ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การต่อสู้ของธุรกิจประกันวินาศภัยเพื่อปกป้องผลประโยชน์เป็นไปอย่างดุเดือด ล่าสุด กลุ่มบริษัทประกันฯ ใน “เครือไทย โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป (TGH)” ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” อย่าง “บมจ.อาคเนย์ประกันภัย” และ “บมจ.ไทยประกันภัย” ยื่นฟ้อง “ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาฯ คปภ. และสำนักงาน คปภ.” กรณีออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ปกป้องสิทธิประชาชน สั่งห้ามบริษัทประกันฯ ยกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 ประเภท เจอ - จ่าย – จบ อาจเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2565 ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีปกครอง หมายเลขดำที่ 44/2564 ซึ่งมี บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ได้ยื่นฟ้อง ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ฐานออกคำสั่งทางปกครอง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่ง ซึ่งยังอยู่ระหว่างรอศาลพิจารณาว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนจาก ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. มูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท เนื่องจากออกคำสั่งนายทะเบียน ทำให้บริษัทขาดทุน เพราะยกเลิกกรมธรรม์โควิด -19 แบบ เจอ - จ่าย - จบ ไม่ได้
ย้อนไทม์ไลน์ปัญหาธุรกิจประกันวินาศภัย ประกันโควิด-19 แบบ เจอ - จ่าย - จบ เริ่มมีปัญหาชัดเจน ตั้งแต่ 16 ก.ค. 2564 “บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK)” ประกาศใช้สิทธิ “บอกเลิกกรมธรรม์” ประกัน “เจอ - จ่าย - จบ” ต่อมา คปภ. ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ห้ามบริษัทประกันภัย บอกเลิกกรมธรรม์ ประกันภัย COVID-19 เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน กระทั่ง สินมั่นคงฯ ต้องแจ้งยกเลิกการบอกเลิกกรมธรรม์ดังกล่าวไป
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไม่หยุด ยอดเครมประกันสูงขึ้นต่อเนื่อง ผู้ประกอบการประกันวินาศภัย ต้องจ่ายสินไหมเป็นจำนวนมาก ต่างเผชิญภาวะขาดทุน ประสบปัญหาสภาพคล่อง จนเริ่มบริษัทประกันปิดตัวลง คือ “บมจ.เอเชียประกันภัย 1950” และ “บมจ.เดอะวัน ประกันภัย”
ทั้งนี้ ในระยะแรก หลังจากสำนักงาน คปภ. ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เพื่อไม่ให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเหมาเข่ง บรรดาบริษัทประกันภัยต่างๆ รวมทั้งสมาคมประกันวินาศภัยไทย ตอบรับและยืนยันจะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยจนสิ้นสุดสัญญาประกันภัย
แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงลุกลามไม่หยุด โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงอีกระลอก ส่งผลกระทบต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ทำหนังสืออุทธรณ์การออกคำสั่งที่ 38/2564 ต่อ คปภ. เมื่อช่วงกลางเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ บอร์ด คปภ.
นายอุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า การออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เป็นการออกคำสั่งที่ถูกต้องและมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย โดยเห็นว่านายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนของบริษัทประกันภัยที่ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญา แม้ว่าในสัญญาประกันภัยจะมีข้อสัญญาให้สามารถบอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม แต่เห็นว่ากรณีดังกล่าวต้องเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยสุจริตตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ทั้งนี้ ในขณะมีการทำสัญญาประกันภัยทางบริษัทประกันภัยจะต้องคาดหมายได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดจะมีความรุนแรงแค่ไหน และจะมีผลกระทบทางด้านสาธารณสุขที่บริษัทประกันภัยจะสามารถรับมือได้หรือไม่ บริษัทประกันภัยจะต้องมีการวางแผนรับความเสี่ยงอยู่แล้วก่อนออกผลิตภัณฑ์ ไม่สามารถอ้างได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิดมีผลต่อการบริหารความเสี่ยง ภายหลังที่มีการออกผลิตภัณฑ์แล้ว การที่บริษัทประกันภัยเข้าทำสัญญาประกันภัย จึงเป็นการตกลงรับความเสี่ยงจากผลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ที่สามารถคาดหมายและรับมือไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว
ดังนั้น หากนายทะเบียนยินยอมให้บริษัทประกันภัยเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว ซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ก็เท่ากับเป็นการยินยอมให้บริษัทประกันภัยหลอกลวงผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเพื่อประโยชน์ฝ่ายเดียวของบริษัท ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการบอกเลิกกรมธรรม์
และหากมีการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จะดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเชิงลงโทษให้แก่ผู้บริโภคได้ ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในอุตสาหกรรมการประกันภัยลุกลามรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดจากกรณีการยื่นฟ้อง คปภ. ของ “บมจ.อาคเนย์ประกันภัย” และ “บมจ.ไทยประกันภัย” สองบริษัทประกันฯ ใน “เครือไทยโฮลดิ้งฯ” เป็นภาพสะท้อนอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยกำลังได้รับกระทบอย่างหนัก กำลังเผชิญภาวะขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายปี อันมีสาเหตุจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19
เป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ที่มีอยู่จำนวนกว่า 10 ล้านคน เพราะหากศาลฯ ตัดสินว่า คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ของ คปภ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะส่งผลให้ประชาชนผู้ถือกรมธรรม์ถูกลอยแพ บริษัทประกันวินาศภัยต่างๆ สามารถที่จะบอกเลิกกรมธรรม์แบบเหมาเข่ง
โดยปัจจุบันมีประกันโควิด-19 แบบ “เจอ- จ่าย - จบ” เหลืออยู่ประมาณ 7 ล้านกรมธรรม์ ที่ยังมีผลความคุ้มครองอยู่ ทุนประกันภัยเฉลี่ย 50,000 - 100,000 บาท ซึ่งจะสิ้นสุดการรับประกันภายในเดือน มิ.ย. 2565
อย่างไรก็ตาม ในมุมของอุตสาหกรรมประกันภัย หากปล่อยไม่ดำเนินการใดๆ บริษัทฯ อาจขาดทุนย่อยยับแบกรับภาระไม่ไหว อาจถึงขั้นต้องปิดตัวตามรอย เอเชียประกันภัยฯ และ เดอะวัน ประกันภัย
อีกทั้ง ยังมีความกังวลต่อปัญหาเรื่อง “ทุจริตการเครม” ยอมติดโควิด เพื่อเงินประกัน อ้างอิงผลวิจัยของ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ระบุการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าผู้มีประกันภัยโควิด มีอัตราการติดเชื้อโควิดอยู่ที่ 3.8% สูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 2.8% และกรมธรรม์โควิด ประเภทเจอ จ่าย จบ มีอัตราการติดเชื้อของผู้มีประกันภัยโควิดในระดับสูง อยู่ที่ 4.2% และยังคงให้ความคุ้มครองจนถึงเดือน มิ.ย. 2565
และปฎิเสธไม่ได้ว่าเป็นหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. ที่ต้องยืนหยัดคุ้มครองและปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนและผู้เอาประกันภัย เพื่อไม่ให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ที่ให้บริษัทประกันภัยจะใช้เป็นเหตุในการบิดเบือนนำเหตุที่เกิดจากการบริหารความเสี่ยงที่ผิดพลาด
ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. ระบุว่า คภป. ได้ยืนยันต่อศาลปกครองกลางว่า คำสั่งนายทะเบียนเป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษต่อบริษัทประกันภัย แม้จะมีข้อความให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบอกเลิก ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน ไม่ได้หมายความว่าบริษัทสามารถบอกเลิกได้โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงเปลี่ยนไป หรือจะขาดทุน แล้วบอกเลิกแบบเหมาเข่งกับผู้เอาประกันนับ 10 ล้านคน
อุตสาหกรรมวินาศภัยที่กำลังเผชิญวิกฤต เกิดขึ้นเกิดจากการบริหารธุรกิจที่ผิดพลาดของบริษัทเอง และโยนบาปให้กับประชาชน เป็นเรื่องที่บริษัทไม่ถูกใจคำสั่งที่ไปขัดประโยชน์ ทำให้บริษัทไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ได้ อีกทั้ง การที่บริษัทประกันฯ อ้างว่าต้องการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะนั้น วัตถุประสงค์ของบริษัทประกันฯ ต้องการที่จะมีสิทธิในการบอกเลิกกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของบริษัทเอง
ขณะเดียวกัน เลขาธิการ คปภ. ได้ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 และได้ทำประกันโควิด-19 ไว้ 2 ฉบับ โดยปฏิเสธการเคลมค่าสินไหมประกันโควิด “เจอ-จ่าย-จบ” เพื่อแสดงจุดยืนสู้เคียงข้างประชาชนไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
“การทำประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบคือการที่ประชาชนผู้เอาประกันภัยมอบความไว้วางใจให้บริษัทประกันภัยที่อาสามาช่วยบริหารความเสี่ยงให้ ฉะนั้นการไปบอกเลิกกรมธรรม์ฯ ในช่วงสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ ทั้งๆ ที่เคยสัญญาว่าจะคุ้มครองจนสิ้นสุดอายุการคุ้มครอง โดยโยนความเสี่ยงที่มากขึ้นกลับคืนไปให้ประชาชน ถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้บริษัทประกันภัย จึงเป็นการเอาเปรียบประชาชนอย่างยิ่ง”เลขาธิการ คปภ. กล่าว
ถึงจะเกิดความขัดแย้งแต่อย่างไรก็ตาม คปภ. ยังคงทำงานคู่ขนานในการช่วยเหลือบริษัทประกันภัยที่ต้องการความช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด โดยแยกเรื่องการต่อสู้คดีและการส่งเสริมและช่วยเหลือธุรกิจประกันภัย
แน่นอนว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการประกันภัย ยังกระทบความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัย และต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า คปภ. จะกู้ภาพลักษณ์ธุรกิจประกันภัย และหยุดยั้งการเอาเปรียบประชาชนของ บ.ประกันฯ ได้หรือไม่?