xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เบื้องหลังหมูแพง “รัฐบาลลุง” ซัดกันนัว พ่อค้าใหญ่ฉวยโอกาสกักตุนโก่งราคา? โยงเกษตรพันธะสัญญากดซื้อถูก-ขายแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภาคต่อเบื้องหลังราคาหมูแพงกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดวอร์ซัดกันนัว ตามซีนที่ “นายกฯลุง” ตั้งข้อสังเกตหมูตายด้วยโรคระบาดร้ายแรงไม่ถึง 20% แต่ทำไมหมูขาดตลาดดันราคาแพงขึ้น สงสัยมีกระบวนการกักตุนหรือไม่ ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในระบบเกษตรพันธะสัญญาโวยหมูเป็นหน้าฟาร์มราคาถูก เขียงหมูขายแพง สะท้อนภาพคนกลางรวยเละ ปัญหาที่มะรุมมะตุ้มเข้ามาทำให้ “เสือซุ่มแห่งคลองหลอด” สั่งปูพรมสแกนยิบหาต้นตอความผิดปกติ เร่งกดราคาหมูหัวแถวนำขบวนข้าวของแพง 

อารมณ์ผู้คนในสังคมไทยยังอยู่ในโหมดรับไม่ได้กับราคาหมูแพงที่ดันราคาหมวดอาหารแพงขึ้นยกแผง นั่นทำให้ “รัฐบาลลุง” อยู่ในอาการนั่งไม่ติดเสียยิ่งกว่าถูกถล่มด้วยพรรคฝ่ายค้านเสียอีก ดูจากการควานหาต้นสายปลายเหตุราคาหมูแพงให้ควั่ก จากที่ชี้นิ้วไปที่การแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ทำให้หมูล้มหายตายจาก เกษตรกรรายย่อยปล่อยฟาร์มร้าง เลิกเลี้ยงต่อ กระทั่งรัฐบาลต้องทุ่มงบจ่ายชดเชยกว่า 500 ล้านบาท บวกกับช่วงสองปีที่ผ่านมาก็ปาเข้าไปพันกว่าล้านบาท ก็มาถึงการตั้งข้อสงสัยที่ว่าเอาเข้าจริงแล้วใช่เป็นเพราะหมูตายทำให้ขาดแคลนจนดันราคาพุ่งขึ้นไป หรือว่าแท้ที่จริงแล้วมีกระบวนการทำให้หมูหายไปจากตลาดกันแน่

 “..... ปัญหาสำคัญที่สุด การแพร่ระบาดในครั้งนี้มีการแพร่ระบาดในบางพื้นที่และเป็นจุดๆ ไป ไม่ได้แพร่ระบาดทั่วประเทศ ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย และการตายมีประมาณไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ทำไมหมูถึงขาด แสดงว่ามันเกิดอะไรขึ้น ในกระบวนการมีคนไปทำอะไรหรือเปล่า อีกทั้งหลายๆ อย่างก็พยายามขึ้นราคาตาม ขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร ผมจึงได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ และถ้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ให้ร้องเรียนมายังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งข้อกังขาราคาหมูแพงผิดปกติ เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา และกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที 

ข้อสังเกตของ “นายกฯลุง” เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับชุดข้อมูลที่ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ปัญหาหมูแพงในช่วงท้ายของการประชุมครม.เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมาว่า ตัวเลขในปัจจุบันประเทศไทยผลิตหมูได้ 19 ล้านตัว เป็นการบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว และส่งออก 1 ล้านตัว ดังนั้น เมื่อดูจากตัวเลขแล้วหมูไม่ได้ขาดแคลน ขณะที่ราคาอาหารสัตว์แพงขึ้นจาก กก.ละ 78 บาท เป็น 90 บาท ราคาขึ้นๆ ลงๆ ส่วนราคาหมูหน้าฟาร์มอยู่ที่ 80-110 บาท ราคามีความไม่แน่นอน ซึ่งตัวเลขที่ได้มานี้ไม่ตรงกับตัวเลขของทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ที่ระบุว่าหมูขาดแคลนจึงขอตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมหมูถึงหายไป ราคาอาหารก็ไม่ได้แพง จนเป็นเหตุให้หมูต้องขึ้นราคาขนาดนี้ ทำให้สงสัยว่ามีการกักตุนหรือไม่ มีการฉวยโอกาสหรือไม่

