใดบวช ต้องมีผู้รับรองและให้ผู้รับรองของผู้นั้น นำผู้จะบวชมามอบตัว พร้อมด้วยใบสมัคร และใบรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบท ซึ่งจะขอได้จากพระอุปัชฌาย์ ก่อนถึงวันบรรพชาอุปสมบทไม้น้อยกว่า 15 วัน
รวมทั้งให้เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์สอบสวนผู้จะมาบวช ว่า ผู้จะมาบวชไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามข้อ 13 และข้อ 14 ดังกล่าว และสอบถามผู้รับรองตามข้อรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบท จนเป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกันดีแล้ว จึงรับใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท และใบรับรอง แล้วจึงดำเนินการฝึกซ้อมผู้จะบวชต่อไป

ในประเด็นนี้  นายสิทธา มูลหงส์  ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) ในฐานะ โฆษก พศ. ชี้ชัดว่า กรณี ส.ต.ต. ขับบิ๊กไบค์ชนแพทย์หญิง ไม่สามารถบวชได้ ทั้งเป็นพระหรือเป็นเณร เพราะเป็นผู้ต้องคดีอาญาที่ยังไม่สิ้นสุด

ตรงกับ  นายสิปป์บวร แก้วงาม  ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ที่เห็นว่า กรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ที่ต้องคดีอยู่ ถือเป็นบุคคลต้องห้ามจากการอุปสมบท พระอุปัชฌาย์ต้องให้ลาสิกขาพ้นจากความเป็นสงฆ์ทันที ที่ผ่านมามีผู้ที่หนีคดีแล้วมาบวชค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่พระอุปัชฌาย์ไม่ทราบ พอทราบก็ให้ลาสิกขาทันที การที่หนีคดีแล้วมาบวช ไม่ใช่ว่าจะพ้นผิด บางคนอยากบวชเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ถูกกระทำ ซึ่งตรงนี้อยากบอกว่าในฐานะชาวพุทธ ต้องเข้าใจว่ากระทำความผิดระดับใด ไม่สามารถไปบวชได้ แม้จะสำนึกผิด และอยากใช้ศาสนาเป็นที่พึ่ง แต่ขอให้รับโทษทางกฎหมายให้จบก่อน เมื่อรับโทษจบแล้ว อยากจะสร้างบุญให้กับผู้ที่ถูกกระทำ สามารถไปบวชทีหลังได้ ตรงนี้ต้องเข้าใจ และลำดับขั้นตอนให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด”

ขณะที่  พระครูสถิต บุญวัฒน์  เจ้าอาวาสวัดด่าน ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ อธิบายว่าเจ้าอาวาสวัดปริวาสฯ ได้โทรศัพท์มาบอกว่าขอให้ช่วยไปทำพิธีบวชให้กับตำรวจทั้งสองนายตอนเวลา 15.00 น. โดยใช้คำว่า “ขอให้ช่วยสงเคราะห์” ซึ่งตนกับเจ้าอาวาสวัดปริวาสฯ มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จึงไปบวชให้โดยไม่ได้ถามเหตุผลหรือรายละเอียด เพราะปกติแล้วการรับบวชจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าอาวาสมาแล้ว

ทั้งนี้ กรณีของข้าราชการที่จะบวชตามหลักแล้วต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้างาน โดยต้องมีการเซ็นเอกสารมา และใช้อ่านในโบสถ์ขณะทำพิธีบวชด้วย แต่กรณีของ ส.ต.ต.นรวิชญ์ ไม่ได้มีเอกสารมา แต่ผู้บังคับบัญชา ยศพลตำรวจตรี เดินทางมารับรองในพิธีด้วยตนเอง มีตำรวจมาร่วมพิธีเต็มโบสถ์

และในที่สุด ส.ต.ต.นรวิชญ์ก็ได้ลาสิกขาบทเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลังพิธีพระราชทานเพลิงศพ “หมอกระต่าย” เสร็จสิ้นลง

 อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามกันว่า ท้ายที่สุดแล้วกรณีที่เกิดขึ้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับสังคมไทยได้มากน้อยเพียงใด หรือเป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก

เพราะความจริงอันเจ็บปวดที่ต้องยอมรับกันก็คือ ตราบใดที่ผู้ขับขี่ยังขาดจิตสำนึกสาธารณะ ไม่ว่าจะมีกฎหมายที่รุนแรงเพียงใด ก็มิอาจทำให้อุบัติเหตุจราจรลดลงได้ และโศกนาฏกรรมซ้ำซากก็จะยังคงดำรงอยู่ในประเทศไทยต่อไป 




กำลังโหลดความคิดเห็น