อย่างไรก็ตาม  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ท้วงติงว่า มีหมูเสียหายอยู่มาก ตายไปก็มาก ข้อมูลที่นายประภัตรรายงานมาไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่เป็นที่รับทราบกัน หากข้อมูลตรงนี้ไม่ถูกต้องหรือเรายึดถือข้อมูลนี้แล้วไม่แก้อะไร ในอนาคตอาจจะทำให้เกิดความเดือดร้อนกับรัฐบาล เมื่อถูกซักฟอกในการประชุมสภา ฉะนั้นต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมไม่พบโรคระบาดเลยทั้งที่มีเอกสารขอ ครม.อนุมัติงบประมาณไปช่วยเหลือเมื่อ 2-3 ปีก่อน แล้วจะมาบอกว่าตรวจไม่พบเลยมันน่าจะเป็นข้อผิดพลาด

การถกเถียงในครม.ดังกล่าว ทำให้ “นายกฯลุง” สั่งให้นายประภัตร กลับไปตรวจสอบข้อมูลภายใน 7 วัน ว่าข้อมูลมีข้อผิดพลาดตรงไหน ไปตรวจฟาร์มรายเล็ก รายใหญ่ว่าเป็นอย่างไรกันแน่

ขณะเดียวกัน  นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบว่ามีการกักตุนสินค้าสุกรที่อาจเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้ราคาสุกรมีราคาแพงขึ้นหรือไม่ เช่น กลุ่มผู้เลี้ยงสุกร โรงชำแหละสุกร และห้องเย็น เพื่อให้ราคาสุกรเป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง

“ท่านนายกฯ สั่งให้ตรวจสอบโรงฆ่าสัตว์ ห้องเย็น ว่า มีการกักตุนหมู ซึ่งเป็นเหตุให้ราคาหมูเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ ก็ให้กระทรวงพาณิชย์และมหาดไทยไปดู ถ้าพบกักตุน และทำให้ราคาสินค้าผิดไปจากความจริง รัฐบาลก็พร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ใหญ่แค่ไหน เราก็จะจับ” นายสันติ กล่าว

ก่อนหน้าการประชุม ครม. นายประภัตร ได้โต้กระแสข่าวต้นเหตุราคาเนื้อหมูแพงเกิดจากการเกิดโรค ASF ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี 2564 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 350,000 ตัว ซึ่งปัจจุบันปริมาณลูกสุกรเข้าเลี้ยงก็ยังคงมีตัวเลขใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังมีจำนวนสุกรที่เข้าโรงเชือดที่มีปริมาณคงที่มาโดยตลอด จึงน่าสนใจว่าเหตุใดราคาเนื้อสุกรจึงมีราคาแพงขึ้น โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญอาจมาจากการกักตุนสินค้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว จึงได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

และเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ข้อกังขาก็เริ่มแสดงข้อเท็จจริงออกมาในระดับหนึ่ง เมื่อปศุสัตว์สงขลาได้เข้าตรวจสอบห้องเเช่เย็นเนื้อสัตว์ เลขที่ 125/1 หมู่ที่ 5 ถนนสงขลา-ปัตตานี ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พบเนื้อหมูแช่แข็งกว่า 2 แสนกิโล อยู่ภายในห้องเย็นของบริษัทซึ่งได้เปิดให้บริการห้องเย็นสำหรับพ่อค้าที่จะใช้บริการห้องเย็นเพื่อแช่แข็งเนื้อสัตว์จำนวนมาก เบื้องต้นกรมปศุสัตว์จังหวัดสงขลา ได้สั่งอายัดเนื้อหมูแช่แข็งทั้งหมดเพื่อดำเนินการตรวจสอบแล้ว

 นายสรวิศ ธานีโต  อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ทีมชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ โดยด่านกักกันสัตว์สงขลา ได้เข้าตรวจสอบห้องเย็นดังกล่าว เนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีการเคลื่อนย้ายซากสุกรแช่แข็งเข้าห้องเย็นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงเดือนมกราคม 2565 จำนวน 211,361 กิโลกรัม และพบว่า ณ วันที่เข้าตรวจสอบมีซากสุกรคงเหลือในคลัง 201,650.90 กิโลกรัม ซึ่งไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของซากสุกรได้จึงได้ดำเนินการทำการอายัดซากสุกรดังกล่าวไว้ เพื่อรอการตรวจสอบการเคลื่อนย้าย

ทั้งนี้ เบื้องต้นมีรายงานว่า ห้องเย็นดังกล่าวมีการนำเนื้อสุกรเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่มีการนำออกไปเพียงแค่เล็กน้อยราว 10,000 กิโลกรัมเท่านั้น

เบื้องหลังเนื้อหมูแพงและขาดตลาดตามข้อสังเกตที่ว่ามีการกักตุนหรือไม่ นอกเหนือจากหมูตายจากโรคระบาด ASF ทำให้มีหมูเข้าสู่ตลาดน้อยลง อีกไม่นานคงได้รู้กัน เพราะเวลานี้ กระทรวงมหาดไทย สั่งสแกนพื้นที่ละเอียดยิบ เพื่อช่วยตอบข้อกังขานี้ทางหนึ่ง




ถือเป็นการขยับลงมือของ  “พี่รอง” แห่งบูรพาพยัคฆ์ - พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  “เสือซุ่มแห่งคลองหลอด”  ซึ่งปกติแล้วไม่ค่อยเทกแอกชันอะไรสักเท่าไหร่นัก แต่วิกฤตของแพงทั้งแผ่นดินที่ทำให้รัฐบาลลุง โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” เสียรังวัดขนาดหนัก และพรรคพลังประชารัฐ แพ้เลือกตั้งในสนามเลือกตั้งซ่อมที่ชุมพร และสงขลา ที่พรรคประชาธิปัตย์ ชนะทั้งสองสนามคว่ำพลังประชารัฐไม่เป็นท่า ก็ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยในปัญหาเนื้อหมูราคาแพงและค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น จึงสั่งให้กระทรวงมหาดไทย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมถึงป้องกันและแก้ไขปัญหาปัญหาโรค ASF ซึ่งพล.อ.อนุพงษ์ ก็เน้นย้ำให้เร่งแก้ปัญหาหลังพบว่าราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

ตามข้อสั่งการของ “นายกฯ ลุง” และ “บิ๊กป๊อก” บอกเป็นนัยได้ว่ามหาดไทย จะใช้กลไกที่มีอยู่ล้วงลึกข้อมูลต้นสายปลายเหตุของโรคระบาดที่ทำให้หมูตาย ซึ่งเป็นหน้าที่กรมปศุสัตว์ ที่ขณะนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายประภัตร โพธิสุธน รมช.เกษตรฯ เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา โดยตรง และยังล้วงลึกต้นสายปลายเหตุราคาหมูแพงขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งเป็นเนื้องานของกระทรวงพาณิชย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ คุมอยู่อีกด้วย

คำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ที่ส่งตรงถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ลงวันที่ 19 มกราคม 2565 ให้เข้ามาเร่งแก้ปัญหานี้ โดยเข้าควบคุมดูแลเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการฉวยโอกาสของผู้ประกอบการ หรือผู้ค้าเนื้อสุกร กักตุนเนื้อสุกรเพื่อให้เนื้อสุกรขาดแคลนในท้องตลาดจะได้นำเนื้อสุกรออกจำหน่ายในราคาสูง จึงขอให้ผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ฯ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามพ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ โดยให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยมอบหมายปศุสัตว์จังหวัด เป็นเลขานุการ

คำสั่งของมหาดไทย ครอบคลุมตั้งแต่การเร่งสำรวจข้อมูลฟาร์มสุกร/จำนวนสุกร/ผู้เลี้ยงสุกร ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรค ASF ให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และเตรียมมาตรการเยียวยาตามระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เฝ้าระวัง ควบคุม กำกับ การเคลื่อนย้ายสุกรและซากให้เป็นไปตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์ กำหนดอย่างเคร่งครัด และมอบหมายสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตรวจตราป้องกันการกักตุนเนื้อสุกร และกำกับดูแลร้านจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละ ให้ติดป้ายราคาสินค้าอย่างชัดเจน

นอกจากนั้น ยังขอให้อำเภอกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบสุกรป่วยหรือตายผิดปกติให้แจ้งอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เองก็เร่งแก้ปัญหา โดยลงพื้นที่ตรวจสต็อกหมูภายในห้องเย็นต่างๆ ซึ่ง  นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ กำลังเร่งตรวจสอบสต็อก ดูทั้งปริมาณที่แจ้ง และความเคลื่อนไหวของสต็อกทั้งเข้าและออกว่ามีการค้าขายกันตามปกติหรือไม่ หลังคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดให้ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป และผู้ครอบครองหรือห้องเย็นที่มีสต๊อกหมู ตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป แจ้งปริมาณ และราคาทุก 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อดูแลปริมาณหมูและสต๊อกหมูที่มีอยู่ทั้งประเทศ โดยเฉพาะขณะนี้ มีกระแสข่าวพบโรงงาน กักตันหมูจำนวนเป็นแสนตัว โดยเบื้องต้น ผู้ประกอบการ ได้รายงานตัวเลขปริมาณหมู ซึ่งกำหนดให้แจ้งทุกสัปดาห์ รวมทั่วประเทศกว่า 8,352 ตัน ซึ่งได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ บริหารจัดการหมูออกสู่ตลาดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติว่า ผู้ประกอบการรายใดมีหมูเข้ามาเพิ่มในสต็อกตลอดเวลา แต่ไม่มีการระบายออกไปเลย อาจจะเข้าข่ายความผิดกักตุน และปฏิเสธการจำหน่าย ตามพรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษจำคุกสูงสุด ไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการ ว่า ภาครัฐ จะบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด

เบื้องหลังหมูแพง นอกจากจะกระแทกไปยังพ่อค้ารายใหญ่กักตุนหรือไม่แล้ว ยังสะเทือนไปถึง  “พ่อค้าคนกลาง” ที่อยู่ระหว่างห่วงโซ่การผลิตในระบบเกษตรพันธะสัญญา เพราะราคาหมูเป็นที่รับซื้อหน้าฟาร์มในระบบดังกล่าวถือว่าราคาต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาหมูหน้าเขียงในตลาดที่พุ่งพรวดๆ กว่า 200 บาทต่อกิโลฯ แล้วในเวลานี้ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูออกมาโวยวายให้ข่าวว่าขายหมูหน้าฟาร์มได้ราคาแสนถูก ซ้ำบริษัทยังไม่มาจับตามกำหนด ทำให้ต้องสิ้นเปลืองอาหารเลี้ยงต่อรอเวลาจับ ก่อนจะลดโทนขอโทษสังคมที่ให้ข้อมูลไม่หมดว่าสัญญาที่ทำกับบริษัทใหญ่นั้นยังมีรายละเอียดอีกยิบย่อย

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ซึ่งติดตามตรวจสอบระบบเกษตรพันธะสัญญามาโดยตลอด ระบุว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาในภาคการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเกษตรกรต้องกู้ยืมเงินมาลงทุน ต้องซื้อปัจจัยการผลิตทั้งอาหารสัตว์ ยาป้องกันรักษาโรคสัตว์ รับคำแนะนำในการจัดการฟาร์มจากบริษัท พร้อมระบุราคารับซื้อเอาไว้ล่วงหน้า เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องรับภาระความเสี่ยงต่างๆ เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ เอาเอง ในขณะที่บริษัทสามารถกำหนดคุณภาพของผลผลิตที่รับซื้อ และปัจจัยการผลิตได้เอง อีกทั้งสามารถยืดหยุ่นช่วงเวลาการรับซื้อผลผลิตได้เอง เนื่องจากอำนาจการต่อรองของเกษตรกรสุดต่ำเตี้ย

ไม่เฉพาะหมูเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเลี้ยงไก่ การเลี้ยงปลาด้วย สิ่งนี้เกิดขึ้นมาก่อนการมี พ.ร.บ.เกษตรพันธสัญญา 2560 แล้ว และแม้มี พ.ร.บ.ดังกล่าวเกิดขึ้น แต่กรณีที่เกษตรกรหลายรายประสบปัญหาไม่สามารถขายหมูได้ ทั้งที่ราคารับซื้อต่ำและหมูในตลาดแพง แสดงว่ากฎหมายดังกล่าวยังไม่สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของเกษตรกรรายย่อยได้

นอกจากข้อจำกัดของกฎหมายหรือการบังคับใช้แล้ว สิ่งนี้ยังเกิดขึ้นจากปัญหาการปล่อยให้ผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์รายใหญ่มีอิทธิพลเหนือตลาด ครอบครองปัจจัยการผลิต การผลิต และควบคุมการค้าปลีกไว้ในมือ

ผู้ประกอบการตั้งราคารับซื้อต่ำได้เพราะเกษตรกรย่อยมีอำนาจการต่อรองน้อยกว่า แม้ผู้เลี้ยงรายนี้จะปฏิเสธราคารับซื้อ แต่ก็จะมีรายย่อยอื่นอีกพร้อมจะเข้ามาทำสัญญา และเหตุที่แม้หมูมีราคาแพงก็ยังไม่มารับซื้อจากเกษตรกรคู่สัญญา อาจเป็นเพราะยังมีหมูชำแหละของตัวเองในสต็อก มีเกษตรกรคู่สัญญาอื่นๆ อีกที่รอขายอยู่ไม่ต้องรีบ หรือมีหมูในฟาร์มของบริษัทเองเหลือเพียงพออยู่แล้ว ฯลฯ เป็นต้น

จากรายงานของผู้จดแจ้งการประกอบธุรกิจทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา ของกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า มีผู้ประกอบการทั้งหมด 244 ราย ด้านพืช 181 ราย ปศุสัตว์ 52 ราย การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 9 ราย และด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคู่กับปศุสัตว์ 2 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2563)

ไบโอไทย ตั้งข้อสังเกตว่า การทำเกษตรพันธสัญญาไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด แต่มักจะเลวร้ายเสมอเมื่อบริษัทมีอำนาจเหนือตลาดและอำนาจการต่อรองเหนือกว่าเกษตรกรรายย่อย ทั้งๆ ที่หมูมีราคาแพง ควรจะเป็นโอกาสของเกษตรกรรายย่อย แต่ก็ไม่ใช่

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยมักตกเป็นเบี้ยล่างเสมอ ทั้งที่เป็นข้อต่อสำคัญในห่วงโซ่การผลิต ไม่ใช่แต่เกษตรกรในระบบเกษตรพันธะสัญญาเท่านั้น แต่ผู้เลี้ยงรายย่อยอิสระก็เฉกเช่นเดียวกัน อย่างที่  นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์  นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า เกษตรกรกำลังได้รับผลกระทบจากราคาหมูที่ปรับตัวในช่วงที่ผ่านมา โดยพ่อค้าคนกลางเสนอราคาซื้อหมูต่ำกว่าราคาประกาศโดยให้เหตุผลว่าประชาชนเริ่มลดการบริโภคเนื้อหมู เนื่องจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยลบต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ ปริมาณการผลิตสุกรอาจเกิดการล้นตลาด ทำให้เกิดผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อผู้เลี้ยงต้องตัดสินใจขายหมูในราคาต่ำกว่าทุน บางฟาร์มขายหมูไม่ออกเพราะผู้ซื้อขอเลื่อนจับหมู บอกว่าการซื้อขายหดตัวอย่างหนัก เกษตรกรจำต้องเลี้ยงหมูต่อทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น

“ปัจจุบันเกษตรกรทั่วประเทศต่างร่วมกันรักษาระดับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ไม่เกิน 110 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อไม่ให้เป็นจำเลยของสังคมว่าคนเลี้ยงหมูคือต้นเหตุทำให้ราคาหมูแพง แม้ต้องแบกภาระต้นทุนสูง โดยบางฟาร์มต้นทุนพุ่งไป 120 บาทต่อกิโลกรัมแล้วก็ตาม เพราะเราต้องการให้สังคมเข้าใจและผ่อนคลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น การที่ผู้ซื้อกดราคาหน้าฟาร์มจึงเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ของเกษตรกร อาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้เลี้ยงที่กำลังจะกลับเข้าสู่ระบบการเลี้ยงใหม่” นายสุนทราภรณ์ กล่าว

ราคาหมูในท้องตลาดที่ผู้บริโภคต้องซื้อในราคาแพงขึ้น และดันราคาให้อาหารการกินอื่นๆ ราคาปรับขึ้นตามเป็นลูกโซ่ที่เกิดขึ้น และรัฐบาลกำลังไล่แก้เป็นงูกินหางอยู่ในเวลานี้ ถึงที่สุดแล้วเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกลับถูกกดราคารับซื้อหน้าฟาร์มในราคาต่ำไม่ต่างจากเดิม ภายใต้เงื่อนไขของระบบเกษตรพันธะสัญญา และทั้งการสร้างตรรกะวิบัติของพ่อค้าคนกลางหวังกดราคารับซื้อ ซึ่งถ้าเกษตรกรไม่ขายก็ต้องแบกต้นทุนค่าหัวอาหารเลี้ยงหมูต่อไป บวกลบคูณหารสุดท้ายเกษตรกรก็ต้องปล่อยขายในราคาถูก

 ราคาหมูแพง #แพงทั้งแผ่นดิน ผู้บริโภคต้องควักจ่ายเพิ่ม ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูก็ยังถูกกดราคารับซื้อหน้าฟาร์มเช่นเดิม กำไรส่วนต่างมโหฬารจากต้นทางสู่ปลายทางมีพ่อค้าใหญ่ ไอ้โม่งที่ได้ผลประโยชน์ไปเต็มๆ ใช่หรือไม่ ปริศนานี้ “นายกฯลุง” กับคณะรัฐบาลของลุงจะมีปัญญาแก้โจทย์ และดูแลปัญหาปากท้องของประชาชนได้สักกี่มากน้อย ต้องติดตามกันต่อไป 





กำลังโหลดความคิดเห็น